ภาชนะย่อยสลาย ธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาชนะบรรจุอาหารรูปลักษณ์ละม้ายคล้ายกล่องโฟม แต่ผลิตจากเยื่อกระดาษชานอ้อยสามารถย่อยสลายได้ใน 31 วัน กำลังเป็นธุรกิจตอบโจทย์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

จากข้อมูลกรุงเทพมหานครพบว่าปริมาณขยะในปัจจุบันของแต่ละวันมีถึง 8,900 ตันต่อวัน โดยเฉลี่ยมีการทิ้งขยะต่อคนต่อหัวประมาณ 0.9-1.1 กิโลกรัม

หนึ่งในขยะที่ประชาชนนิยมใช้เป็นอย่างมากคือถุงพลาสติกและกล่องโฟม เป็นภาชนะเพื่อใช้บรรจุอาหารสำหรับพ่อค้าแม่ขายในท้องตลาดจนไปถึงภัตตาคารหรูหรา

ถุงพลาสติกและกล่องโฟมมีประโยชน์อย่างล้นเหลือ ทว่าในมุมของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลับพบว่าถุงพลาสติก และกล่องโฟมเมื่อถูกทิ้งแล้ว กลับต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่าอายุขัยของมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่สามารถมีโอกาสได้เห็น เพราะ ถุงพลาสติก 1 ใบใช้เวลาย่อยสลายถึง 250 ปี ในขณะที่กล่องโฟมใช้เวลา 2 พันปี

อีกด้านหนึ่งของข้อมูล แม้จะกล่าวถึงไม่มากนัก แต่หลายคนก็ตระหนักดีว่า ถุงพลาสติกและกล่องโฟมเป็นวัตถุดิบที่ได้มาจากน้ำมัน จึงทำให้มีสารเคมีสไตลีน ไดออกซีน และผลของการบริโภคอาหารที่ใช้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้จึงทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็ง

ในทศวรรษนี้จึงเห็นว่าสังคมไทยและสังคมโลกกำลังเรียกร้องให้มนุษย์หันมาใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ

บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายภาชนะถ้วย จาน แก้ว กล่อง สำหรับอาหารและเครื่องดื่มจาก วัตถุดิบเยื่อกระดาษชานอ้อยมองเห็นโอกาส นี้มาหลายปี แต่เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ไม่มีต้นแบบ บริษัทจึงใช้เวลาในการศึกษาข้อมูล คิดค้นวิจัยและพัฒนานานถึง 4 ปี

บริษัทก่อตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 170 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้น 3 ฝ่ายคือ บริษัท ถือร้อยละ 70 ส่วนอีก 2 รายจากภาครัฐถือหุ้นรายละร้อยละ 10 คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม

นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ผู้ก่อตั้งบริษัทเล่าให้กับ ผู้จัดการ 360º ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าแนวโน้มธุรกิจผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะเป็นยุคของสองธุรกิจนี้ โดยเฉพาะธุรกิจสิ่งแวดล้อมที่อิงไปกับกระแสภาวะโลกร้อน

เขาจึงเห็นว่าธุรกิจที่บริษัทบริหารจัดการอยู่ในปัจจุบันเป็นธุรกิจอนาคตกำลังตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม ทั้งในมิติของเศรษฐกิจระดับโลกและมิติของสังคม



แม้ว่าบริษัทจะใช้เวลาในการพัฒนา และวิจัยสินค้าเป็นเวลานานถึง 4 ปีก็ตาม แต่ธุรกิจนี้ก็ยังเป็นธุรกิจใหม่มากๆ ในตลาดปัจจุบัน

ประเมินจากบริษัทเป็นองค์กรเพียง รายเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัตถุดิบชานอ้อย

จึงสามารถบอกได้ว่าธุรกิจของบริษัทแทบจะเริ่มจากศูนย์ เริ่มตั้งแต่คิด ค้นเทคโนโลยีเพื่อผลิตเครื่องจักร การคัดเลือกวัตถุดิบ การจัดหาบุคลากร ช่องทางการตลาดและกลุ่มเป้าหมาย

แม้ นพ.วีรฉัตรจะไปดูงานหลาย แห่ง แต่ก็ไม่มีต้นแบบให้เห็นกระบวนการผลิตได้ทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะเดินทางไปดูงาน ในประเทศเยอรมนีที่ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นแบบของเครื่องจักรอันทันสมัย ในตอนนั้นก็ยังเป็นการผลิตในขั้นทดลองเท่านั้น

จนท้ายที่สุดเครื่องจักรที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตจึงเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีของสองประเทศคือ จีน และเยอรมนี

โรงงานของบริษัทบรรจุภัณฑ์ฯ มีจำนวน 1 โรง ตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท บนถนนสายเอเชีย (กิโลเมตรที่ 188 จากกรุงเทพมหานคร)

ที่เลือกตั้งโรงงานในจังหวัดชัยนาทเป็นเพราะว่าอยู่ใกล้กับโรงงานน้ำตาลของกลุ่มเกษตรไทย ห่างจากโรงงานราว 10 กิโลเมตร กลุ่มลูกค้าจะส่งเยื่อกระดาษให้ 6-10 ตันต่อวัน โดยซื้อในราคาตันละ 20,000 บาท

