การขยายถนนขึ้นเขาใหญ่-การพัฒนาหรือการทำลาย??

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ในมุมมองของนักอนุรักษ์ ถนนสายใหญ่ที่ผ่าเข้าไปในผืนป่าใหญ่ เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างร้ายแรง เพราะก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากมาย อันเนื่องมาจากผืนป่าที่ถูกแบ่งแยก (fragmentation)

อย่างแรกที่เห็นได้ชัดเจนคือเป็นการรบกวนสัตว์ป่า การอยู่อาศัย การเคลื่อนย้ายถิ่นหาอาหาร การสืบพันธุ์ นอกจากนั้น ยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ สภาพป่า วงจรการไหลของน้ำ การเกิดไฟป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เป็นหายนะต่อทุกฝ่าย ทั้งคนท้องถิ่น ประเทศชาติ และโลก

ทั้งหมดที่อ้างมานี้มิได้กล่าวจากจินตนาการของผู้เขียน แต่มีหลักฐานอ้างอิง ได้จากกรณีที่เกิดขึ้นแล้วในป่าบริสุทธิ์หลาย ส่วนของโลก เช่น ป่าอเมซอน ป่าในอินโดนีเซีย ในป่าอเมซอนของประเทศบราซิล สัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพถูก ทำลายไปเนื่องมาจาก “fragmentation” เสียเกือบ 65% ที่ถูกทำลายจากการหักร้าง ถางพงเกิดขึ้นเพียง 35% เท่านั้น

ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์อาจจะ อ้างว่า การขยายถนนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอันเป็นรายได้หลักของประเทศ แต่ก็ควรตระหนักไว้ว่า คุณค่าที่ส่งให้เขาใหญ่ได้เป็นมรดกโลกและดึงดูดผู้มาเยือนทั้งคน ไทยและต่างชาติก็คือ สภาพธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ คือมีป่าหลายชนิดประกอบ อยู่ด้วยกัน ทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา รวมทั้งสัตว์น้อยใหญ่และพืชพันธุ์หลากหลายที่หายาก สภาพธรรมชาติเช่นนี้มักมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาเพื่อเสริมการท่องเที่ยวจึงขึ้นอยู่กับการรักษาสภาพธรรมชาติ นี้ไว้ให้คงอยู่นานที่สุดและควรถือเป็นวัตถุ ประสงค์ที่สำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศ

ความเป็นมาของเขาใหญ่

จากดงพญาไฟจนมาเป็นดงพญาเย็น เขาใหญ่ และมรดกโลก
เขาใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อปี 2548 มีอาณาเขตครอบคลุมด้านตะวันตกของเทือก เขาพนมดงรัก ตรงแนวรอยต่อของพื้นที่ 4 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี นครนายก นครราชสีมา และสระบุรี พื้นที่บริเวณนี้มีประวัติสืบเนื่องมาดังนี้ เดิมเป็นป่าดิบทึบขนาดใหญ่เต็มไปด้วยอันตรายมากมาย ทั้งสัตว์ร้าย ไข้ป่า และโจรผู้ร้ายชุกชุม ใครที่ต้องเดินทางผ่านป่าผืนนี้ต้องเสี่ยงอันตรายอย่างมาก จึงได้ชื่อว่า “ดงพญาไฟ” ครั้นเมื่อทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราช ดำริว่า ดงพญาไฟนี้น่าจะเป็นทรัพยากรอันมีค่าสูงของชาติในกาลต่อไป จึงทรงโปรดให้เปลี่ยนชื่อเรียกจากดงพญาไฟ ซึ่งฟังดูน่ากลัว มาเป็น “ดงพญาเย็น”

นับแต่นั้นมา ชาวบ้านก็ได้เข้ามาจับจองพื้นที่กัน โดยเฉพาะบนยอดเขาแล้ว ทำการถางป่าทำไร่ ในปี 2465 ได้ขอจัดตั้งเป็นตำบลเขาใหญ่ แต่ด้วยการที่จะเดินทางมายังยอดเขานี้ค่อนข้างลำบาก จึงห่าง ไกลจากการดูแลของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ตำบลเขาใหญ่จึงเป็นแหล่งซ่องสุมของโจรผู้ร้ายและผู้หลบหนีอาญาบ้านเมือง ตราบจนถึงปี 2475 ทางราชการได้ส่งปลัดจ่างมาปราบปรามโจรผู้ร้ายจนสยบราบคาบ แต่แล้วปลัดจ่างก็เสียชีวิตด้วยไข้ป่า มีการตั้งศาลเชิญดวงวิญญาณปลัดจ่างขึ้นเป็นเจ้าพ่อเขาใหญ่ เป็นที่เคารพนับถือมาจนปัจจุบัน

