|
ลาว: หลักสูตรเดิม พื้นที่ใหม่ของ PWC
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
การเปิดตลาดหุ้นถือเป็นสัญลักษณ์การหลั่งไหลของระบบทุนนิยม ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศในกลุ่มอินโดจีนไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว และกัมพูชา กำลังจะมีองค์ประกอบครบ โดย สปป.ลาว คือประเทศล่าสุดที่กำลังจะเปิดตลาดหุ้นในปีนี้
สำหรับผู้ที่เดินทางไปนครหลวงเวียงจันทน์ทางเครื่องบิน แบรนด์ธุรกิจแบรนด์แรก ที่สายตาของผู้โดยสารทุกคนต้องได้ประสบทันทีที่ย่างเท้าเข้าสู่อาคารผู้โดยสารสนามบิน นานาชาติวัดไต คือป้ายไฟโฆษณาของไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PWC) สาขา สปป.ลาว ป้ายไฟโฆษณาดังกล่าว ติดตั้งอยู่ที่หัวเสา กลางแถวยืนของผู้โดยสารที่กำลังรอกระบวน การตรวจคนเข้าเมืองของสนามบิน
PWC เป็นบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลกที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 4 บริษัท เรียกรวมกันว่า Big 4 (PWC, Ernst & Young, KPMG, และ Deloitte Touche) ได้รุกเข้ามายังพื้นที่เศรษฐกิจเล็กๆ อย่างลาว ย่อมแสดงถึงนัยสำคัญของ PWC ที่มีต่อพื้นที่นี้ และนั่นย่อมส่งสัญญาณของโอกาสของธุรกิจที่น่าติดตาม
ประสัณห์ เชื้อพานิช ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วนสายงานการตรวจสอบ บัญชี PWC ประเทศไทย เริ่มทำงานกับ PWC ตั้งแต่เรียนจบจากมหาวิทยาลัย จนกลาย มาเป็นหุ้นส่วนของบริษัทในที่สุด
ประสัณห์เห็นการเติบโตของภูมิภาคอินโดจีนมาตั้งแต่ยุคก่อนสิ้นสุดสงครามเวียดนามจนถึงยุคเศรษฐกิจเติบโตใหม่ เมื่อเขาต้องกลับไปในพื้นที่อย่างลาวเพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนลูกค้าที่เข้าไปลงทุน จึงทำให้เขารู้สึกไม่ต่างอะไรกับการเริ่มต้นอ่านหนังสือเล่มเดิมในห้องเรียนใหม่ เพราะการเติบโตของธุรกิจในลาวและประเทศ ในอินโดจีนในวันนี้ ก็มีรูปแบบไม่ต่างอะไรกับการเริ่มต้นทำงานของเขาในเมืองไทย เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว
PWC เป็นองค์กรระดับนานาชาติที่มีสำนักงานอยู่ใน 150 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานรวมกว่า 1.6 แสนคน เป็นองค์กรที่เติบโตตามลูกค้า ลูกค้าเติบโตไปที่ใด PWC ก็ต้องตามเข้าไปให้บริการที่นั่น
การเข้ามาในลาวก็เป็นคำตอบเดียวกันที่แสดงให้เห็นว่าลูกค้าของ PWC เริ่มที่จะบุกมายังพื้นที่นี้เป็นระลอกๆ
“ผมเป็นชุดแรกที่เข้าไปในลาว อยู่ที่นั่น 2 ปี ตั้งแต่ปี 1974 สงครามยังไม่จบ มีทั้งคอมมิวนิสต์และรัฐบาลอยู่ในเมืองเดียวและยังเป็นรัฐบาลผสม จนเวียดนามใต้ล้มในปี 1975 ลาวก็กลายเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ PWC ต้องย้ายออกมา เพราะไม่ปลอดภัย เราหยุดไปนานและเพิ่งจะกลับเข้ามาตั้งออฟฟิศอีกครั้ง ทั้งในลาว เวียดนาม และกัมพูชาเมื่อ 10 กว่าที่ผ่านมา”
