อวสานของเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าเรายังพอจำกันได้ จริงๆ แล้ว ไม่ถึงสิบปีก่อนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ (desktop PC) หรือพีซี (Personal Computer-PC) เริ่มกลายเป็นอุปกรณ์ข้างกายของเรามาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม บทบาทของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเริ่มลดลงเรื่อยๆ นับจากการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลงๆ ในศักยภาพที่สูงขึ้น ทำให้คอมพิวเตอร์ไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่กับโต๊ะอีกต่อไป พวกมันสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้พร้อมๆ กับเราด้วยความสามารถที่ดีขึ้นและสามารถตอบสนองการใช้งานของเราได้เหมือนเราทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่บ้าน

นี่อาจจะถึงเวลาที่เดสก์ทอปคอมพิวเตอร์จะได้พักผ่อนบ้าง หลังจากที่อยู่รับใช้เรามาตั้งแต่ยุคคอมพิวเตอร์เริ่มต้นหัดเดินเตาะแตะมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อพิจารณาถึงบทบาทของเดสก์ ทอปคอมพิวเตอร์แล้ว ในช่วงระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาถือได้ว่า เดสก์ทอปคอมพิวเตอร์คือราชาในหมู่มวลเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย เมื่อใดก็ตามที่เราต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์สักตัว เราจะนึกถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ในกล่อง ที่ใหญ่เทอะทะ ยิ่งใหญ่ยิ่งแสดงถึงศักยภาพ ที่สูงกว่าของคอมพิวเตอร์ โดยอาจจะวางอยู่บนโต๊ะหรือใต้โต๊ะของเรา อย่างไรก็ตาม ณ เวลานั้น นี่คือทางเลือกที่ดีที่สุด

คำว่า คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ Personal Computer นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงหมายถึงกล่องใส่เครื่องจักรขนาดใหญ่เทอะทะ ที่วางอยู่บนโต๊ะหรือใต้โต๊ะของเรานั่นเอง สำหรับความหมายอื่นๆ ในแง่ที่เป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพขนาดเล็กที่อาจจะติดอยู่ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย หรือพกพาไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวกยังคงเป็นแค่เทคโนโลยีน่าตื่นตาตื่นใจในหนังวิทยาศาสตร์หรือหนังไซไฟเท่านั้น

ประมาณต้นทศวรรษ 1980 บริษัท เทคโนโลยีบางแห่งได้เริ่มสร้างคอมพิวเตอร์ แบบที่สามารถยกไปใช้งานหรือเคลื่อนย้าย ไปมาเครื่องแรกของโลกขึ้น ซึ่งจะเป็นคอม พิวเตอร์ที่มีลักษณะหน้าตาคล้ายๆ คอมพิวเตอร์แล็ปทอป (Laptop) ในทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม เรายังต้องรอมาอีกนานหลายปี เดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ยังคงเป็นตัวหลักในตลาด เนื่องจากเราต้องยอมเสียสละอะไรมากมายเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถยกพกพาไปไหนมาไหนได้ อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่ยังไม่ทันสมัยมากพอที่จะทำสิ่งเหล่านี้ ซึ่ง ณ เวลานั้นยังไม่คุ้มที่เราจะยอมเสียความสามารถหลายๆ อย่างเพื่อแลกกับการพกพาเครื่องไปไหนมาไหนได้

เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างคอม พิวเตอร์แล็ปทอปกับเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ ณ วันนั้นแล้ว เดสก์ทอปคอมพิวเตอร์มีศักยภาพมากกว่า มีจอที่ใหญ่กว่าและสว่างกว่า มีคีย์บอร์ดและเมาส์ที่ใช้งานได้สะดวกสบายมากกว่า รวมถึงมีฮาร์ดดิสก์ที่เก็บกักข้อมูลได้มากกว่าหลายเท่า ที่สำคัญที่สุดคือ เดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ราคาถูกกว่ามาก