ระบบการทำงานของโรงงานยังใช้คนทำงานร่วมกับเครื่องจักร เรียกได้ว่าเป็นระบบ manual ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีระบบการทำงานประมาณ 11 ขั้นตอน คือ ตรวจสอบคุณภาพเยื่อกระดาษไปผสมเยื่อ ตีเยื่อ กรองสิ่งสกปรก ขึ้นรูปเปียก ขึ้นรูปแห้ง ตัดแต่งขอบให้สวยงาม ตรวจสอบโลหะ ฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี ตรวจสอบคุณภาพ และบรรจุ

ความลับของบรรจุภัณฑ์นี้จะอยู่ที่การผสมเยื่อ มีส่วนผสมหลากหลายไม่มีการเปิดเผย เพราะประสิทธิผลของภาชนะ นี้จะต้องสามารถทนน้ำร้อนและน้ำมันเดือด ได้ 150 องศาเซลเซียส และทนอุณหภูมิได้ ตั้งแต่ -40 ถึง 250 องศาเซลเซียส

กระบวนการทำงานที่ใช้ขั้นตอนที่หลากหลายนั้น เกิดจากการวิจัยและพัฒนา สินค้าที่บริษัทไม่ได้ทำเพียงลำพัง แต่ได้นำสินค้าไปทดสอบในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ รวมทั้งหน่วยงานรัฐอย่างเช่นศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขนาดบรรจุภัณฑ์ที่มีความหลากหลายกว่า 40 แบบ อาทิ ถ้วย จาน ชาม แก้ว หรือกล่องข้าว จะใช้แม่พิมพ์ที่มีรูปร่าง เหมือนมุ้งลวด ทำหน้าที่กรองเนื้อเยื่อให้ได้ ภาชนะตามต้นแบบ

แม่พิมพ์ที่มีหน้าตาคล้ายกับมุ้งลวด แต่เป็นวัสดุนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะต้องสั่งผลิตพิเศษ โดยเฉพาะความถี่ของมุ้งลวด ต้องมีความละเอียดเพื่อทำหน้าที่กรองเนื้อเยื่อให้ได้ตามมาตรฐาน

ส่วนเหตุผลที่เลือกใช้เยื่อกระดาษจากชานอ้อยเป็นวัตถุดิบ เพราะประเทศไทยส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับหนึ่งของโลก ชานอ้อยจึงเหลือจำนวนมาก และที่ผ่านมา โรงงานผลิตน้ำตาลจะทิ้งหรือใช้เป็นเชื้อเพลิง และปริมาณของชานอ้อยที่เหลือทิ้ง สามารถป้อนให้โรงงานผลิตได้ถึง 10 แห่ง

อีกเหตุผลหนึ่งเพราะเยื่อกระดาษจากชานอ้อยเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติและกระบวนการผลิตจะไม่ใช้คลอรีนในการฟอกสี (ECF) บริษัทอ้างว่าทำให้ไม่มีสารพิษปนเปื้อน

นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยี และคัดเลือกวัตถุดิบ การอบรมพนักงานให้มีความรู้เฉพาะด้านเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสินค้าที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย และในภูมิภาคนี้

แม้ว่าสินค้าจะเป็นสินค้าใหม่ในตลาด แต่ความต้องการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้รับการตอบรับจากตลาดค่อนข้างดี ทำให้สามารถผลิตได้ 200-240 ล้านชิ้นต่อปี

จากความต้องการของตลาดที่มีอยู่แล้ว จึงไม่ได้โฆษณาโดยบริษัทเลือกออกไปเปิดร้านค้าในนิทรรศการด้านบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และใช้วิธีขายตรงให้กับลูกค้า ทำให้บริษัทมีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในปีที่สองโตจากปีแรก 8 เท่า ส่วนปีที่สามโตกว่าปีที่สอง 3 เท่า ปีที่สี่โต 2 เท่าตัว แต่ นพ.วีรฉัตร ยอมรับว่าในปีที่สองโตค่อนข้างมากเป็นเพราะฐานตลาดยังเล็ก

สำหรับตลาดหลักของบริษัทจะอยู่ในต่างประเทศร้อยละ 80 เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทรับจ้างผลิตในรูปแบบโออีเอ็ม (Original Equipment Manufacturer) และอีกร้อยละ 20 ผลิตในแบรนด์ของตนเองมีชื่อว่า “ไบโอ” (BIO)

บริษัทเลือกทำตลาดในต่างประเทศ ก่อน เพราะประชาชนในประเทศพัฒนาแล้วจะมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่าย

และอีกสิ่งหนึ่งที่จูงใจให้ส่งออก เพราะสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะได้รับยกเว้นภาษี บางประเทศกำหนดภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์

แม้ว่าตลาดในต่างประเทศจะมีโอกาสค่อนข้างมากก็ตาม แต่บริษัทจะต้อง พัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ให้ได้การรับรองมาตรฐานหลายประเภท โดยเฉพาะมาตรฐานเอสจีเอส รับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใส่ในไมโครเวฟ หรือน้ำร้อนหรือใบรับรอง 20002 ความปลอดภัยด้านอาหาร

