ฟื้นเขตเมืองเก่าในเซี่ยงไฮ้


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

จีนบูรณะย่านเมืองเก่าในเซี่ยงไฮ้ให้ควบคู่ไปกับความเป็นมหานครทันสมัย เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่มาเที่ยวงาน “World Expo 2010”

แม้ว่าเซี่ยงไฮ้จะดูเหมือนเป็นมหานครที่มีแต่ความทันสมัย แต่ความจริงแล้ว เมืองนี้มีประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่มาก ระหว่างที่เซี่ยงไฮ้กำลังแปลงโฉมตัวเองอย่างขนานใหญ่ เพื่อเป็นสถานที่จัดงาน World Expo ในปีนี้ ร่องรอยของอดีตได้ปรากฏขึ้นมาแบบไม่ตั้งใจ มีการพบป้ายจำนวนมากที่ถูกฝังมานานแล้ว หลายอันเขียนเป็นภาษาอังกฤษในยุคทศวรรษ 1930 สมัยที่เซี่ยงไฮ้ตกเป็นเขตเช่าของต่างชาติ บางป้ายเป็นชื่อร้านที่สะท้อนถึงกระแสสังคมนิยมในจีนในช่วงทศวรรษ 1950 หรือเป็นคำขวัญของการปฏิวัติวัฒนธรรม และเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกได้ว่า เซี่ยงไฮ้ได้ผ่านร้อน ผ่านหนาวมามากมายเพียงใด ทั้งการถูกยึดครองโดยต่างชาติ การลุกฮือของประชาชน สงครามกลางเมือง การปฏิวัติอีก 2 ครั้ง และความปั่นป่วนวุ่นวายเมื่อฝ่ายนิยมเหมาเรืองอำนาจ ยังไม่รวม การพัฒนาสู่ความทันสมัยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

เซี่ยงไฮ้ก็ไม่ได้ปฏิเสธประวัติศาสตร์ของตัวเอง และยังส่งเสริมสมบัติล้ำค่าทางประวัติศาสตร์นี้ให้อยู่เคียงข้างกับสมบัติร่วมสมัย ในส่วนที่เคยเป็นเขตเช่าของฝรั่งเศส มีการตั้งป้ายชื่อถนนใหม่ แต่เป็นชื่อเก่าที่เป็นภาษาต่างชาติ ตรอกซอกซอยหลายร้อยแห่งในเขตเมืองเก่าของเซี่ยงไฮ้ได้รับการบูรณะใหม่ทั้งปูพื้นใหม่ ทาสีอาคารบ้านเรือนใหม่และมุงหลังคาใหม่ งานนี้เซี่ยงไฮ้ใจป้ำทุ่มเงิน ไปถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อทำให้ถนนสายต่างๆ ในเขตเมืองเก่าเซี่ยงไฮ้ ดูสวยสง่างามไม่แพ้เมื่อ 70 ปีก่อน

ตัวสถานที่จัดงาน World Expo ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหวงผู่ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของอู่เรือและโรงงานแห่งแรกๆ ของจีน ทางการต้อง ย้ายอู่เรือและโรงงานเก่าเหล่านี้ไปที่อื่น แต่ยังคงเหลืออู่ซ่อมเรือและโรงงานเหล็กบางแห่งไว้ เพื่อใช้ในงาน Exp “ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีแต่การรื้อถอนทำลายในเมืองต่างๆ ของจีน แต่ตอนนี้เราต้องการแสดงให้ใครๆ เห็นว่า เราสามารถเริ่มต้นสิ่งใหม่ ด้วยการเริ่มที่การรักษาของเก่าได้ ไม่ใช่ด้วยการทำลายเพียงอย่างเดียว” Wu Zhiqiang เจ้าหน้าที่ผังเมืองที่ได้รับการศึกษาจากเยอรมนี และเป็นผู้ออกแบบสถานที่จัดงาน World Expo ของจีนกล่าว

ย่านเมืองเก่าที่ได้รับความเอาใจใส่มากที่สุด คือส่วนที่เลียบ แม่น้ำที่เรียกว่า the Bund ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในยุคอาณานิคม และเป็นฉากในภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องดังที่คนไทยรู้จักกันดี “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” อาคารเก่าที่เคยเป็นธนาคาร สำนัก งานและโรงแรมที่ตั้งเรียงรายตลอดชายฝั่ง ปรับปรุงใหม่ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจหรูหรา ทางหลวงขนาด 11 เลนเลียบแม่น้ำที่สร้างในทศวรรษ 1990 รวมทั้งสะพานรถข้าม ขนาดใหญ่ถูกรื้อถอนออกไป เนื่องจากเกะกะสายตาและทำให้คน เดินเท้าเข้าไปใน the Bund ไม่ได้

การจราจรในย่านนี้ถูกย้ายลงใต้ดิน ผ่านอุโมงค์ 2 ชั้นที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ อันนับเป็นชัยชนะทางวิศวกรรมที่งดงาม เนื่องจากดินในย่านนี้เป็นดินอ่อน ส่วนทางเดินเลียบแม่น้ำสายเก่าถูกปรับปรุงใหม่ให้กว้างขวางและสะอาดกว่าเดิม เชื่อมกับส่วนที่เป็นเขตอุตสาหกรรมเก่าและอู่เรือเก่าริมน้ำที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย

