“เวียดนาม” ในบทบาทประตูสู่ทะเลของ “หยุนหนัน”

โดย เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการเปิดประตูสู่ทะเลให้กับหยุนหนัน มณฑลทางตะวันตกของจีน โดยใช้เส้นทาง R3a ผ่านลาว และเส้นทาง R3b ผ่านพม่า โดยมีท่าเรือแหลมฉบังของไทยเป็นปลายทาง แต่แท้จริงแล้ว เส้นทางขนส่งสินค้าสู่ชายฝั่งที่สั้นที่สุดของหยุนหนัน อยู่ในภาคเหนือของเวียดนามและเส้นทางดังกล่าวกำลังได้รับการปรับปรุง

ขณะที่โครงข่ายคมนาคมภายใต้กรอบความร่วมมือของ 6 ประเทศในอนุ-ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) นั้น เส้นทางออกสู่ทะเลของมณฑลหยุนหนัน สาธารณ-รัฐประชาชนจีน ถูกให้น้ำหนักไปที่เส้นทางสาย R3a ผ่านลาวและสาย R3b ผ่านพม่า ทั้ง 2 เส้นทางมุ่งหน้าลงใต้เข้าสู่ประเทศไทย โดยมีปลายทางออกสู่ทะเลได้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง

จีนเรียกเส้นทางสายนี้ว่า “คุน-มั่น กงลู่” หรือทางด่วนสายคุนหมิง-กรุงเทพฯ ซึ่งมีระยะทางไกลประมาณ 1,000 กว่ากิโลเมตร แต่แท้จริงแล้วทางออกสู่ทะเลที่สั้นที่สุดของมณฑลหยุนหนัน ได้แก่ เส้นทางสายคุนหมิง-หล่าวกาย-ไฮฟอง-กว๋างนิญ โดยสามารถออกสู่ทะเลได้ที่ท่าเรือไฮฟองของเวียดนาม

หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมการค้าของเวียดนามรายงานว่า เส้นทางดังกล่าวตั้งอยู่ในแกนเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในชุดโครงการพัฒนา “สองระเบียงและหนึ่งเข็มขัด”

จังหวัดหล่าวกายเป็นชุมทางสำหรับการติดต่อค้าขายระหว่างเวียดนาม-จีนที่เขต เศรษฐกิจช่องทางชายแดน เพื่อใช้ประโยชน์ และเดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม เป็นปัญหา สำคัญและเร่งด่วนที่สุดปัญหาหนึ่งในกระบวนการเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างสองชาติ

ที่ตั้ง

เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจคุนหมิง-หล่าวกาย-ฮานอย-ไฮฟอง-กว๋างนิญ เป็นภาคส่วนหนึ่งที่สำคัญในเขตการค้าเสรีจีน-ASEAN อาศัยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เกื้อกูล และโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่มีอยู่ ระเบียงนี้มีบทบาทพิเศษในการเชื่อมต่อจังหวัดต่างๆ ทางภาคตะวันตกของจีนกับประเทศ ASEAN ตามหนทางที่สั้นที่สุดและใช้ประโยชน์จากท่าเรือเดินทะเลไฮฟอง

ปัจจุบันการบริการขนส่งได้เชื่อมต่อจากไฮฟองถึงสุดทางที่คุนหมิง ปริมาณ สินค้าเกิน 70% ที่แลกเปลี่ยนบนระเบียงเศรษฐกิจนี้ได้มีการขนส่งโดยทางรถไฟ ส่วนที่เหลือเป็นทางรถยนต์

จังหวัดหล่าวกายมีทางหลวงแห่งชาติ 5 เส้นทางวิ่งผ่านพื้นที่จังหวัดด้วยโครงข่ายคมนาคมที่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและค่อนข้างเสมอกันบนทุกอำเภอและเมือง รองรับการคมนาคมอย่างสะดวก ปัจจุบันทางหลวงแห่งชาติสาย 70 (หล่าวกาย-เอียนบ๊าย-ฮานอย) กำลังได้รับยกระดับเป็นถนนมาตรฐาน 4 ช่องจราจร ความร่วมมือขนส่งทางบกระหว่างจังหวัดหล่าวกายและเมืองเฮโขว (หรือห่าเขิว) ได้ เกื้อกูลอย่างสำคัญด้วยนโยบายอนุญาตให้รถยนต์บรรทุกสินค้าของเวียดนามวิ่งลึกเข้า ไปภายในจีนถึง 250 กิโลเมตร การเปิดช่องทางก็นานถึงเวลา 22.00 น.ของทุกวัน จังหวัดหล่าวกายเสนอให้กระทรวงคมนาคมขนส่งจีนอนุญาตให้รถเวียดนามได้เดินทางต่อไปและรถบรรทุกสินค้าสด-ดิบเดินทางตรงไปถึงนครคุนหมิง (เมืองเอกของมณฑลหยุนหนัน) ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดหล่าวกาย 460 กม. หากเป็นเช่นนั้น รถสินค้าเวียดนามสามารถผ่านช่องทางโดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าและลดค่าใช้จ่ายได้สูงสุด

