|

ญี่ปุ่น: วิกฤติ (เปลี่ยน) ผู้นำญี่ปุ่น
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ญี่ปุ่นเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี 5 คนภายในเวลาเพียง 4 ปี แต่ปัญหาของญี่ปุ่นไม่ใช่เป็นเพราะผู้นำไม่ดี
เรื่องอื้อฉาวเล็กๆ น้อยๆ ของนักการเมืองเป็นเรื่องปกติในประเทศร่ำรวย และนักการเมืองส่วนใหญ่ก็สามารถเอาตัวรอดไปได้ Bill Clinton รอดตัวจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับที่ดินและเรื่องอื้อฉาว ทางเพศ แถมยังลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างสง่างามด้วยคะแนนนิยมที่สูงถึง 66% Nicolas Sarkozy ถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงเอกสาร ในเรื่องอื้อฉาวที่เรียกว่า Clearstream Affair ทั้งยังเริ่มต้นการเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส ด้วยข่าวการหย่าร้างกับภรรยา แต่เขาก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งจนถึงวันนี้ อิตาลียิ่งแล้วใหญ่ นายกรัฐมนตรี Silvio Berlusconi ถูกรุมเร้าด้วยเรื่องอื้อฉาวทางการเงินและทางเพศ แต่คะแนนนิยมของเขาแทบไม่สะดุ้งสะเทือน
คงมีก็แต่เพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่ตรงกันข้าม เรื่องอื้อฉาวในญี่ปุ่นสามารถ “ฆ่า” นักการเมืองให้ตายได้ ทั้งในทางการเมือง หรือแม้แต่ตายจริงๆ
Yukio Hatoyama อดีตนายกรัฐมนตรีหมาดๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นนายกฯ ญี่ปุ่นคนที่ 4 แล้วที่ลาออกภายในเวลาเพียง 4 ปี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 8 เดือนที่แล้วพร้อมกับคำสัญญาครั้งประวัติศาสตร์ที่จะปฏิรูประบบของญี่ปุ่น ที่เป็นสาเหตุให้ญี่ปุ่นต้องขาดดุลงบประมาณมากที่สุดชาติหนึ่งในโลก และทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน แต่ไม่ทันที่ช่วงฮันนีมูนของรัฐบาล Hatoyama จะผ่านพ้นไป เขาก็ถูกโยงกับเรื่องอื้อฉาวการรับเงินสนับสนุนทางการเมือง 12 ล้านดอลลาร์ ก่อนจะลาออก คะแนนนิยมของ Hatoyama ร่วงลงเหลือเพียง 24% หรือเท่ากับตกฮวบลงถึง 50 จุด เมื่อเทียบกับตอนที่เขารับตำแหน่งใหม่ๆ มีการพูดกันถึงนายกฯ คนใหม่ที่จะมาแทนที่เขา ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะได้มีโอกาสแถลงนโยบายปฏิรูป ซึ่งทำให้เขาชนะเลือกตั้งเสียอีก
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาสุญญากาศผู้นำโดยไม่รู้ตัว หนำซ้ำ สาเหตุของปัญหาดังกล่าวยังถูกมองข้าม นั่นคือ การที่ญี่ปุ่นเอาแต่หมกมุ่นสนใจแต่เรื่องอื้อฉาวของนักการเมือง มากกว่าจะสนใจนโยบายของนักการเมือง ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่จมูกไวที่สุด แม้กระทั่งเรื่องอื้อฉาวเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองของตน
เรื่องอื้อฉาวเริ่ม “ฆ่า” นักการเมืองญี่ปุ่นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เมื่อนายกรัฐมนตรี Kakuei Tanaka ถูกขับเนื่องจากปัญหาเงินบริจาคทางการเงินที่ยังคลุมเครือ นั่นเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่วังวนของปัญหาการเมืองกับเงิน จริงอยู่ที่ปัญหาดังกล่าวเป็นความจริงที่น่าวิตก แต่ขณะที่การสร้างความสัมพันธ์ สามเส้าที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่างนักการเมือง ข้าราชการและธุรกิจ ต่างก็พบในประเทศพัฒนาแล้วทุกประเทศ แต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ที่เรื่องอื้อฉาวแม้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นความผิดที่สามารถจะจบสิ้นอนาคตทางการเมืองของนักการเมืองได้
หลายครั้งที่ผู้นำเก่งๆ ของญี่ปุ่นต้องจบสิ้นอนาคตไปอย่างน่าเสียดายด้วยข้อกล่าวหาที่อ่อนแอ ในปี 1980 ข้อกล่าวหาลอยๆ เรื่องสินบนบีบให้นายกรัฐมนตรี Noboru Takeshita ต้องลาออก ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ถูกฟ้องร้องแต่อย่างใด น่าเสียดายวิสัยทัศน์ของ Takeshita ที่ต้องการทำให้ญี่ปุ่นเป็นรัฐสวัสดิการแบบยุโรป ซึ่งหาก นโยบายดังกล่าวกลายเป็นจริง อาจช่วยเตรียมญี่ปุ่นให้พร้อมมาก กว่านี้สำหรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน
ต้นทศวรรษ 1990 หลังจากที่โซเวียตเพิ่งล่มสลาย ตลาดญี่ปุ่นกำลังเกิดฟองสบู่ และสหรัฐอเมริกากำลังหาทางวางระเบียบโลกใหม่หลังสงครามเย็นสิ้นสุด ส่วนญี่ปุ่นกำลังทำอะไรน่ะหรือ ง่วนกับการกล่าวหา Shin Kanemaru นักการเมืองใหญ่ของพรรค LDP พรรคการเมืองที่ครองอำนาจในญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะถูก Hatoyama และพรรค DPJ โค่นลงเมื่อ 8 เดือนก่อน Kanemaru ถูกกล่าวหาว่ารับเงินบริจาคทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย 5 ล้านดอลลาร์ และหลบเลี่ยงภาษี ทำให้นโยบายใหม่ของเขาที่คิดจะนำระบบ 2 พรรคมาใช้กับญี่ปุ่น เป็นอันต้องพับฐานไป
ไม่มีนักการเมืองญี่ปุ่นคนใดที่จะพูดถึงการไม่แพร่กระจาย นิวเคลียร์ หรือการไปเยือนประเทศที่เพิ่งแตกออกมาจากโซเวียต อย่างที่ ส.ส.อเมริกันทำ แต่การสนใจเรื่องอื้อฉาวทางการเมือง ทำให้ญี่ปุ่นเชื่องช้าในการปรับตัวรับระเบียบโลกใหม่ยุคหลังสงครามเย็น และความไร้เสถียรภาพทางการเมืองจากความอ่อนแอของพรรค LDP มีส่วนทำให้เวลาของญี่ปุ่นหายไปถึง 10 ปีเพราะ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องสูญเสียนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 4 คนกับการลาออก Shinzo Abe ไม่ได้เจอเรื่องอื้อฉาวด้วยตัวเอง แต่รัฐมนตรีเกษตรในรัฐบาลของเขา เจอเรื่องอื้อฉาวโกงการจ่ายค่าน้ำประปา และยังเจอข้อกล่าวหาอื้อฉาวอื่นๆ จนถึงกับผูกคอตาย
เรื่องนี้ทำให้แผนการใหญ่ของ Abe ต้องหยุดชะงักไปตามๆ กัน เช่น การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งกำลังผงาดเป็นยักษ์เศรษฐกิจตัวใหม่ของโลก จนกระทั่งทุกวันนี้ ญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากการที่มีโอกาสได้เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและร่ำรวยที่สุดของจีน
