|

ฟื้นช่องทางสู่ล้านช้างในอดีต
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
วิกิพีเดียได้บันทึกไว้ว่า เส้นทางที่ผ่านด่านภูดู่ในอดีต เป็นเส้นทางระหว่างกรุงสุโขทัยกับกรุงศรีสัตนาคนหุต (กรุงเวียงจันทน์ในอดีต) โดยมีบันทึกปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่มีอักษรจารึกไว้ว่า “การเดินทางไปยังอาณาจักรล้านช้าง จักต้องใช้เมืองสวางคบุรี เป็นทางผ่านในการขนส่งสินค้าจากกรุงสุโขทัยไปยังล้านช้าง”
อันบ่งบอกได้ว่าอุตรดิตถ์นั้น เดิมเป็นทางเดินผ่านจากกรุงสุโขทัยไปยังล้านช้าง หรือการเดินทางไปลาวจะต้องใช้เส้นทางนี้ อันหมายถึง “ภูดู่” นั่นเอง
ซึ่งวันนี้ “ภูดู่” กำลังถูกผลักดันให้เป็นช่องทางการค้าอีกเส้นทางหนึ่ง เพื่อช่วยสนับสนุนการค้า การท่องเที่ยว ระหว่างไทย-ลาว-จีนตอนใต้ รวมไปถึงเวียดนามตอนเหนือ ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ กลุ่มที่ 3 (สี่แยกอินโดจีน) อันประกอบไปด้วยพิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย ตาก และอุตรดิตถ์ ได้จัดทำยุทธศาสตร์ร่วมเพื่อการพัฒนาโดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า “พัฒนากลุ่มสี่แยกอินโดจีนให้มีศักยภาพการแข่งขันได้อย่างเสรี และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีร่วมกันของกลุ่มจังหวัด”
เป็นการฟื้นฟูศักยภาพเส้นทางการค้าในอดีต ขึ้นมารองรับโลกยุคใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ปัจจุบันที่ด่านภูดู่มีการเปิดตลาดนัดไทย-ลาว ค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าทุกวันเสาร์ โดยตั้งอยู่ห่างจากจุดพรมแดนประมาณ 300 เมตร (ฝั่งไทย) ส่วนใหญ่จำหน่ายสินค้าจากจีน เวียดนาม และไทย ทั้งบุหรี่ เหล้า เบียร์ ขนม โทรศัพท์มือถือ ซีดีเพลง อุปกรณ์เครื่องมือการเกษตรฯลฯ
เพียงแต่มูลค่าการค้าในระยะที่ผ่านมา ยังไม่สูงมากนัก (ปี 2547-2553 มีมูลค่าการค้าผ่านด่านภูดู่รวมประมาณ 766.70 ล้านบาท) เนื่องจากข้อจำกัดทั้งเรื่องการจำกัดรายการสินค้า เพราะด่านประเพณีผาแก้ว-บวมเลา (ตรงข้ามกับด่านภูดู่) ทำให้สินค้าบางรายการไม่สามารถนำเข้า-ส่งออกได้ ต้องหันไปใช้ด่านห้วยโก๋น จังหวัดน่าน หรือด่านท่าลี่ จังหวัดเลยแทน รวมถึงระเบียบปฏิบัติด้านภาษี การตรวจปล่อยสินค้าของเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนเส้นทางคมนาคมที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ในด้านการสัญจรเข้าออก ณ ด่านภูดู่แห่งนี้กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2542 ที่ผ่านมาที่มีบุคคลเข้า-ออกเพียง 2,882 คน ยานพาหนะ 720 คัน เพิ่มเป็น 59,922 คน ยานพาหนะ 11,093 คัน ในปี 2552 และในปี 2553 (มกราคม-มิถุนายน) มีบุคคลเข้า-ออก 26,587 คน ยานพาหนะ 3,824 คัน
หลังจากมีการยกระดับเป็นด่านถาวรภูดู่แล้ว หอการค้า จ.อุตรดิตถ์ได้พยายามผลักดันให้มีการยกระดับด่านประเพณีผาแก้ว-บวมเลาเป็นด่านถาวรด้วย พร้อมกับผลักดันให้มีการพัฒนาเส้นทางจากด่านภูดู่-ปากลาย เชื่อมต่อกับเส้นทางหมายเลข 4 ของ สปป.ลาว รวมถึงเสนอให้มีการปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1268-ตลาดนัดไทย-ลาว ระยะทาง 6 กม. (ก่อนถึงด่านฯ ภูดู่) ที่เป็นถนนลูกรังอยู่ในขณะนี้ พวกเขาเชื่อว่า การพัฒนาพื้นที่ชายแดนภูดู่ จะทำให้ปริมาณการค้าผ่านพรมแดนด้านนี้เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 5 เท่า เป็นหลายร้อยล้านบาทต่อเดือน
รวมถึงส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยัง สปป. ลาวต่อเนื่องไปสู่จีนตอนใต้-เวียดนาม เพิ่มขึ้นเป็นการฟื้นฟูศักยภาพเส้นทางการค้าในอดีตขึ้นมารองรับโลกยุคใหม่อีกครั้งหนึ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|