หลังจากโจรผู้ร้ายหมดลงแล้ว ทางราชการเห็นว่าตำบลเขาใหญ่นี้ยากต่อการปกครอง อีกทั้งปล่อยไว้จะเป็นแหล่งซ่องสุมโจรผู้ร้ายอีก จึงได้ยุบตำบลเขาใหญ่และให้ผู้คนที่อาศัยอยู่บนเขาทั้งหมดย้ายลงมาอาศัยอยู่ข้างล่าง ป่าที่ถูกถางเพื่อทำไร่บนยอดเขา ปัจจุบันยังมีร่องรอยปรากฏอยู่ให้เห็นเป็นทุ่งหญ้าโล่งๆ บนเขานั่นเอง

ปี 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เล็งเห็นว่า บริเวณเขาใหญ่นี้มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งมีความสวยงาม เหมาะ ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแต่มีปัญหาลักลอบ ตัดไม้ทำลายป่าอยู่เนืองๆ จึงสั่งให้สำรวจพื้นที่เขาใหญ่โดยรอบและตราพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติขึ้น ตั้งเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติขึ้นในปี 2505 นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย และได้ตัดถนนธนะรัชต์แยกออกมาจากถนนมิตรภาพมายังตัวเขาใหญ่ ถนนนี้ขึ้นมาบนเขาใหญ่แล้วจะแยกเป็นสองสาย สายหนึ่งไปสิ้นสุดที่น้ำตกเหวสุวัต อีกสายหนึ่งไปสิ้นสุดที่เขาเขียว ซึ่งก่อนปี 2525 ถนนธนะรัชต์เป็นเพียงถนนเส้นเดียวที่จะมายังเขาใหญ่ได้ เมื่อมองย้อนกลับไปดูนับว่าจอมพลสฤษดิ์ ท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและกล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมิใช่น้อย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่านมีคุณูปการต่อประเทศไทยในหลายๆ ด้าน

ในปี 2525 ได้มีการตัดถนนสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่ ทำให้รถสามารถขึ้นเขาใหญ่ได้สะดวกขึ้น และเดินทางได้สั้นขึ้นจากกรุงเทพฯ ทำให้การท่องเที่ยวในส่วนใต้ของอุทยานสะดวกขึ้น เช่น สามารถเข้าถึงน้ำตกเหวนรกได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่จะต้องเดินเท้ามาจากอำเภอปากพลีแล้วเลาะมาตามหน้าผา

วันที่ 14 กรกฎา-คม 2548 อุทยานแห่งชาติ ในบริเวณดงพญาเย็น-เขาใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ“ จากองค์การ UNESCO โดยมีพันธสัญญาที่ประเทศไทยต้องดูแลจัดการพื้นที่ป่าผืนนี้ให้คงอยู่ในสภาพป่าที่สมบูรณ์ให้ได้มากที่สุด นอกจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและการป้องกันไฟป่าอันเป็นการควบคุมโดยทั่วไป การบริหารจัดการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการกำหนดพื้นที่แนวกัน ชน (buffer zone) เพื่อจำกัดกิจกรรมในพื้นที่กันชนมิให้กระทบและรบกวนสภาพธรรมชาติของพืชพันธุ์สัตว์ป่า

ผลกระทบจากการพัฒนา
การมีถนนตัดผ่านพื้นที่ใดย่อมก่อให้เกิดแรงดึงดูดให้มีกิจกรรมต่างๆ ในทาง พาณิชย์เพิ่มมากขึ้นไปโดยปริยาย ซึ่งโดยมากมักจะเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนใหญ่ที่เข้าไปเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ ทำรีสอร์ตหรู สนามกอล์ฟ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้มาก ส่วนชาวบ้าน ท้องถิ่นก็มีส่วนได้เล็กๆ น้อยๆ เช่น ร้านอาหารบ้าง ร้านค้าบ้าง ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบมากนัก การตัดถนนขึ้นสู่เขาใหญ่ที่ผ่านมาในอดีตเป็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงพื้นที่ แต่การพัฒนาใดๆ ที่เสริมต่อจากนี้ อาจทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะ การสร้างการเสริมเข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติย่อมก่อให้เกิดผลกระทบไม่มากก็น้อย ผล กระทบบางอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้เร็ว แต่บางอย่างจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้น และอาจเป็นการทำลายหรือสูญเสียอย่างคาดไม่ถึง