เราอาจจะซื้อแล็ปทอปคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องที่สองของเรา แต่เราไม่สามารถยึดถือมันเป็นเครื่องมือหลักในการทำงานได้เหมือนเครื่องเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิบปีล่าสุด เทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์แบบพกพาได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและได้กำจัดข้อด้อย ต่างๆ ที่คอมพิวเตอร์แบบพกพาเคยมีมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะทั่วๆ ไป ในขณะที่คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะกลับไม่สามารถลบภาพด้อยที่ติดตัวมาตลอดคือ การตั้งโต๊ะ นั่นคือคอมพิวเตอร์แบบตั้งแต่โต๊ะไม่สามารถแยกขาดจากโต๊ะที่มันตั้งไว้อยู่ได้ แม้ทุกวันนี้จะมีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะแบบที่เรียกว่า small form factor หรือแบบที่หน้าตาคล้ายกับ tablet แต่ก็ยังไม่สามารถยกไปไหนมาไหนได้สะดวก ต้องตั้งไว้บนโต๊ะเพียงสถานเดียว

เมื่อเราพิจารณาจากข้อมูลยอดขาย คอมพิวเตอร์ในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกา ก็จะเห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคคอมพิวเตอร์ในลักษณะต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

นั่นคือแนวโน้มที่ว่าเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์กำลังจะตาย

จากข้อมูลของบริษัทวิจัยทางการตลาดฟอร์เรสเตอร์ (Forrester) พบว่า ในปี 2008 ยอดขายเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์กับแล็ปทอปคอมพิวเตอร์ยังใกล้เคียงกันอยู่ที่ระดับส่วนแบ่งตลาดที่ 45 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน ส่วนที่เหลือเป็นเครื่องเน็ตบุ๊กและมินิคอมพิวเตอร์ลักษณะต่างๆ

อย่างไรก็ดี ยอดขายเครื่องแล็ปทอป ได้แซงหน้าเครื่องเดสก์ทอปเป็นครั้งแรกเมื่อปีกลาย โดยยอดขายเครื่องแล็ปทอปคิดเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของเครื่องเดสก์ทอปลดลงเหลือ 38 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะเดียวกัน ยอดขายเครื่องเน็ตบุ๊กรวมถึงมินิคอมพิวเตอร์กลับเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว

จากการคาดการณ์ของฟอร์เรสเตอร์ ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ยอดขายเครื่องเดสก์ทอปจะค่อยๆ ตกลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือ 18 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคอมพิวเตอร์ที่ขายกันในท้องตลาดจะเป็นแบบพกพาไปไหนมาไหนได้ สิ่งที่น่าสังเกตคือส่วนแบ่งตลาด เครื่อง tablet อย่าง iPad จะประสบความสำเร็จอย่างสูงโดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภายใน 3 ปีจะมีส่วนแบ่ง ตลาดเหนือเครื่องเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ และกลายเป็นส่วนแบ่งตลาดอันดับสองรองจากเครื่องแล็ปทอป

บทวิเคราะห์นี้อาจจะดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่ยอดขายเครื่อง iPad หนึ่งล้านเครื่องต่อเดือนของแอปเปิลก็ดูจะทำให้เรื่องนี้มีโอกาสเป็นไปได้มาก

บทวิเคราะห์ของฟอร์เรสเตอร์ถือว่า เป็นการตอกย้ำการเปลี่ยนแปลงความหมายของคำว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer)

ก่อนหน้านี้เดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ซึ่งเคยตีตราจองคำว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นมักจะเป็นเครื่องที่มีคนใช้หลายๆ คน แต่สำหรับเครื่องแล็ปทอป เน็ตบุ๊ก รวมถึง tablet โดยมากจะเป็นเครื่องส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่งเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือ เครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่อง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจริงๆ

ซึ่งรวมถึงระบบปฏิบัติการหรือ OS สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาสมัยใหม่ล้วนสร้างขึ้นโดยเน้นการทำงานสำหรับคนคนเดียว ไม่ว่าจะเป็น iOS ของแอปเปิล หรือ Android ของกูเกิ้ลล้วนผูกเข้ากับแอคเคาท์ของอีเมล ปฏิทิน (Calendar) รวมถึงแอพพลิเคชั่นต่างๆ สำหรับคนคนเดียว

ซึ่งจำนวนผู้ซื้อคอมพิวเตอร์ตามข้อมูลของฟอร์เรสเตอร์ก็ได้แสดงให้เห็นว่า

ในอนาคตนั้น เราจะมีคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องอยู่ภายในบ้านหลังเดียว โดยคอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นตัวหลักอาจจะเป็นแล็ปทอป และเราจะมีคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กๆ หรืออาจจะเป็นแบบ tablet ที่เราใช้งานเป็นประจำอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลของงานวิจัยครั้งนี้อาจจะมีข้อด้อยอยู่บ้าง เช่น เป็นผลสำรวจจากกลุ่มผู้บริโภคตามบ้านเป็นหลัก แม้ว่าตลาดคอมพิวเตอร์ในกลุ่มธุรกิจอาจจะมีแนวโน้มที่คล้ายๆ กัน แต่จะไม่ได้มีระดับความเข้มข้นเท่ากลุ่มลูกค้าตามบ้าน ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า นี่คือการใช้ข้อมูลการขายในปัจจุบันในการคาดการณ์การขาย ในอนาคตในแบบที่เรียกว่า projection ไม่ใช่ prediction

ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงไม่ได้เอาปัจจัยเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอีกสองถึงสามปีข้างหน้าเข้าไปด้วย ซึ่งปัจจัยเรื่องเทคโนโลยีอาจจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดคอมพิวเตอร์แบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือได้

ปัจจุบันเครื่องเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ยังคงมีอัตราความเร็วของหน่วยประมวลผลต่อหนึ่งดอลลาร์สูงกว่าเครื่องแล็ปทอป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กัน เราสามารถซื้อเครื่อง เดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ที่ทำงานเร็วกว่าเครื่องแล็ปทอปนั่นเอง นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่ต้องการใช้ประสิทธิภาพของโปรเซสเซอร์มากๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับภาพวิดีโอแบบความละเอียดสูงหรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ก็ยังคงต้องพึ่งพาเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ไปอีกพักใหญ่

อย่างไรก็ดี ถ้าคิดในอีกแง่หนึ่ง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ที่มีแนวโน้มจะไปพึ่งพิงแอพพลิเคชั่นบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลหรือจัดการไฟล์ต่างๆ ในเครื่องตัวเองมีน้อยลงๆ เช่นกัน

นั่นหมายความว่า ศักยภาพของคอมพิวเตอร์จะถูกโยกไปอยู่บนอินเทอร์เน็ต แทนความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์ เน็ตจึงมีความสำคัญมากกว่าศักยภาพของโปรเซสเซอร์

จึงมีแนวโน้มว่าเราจะยอมเสียศักยภาพของโปรเซสเซอร์เพื่อแลกกับความสะดวกสบายในการพกพาเครื่องไปไหนมาไหนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่อง con-tinuous client ซึ่งเป็นความต่อเนื่องในการทำงานหรือใช้งานแอพพลิเคชั่นใดๆ ผ่านเครื่องมือในการเข้าถึงแอพพลิเคชั่นหรืองานนั้นๆ ที่แตกต่างกันไป เช่น เราอาจจะใช้งานแอพพลิเคชั่นใดๆ บนเดสก์ทอป คอมพิวเตอร์ในที่ทำงาน แล้วเปลี่ยนมาทำงานต่อด้วยมือถือบนรถไฟฟ้า ก่อนจะมาสรุปจบงานบนเครื่องเน็ตบุ๊กในร้านกาแฟ ริมถนน

นั่นคือ session ของการทำงานของเราในอุปกรณ์ใดๆ ยังคงสามารถนำมาทำงานอย่างต่อเนื่องบนอุปกรณ์ที่แตกต่างกันได้ โดยการแสดงผลหรือการใช้งานบนอุปกรณ์ที่เปลี่ยนไปยังคงเหมือนเดิม

แนวโน้มของการใช้งานและการทำงานของเราจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างที่กล่าว ถึงอย่างแน่นอน เมื่อนั้นเดสก์ทอปคอมพิว เตอร์ที่ต้องยึดติดอยู่กับโต๊ะ อาจจะไม่เหมาะสมกับเราเสียแล้ว

ถึงเวลาบอกลาเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์กันแล้วครับ

อ่านเพิ่มเติม:

1. “Apple sells two million iPads in less than 60 days” http://www.apple.com/pr/library/2010/05/31ipad.html
2. Rotman, S. (2010), “Steve Ballmer is right: The PC market is getting bigger”http://blogs.forrester.com/sarah_rotman_epps/10-06-17steve_ ballmer_right_pc_market_getting_bigger
3. Manjoo, F. (2010), “The digital download is dead, ”http://www.slate.com/id/2254532/
4. Dulmont Magnum, “http://en.wikipedia.org/wiki/Dulmont_Magnum
5. Manjoo, F. (2010), “Flight of the Desktops”http://www.slate.com/id/2257495/
6. Small form factor, http://enwikipedia.org/wiki/Small_form_factor


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.