ก่อนชุมชนมาบตาพุดจะล่มสลาย

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

บทเรียนที่ได้ยินได้ฟังอีกอย่างหนึ่งจากกลุ่มชาวประมงเมือง Kisarazu ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ชุมชนอยู่รอดและมีพื้นที่ทำกิน ท่ามกลางโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ก็คือ หันหน้าจับเข่าคุยกัน

เมือง Kisarazu จังหวัดชิบะมีอาชีพหลักทำประมงในอ่าวโตเกียวมายาวนาน แต่ปัจจุบันมีชาวประมงคงเหลืออยู่เพียง 2 พันรายจากทั้งหมดที่มีกว่า 19,000 ครัวเรือน

แม้ว่าจำนวนชาวประมงกว่าหมื่นรายที่ถอนตัวเพื่อไปทำงานด้านอื่นๆ แต่ก็ยังมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งยังเลือกทำอาชีพประมงต่อไป และมีเรือหลายลำยังจอดสนิทอยู่เทียบท่าชายฝั่ง

เมือง Kisarazu อยู่ห่างจากโรงงานอิจิฮาราประมาณ 10 กิโลเมตร อาชีพประมงที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบันคือ การจับหอย เลี้ยงปลา และทำธุรกิจสาหร่าย

รัฐบาลในอดีตเลือกพื้นที่อิจิฮาราในจังหวัดชิบะให้มีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 30 แห่ง โดยสร้างพื้นที่ยื่นออกไปในทะเล

นโยบายของรัฐมีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และรัฐใช้วิธีแก้ไขปัญหาในขณะนั้นด้วยการจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับประชาชนเพื่อให้ชาวบ้านย้ายออกไป ในตอนนั้นรัฐจ่ายเงินไปประมาณ 65,000 ล้านเยน แต่รัฐไม่ได้มองถึงปัญหาชุมชนที่ยังอยู่ ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องน้ำสกปรก

เมื่อโรงงานเริ่มก่อสร้างในช่วงปี 2498 ถึง 2513 ใช้เวลาทั้งหมด 15 ปี ช่วงเวลาในการก่อสร้าง อุตสาหกรรมบางแห่งก็เริ่มดำเนินการปล่อยน้ำเสียออกมาทำให้ปลาและหอยตาย

คัตซึยามา มิตซูรุ ประธานสหกรณ์ประมง จังหวัดชิบะ บอกว่าหลังจากเกิดน้ำเสียทำให้ชาวบ้านไม่พอใจและเข้าไปปิดล้อมโรงงานไม่ให้เข้า-ออก

ปฏิกิริยาต่อต้านที่ชัดเจนของชุมชน ทำให้หน่วยงานรัฐไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป ในปี 2513 รัฐออกกฎหมายห้ามสร้างความสกปรกให้กับทะเล

หลังจากออกกฎหมายมาแล้ว โรงงานตัวแทนจังหวัดระดับท้องถิ่น และชุมชนมาร่วมเจรจาตกลงเงื่อนไขทำสัญญาไม่ให้มีการปล่อยสารพิษ หรือกรณีโรงงานจะสร้างหรือซ่อมตลิ่งจะต้องแจ้งให้ชุมชนรับรู้ทุกครั้ง

จากการพูดคุยกับประธานสหกรณ์ประมงจะเห็นว่าผู้นำชุมชนมีองค์ความรู้ มีหลักการในการทำงานเพราะสหกรณ์มีสมาชิกถึง 5-6 พันราย ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถจะเรียนรู้ และเท่าทันในการปกป้องสิทธิให้กับชุมชนได้อย่างเต็มที่ แต่ชุมชนก็ยังให้ความเป็นธรรมกับโรงงานอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันการปล่อยสารพิษบางครั้งไม่ได้มาจากโรงงานทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งมาจากยาฆ่าแมลงของเกษตรกร หรือจากบ้านเรือน

ขณะที่กลุ่มประมงเรือเล็กตากวน อ่าวประดู่ มาบตาพุด จังหวัดระยองอยู่ห่างจากโรงงานและแท็งก์ขนาดใหญ่เก็บวัตถุดิบของโรงงานอุตสาหกรรมไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร และยังมีสายไฟฟ้าแรงสูงขนาดใหญ่ปักอยู่ในทะเลอีกจำนวนหลายต้น จนกลายเป็นภาพชินสายตาของชาวบ้านไปเสียแล้ว

ขุนศึก สีบุญล้ำ วัย 49 ปี รองประชาสัมพันธ์ กลุ่มประมงเรือเล็กตากวน อ่าวประดู่ ยอมรับว่าชุมชนเล็กแห่งนี้มาตั้งทีหลังโรงงาน และมีครัวเรือน 35 หลัง ทำอาชีพประมงเลี้ยงปลา เลี้ยงหอยแมลงภู่ แต่ยอมรับชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงาน บางครั้งก็ได้กลิ่นเหม็นมาจากโรงงาน แต่ก็ไม่บ่อยมากนัก เมื่อใดก็ตามที่มีกลิ่นเหม็นมารบกวน ตัวแทนของชาวบ้านก็จะแจ้งให้บริษัทรับรู้จึงไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ของชุมชนกับบริษัทเอกชนที่เป็นไปในปัจจุบัน จะเป็นไปในรูปแบบบริษัทเอกชนเข้ามาสนับสนุน เงินทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์เลี้ยงปลา ปู หรือบางครั้งก็ให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชน รวมไปถึงการส่งหมอเข้ามาตรวจสุขภาพพื้นฐาน

บริษัทที่เข้ามาสนับสนุนให้กับกลุ่มประมงเรือเล็กตากวน อ่าวประดู่ ตัวอย่างเช่น บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด (ในเครือเอสซีจี) บริษัท อัลลายแอนซ์รีไฟน์นิ่ง จำกัด บริษัท โกลว์ จำกัด และ บมจ.ปตท

การเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับชุมชนของบริษัทเอกชนจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ยังเป็นในรูปแบบต่างคนต่างทำ และสิ่งที่ยังไม่เห็นมากนักคือการทำงานร่วมมือกันระหว่างชุมชน รัฐ และบริษัทเอกชนที่หันมาหน้ามาคุยกันอย่างมีระบบแบบแผน

สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นคำถามก็คือ ชุมชนอย่างกลุ่มประมงเรือเล็กตากวน อ่าวประดู่ กลุ่มคนบางส่วนไม่ได้เป็นคนพื้นเพมาบตาพุด แต่โยกย้ายอพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน หรือจากที่อื่นๆ การที่ไม่มีพื้นที่ก่อตั้งเป็นหลักแหล่ง ก็อาจจะยากที่จะทำให้ชุมชนเติบโตเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

แต่ก็มีชาวชุมชนมาบตาพุดจริงๆ ที่อยู่มาตั้งแต่เกิดรุ่นปู่ย่าตายาย ออกมาปกป้องแผ่นดินทำมาหากินของตนเอง มิติที่ซับซ้อนจะต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมอยู่ได้ และชุมชนอยู่รอด โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องล่มสลายไปในที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.