ส่วนการทำตลาดในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก เนื่องจากต้นทุนของภาชนะ จากชานอ้อยแพงกว่าโฟมประมาณ 3-4 เท่า เช่น โฟม 1 กล่องมีราคา 1 บาท แต่ภาชนะชานอ้อยมีราคา 3-4 บาท

แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่า แต่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายระดับเอและบี ยังมีความต้องการสินค้า ทำให้ช่องทางการขายอยู่ในร้านโมเดิร์นเทรด เช่น เทสโก้ แม็คโคร คาร์ฟูร์ ฟู้ดแลนด์ เดอะมอลล์ โรบินสัน ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อ 7-11

ความกังวลของบริษัทแห่งนี้ไม่ได้อยู่ที่ตลาด เพราะบริษัทมองเห็นโอกาสในประเทศและต่างประเทศยังมีอยู่จำนวนมาก และปัจจุบันบริษัทจำหน่ายสินค้าให้ 30 ประเทศเท่านั้น ในขณะที่ประเทศทั่วโลกมีกว่า 100 ประเทศ

แต่สิ่งที่บริษัทต้องบริหารจัดการคือ ต้นทุนที่มีราคาแพงเมื่อเทียบกับโฟม โดยเฉพาะตลาดภายในประเทศ แตกต่างจากต่างประเทศโฟมมีราคาแพงกว่า ตัวอย่างเช่น ประเทศสวีเดนมีต้นทุนการผลิตโฟม 1 บาท แต่ผู้ซื้อต้องเสียค่ากำจัดโฟมอีก 6 บาท

แม้จะมีโอกาสรออยู่ข้างหน้าก็ตาม แต่บริษัทก็ต้องต้องเตรียมรับมือในอนาคตอันใกล้นี้หลังจากวางแผนจะสร้างโรงงานเพิ่มอีก 1 แห่งในบริเวณเดียวกันในจังหวัด ชัยนาท โรงงานแห่งใหม่จะมีกระบวนการผลิตที่แตกต่างใช้คนทำงานน้อยลง และใช้เครื่องจักรทำงานแทนมากขึ้น หรือเป็นระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะในขั้นตอนของการผสมเยื่อ การขึ้นรูปและตกแต่ง โดยคาดว่าจะใช้เงินทุนสร้างไม่แตกต่างจากโรงงานแรกคือประมาณ 400-500 ล้านบาท

ข้อดีของการผลิตระบบอัตโนมัติ ทำให้ปริมาณสินค้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

นพ.วีรฉัตรกล่าวถึงความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังคือ การพัฒนาบุคลากรให้ทันต่อการเติบโตของธุรกิจ โดยเฉพาะต้อง เพิ่มเติมผู้บริหารในด้านการตลาด การเงิน และผลิตภัณฑ์

ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีแผนเข้าตลาด หลักทรัพย์เพื่อใช้เป็นแหล่งระดมทุนก็ตาม แต่ก็เป็นแผนที่กำหนดไว้ 2-3 ปีข้างหน้า เพราะยังจำเป็นที่จะต้องสร้างตัวเลขรายได้ และจัดโครงสร้างให้แข็งแกร่ง

ในแผนธุรกิจอีก 1-2 ปีข้างหน้านอกจากสร้างโรงงานใหม่อีก 1 แห่ง บริษัทมีเป้าหมายพัฒนาโรงงานให้มีกระบวนการทำงานทั้งหมดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส วัตถุดิบจากมูลสัตว์ และไบโอแมส วัตถุดิบจากพืช เช่น ชานอ้อย นพ.วีรฉัตรกล่าวว่าร้อยละ 80 ของชานอ้อยในปัจจุบันชาวบ้านนำไปเผาทิ้งโดยเสียประโยชน์ ในขณะที่โรงงานของบริษัทใช้แก๊สแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง ขั้นตอนการผลิตเทคโนโลยีดังกล่าวบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อร่วมมือกับพันธมิตรจากประเทศเยอรมนี

นอกจากนี้บริษัทยังได้ศึกษาข้อมูลคาร์บอนเครดิต คือการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

“คาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตพริ้นท์ เรากำลังสมัครอยู่ ส่วนคาร์บอนเครดิต เราไม่มีอะไรอ้างอิง ไม่มีคนที่ทำแบบเรามาก่อน เราเคยคิดพยายามทำ ยากพอสมควร แต่ยังไม่ทิ้ง” นพ.วีรฉัตรกล่าว

แม้การทำธุรกิจของบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด จะเกิดขึ้นไปตามกระแสโลกเรียกร้องให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และพัฒนาระบบการทำงานการผลิตให้เป็นไปตามเงื่อนไขเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร แต่ธุรกิจยังมีความเสี่ยงไม่น้อย แม้ว่าบริษัทจะบอกว่าเป็นบริษัทผู้ผลิต และจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ชานอ้อยเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันนี้บริษัทอาจมองเช่นนั้น แต่วันพรุ่งนี้ยังไม่มีใครตอบได้อย่างแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.