ประสัณห์ยอมรับว่า 10 ปีก่อนนั้น การกลับเข้าไปในพื้นที่ทั้งลาว เวียดนาม กัมพูชา ต้องเรียกว่าไปแบบไม่รู้ว่าจะมีอะไรให้ทำ งานแรกๆ ที่ PWC ทำ จึงเป็นเรื่องการตรวจสอบบรรดาเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานนานาชาติต่างๆ ที่หยิบยื่นให้แก่ประเทศในกลุ่มนี้ เขาเคยทำแม้กระทั่งการตรวจสอบโครงการ Family Planning หรือการแจกถุงยางอนามัย ว่าถึงมือประชาชนทั่วถึงจริงหรือไม่
บทบาทการทำงานของ PWC เมื่อเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ มีลักษณะการทำงานพื้นฐาน ไม่ต่างจากหน่วยงานของรัฐบาลของแต่ละประเทศ ที่คอยหาข้อมูลสนับสนุนการลงทุนของนักธุรกิจ ในด้านกฎหมาย กฎระเบียบ สิ่งที่ควรต้องรู้ก่อนลงทุน เพียงแต่ PWC ให้บริการกับลูกค้าเท่านั้น อาจจะมีบางครั้งที่ทำเพื่อจะให้เศรษฐกิจเติบโตไปในแนวทางที่เหมาะสม บริษัทก็จะเพิ่มบทบาทในการให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลประเทศนั้นๆ บ้าง เมื่อมีโอกาสอำนวย
แต่ไม่ว่าจะไปที่ใด รูปแบบของ PWC ที่ไปเริ่มจากการนำบุคลากรจากสำนักงาน ที่มีอยู่เดิม ณ ที่ใดที่หนึ่ง เข้าไปบริการลูกค้า เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะต้องพัฒนาคนท้องถิ่นขึ้นมาร่วมงาน พัฒนาให้มีฝีมือและมีความสามารถในการบริหารจัดการ ไปจนถึงการเข้ามาเป็นหุ้นส่วน เหมือนกับประสัณห์ที่กลายมาเป็นหุ้นส่วนบริหารงานในเมืองไทย
ในอินโดจีน ไม่ใช่ PWC จากไทยที่เข้าไปเป็นออฟฟิศแรก มี PWC จากประเทศอื่นตามเข้าไปบริการลูกค้าที่นั่นมาก่อนหน้าแล้ว เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ฯลฯ แต่เมื่อต้องการจะเข้าไปตั้งสำนักงานอย่างจริงจัง เมื่อพิจารณาแล้ว PWC ประเทศไทย ได้รับเลือกให้เป็นหัวหอกที่จะเข้าไปด้วยเหตุผลที่รู้กันดีอยู่แล้ว
นั่นคือลักษณะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าจะมีรูปแบบไม่ต่างกัน การที่ไทยก็พัฒนาเศรษฐกิจมาก่อนหน้าไม่กี่สิบปี ทำให้เหมาะที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มต้น กับโลกเศรษฐกิจที่พัฒนาไปไกลแล้วได้อย่างลงตัว ที่สำคัญก็คือความคุ้นเคยและใกล้ชิดในเชิงพื้นที่และชาติพันธุ์
“ถ้าคุณเอาคนเจริญมากเกินไป ไปอยู่กับคนที่เพิ่งเริ่มต้น ความคิดไม่เหมือนกัน การให้บริการไม่เหมือนกัน สมมุติเอาออฟฟิศที่อเมริกาไปทำที่ลาว ก็เหมือนขี่ช้างจับมด เขาจะมองไม่ออกเลยว่ามีธุรกิจอะไรให้ทำ แต่ไทยใกล้มาก เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น พูดภาษาเขาได้ เข้าใจความเป็นชาติอาเซียน ธุรกิจบ้านเรากับลาวห่างกัน 30 ปี กัมพูชา 20 ปี เวียดนามอาจจะ 15 ปี ก็ยังมีคนที่เชื่อม ระหว่างเก่าใหม่ได้ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ หุ้นส่วนผม เดี๋ยวนี้มีถึงเจนเนอเรชั่นที่ขนาด ผมพูดเรื่องเครื่องเทเล็กซ์นี่ มีคนถามผมแล้วนะว่าเทเล็กซ์คืออะไรพี่ แต่ผมยังจำได้ ความเหมาะสมก็คือเรื่องพวกนี้”
