ลมมรสุม ทำไมจึงสำคัญนัก

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ฤดูร้อนปีนี้ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดในอินเดีย นับจากบันทึกที่เริ่มมีตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 อุณหภูมิเฉลี่ยในหลายรัฐอยู่ระหว่าง 41-45 องศาเซลเซียส ขณะที่รัฐคุชราตมีผู้เสียชีวิตแล้ว 100 ราย อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ถึง 48.5 องศาเซลเซียส กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ลมมรสุม หรือที่เรียกกันว่า monsoon พัดเข้าฝั่งที่รัฐเกรละแล้ว อันหมายถึงการเริ่มต้นของฤดูฝน ข่าวนี้ช่วยชุบชูใจคนอินเดียทั้งประเทศ ใช่แต่ผู้คนที่หวังสายฝนมาช่วยคลายร้อนและเหล่าเกษตรกร ยังรวมถึงรัฐบาล ภาคธุรกิจ และตลาดหุ้น เช่นที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกล่าวว่า “ลมมรสุมคือรัฐมนตรีคลังตัวจริงของอินเดีย” ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

คำภาษาอังกฤษ monsoon อันหมายถึง มรสุมฤดูฝน เริ่มใช้ในอินเดียพร้อมการเข้ามาของอังกฤษ จนกลายเป็นคำสามัญที่ใช้กันแพร่หลาย สันนิษฐานว่ามาจากรากศัพท์โปรตุเกส monção ต้นกำเนิดน่าจะมาจากภาษาอารบิก คำว่า mawsim และคำนี้ก็กลายเสียงมาเป็น mausam ในภาษาฮินดีและอูรดู รวมทั้งภาษาถิ่นของอินเดียตอนเหนืออีกหลายภาษา ซึ่งมีความหมายกว้างขึ้น หมายถึงสภาพอากาศ หรือสภาพอากาศที่เกี่ยวเนื่องกับฤดูกาล

ลมมรสุมที่พัดผ่านอินเดียนั้นมีที่มาจากมหาสมุทรอินเดีย ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน สามารถมองเห็นภาพด้วยหลักวิทยาศาสตร์ง่ายๆ ว่า เป็นกระบวนการที่อากาศเย็นพัดเข้าแทน ที่อากาศร้อน โดยในช่วงฤดูร้อนแผ่นดินในอนุทวีปโดยเฉพาะบริเวณทะเลทรายธาร์และภาคกลางของอินเดีย ร้อนแล้งด้วยแดดที่แผดเผา อากาศที่ผิวโลก บริเวณดังกล่าวจึงลอยตัวสูงขึ้น เกิดภาวะความกดอากาศต่ำ ขณะที่ ณ เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งใกล้มาดากัสการ์ในมหาสมุทรอินเดีย ชื่อว่ามัสคารีน อากาศที่เย็นกว่าและมีภาวะความกดอากาศสูง (Mascarene High) จะค่อยๆ รวมตัวและเคลื่อน เข้ามาแทนที่อากาศร้อนในอนุทวีป โดยสะสมความชื้นมาตลอดระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร มาตกเป็นฝน โดยมีเทือกเขาหิมาลัยทางตอนเหนือของอินเดียทำหน้าที่เสมือนกำแพงธรรมชาติสกัดไม่ให้มรสุมเคลื่อนต่อสู่ภาคพื้นทวีปและอ่อนกำลัง ทำให้อนุทวีปรับฝนเต็มที่จากลมมรสุมดังกล่าว ลมมรสุมนี้ขึ้นฝั่งอินเดียทั้งสองด้าน สายที่พัดผ่านทะเลอาหรับจะขึ้นฝั่งที่รัฐเกรละ ส่วนที่ผ่านอ่าวเบงกอลจะเข้าสู่รัฐเบงกอลตะวันตกและกลุ่มรัฐภาคอีสานหรือ Seven Sisters

มรสุมดังกล่าวจะพัดต่อเนื่องจนอ่อนกำลังลง ราวปลายเดือนกันยายน เมื่อผืนดินอนุทวีปเริ่มเย็น ลงและย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ธรรมชาติ และเส้นทางลมมรสุมนี้เชื่อกันว่าเก่าแก่พอๆ กับการยกตัวขึ้นของที่ราบสูงทิเบต หรือราว 15-20 ล้านปีก่อน

ลมมรสุมนี้คือที่มาของปริมาณน้ำฝน 80% ของอินเดีย และร้อยละ 60 ของภาคเกษตรกรรมพึ่งพาน้ำจากฝนในฤดูมรสุมนี้ ฉะนั้นแม้ว่าลมมรสุมจะมาช้าไปเพียงไม่กี่วันก็อาจก่อผลเสียหายมหาศาลแก่ภาคเกษตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของ GDP และมีประชากรราวร้อยละ 75 พึ่งพิงอยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นหน้าที่ในการพยากรณ์วันที่ลมมรสุมจะพัดถึงฝั่งเกรละและเข้าสู่รัฐต่างๆ จึงเป็นงานสำคัญของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปูเน และมีหอสังเกตการณ์ทางทะเลอยู่ที่ชายฝั่งเกรละ

ในปีนี้มรสุมพัดเข้าฝั่งเกรละล่วงหน้าวันที่กรมอุตุฯ พยากรณ์ไว้หนึ่งวัน และเมื่อมรสุมตัวจริงที่ไม่ใช่พายุฝนฤดูร้อนหรือหางเลขไซโคลน หอบฝนขึ้นอาบชายฝั่งเกรละ กรมอุตุฯ พยากรณ์ว่ามรสุมปีนี้จะให้ฝน ‘ปกติ’ หรือราวร้อยละ 98 ของปริมาณ น้ำฝนปกติในหน้ามรสุมของทุกปี จากคำพยากรณ์ชาวอินเดียน่าจะหายใจได้ทั่วท้อง ว่าตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกที่ไต่ขึ้นมาอยู่ที่ 8.6 คงจะไม่สะดุดเสียกลางทาง แต่บทเรียนจากปีก่อนทำให้ยังไม่มีใครวาง ใจ