ในทางหลักวิชาการแล้ว ผลกระทบจากการที่พื้นที่ธรรมชาติถูกรบกวน อาจเกิดขึ้นได้ดังนี้ ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

เป็นธรรมดาที่ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายมาก ย่อมมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงได้มาก ถ้าจำเป็นต้องมีกิจกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ และหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็จะต้องมีการตรวจสอบติดตามผลอย่างต่อเนื่องว่า มีผลกระทบหรือความเครียดอันใดก่อตัวขึ้น บ้าง เช่น จำนวนของสัตว์ป่า การอยู่อาศัย การสืบพันธุ์ ความหลากหลาย น้ำแล้งน้ำท่วมและวงจรของน้ำ ปกติระบบนิเวศจะมีความยืดหยุ่นต่อสิ่งรบกวนได้ในระดับหนึ่ง โดยจะสามารถปรับตัวกลับคืนสู่ความสมดุล และเสถียรภาพได้

มีงานศึกษาของต่างประเทศชิ้นหนึ่งชี้ว่า ถ้าระบบนิเวศใดมีความหลากหลายสูง ก็จะต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งรบกวนได้น้อย โดยจะเกิดการปรับตัวไปในลักษณะที่สิ่งมีชีวิตที่ขึ้นง่ายอยู่ง่ายที่มีภูมิต้านทานสูง ทนต่อสภาพรบกวนได้ จะเข้าครอบครองพื้นที่ส่วนของสิ่งมีชีวิตที่อ่อนไหวกว่า ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และคุณค่าผืนป่าก็จะลดลงด้วย

การไหลของน้ำ
การไหลของน้ำใต้ดิน น้ำผิวดินที่เคยซึมซับลงสู่ใต้ดินและไหลไปรวมตัวกันกักเก็บไว้ตามธรรมชาติ หากมีถนนมาขวางกั้นมากขึ้น เมื่อฝนตกน้ำฝนจะไหลแทรกซึมลงดินได้น้อยลง แต่จะไหลบ่าไปตามแนวถนน ทำให้ต้องสร้างรางระบายน้ำตาม สองข้างถนนเพิ่มขึ้น ส่วนน้ำที่ไหลไปกักเก็บไว้ใต้ดินเป็นน้ำบาดาล ปกติจะไหลแทรกซึมเชื่อมต่อกันให้ความชุ่มชื้นกับพื้นผิวดินไปทั่วพื้นที่ เมื่อมีถนนขนาดใหญ่ขึ้น การไหลของน้ำใต้ดินก็ถูกขวางกั้น ไหลแทรกซึมได้น้อยลง พื้นดินบางส่วนอาจจะแห้ง และบางส่วนอาจจะชื้นเกินไป มีผลต่อพืชพรรณสัตว์ป่าทั้งหลายตามไปด้วยอุบัติภัย

เมื่อระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง วงจรน้ำ วงจรห่วงโซ่อาหาร สภาพภูมิอากาศท้องถิ่นก็จะเปลี่ยนไปด้วย จึงมีโอกาสเกิดน้ำแล้ง น้ำท่วม ดินถล่ม ไฟป่า ได้ง่ายขึ้น บ่อยครั้งขึ้น มีแนวโน้มว่าอุบัติภัยดังกล่าว อาจรุนแรงขึ้น ด้วยอิทธิพลของสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อนมลพิษ

เมื่อถนนเข้าถึง กิจกรรมก็เพิ่มขึ้น เกิดมลพิษเพิ่มขึ้นตามมา โดยเฉพาะบริเวณสองฝั่งถนนเกิดมลพิษเสียง ไอเสียจากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังจะต้องมีสถานีบริการน้ำมันและร้านค้าเพิ่มขึ้น มากกว่านั้น การมีถนนดีขึ้น กว้างขึ้น จำนวนรถต่อวันมากขึ้นก่อให้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ได้บ่อยครั้ง เพราะรถแล่นเร็วขึ้น มีโอกาสชนคน ชนสัตว์ได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่จะตามมาเมื่อมียานพาหนะเข้ามามากขึ้น มีคนมาเยือนมากขึ้น ขยะของเสียก็เกิดตามมา สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์ที่รักเศษอาหารของชาวเมืองก็จะตามมาด้วย สัตว์ต่างถิ่นเหล่านี้ถ้าปรับตัวได้ดีก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รุกรานพืชสัตว์ถิ่นเดิม และในที่สุดก็จะเข้าครอบครองพื้นที่ ขับไล่พืชสัตว์เจ้าถิ่นเดิมออกไปเสียเลย

