สิทธิสตรี

โดย ศศิภัทรา ศิริวาโท
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านข่าวเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิสตรีในประเทศแคนาดา ในกรณีที่มณฑลควีเบคได้ยื่นเสนอกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้หญิงที่สวมผ้าคลุมหน้าในที่สาธารณะเข้าไปในสถานที่ราชการ โรงเรียน หรือโรงพยาบาล ถ้ากฎหมายนี้มีผลบังคับใช้เมื่อไรก็คงจะทำให้ผู้หญิงมุสลิมในประเทศแคนาดาลำบากแน่ๆ

ขณะเดียวกันผู้หญิงมุสลิมในประเทศแคนาดา ได้ออกมาต่อต้านการนำเสนอกฎหมายนี้ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้หญิงในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม มีชาวเทกซัสคนหนึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า กฎหมายนี้ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงของประเทศ ที่เรียกตัวเองว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ผู้หญิงไม่สามารถที่จะเลือกได้ว่า ตัวเองสามารถคลุมหน้าหรือเปิดเผยหน้าตัวเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้เขียนเห็นด้วยกับความคิดนี้ ถ้าผู้หญิงไม่สามารถเลือกได้ว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย ไม่น่าเชื่อว่าประเทศแคนาดาที่เป็นผู้ขอคัดค้านการที่องค์การสหประชาชาติแต่งตั้งประเทศอิหร่านเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยสถานภาพสตรี (United Nations Commission on the Status of Women หรือ UNCSW) สำหรับปี 2554 เพราะว่าผู้หญิงในประเทศอิหร่านยังคงไม่ได้รับสิทธิในสังคมเทียบเท่ากับผู้ชาย

เช่น มีการกำหนดจำนวนการรับนักศึกษาหญิงที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในแต่ละปี ซึ่งถือว่า เป็นการควบคุมสิทธิ เสรีภาพ เป็นการเลือกปฏิบัติในสังคม และผู้หญิงก็ไม่สามารถที่จะขอหย่าหรือเลือกสามีของตัวเองได้ แต่ผู้ชายมุสลิมแค่บอกภรรยา ตัวเองสามครั้ง พร้อมจดหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ว่าต้องการจะขอหย่า ก็สามารถหย่ากับภรรยาได้เลย ในยุคปัจจุบันเพียงแค่ส่ง sms ไปบอกผู้ที่เป็นภรรยา เพียงสามครั้ง ก็สามารถหย่ากับภรรยาได้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ถือว่าเป็นการกีดกันสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิง และมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในสังคมให้เห็นอย่างชัดเจน

สาเหตุเหล่านี้ทำให้แคนาดาไม่ยอมรับอิหร่าน แต่แคนาดากลับเริ่มมีความคิดที่จะเสนอกฎหมายห้ามผู้หญิงใส่ผ้า คลุมหน้าในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นการกีดกันสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง มุสลิมในแคนาดาเช่นกัน แต่อย่างน้อยที่สุดสำหรับกรณีนี้ยังดีที่ผู้หญิง มุสลิมในประเทศแคนาดาได้ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของตนเอง และผู้เขียนเชื่อว่ารัฐบาลแคนาดา ก็ต้องนำเรื่องนี้กลับไปพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่อย่างนั้นการกระทำของประเทศแคนาดา ก็คงจะเข้ากับสุภาษิตไทยที่ว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”

เมื่อมองย้อนกลับมาที่บ้านเรา ก็จะเห็นได้ว่า ผู้หญิงในบ้านเราก็เริ่มที่จะออกมาเรียกร้องในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงเช่นกัน อย่างเช่นเมื่อสองปีที่แล้วที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคำนำหน้านามสำหรับผู้หญิง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่ผู้หญิงได้เรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย ตามรัฐธรรมนูญไทยที่ระบุไว้ว่าคนไทย ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย โดยที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างทางเพศ หรือสถานะ

แต่เมื่อลองมองสังคมไทยอย่างจริงจัง ผู้เขียน คิดว่าคนไทยเรายังไม่ได้เข้าใจคำว่าสิทธิสตรีว่าจริงๆ แล้วมีความหมายว่าอย่างไร คนส่วนใหญ่มักจะบอก ว่าเข้าใจคำว่าสิทธิสตรี แต่ความเข้าใจนี้ล้วนมาจากการคาดเดากันแทบทั้งนั้น และทำให้บางครั้งมีการนำคำนี้ไปใช้กันอย่างผิดๆ

