|
“ปากลาย” เมืองชุมทางแห่งลาวตะวันตก
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ก่อให้เกิดเมืองซึ่งมีศักยภาพในการเป็นชุมทางการคมนาคมและขนส่งสินค้าขึ้นหลายจุด เมืองปากลาย แขวงไชยะบุรีของ สปป.ลาว ก็เป็นอีก 1 จุด ที่กำลังจะมีบทบาทสำคัญในอนาคต
“อีกไม่เกิน 2 ปีต่อจากนี้ถนนที่ผ่าน ปากลายจะเป็นถนนปูยางทั้ง 4 ทิศ ซึ่งจะ ทำให้การเดินทางติดต่อค้าขายสะดวกยิ่งขึ้น”
บัวพัน มักคะผน เจ้าเมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ย้ำกับผู้จัดการ 360º ที่ร่วมเดินทางไปกับคณะกรรมการเพื่อ โครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กว่า 80 คน เพื่อสำรวจช่องทางการค้าการลงทุนจากด่านถาวรภูดู่ ตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ไปถึงด่านประเพณีท้องถิ่น ผาแก้ว-บวมเลา เมืองปากลาย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา
เป็นการตอกย้ำถึงอนาคตของเมือง ปากลาย 1 ในเมืองเศรษฐกิจสำคัญของแขวงไชยะบุรี ว่ากำลังจะเป็นชุมทางสำคัญของพื้นที่ สปป.ลาวฝั่งตะวันตก ที่ในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้าทางเรือของแขวง ที่สามารถส่งสินค้าขึ้นไปถึงจีน หรือนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านทางแม่น้ำโขง ผ่านท่าเรือคอนกรีต ที่ประเทศออสเตรเลีย มาสร้างให้เมื่อปี ค.ศ.1995 อันเป็นท่าเรือที่ดีที่สุดของลาวตอนเหนือ
นั่นจะทำให้ “ปากลาย” กลายเป็นชุมทางสำคัญที่สนับสนุนการค้า การท่องเที่ยวระหว่างไทย-ลาวตอนเหนือ-จีนตอนใต้ รวมถึงเวียดนามตอนเหนือทันที
“ถ้าถนนเสร็จตามแผน ต่อไปจากปากลาย เราจะไปนครหลวงเวียงจันทน์ ก็ใช้เวลาแค่ 3 ชั่วโมง จะไปหลวงพระบาง ก็ใช้เวลาแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น” บัวพันบอก
ปัจจุบัน สปป.ลาวกำลังเร่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกจากเมืองปากลายในทุกทิศทาง คือ
- ทางเหนือ เส้นทางจากปากลาย-ไชยะบุรี ระยะทาง 152 กม. (เส้นทางหมายเลข 4 หลวงพระบาง-ไชยะบุรี-ปากลาย-ท่าลี่) และสามารถเชื่อมต่อไปถึงเมืองหลวงพระบางอีก 120 กม. (แต่ต้องข้ามแม่น้ำโขงที่ท่าเดื่อ โดยแพขนานยนต์ขนาดใหญ่ที่สามารถบรรทุกได้ตั้งแต่ 80 ตัน) รวมระยะทาง 272 กม.ที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) 2,000 ล้านบาท
ซึ่งแนวถนนสายนี้จะต่อโยงเข้ากับถนนสาย 13 เหนือ จากหลวงพระบาง-อุดมไชย (120 กม.สภาพถนนเป็นทางลาดยาง) ต่อไปถึงเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา (100 กม.) ข้ามพรมแดนไปถึงมณฑลหยุนหนัน สป.จีน
ในเส้นทางเดียวกัน (สาย 13 เหนือ จากหลวงพระบาง-เมืองไชย) เมื่อถึงเมืองน้ำบาก ซึ่งเป็น 3 แยก หากเลี้ยวขวาจะไปถึงเมืองเดียนเบียนฟู เวียดนาม (จากอุดมไชย-เดียนเบียนฟู 170 กม.) และยังต่อไปถึงกรุงฮานอยอีก 513 กม.ได้อีกด้วย
- ทางใต้ เส้นทางจากปากลาย-เมืองแก่นท้าว ระยะทาง 78 กม. เมืองนี้อยู่ตรงกันข้ามกับ อ.ท่าลี่ จังหวัดเลยของไทย
ล่าสุดสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัด เลย ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย กำหนดจัดขบวนคาราวาน “ไปเลย ลุยลาว” ผ่านเส้นทางสายนี้ระหว่าง 22-27 กรกฎาคม 2553