ยิ่งถ้ามีการจัดคอนเสิร์ตดนตรีกลางแจ้ง มีการแสดงแสง สี เสียง ก็ยิ่งไปกันใหญ่ คนดูคึกคัก สัตว์ที่อ่อนไหวง่าย เช่น นก กวาง อาจจะแตกตื่นตกใจ อย่างน้อยก็เกิดความเครียดมีผลต่อสุขภาพกายสุขภาพใจ การสืบพันธุ์ของสัตว์เหล่านี้ ความสุขที่เบียดเบียนสัตว์อื่น จึงไม่เป็นกุศลต่อมนุษย์เลย

การบริหารจัดการที่คลุมเครือ
ไร้ประสิทธิภาพ
ในสายตาของคนภายนอก (ที่จับตา เฝ้าระวังผลประโยชน์ของประเทศ) จะมอง เห็นความไม่ชอบมาพากลในการกำกับดูแล พื้นที่เขาใหญ่อยู่หลายประการ สองฟากฝั่งของถนนธนะรัชต์ถูกกำหนดให้เป็น buffer zone หรือบริเวณกันชนที่จำกัดสิ่งก่อสร้างและการพัฒนาใดๆ ที่ขัดแย้งกับการอนุรักษ์ ข้อกำหนดนี้น่าจะเป็นเงื่อนไขของทั้งคณะกรรมการมรดกโลกและการปฏิบัติต่อพื้นที่พิเศษที่ประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ตามความในพระราชบัญญัติอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของกระทรวงทรัพยากรฯ เหตุใดจึงถูกเพิกเฉยละเลยไปได้ ไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบว่ามีผลกระทบระยะยาวระยะสั้นว่าเกิดขึ้นอย่างไร โดยละเอียด ปล่อยให้ (นักการเมือง) ทำอะไรได้ตามใจชอบ การจัดทำ EIA ที่ได้รับอนุมัติไป มีความถูกต้องตามขั้นตอนและกระบวนการแค่ไหน ความไม่มีประสิทธิภาพของการประสานงานระหว่างหน่วยงาน รัฐ อันได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากร คณะกรรมการมรดกโลกของประเทศ การสื่อสารระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย องค์กรท้องถิ่น ล้วนพูดกันคนละภาษาคนละมุมมอง

ทั้งหลายทั้งปวงนี้เมื่อสืบสาวราวเรื่องย้อนกลับไปได้ ก็จะไปลงที่คุณภาพของธรรมาภิบาล “ธรรมาภิบาล” อันประกอบด้วยจิตสำนึก ความรู้ และความซื่อสัตย์ อาจถือเป็นตัวชี้วัดการดำเนินนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐได้ดีทีเดียว

กว่าบทความนี้จะได้รับการตีพิมพ์ ก็ไม่รู้ว่าการขยายถนนนั้นจะดำเนินต่อไปหรือถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ผู้เขียนอยากจะสรุปว่า การพัฒนาที่ทำลายนี้มาจากเหตุปัจจัยสองประการคือ การขาดความรู้ด้าน สิ่งแวดล้อม เจือด้วยการขาดธรรมาภิบาลของนักปกครองนักการเมืองที่บริหารประเทศ ที่ไม่รู้จักความหมายของ eco-tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างแท้จริง ไม่รู้จักความหมายของ natural world heritage หรือมรดกโลกทางธรรมชาติ ไม่รู้คุณค่าของทรัพย์สินทางธรรมชาติ รู้จักแต่การพัฒนาที่เป็นสิ่งก่อสร้างและการเพิ่มผลประโยชน์ทางการเงิน ทั้งนี้ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่งก็อาจเป็นเพียงเพราะขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ และการสื่อสาร ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองเท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นเหตุอย่างใดก็ตาม ที่แน่ๆ ก็คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ โดยการเพิ่มความรู้ความเข้าใจทางด้านสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริหารบ้านเมืองให้มากกว่านี้ ในส่วนของภาคประชาสังคม ดูเหมือนว่า กลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ของคนไทยจะรวมตัวกันได้ค่อนข้างเข้มแข็งและมากขึ้นทุกวัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.