ตัวอย่างที่พบเห็นได้ง่ายที่สุดในสังคมไทยเรา เวลาที่ผู้หญิงกล่าวถึงสิทธิสตรีหรือเรียกร้องความเท่า เทียมกันในสังคมระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ผู้ชายส่วนใหญ่มักจะชอบพูดว่าผู้หญิงชอบออกมาเรียกร้อง สิทธิและความเท่าเทียมกันในสังคม แต่ทำไมผู้หญิง ไม่ยอมยกของหนักเอง หรือทำไมผู้ชายจะต้องเสียสละที่นั่งบนรถประจำทางให้กับผู้หญิง ในเมื่อผู้หญิงออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมกันในสังคม ดังนั้นผู้ชายก็ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องเสียสละในเรื่องต่างๆ ให้กับผู้หญิง ในเมื่อเรามีความเท่าเทียมกันในสังคม

คำพูดต่างๆ เหล่านี้มักจะได้ยินเป็นประจำและก็จะได้ยินประโยคคำตอบของผู้หญิงส่วนใหญ่ว่า จริงๆ แล้วก็ไม่ได้อยากให้ผู้ชายเสียสละที่นั่งบนรถประจำทางหรือยกของหนักให้สักหน่อย หรือผู้หญิงเราไม่ได้เรียกร้องให้ผู้ชายทำให้เสียหน่อย ซึ่งประเด็นเหล่านี้กลายเป็นหัวข้อที่สามารถถกเถียงกันในสังคมไทยเราได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการนำคำว่าสิทธิสตรีไปใช้กันอย่างผิดๆ ในสังคมของเรา ในประเด็นที่ว่า ทำไมผู้ชายต้องเสียสละที่นั่งบนรถประจำทางหรือช่วยยกของต่างๆ ให้กับผู้หญิง ผู้เขียน มองประเด็นเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องการแสดงความเป็นสุภาพบุรุษของผู้ชายต่อผู้หญิง และเรื่องของน้ำใจที่คนในสังคมพึงมีให้แก่กัน เนื่องจากว่าผู้ชายและผู้หญิงมีรูปร่างสรีระที่แตกต่างกัน ผู้ชายมีร่างกายกำยำแข็งแรง จึงสามารถยกของหนักได้ดีกว่าผู้หญิงที่มีรูปร่างเล็กกว่า แม้กระทั่งการเสียสละที่นั่งบนรถประจำทางก็เช่นกัน ผู้หญิงก็สามารถยืนบนรถประจำทางได้ แต่อาจจะยืนได้ไม่มั่นคงและไม่นานเท่ากับผู้ชายเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ดังนั้นถ้าในสังคมเราผู้ชายมีความเป็นสุภาพ บุรุษและมีน้ำใจให้แก่กัน ก็จะไม่รู้สึกว่าประเด็นเหล่านี้กลายเป็นเรื่องของสิทธิสตรีไป แต่เป็นเรื่องทั่วไปในสังคมของเรา

จริงๆ แล้ว คำว่าสิทธิสตรีนั้นหมายถึงสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การได้รับความคุ้มครองที่เท่าเทียมกันในกฎหมาย คำว่าสิทธิสตรีมีการเริ่ม ใช้ครั้งแรกในปี 2518 เมื่อองค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็นปีสตรีสากล มีการจัดการประชุมระดับโลกที่ประเทศเม็กซิโกในเรื่องของสิทธิสตรี ต่อมาในปี 2528 องค์การสหประชาชาติได้มีการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention in the Elimination of all Forms of Discrimination) หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า CEDAW ประเทศไทยได้ยอมรับอนุสัญญาฉบับนี้ในปีเดียวกัน

ในอนุสัญญา CEDAW ฉบับนี้มีข้อตกลงกันทั้งหมด 30 ข้อ แต่ประเทศไทยได้ขอยกเว้นไว้ 7 ข้อ เนื่องจากเห็นว่าทั้ง 7 ข้อนี้ยังคงมีความขัดแย้งกับกฎหมายของประเทศไทยอยู่ ต่อมาประเทศไทยได้เริ่มลดจำนวนข้อยกเว้นลงเรื่อยๆ ปัจจุบันประเทศไทยยังคงเหลือข้อยกเว้นอยู่เพียงแค่ 2 ข้อ คือข้อที่ 16 เรื่องของความเสมอภาคในด้านครอบครัวและการสมรส และข้อที่ 29 เรื่องการให้อำนาจศาลโลกในการตัดสินกรณีพิพาท