ในปี 2009 ฤดูมรสุมของอินเดียเริ่มเร็วกว่าทุกปีร่วมสัปดาห์ และกรมอุตุฯ ก็พยากรณ์ในทำนอง เดียวกัน แต่ด้วยผลกระทบจากไซโคลนไอลาส่งผลให้ฝนระลอกถัดมาล่าช้า ราวกลางเดือนมิถุนายนหลายพื้นที่ยังไม่เห็นแม้แต่เค้าเมฆฝน กระทั่งหมดฤดูมรสุม อินเดียได้รับปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดในรอบ 37 ปี หลายพื้นที่ประสบปัญหาฝนแล้ง พืชผลเสียหายส่งผลให้ผลผลิตรวมทางการเกษตรลดต่ำ อินเดียซึ่งปกติเป็นผู้ผลิตข้าวและข้าวสาลีรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ถึงกับประสบภาวะขาดแคลน ข้าวและข้าวสาลี รวมถึงพืชผลอีกหลายชนิดจนต้องมีมาตรการจำกัดการส่งออก และถึงขั้นต้องนำเข้าน้ำตาลและน้ำมันพืช นับจากเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ราคาพืชผักและสินค้าเพื่อการบริโภคในอินเดียสูงขึ้นกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ตามติดด้วยภาวะเงินเฟ้อ และการประท้วงเรื่องราคาสินค้าหลายต่อหลายครั้ง

ในอินเดียมรสุมฤดูฝนจึงเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ภาวะ เงินเฟ้อ ปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติ นอกจากจะส่งตรง ต่อภาคเกษตรกรรมและราคาพืชผล ทำให้ต้องจำกัดการส่งออกหรือเพิ่มปริมาณการนำเข้ายังมีผลต่อปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ซึ่งปัจจุบันอินเดียเผชิญกับภาวะขาดแคลนไฟฟ้าหนักหน่วงอยู่แล้ว และปริมาณน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่อาจทำให้ต้องลดกำลังการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าจะโยงไปถึงสภาพการลงทุนและตลาดหุ้น นัยหนึ่งคือความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม

ดังจะเห็นได้ว่าช่วงที่เศรษฐกิจโลกถดถอย ในปี 2008 อินเดียไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงนัก จีดีพียังเติบโตอยู่ที่ 6.7 แต่ภาวะฝนแล้งในปีก่อนกลับส่งผลกระทบหนักหน่วงกว่า ทั้งที่เศรษฐกิจโลกกำลังเริ่มฟื้นตัว นั่นคือสาเหตุที่นายกรัฐมนตรีมันโมฮัน ซิงห์กล่าวว่า ตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้ที่คาดว่าจะเป็น 8.5 นั้น มีข้อแม้สำคัญว่ามรสุมปีนี้จะให้ฝนพอเพียง

ระหว่างปี 2009 ที่อินเดียเผชิญภาวะฝนแล้ง พบว่าชาวบ้านหลายพื้นที่สิ้นหวังขนาดที่ต้องหันไปพึ่งพิธีขอฝนโบราณหลายรูปแบบ อาทิ การจับกบแต่งงาน พบในหลายพื้นที่และพิธีแต่งงานก็ทำกันเอิกเกริกครบขั้นตอนตามความเชื่อทางศาสนาฮินดู ในเมืองอาห์เมดาบัด รัฐคุชราต ชาวบ้านประกอบพิธี ขอฝนด้วยการลงไปนั่งสวดมนต์ในภาชนะใส่น้ำ ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐอุตตรประเทศ หญิงชาวนากลุ่ม หนึ่งเทียมแอกไถนาแทนวัวเพื่อวอนขอฝน ทั้งมีรายงานข่าวว่าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐพิหาร ชาวบ้าน ถึงกับขอให้บรรดาลูกสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานเปลือยกายไถนา ด้วยความเชื่อว่าเทวดาจะรู้สึกอายและประทานฝนลงมา แต่จากปริมาณฝนอันน้อยนิดในปีก่อน คงทำให้พวกเขาหวั่นใจว่าหากหน้าฝนนี้ซ้ำรอย จะมีพิธีหรือความเชื่อใดให้พึ่งได้อีก

หน้าร้อนปีนี้ถือว่าร้อนเป็นประวัติการณ์ ไม่ว่านี่จะเป็นผลจากภาวะโลกร้อน หรือผลพวงจากปรากฏการณ์ El Nino อินเดียมียอดผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนในรัฐต่างๆ แล้วกว่า 260 ราย เว้นจากแคชเมียร์และสิกขิมซึ่งสภาพภูมิอากาศเกี่ยวโยงกับหิมาลัยมากกว่าภาคอื่นๆ ของอินเดีย ผู้คนต่างพากันแหงนหน้ามองฟ้า และรอวันที่ลมมรสุมจะเคลื่อนมาถึง

ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เดินทางตามเส้นทางอันเก่าแก่มาขึ้นฝั่งแล้วที่เกรละ แต่ชาวอินเดียนับจากชาวนาชาวไร่ พ่อค้า นักลงทุน จนถึงนายกรัฐมนตรีต่างกลั้นใจรอว่าเมฆฝนที่มรสุมหอบมาฝาก จะพอให้ดินที่แห้งผากมากว่าปีได้ดับกระหายหรือไม่ ปีนี้จะเป็นอีกปีที่แร้นแล้งหรือช่ำเย็น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.