เพื่อแปลงโฉมย่าน the Bund ซึ่งเซี่ยงไฮ้ทุ่มงบถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ มีการเปิดโรงแรมหรูหราแห่งใหม่หลายแห่งที่เชื่อมโยงกลับไปถึงยุคที่เซี่ยงไฮ้รุ่งเรืองที่สุด ตระกูล Kadoorie ของฮ่องกง ซึ่งเคยเป็นมหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ในเซี่ยงไฮ้ในช่วงทศวรรษ 1930 ได้เปิดโรงแรม Peninsula Hotel ซึ่งนับเป็นการเปิดโรงแรมใหม่แห่งแรกในรอบ 70 ปีของย่าน the Bund โรงแรมเก่า Cathay Hotel ได้เปิดใหม่ในชื่อ Fairmont Peace Hotel ส่วน Shanghai Club ที่เป็นตำนานและปิดตัวไปเกือบ 20 ปี จะเปิดใหม่ในปีหน้าในชื่อ Waldorf Astoria พื้นที่ทางทิศเหนือของ the Bund muj เรียกว่า Origin of the Bund กำลังมีการบูรณะขนานใหญ่ เพื่อให้เป็นย่านชอปปิ้งที่เต็มไปด้วยห้องเสื้อและภัตตาคารหรูหรา ย่านนี้ยังมีสถานกงสุลเก่าของอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาคารที่เก่าแก่ที่สุดใน the Bund แม้กระทั่งสโมสรเรือพายเซี่ยงไฮ้อันเก่าแก่ ซึ่งเดิมจะต้องถูกรื้อถอนก็กลับได้รับการอนุรักษ์ไว้

อาคารเก่าแก่อื่นๆ ในยุคต่างชาติครองเซี่ยงไฮ้ก็ได้รับการอนุรักษ์ไว้เช่นกัน โรงภาพยนตร์เก่าแก่ที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบ art deco ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเซี่ยงไฮ้ คือ Grand Theatre ได้รับการบูรณะให้สวยเหมือนเมื่อวันวาน ด้วยงบมากกว่า 12 ล้านดอลลาร์ สำนักงานใหญ่ของ Royal Asiatic Society ของอังกฤษยุคทศวรรษ 1930 และพิพิธภัณฑ์ Shanghai Museum เก่าได้รับการปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้กล่าวว่า อาคารเก่าๆ เหล่านี้ยังเปรียบเสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ยุคแรกๆ ของเซี่ยงไฮ้ เขาอยากทำให้ย่านนี้เป็นที่ที่ประชาชนสามารถจะมาเที่ยวชมและสนทนากันเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม

ในขณะที่การฟื้นฟูบูรณะเมืองเก่าในเซี่ยงไฮ้ของภาครัฐ ดูจะเน้นที่ความรุ่งเรืองในอดีตของเซี่ยงไฮ้ แต่ฝั่งภาคเอกชนมีความคิดที่แหวกแนวกว่า นักธุรกิจบันเทิงยามราตรีจากนิวยอร์กคนหนึ่งได้ดัดแปลงวัดชินโตเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งร้างมานาน ในเขตที่เคยเรียกว่า Little Tokyo ของเซี่ยงไฮ้ให้กลายเป็นไนต์คลับ เสมือนเป็นการจงใจให้หวนนึกถึงความเหลวแหลกในยุคทศวรรษ 1930 ของเซี่ยงไฮ้ ภัตตาคารที่เพิ่งเปิด ใหม่แต่เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว Workshop Number 9 เสิร์ฟอาหารจีนรสเผ็ดร้อนแบบเสฉวน ในบรรยากาศการตกแต่งร้านที่ชวนให้นึกถึงโรงงานในยุคสังคมนิยมของจีน ด้วยท่อแบบที่เห็นในโรงงานอุตสาหกรรม โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อและสโลแกนในยุคทศวรรษ 1960-1970 และอาหารเสิร์ฟมาในชามกระเบื้องที่แตกบิ่น

แต่ที่สุดของการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นตาที่สุดในจีน อาจเป็นผลงานของ I. M. Pei สถาปนิกชื่อก้องโลกชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ซึ่งเกิดในเมืองซูโจว เขาเป็นผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ใหม่ ในเมืองเกิดของเขาที่ผสมผสานความล้ำสมัย อันเป็นเครื่องหมาย การค้าของ Pei และการใช้เส้นเหลี่ยมมุมกับกำแพงปูนสีขาว หลังคากระเบื้องสีดำ และการจัดวางที่สลับซับซ้อนของลานกว้างกับทะเลสาบ อันเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบ “ทางใต้ของแม่น้ำแยงซี” ของซูโจว จนออกมาเป็นผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง

ความทันสมัยที่ถูกห่อหุ้มอยู่ในประวัติศาสตร์ เป็นการผสมผสานที่หลายคนหวังว่าจะกลายเป็นโมเดลสำหรับการพัฒนา เซี่ยงไฮ้และเมืองอื่นๆ ของจีนต่อไปในอนาคต

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.