ความห่างที่ไม่ทิ้งระยะมาก ยังรวมถึงเรื่องการที่ไทยมีส่วนเข้าไปช่วยลาวจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งด้วยระยะเวลาของตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดมาแค่ 40 ปีของไทย ย่อมจะจำบทเริ่มต้นมาใช้ช่วยเหลือลาวได้ หรือแม้กระทั่งเรื่องที่คนอาจจะไม่คิดถึงแล้ว ว่าต้องอาศัยระบบ manual บ้างในบางครั้ง อย่างระบบไอทีหรือการใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ผู้ช่วยจากไทย ทำได้ดีกว่าอีกหลายประเทศที่พัฒนาไปไกลแล้ว
ออฟฟิศของ PWC ที่ลาวมีพนักงาน ประมาณ 37 คน ตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อน ถือ ว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับในเวียดนาม ที่มีพนักงานถึง 400 กว่าคน ในกัมพูชาก็ยังมีนับ 100 คน สะท้อนให้เห็นได้ว่าการเติบโต ทางเศรษฐกิจของลาวยังต้องพึ่งประเทศรอบๆ ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งระยะหลังมีจีน เวียดนามเข้ามาในลักษณะของการช่วยเหลือรายใหญ่ ทำให้ลาวโตจากเงินช่วยเหลือด้วยส่วนหนึ่ง
ประสัณห์วิเคราะห์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในลาวในช่วงแรก เติบโตมาจากอุตสาหกรรมหลักที่ต่างชาติเข้าไปลงทุนไม่กี่ตัว คือเรื่องของโรงงานผลิตไฟฟ้า ต่อมา ก็ได้การเติบโตจากการทำเหมืองแร่ ทั้งเหมืองทองและทองแดง
“ลูกค้าของเราก็เป็นรายใหญ่ที่นั่น ขุดเหมืองทอง เหมืองทองแดง ก็เป็นบริษัท ต่างชาติจากออสเตรเลียที่เขามีความสามารถในเรื่องพวกนั้น ทั้งที่ภูเบี้ย และเซโปน ทั้งคู่เป็นลูกค้าเราหมด เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงลูกค้าหลักๆ ทั้งโรงฟ้าพลังน้ำและเหมือง ผมคิดว่า PWC ครองตลาด ตรงนั้น”
ส่วนธุรกิจที่มีอนาคตในลาวอีกหมวดหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร ซึ่งไม่ใช่ลูกค้าหลักของ PWC แต่ก็มีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องการเป็นที่ปรึกษาเพื่อหาซื้อแหล่งเพาะปลูกขนาดใหญ่ในลาว และประเทศอื่นในอินโดจีน ซึ่งนักลงทุนไทยก็มองเห็นข้อได้เปรียบที่ลาว-ไทยมีพื้นที่เชื่อมติดกัน และเหมาะจะเข้าไปลงทุนและถ้าเป็นธุรกิจอื่นที่น่าสนใจ หากให้ PWC แนะนำ ก็จะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งสำหรับลาวแล้ว การท่องเที่ยวเชิงนิเวศนับว่ามีศักยภาพ โอกาสในการพัฒนาสูงมาก
“หลังซีเกมส์ การปรับสาธารณูปโภคก็ทำให้ลาวดูดีขึ้น แต่ก็ไม่ถึงกับฟู่ฟ่า เพราะรัฐบาลลาวก็มีนโยบายที่จะให้โตไปอย่างช้าๆ เพราะไม่อยากเจอฟองสบู่ ภาพรวมของลาวที่เราเข้าไปให้บริการก็ประมาณนี้”
ปัจจุบันบริการของ PWC ในลาว เน้นไปที่การสอบบัญชีและด้านกฎหมาย ให้บริการร่างสัญญา การวางระบบ ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเมื่อลาวเริ่มพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกำหนดไว้คร่าวๆ ว่าจะเปิดในเดือนตุลาคมปีนี้ ส่วนการให้บริการด้านภาษียังไม่ได้ทำเต็มที่ เนื่องจากระบบภาษีในลาวยังเป็นลักษณะของอากรบ่อนเบี้ยที่ยังไม่มีการประเมินเป็นระบบ