นอกจากนั้นยังมีเส้นทางรถไฟขนส่งระหว่างประเทศ ไฮฟอง-ฮานอย-หล่าวกาย-เฮโขว (หรือห่าเขิว)-คุนหมิง ขนส่งสินค้าและผู้โดยสารนานาชาติและภายในประเทศ ปัจจุบันประเมินว่ารถไฟสายนี้มีประสิทธิภาพทางด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร อันดับที่ 2 ของประเทศต่อจากสายฮานอย-นครโฮจิมินห์ แต่รถไฟสายนี้กำลังบรรทุกมากเกินไปด้วยการขนส่งน้ำหนักเกือบ 2 เท่าของขีดความสามารถที่ได้รับอนุญาต แต่นี่ก็เป็นทางรถไฟผ่านแดนสายเดียวที่เชื่อมต่อกับหยุนหนัน

เปิดเส้นทางจราจรทางอากาศ

เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการคมนาคมโดยภาพรวม และบรรลุถึงการใช้ ประโยชน์หลากหลายในระเบียงเศรษฐกิจ รัฐบาลเวียดนามอนุญาตให้มีการวิจัยเพื่อ ก่อสร้างสนามบินหล่าวกาย เพื่อสร้างเส้นทางบินคุนหมิง-หล่าวกาย-ฮานอยในปี 2555

ตามแผนสำหรับระบบทางด่วนถึงปี 2558 และก่อนปี 2563 ทางด่วนสายโหน่ยบ่าย-หะลอง-ม้องก๊าย กับจุดสิ้นสุดคือ สะพานบั๊กเลวินที่ 2 เชื่อมต่อกับจีน ก็เป็นส่วนหนึ่งของถนนสายผ่านตลอดเอเชียที่น่าสนใจคือทางด่วนฮานอย-ไฮฟองก็จะเชื่อมต่อกับทางด่วนสายโหน่ยบ่าย-หะลอง

ดังนั้น การคมนาคมเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (กว๋างนิญ-ฮานอย-ไฮฟอง) จะทำให้สมบูรณ์เพื่อเชื่อมต่อเข้าเขตเศรษฐกิจภาคเหนือ เร่งให้เขตนี้เติบโตเข้มแข็ง ตามโครงการลงทุนต่างๆ เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่ชุมทางหล่าวกาย จะเป็นความจำเป็นที่สุด การที่บริษัทหุ้นส่วนลงทุนการค้าระหว่างประเทศอินโดจีน (Investcom) กำลังดำเนินแผนการลงทุนมุ่งปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานให้จังหวัดหล่าวกาย อาจกล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง

Investcom เป็นบริษัทผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติรายใหญ่ของเวียดนาม มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงฮานอย ในปี 2552 Investcom สามารถส่งออกยางธรรมชาติได้ 3,600 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Investcom ได้ลงทุนเขตคลังสินค้า container (Indochina ICD) แห่งหนึ่งใกล้เขตการค้าเสรีกิมถ่าญ ที่ได้รับวางผังเป็นเขตการค้าเสรีถ่วงดุลกับเขตการค้าเสรี บั๊กเซินของจีน ตามข้อกำหนด คนเวียดนาม และคนจีนไปยังเขตการค้า 2 แห่งนี้ไม่ต้องมี visa และนำสินค้ายกเว้นภาษีติดตัวไปได้มูลค่า 500,000-1,000,000 โด่ง (ประมาณ 1,000-2,000 บาท) การนี้จะดึงดูดคนจีนมากมายมายังเวียดนาม

บุ่ย ก๊วก หว่าน ประธานกรรมการบริหารของ Investcom ประเมินว่า “ในอนาคต เมื่อโครงการทางด่วนฮานอย-หล่าวกายมีการเชื่อมต่อกับระบบถนนภายในจีนเดินทางผ่านเขตการค้ากิมถ่าญแล้วเสร็จ การก่อสร้างเขตศูนย์กลางแห่งหนึ่งที่มีความสามารถติดต่อซื้อขายผลิตภัณฑ์ธุรกิจแหล่งวัตถุดิบผลิต บริการนำเข้า ส่งต่อ ตระเตรียมสินค้าขนส่ง ปัจจุบันจึงเป็นความจำเป็นและทิศทางเดินที่ถูกต้อง”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.