Abe ต้องลาออกไปเพราะคะแนนนิยมที่ตกต่ำ และทำให้ Yasuo Fukuda นายกรัฐมนตรีคนต่อจากเขา ไม่สามารถเดินหน้า แผนการแก้ไขระบบสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นได้ Fukuda เป็นผู้นำ ญี่ปุ่นอีกคนที่ต้องลาออกไป หลังจากอยู่ในตำแหน่งเพียงปีเดียว Taro Aso ตกเป็นเป้าของเรื่องอื้อฉาว เกือบจะทันทีที่รับตำแหน่งนายกฯ อันเกิดจากนิสัยส่วนตัวที่ไม่ดีเพียงเล็กน้อยของเขา คือ ชอบไปนั่งดื่มที่บาร์แพงๆ การอ่านตัวหนังสือผิดๆ พลาดๆ และการมีรัฐมนตรีคลังที่ดูเหมือนจะเมาขณะแถลงข่าวการประชุมสุดยอด G7 Aso ถูกสื่อละเลงข่าวจนดูราวกับเป็นคนปัญญาอ่อน
ในขณะนั้นวิกฤติการเงินโลกกำลังระส่ำหนัก แต่ญี่ปุ่นกลับ มัวสนใจแต่เรื่องอื้อฉาวของผู้นำเรื่องแล้วเรื่องเล่า เกินกว่าจะสนับสนุนความพยายามของ Aso ในการฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องบอกว่ามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถกลับมาฟื้นตัวเล็กน้อยได้อีกครั้งอยู่ในขณะนี้ รัฐมนตรีคลังของ Aso ที่ถูกนินทาว่าดื่มเหล้าก่อนการแถลงข่าว G7 คือผู้ที่ประกาศจะให้เงินกู้ 100,000 ล้านดอลลาร์แก่ IMF เพื่อนำไปใช้แก้ไขวิกฤติการเงินโลก จน Dominique Strauss-Kahn กรรมการผู้จัดการใหญ่ IMF ถึงกับออกปากชมญี่ปุ่น ที่ยอมให้เงินกู้ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่คนญี่ปุ่นกลับไม่เคยเห็นความดีของผู้นำของตัวเอง ทั้ง Aso และพรรค LDP ของเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งกลายเป็นการสิ้นสุดอำนาจที่ครอง มายาวนานของพรรค LDP
แม้แต่ Hatoyama ซึ่งไม่ได้มาจาก LDP ก็ยังคงหนีไม่พ้นชะตากรรมเดียวกัน คะแนนนิยมของเขาเริ่มลดลง เมื่ออัยการ สื่อและฝ่ายค้าน ต่างพากันขุดคุ้ยเรื่องเงินบริจาคทางการเมือง หลังจากพบว่า รายชื่อผู้บริจาคเงินให้พรรคของเขามีชื่อของคนที่ตายไปแล้ว และ Hatoyama ยังเลี่ยงภาษีเงินสด 12 ล้านดอลลาร์ ที่เขาได้รับมาจากมารดาซึ่งเป็นเศรษฐินีทายาทธุรกิจผู้ร่ำรวยมหาศาล การสอบสวนเรื่องเงินเพียงไม่กี่สิบล้านนี้ กลายเป็นสิ่งที่ คนทั่วญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากเสียยิ่งกว่าปัญหาขาดดุลงบประมาณ หลายพันล้านดอลลาร์ของประเทศและยังทำให้ Hatoyama หมดสิ้นอำนาจต่อรองในการเจรจาประเด็นนโยบายต่างประเทศที่ร้อนแรงอย่างการย้ายฐานทัพสหรัฐฯ ออกจากเกาะโอกินาวาและแผนการของเขาที่จะถ่ายโอนอำนาจจากข้าราชการไปยังนักการเมือง
บางทีนี่อาจถึงเวลาแล้วที่ญี่ปุ่นจะต้องคิดว่า การพยายาม จะกวาดล้างการเมืองญี่ปุ่นให้สะอาดปราศจากเรื่องอื้อฉาวโดยสิ้นเชิงนั้น มากเกินไปแล้วหรือเปล่า
การหมกมุ่นกับการทำการเมืองให้สะอาดของญี่ปุ่น มีรากเหง้ามาจากทัศนคติของคนญี่ปุ่น ที่มองว่าเงินบริจาคทางการเมืองมักเป็นเงินสกปรก เพราะเป็นที่มาของการให้อภิสิทธิ์ต่อเจ้าของเงิน ทัศนคตินี้ยิ่งเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น เมื่อความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเริ่มเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ยิ่งเวลาผ่านไป ชาวญี่ปุ่นก็ยิ่งรู้สึกเบื่อหน่ายกับภาพที่นักการเมืองซื้อเสียง และให้สิทธิพิเศษกับเขตที่เป็นฐานเสียงของตัวเอง