อัจฉพรรณ บุญเจริญ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเลย กล่าวถึงคาราวานนี้ว่า เส้นทางคาราวาน “ไปเลย ลุยลาว” จากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว อำเภอท่าลี่-แขวงไชยะบุรี-หลวงพระบาง-วังเวียง-โพนโฮง-บ้านวัง-บ้านคกไผ่ อำเภอปากชม-เชียงคาน เป็นเส้นทางที่ได้รับการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากแขวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว และได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก องค์การท่องเที่ยวแห่งชาติ สปป.ลาว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โปรแกรมนี้จัดขึ้นในฤดูฝน ประกอบกับเส้นทางในฝั่งลาวกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง จึงมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนที่มีรถขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือพวกนิยมรถ Off Road เป็นหลัก
- ทางตะวันออก เส้นทางจากเมือง ปากลาย-นครหลวงเวียงจันทน์ (เส้นทางหมายเลข 11) ระยะทาง 210 กม. ที่ได้ปรับปรุงเป็นทางลาดยางแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2551 ที่ผ่านมาแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น สปป.ลาวยังได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากนิวซีแลนด์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง บริเวณใกล้เคียงกับท่าแพขนานยนต์ที่เมืองปากลาย เพื่อเชื่อมต่อกับถนนเมืองปากลาย-นครหลวงเวียงจันทน์ ความยาวสะพาน 384 เมตร มูลค่าก่อสร้างประมาณ 7.7 ล้านปอนด์ ซึ่งมีกำหนดที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปีนี้ (พ.ศ.2553) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2554-2555
นั่นหมายถึงในอนาคตผู้คนจากภาคเหนือของไทยสามารถเดินทางไปนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ใกล้ที่สุดเพียง 422 กม. ผ่านเส้นทางอุตรดิตถ์-ปากลาย-เวียงจันทน์สายนี้
เส้นทางเหล่านี้นอกจากจะเอื้อต่อการขนส่งสินค้าของปากลายที่มีสินค้าส่งออกสำคัญ ทั้งผลิตภัณฑ์จากไม้ เฟอร์นิ-เจอร์ ข้าวโพด ตลอดจนสินค้าเกษตรอื่นๆ แล้ว ยังจะมีผลต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว ในอนาคตด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมาสินค้าเหล่านี้ก็จะถูกขนส่ง ผ่านเส้นทางต่างๆ เข้าสู่ตลาด สป.จีน-เวียดนาม รวมทั้งไทยด้วย
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุน จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนอย่างน่าจับตา ไม่น้อย โดยในกรณีของกลุ่มทุนไทยนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมทุนในอุตสาหกรรม โรงเลื่อยและเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 13 โรง โรงงานเฟอร์นิเจอร์อีก 6 แห่ง
เพียงแต่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูป ไม้นี้ ในอนาคตจะต้องได้รับผลกระทบจาก นโยบายปิดป่าของแขวงไชยะบุรี ที่มีการประกาศใช้แล้วอย่างแน่นอน
ขณะที่กลุ่มทุนจากจีน ก็เริ่มเข้ามาลงหลักปักฐานที่ปากลายเช่นกัน โดยเจ้าเมืองปากลายบอกว่าขณะนี้มีกลุ่มทุนจาก สป.จีน เข้ามาลงทุนตั้งไซโลที่ปากลาย เพื่อ อบแห้งพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวโพดเพื่อการส่งออกแล้ว 4 แห่งด้วยกัน รวมทั้งมีกลุ่มพ่อค้าจีนเข้ามาลงทุนกันมากขึ้น