“เริ่มต้นเราก็ต้องจ้างคนไปนั่งอ่านศึกษากฎหมาย อ่านมาตรฐานการบัญชีการเงิน เก็บข้อมูลก่อน ไม่ว่า PWC ไปที่ไหนเราก็เริ่ม หนึ่ง...สอง...สาม...สี่...อย่างนี้ ระหว่างลงทุน จะเลี้ยงตัวเองได้ ก็ต้องมีลูกค้าพอสมควร ในลาวเรามีเชลล์ แรกๆ เราก็ส่งคนเข้าไป พอเริ่มรู้ค่อยขยายงาน ถ้าเริ่มอะไรใหญ่ๆ เลยทีเดียว ถ้าไม่มีลูกค้า ก็ไม่คุ้มกัน”
อย่างที่บอกไว้ การพัฒนาของ PWC ในแต่ละประเทศ จะไปถึงขั้นสูงสุดที่การมีหุ้นส่วนเป็นคนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นหุ้นส่วนทำงานกับระดับที่สูงกว่าคือหุ้นส่วนบริหารงาน ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นลาวหรือกัมพูชา แม้แต่คนทำงานส่วนหนึ่งก็ยังต้องส่งคนจากเมืองไทยเข้าไป มีก็แต่เวียดนามที่มีหุ้นส่วนเป็นคนท้องถิ่นแล้วถึง 6 คน
โอกาสที่เป็นที่น่าคาดหวังสำหรับ PWC มากๆ เรื่องหนึ่งในภูมิภาคนี้ น่าจะอยู่ที่การที่ทุกประเทศกำลังจะมีตลาดหลักทรัพย์ เริ่มจากเวียดนามที่เปิดตัวไปแล้ว 5-6 ปี และ PWC ก็มีบทบาทในการร่างกฎกำกับดูแลกิจการไว้ด้วย
“กัมพูชาน่าจะอีกสักปีสองปี ส่วนลาวมีแผนจะเปิดปีนี้ เราก็มีส่วนเข้าไป involve เยอะ เริ่มตั้งแต่เข้าไปประสานงาน ช่วยนำตลาดหลักทรัพย์ไทยเข้าไปจัดสัมมนาให้ความรู้ แล้วก็เชิญตลาดหลัก ทรัพย์ไทยไปพูด แต่การเขียนร่างกฎเกณฑ์ ต่างๆ ก็ขึ้นอยู่รัฐบาลของแต่ละประเทศ เท่าที่มอง บริษัทลาวที่น่าจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดได้ก็มีสัก 4 บริษัท เช่น เบียร์ลาว เอ็มมาร์ท ฯลฯ แต่ถ้ากัมพูชามีได้ถึง 20 เพราะรัฐบาลเขารุกกว่าเยอะ”
ตลาดหุ้นของ 3 ประเทศในอินโดจีนบวกกับไทย จะมีผลอย่างไรต่อภาพเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้หรือไม่ ประสัณห์ให้ความเห็นว่า จริงๆ แล้วปัจจัยที่จะมีผลภายปี 2558 ที่มีแผนจะจัดตั้ง ASEAN Board หรือการมีโบรกเกอร์อยู่ที่ไหน ก็สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้ทุกตลาด
อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าที่ใดล้วนหนีไม่พ้นวัฏจักรที่ต้องมีขึ้นมีลง ไม่ว่าจะพยายามร่างกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันปัญหา โดยดูตัวอย่างจากที่อื่นมาดีเพียงใด แต่ปัญหาก็มักจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดถึงเสมอ
“ก็ต้องให้ตลาดเรียนรู้ตัวเอง ก็คงต้องมีสะดุดบ้าง เพราะถ้าจะป้องกันไว้หมด เอากฎของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กมาใช้เลย ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคนี้ก็คงจะไม่มีโอกาสได้เกิด” ประสัณห์ให้ข้อสรุป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|