ในทางทฤษฎี การพยายามทำให้รัฐบาลสะอาดและโปร่งใส น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับในญี่ปุ่นแล้ว เรื่องอื้อฉาวทางการเมืองกลายเป็นเรื่องหลักของประเทศ ที่ดูเหมือนจะสำคัญยิ่งกว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ญี่ปุ่น กำลังประสบในปัจจุบัน แม้กระทั่งหลังจากอัยการสั่งไม่ฟ้องและคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงก็ตัดสินว่า Hatoyama ไม่ต้องถูกฟ้องร้อง แต่ฝ่ายค้านก็ยังคงโจมตีเขาว่าโกหกและผิดสัญญาหาเสียงที่บอกว่าจะเปิดเผยรายละเอียดเรื่องเงินสนับสนุนทางการเมือง ส่วนหนังสือพิมพ์ก็ยังคงไม่หยุดพาดหัวข่าวว่า Hatoyama ยังปิดปากเงียบเรื่องเงินที่เขาได้รับจากมารดา แม้แต่ชาวญี่ปุ่นก็สนใจแต่เรื่องอื้อฉาวของนักการเมือง ทั้งๆ ที่ประเทศกำลังมีปัญหาใหญ่ด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ แต่ผลสำรวจล่าสุดในเดือนมีนาคมของหนังสือพิมพ์ Asahi ยังคงพบว่า 74% ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในญี่ปุ่นยืนยันว่า การตัดสินใจจะลงคะแนน เสียงให้นักการเมืองคนใดในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะยังคงดูเรื่องเงินกับการเมืองเป็นหลัก
แม้แต่กฎหมายของญี่ปุ่นก็ยังสะท้อนการไม่ตระหนักว่าเรื่องใดสำคัญต่อบ้านเมืองมากกว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นแก้ไขกฎหมายควบคุมเงินบริจาคทางการเมืองนับครั้งไม่ถ้วน จนกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ยิ่งเข้มงวดและซับซ้อนมากขึ้น อัยการญี่ปุ่นที่เก่งๆ แทบจะสามารถตั้งข้อหานักการเมืองให้มีความผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เสมอ จะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย หากจะพบว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ในสภาญี่ปุ่นจะถูกกล่าวหาเรื่องรับเงินผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายนี้ถูกนำมาตีความตามอำเภอใจ
กระนั้นก็ตาม แม้แต่นักการเมืองญี่ปุ่นก็ยังดูเหมือนจะไม่เข้าใจรากเหง้าที่มาของปัญหานี้ Yoichi Masuzoe อดีตรัฐมนตรี สาธารณสุข ซึ่งออกจากพรรค LDP ไปตั้งพรรคใหม่ ยังคงประกาศ จะกวาดล้างเรื่องการรับเงินออกไปจากการเมืองญี่ปุ่น โดยจะห้าม พรรคการเมืองรับเงินบริจาคจากธุรกิจ
นี่เป็นเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะนักการเมืองต้องใช้เงินจึงจะทำงานได้ในระบอบประชาธิปไตย และผลที่จะเกิดขึ้นจะกลับกลายเป็นว่า นักการเมืองดีๆ ต้องมาเสียอนาคต เพียงเพราะทำความผิดเล็กน้อยอันเกิดจากกฎหมายที่จุกจิกมากเกินไป