บัวพันยังบอกอีกว่า การพัฒนาเส้นทางคมนาคมเหล่านี้ยังจะทำให้มีการเดินทางของผู้คน การท่องเที่ยวของปากลาย เติบโตขึ้นในอนาคตอีกด้วย ซึ่งขณะนี้ที่ปากลายมีกิจการโรงแรม-เรือนพักอยู่ทั้งสิ้น เพียง 17 แห่ง รีสอร์ตอีก 1 แห่ง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ 454 คนต่อคืน
แต่เขาเชื่อว่า กิจการเรือนพักของปากลายยังสามารถขยายตัวได้มากกว่านี้อีกแน่นอน ด้วยศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ที่หลากหลายและการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ที่จะเริ่มสมบูรณ์ภายใน 2 ปีต่อจากนี้
นอกจากนี้ทางทิศตะวันตกของปากลาย ยังมีเส้นทางเชื่อมกับจังหวัดอุตรดิตถ์ของไทยอย่างน้อยอีก 2 เส้นทาง
หนึ่งในเส้นทางหลักที่มีการติดต่อค้าขายกันมานานก็คือ เส้นทางปากลาย-ด่านประเพณีผาแก้ว-บวมเลา ที่มีระยะทางเพียง 38 กม. เชื่อมกับด่านถาวรภูดู่ ซึ่งเส้นทางสายนี้ปัจจุบันยังเป็นถนนดินตลอด เส้นทางอยู่
อ่านเรื่อง “4 เส้นทางใหม่สู่หลวงพระบาง” นิตยสารผู้จัดการ 360º ฉบับเดือนมกราคม 2553 หรือ www.goto manager.com ประกอบ)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา อรรคศิริ บุรณศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า NEDA ลงนามในสัญญาว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วยบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด (Lead Firm) บริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด และบริษัทพิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างถนนจากภูดู่ (อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์) ถึงเมืองปากลาย สปป.ลาว ในวงเงินรวม 7,979,846 บาท
เบื้องต้นประเมินกันว่าการปรับปรุง เส้นทางสายนี้จะใช้งบประมาณราว 520 ล้านบาท
ส่วนอีกเส้นทางหนึ่ง ก็คือถนนจากเมืองปากลาย-เมืองทุ่งมีไชย ระยะทาง 53 กม.เชื่อมต่อกับช่องประเพณีมหาราช (เดิมชื่อช่องหมาหลง) ตำบลบ่อเบี้ย อำเภอบ้านโคก อุตรดิตถ์
สมชาติ คะวีรัตน์ อดีตประธานหอการค้า จังหวัดอุตรดิตถ์ และทวีศักดิ์ ปิงวงศานุรักษ์ ประธานหอการค้าคนปัจจุบัน บอกทำนองเดียวกันว่า พวกเขาต้องการผลักดันให้ด่านการค้าชายแดนช่องภูดู่ให้เป็นด่านสากล เพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยเฉพาะระบบ Logistic ที่ลาวสามารถส่งผลผลิตมายังสถานีรถไฟศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อเป็นแหล่งกระจายสินค้าลง ไปทางตอนใต้ของประเทศ
“ก่อนหน้านี้ลาวเคยทดลองส่งข้าวผ่านเข้ามาทางภูดู่ แล้วนำขึ้นรถไฟที่ศิลาอาสน์ส่งเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งช่วยลดต้นทุนและเวลาในการขนส่งไปได้มาก”
นอกจากนี้หากสามารถผลักดันให้มีการพัฒนาด่านภูดู่-ปากลาย ยังจะทำให้เส้นทางสายนี้เชื่อมแหล่งมรดกโลก สุโขทัย-กำแพงเพชร-หลวงพระบาง รวมไปถึงฮา-ลองเบย์ของเวียดนามเข้าด้วยกัน โดยมีการเดินทางผ่าน จ.อุตรดิตถ์
รวมทั้งสามารถผลักดันให้เปิดเส้นทาง R9b เมียวดี-ตาก-สุโขทัย-กำแพงเพชร-อุตรดิตถ์-ไชยะบุรี ซึ่งทวีศักดิ์บอกว่าที่ผ่าน มาเคยมีการพูดคุยกันระหว่างหอการค้า จังหวัดตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ พยายามเริ่มต้นผลักดันเส้นทางการท่องเที่ยวสายนี้เช่นกัน เพราะถ้าดูแล้วหากโครงข่ายถนนใน สปป.ลาวเสร็จ จะสามารถเดินทางท่องเที่ยว 3 ประเทศในระยะทาง 400 กว่า กม.ได้ภายในวันเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|