ประเทศไทยได้มีการริเริ่มให้ความสนใจในเรื่องของสิทธิสตรีตั้งแต่ปี 2475 ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2475 หรือรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยนั้น ได้มีการให้สิทธิสำหรับผู้หญิงในการเลือกตั้งเช่นเดียวกับผู้ชาย มีการระบุว่าผู้หญิง เด็ก และเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่สี่ (2520-2524) แต่หลังจากนี้ รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องของสิทธิสตรีมากนัก จนกระทั่งในปี 2540 ที่เราได้เห็นการเปลี่ยน แปลงในเรื่องของสิทธิสตรีกันอย่างชัดเจน เริ่มมีการพูดคุยในเรื่องสิทธิสตรีกันมากขึ้นในสังคมไทย

สำหรับเรื่องนี้ผู้เขียนค่อนข้างประหลาดใจว่า ทำไมรัฐบาลไทยเพิ่งจะมาให้ความสนใจอย่างจริงจังในเรื่องสิทธิสตรีตอนปี 2540 ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเราได้ยอมรับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบขององค์การสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2528 ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยมัวแต่ไปให้ความสนใจเรื่องอะไรกันอยู่ ถึงได้หันมาเริ่มให้ความสนใจในเรื่องของสิทธิ สตรีไทยในอีก 12 ปีต่อมา

ในรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือที่เราเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้น ได้เริ่มมีการให้ความคุ้มครองสิทธิและปกป้องผู้หญิงจากการถูกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการแก้กฎหมายมาตราที่ 276 ในประมวลกฎหมายอาญาที่ให้ผู้ชายที่บังคับข่มขืนหญิงที่ไม่ยินยอมนั้นมีความผิด และหญิงที่ไม่ยินยอมในที่นี้ก็รวมถึงภรรยาของตัวเอง ด้วย ดังนั้นผู้ชายไม่สามารถที่จะบังคับหรือฝืนใจหญิง ที่ใช่และไม่ใช่ภรรยาของตัวเองได้ ซึ่งในกฎหมายเดิม ไม่ได้รวมผู้หญิงที่เป็นภรรยาเข้าไปด้วย จึงมีผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกสามีบังคับหรือฝืนใจและไม่สามารถเอาผิดได้ตามกฎหมาย

ในปี 2551 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ คำนำหน้านามซึ่งผู้หญิงที่แต่งงานแล้วสามารถเลือก ใช้คำนำหน้าได้ว่าจะเลือกใช้คำว่า นาง หรือนางสาว รวมถึงยังมีพระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว ยังมีโครงการต่างๆ มากมายออกมาในสังคมเพื่อปกป้องและคุ้มครองผู้หญิงโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น โครงการ Say No to Violence against Women ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่หลายๆ คนคงเคยได้รับฟอร์เวิดเมล์ที่ให้ร่วมกันลงชื่อเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทย

ในขณะที่ประเทศไทยเราให้ความสนใจในด้านอื่นแทนเรื่องสิทธิสตรี ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ให้ความสนใจกับเรื่องสิทธิสตรี และมีการพัฒนาเรื่องสิทธิสตรีอย่างชัดเจนตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคงจะเป็นเรื่องผู้หญิงกับบทบาททางการเมืองในประเทศต่างๆ หลายประเทศเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทสำคัญในทางการเมือง อย่างการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของสหรัฐอเมริกา ฮิลลารี คลินตัน ได้ลงสมัครรับเลือกเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต ในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าฮิลลารีกลายเป็นสตรีคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่ลงสมัครเป็นตัวแทนของพรรคในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และปัจจุบันเธอยังคงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสหรัฐอเมริกา

อย่างประเทศนิวซีแลนด์ที่เป็นประเทศแรกของโลกที่มีผู้นำประเทศเป็นผู้หญิง และมีนายกรัฐมนตรีหญิงถึงสอง คนแล้ว ประเทศทางฝั่งยุโรปที่เห็นได้ชัดก็เป็นประเทศเยอรมนี ที่มีนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นผู้หญิงเช่นกัน ลองมองดูประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินโด นีเซียซึ่งมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และขึ้นชื่อเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างชัดเจน ก็ยังเคยมีผู้นำประเทศที่เป็นผู้หญิงมาแล้ว