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นหมกมุ่นกับความผิดเล็กน้อยของนักการเมือง เป็นเพราะการที่ฝ่ายค้านอ่อนแอมานาน ในช่วง หลายทศวรรษที่พรรค LDP ครองอำนาจติดต่อกันอย่างยาวนานนั้น โอกาสเดียวที่ฝ่ายค้านจะเข้าถึงประชาชนทั่วทั้งประเทศได้ คือเมื่อมีการถ่ายทอดสดการอภิปรายในสภาเท่านั้น ทำให้ฝ่ายค้านซึ่งไม่สามารถจะสั่นคลอนอำนาจของ LDP ได้เลย ต้องฉกฉวยโอกาสนี้ รุมกระหน่ำโจมตีเรื่องอื้อฉาวของพรรค LDP เพื่อดึงความสนใจของประชาชนให้ได้จนติดเป็นนิสัย และกลายเป็นสิ่งที่บิดเบือนการอภิปรายนโยบายสำคัญของชาติ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงทุกวันนี้ เมื่อเกิดเรื่องอื้อฉาวของนักการเมืองขึ้นมาเมื่อใด การถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายสำคัญของชาติเป็นอันต้องชะงักลงทันที เพราะทั้งรัฐสภา สื่อ และประชาชน ต่างเฮโลไปสนใจแต่เรื่องอื้อฉาวล่าสุดของนักการเมืองที่เกิดขึ้น
สื่อญี่ปุ่นเชี่ยวชาญการติดตามข่าวความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่าข่าวนโยบาย ก่อนจะลาออก สื่อถึงกับล้อเลียน Hatoyama ว่าเป็นลูกแหง่ที่ต้องคอยแบมือขอเงินแม่ เขาถูกสื่อรุมกระหน่ำคำถามเรื่องเงินที่ได้รับจากมารดา มากกว่าเรื่องนโยบาย การปฏิรูป การที่สื่อญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเรียกเรตติ้งจากผู้ชม จากการที่สามารถดับอนาคตของนักการเมือง ทำให้สื่อกระหายที่จะล่าเหยื่อรายใหม่ไปเรื่อยๆ
โรคคลั่งเรื่องอื้อฉาวของนักการเมืองกำลังจะทำให้ญี่ปุ่นหมดสิ้นคนดีที่จะมาเป็นผู้นำประเทศ ในเวลาที่ญี่ปุ่นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีผู้นำเพื่อความอยู่รอด แม้กระทั่ง ส.ส.ดีๆ Muneo Suzuki อดีต ส.ส.พรรค LDP ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการปรับปรุงความสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่งจะเป็นผลดีกับญี่ปุ่นที่ไม่มีทรัพยากรเป็นของตนเอง และยังสามารถใช้รัสเซียคานอำนาจกับจีนได้ Suzuki ช่วยให้ญี่ปุ่นมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาข้อพิพาทกับรัสเซีย เรื่องการแย่งกันอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะ Kuril ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการปรับปรุงความสัมพันธ์กับรัสเซีย
แต่ Suzuki ถูกขับออกจากรัฐสภาในปี 2003 หลังจากเจอเรื่องอื้อฉาวการรับสินบน และแม้ว่าเขากลับเข้าสู่สภาได้อีกครั้งในฐานะ ส.ส.อิสระ แต่ก็หมดสิ้นซึ่งอำนาจที่เคยมี ชะตากรรมของ Suzuki สะท้อนชะตากรรมของญี่ปุ่นเอง ซึ่งเปรียบเสมือนนักมวยที่ยังไม่แขวนนวม แต่บาดเจ็บสาหัสจากบาดแผลที่เกิดจากการลงโทษตัวเอง จนอำนาจอิทธิพลที่เคยมีในโลกของญี่ปุ่น ลดลงอย่างรวดเร็ว
นี่อาจถึงเวลาที่ญี่ปุ่นควรหันมาพิจารณาอย่างจริงจังว่า การตามล้างตามเช็ดการเมืองญี่ปุ่นให้สะอาดปราศจากเรื่องอื้อฉาว ทางการเงินอย่างหมดจดจนเกินไปนั้น คุ้มค่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่ประเทศต้องสูญเสียไปหรือไม่
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|