แต่เมื่อหันมามองที่ประเทศไทยของเรา ผู้เขียนก็ต้อง ตกใจเป็นอย่างมากว่าประเทศเรามัวแต่ทำอะไรกันอยู่ถึงได้ตามหลังประเทศอื่นๆ ในเรื่องของสิทธิสตรีเป็นอย่างมาก

อย่างที่พูดมาแล้วว่าในประเทศอื่นๆ เราเห็นการพัฒนาเรื่องสิทธิสตรีได้ชัดเจนในเรื่องของผู้หญิงกับบทบาททางการเมือง แต่พอมาดูที่ประเทศไทยของเรานั้นเป็นที่น่า ตกใจมากว่า ทั้งๆ ที่ประเทศไทยของเรานั้นมีประชากรผู้หญิงมากกว่าประชากรผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด แต่จำนวนผู้แทนในรัฐสภาส่วนใหญ่กลับเป็นผู้ชายและผู้หญิงเป็นเสียงส่วนน้อย

ผู้หญิงที่ได้รับการเลือกตั้งในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 7.54 จากจำนวนการเลือกตั้ง 10 ครั้ง นอกจากนี้จำนวนผู้หญิงที่ทำงานในหน่วยงานรัฐบาลตั้งแต่ระดับซี 9 ขึ้นไปยังมีอยู่เป็นจำนวนน้อย มาก คิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 15.1 ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากๆ และประเทศไทยก็เคยมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นผู้หญิงเพียงแค่คนเดียว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้บ้านเรายังคงเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้คือ ทัศนคติของคนในสังคมต่อบทบาทและหน้าที่ของผู้หญิงในสังคมไทย คนส่วนใหญ่ยังคงคิดว่าผู้หญิง ควรเป็นช้างเท้าหลัง เป็นภรรยาและแม่ที่ดีของลูก ซึ่งความคิดเหล่านี้กลายเป็นภาพลักษณ์ของผู้หญิง ไทยในสังคม เพราะความคิดที่ยึดติดในภาพลักษณ์ เหล่านี้ ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้เป็นอย่างดี เพราะทัศนคติเหล่านี้ทำให้ผู้ชายที่เป็นหัวหน้าและผู้บริหารหลายๆ คนเชื่อว่าผู้หญิงไม่มีการตัดสินใจที่ดีและไม่เหมาะที่จะก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหาร ดังนั้นผู้หญิงที่มีความสามารถหลายคนจึงไม่สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำ ในหน่วยงานต่างๆ ทั้งในหน่วยงานรัฐบาลและเอกชน

ในหลายครั้ง ผู้เขียนเชื่อว่าคงมีผู้หญิงหลายๆ คนที่มีความสามารถมากกว่าผู้ชาย แต่ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเพราะสาเหตุนี้ และเพราะความคิดเหล่านี้จึงทำให้ประเทศเราต้องเสียโอกาสที่จะได้คนเก่งมีความสามารถมาบริหารและพัฒนาประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลไม่ควรละเลยและควร รีบหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน และปัญหาเหล่านี้ก็ทำให้ประเทศไทยของเราถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 105 จากทั้งหมด 134 ประเทศทั่วโลก ในเรื่องของสิทธิสตรีกับการเมือง ซึ่งการจัดอันดับครั้งนี้จัดทำโดย World Economic Forum ซึ่งเป็นการรายงานเรื่องช่องว่างระหว่างเพศจากทั่วทุกมุมโลก

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ชัดเจนว่าเรื่องสิทธิสตรีนั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากๆ เพียงแต่เราไม่ได้สนใจและไม่ได้คิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสิทธิสตรี ดังนั้นวันนี้คงยังไม่สาย หากเราจะหันมาสนใจเรื่องสิทธิสตรีอย่างจริงจัง ตอนนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เริ่มเล็งเห็นความสำคัญของเรื่องสิทธิสตรี มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในด้านที่เกี่ยวกับผู้หญิง หรือที่ภาษาอังกฤษ เรียกกันว่า Women Studies ดังนั้นในอนาคตเราคงจะได้เห็นนักศึกษาหลายๆ คนที่จบจากสาขานี้ออกมาช่วยกันแก้ปัญหาและพัฒนาเรื่องของสิทธิสตรีกันอย่างจริงจัง

ไม่แน่ว่าในอนาคตประเทศไทยเราอาจจะมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงก็เป็นได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.