ความร่วมมือจีน-ไต้หวัน กระเทือนการค้า-การลงทุนไทย


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าจีนและไต้หวันจะยังคงมีความไม่ลงรอยกันในประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะนโยบายจีนเดียว แต่ในมิติทางเศรษฐกิจ โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจช่องแคบไต้หวัน Economic Cooperation Framework Agreement (ECFA) กำลังมีความคืบหน้าและกำลังท้าทายดุลยภาพทางการค้าการลงทุนของภูมิภาคอย่างกว้างขวาง

โครงการดังกล่าวเป็นความพยายามในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ล่าสุดได้มีการเจรจารอบที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ตกลงกันในประเด็นสินค้าที่จะเปิดเสรีระหว่างกันรอบแรก (Early Harvest) โดยได้มีการเจรจาลดภาษีสินค้าในกลุ่มปิโตรเคมี เครื่องจักร และชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวนกว่า 200 รายการสำหรับการส่งออกจากจีนไปยังไต้หวัน ประมาณ 500 รายการสำหรับการส่งออกจากไต้หวันไปยังจีน

ก่อนหน้านี้ ทางการทั้งสองประเทศได้มีการเชื่อมความสัมพันธ์ผ่านการประชุมของ Straits Exchange Foundation (SEF) และ Association for Relations Across the Taiwan Straits (ARATS) เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2551 และมีการประชุมครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 4) เมื่อเดือนธันวาคม 2552 จากการประชุมทั้ง 4 ครั้งเกิดข้อสรุปร่วมกันหลายด้าน เช่น การเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวในอีกประเทศได้ การอนุญาตให้ขนส่งสินค้าโดยตรงทั้งทางน้ำและทางอากาศ และการลดข้อจำกัดการลงทุน ระหว่างกันในธุรกิจธนาคาร หลักทรัพย์ และประกัน

การลงนามข้อตกลง ECFA คาดว่าจะมีการลงนามในการประชุมครั้งที่ 5 ของ Straits Exchange Foundation (SEF) และ Association for Relations Across the Taiwan Straits (ARATS) ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีความแน่นอนเรื่องตัวสินค้าและกำหนดเวลาที่จะเริ่มลดภาษีระหว่างกันภายใต้การเปิดเสรีรอบแรกของความตกลง ECFA แต่ถือได้ว่าความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีความคืบหน้าที่สำคัญ และอาจมีผลกระทบต่อการค้าการลงทุนของไทยกับทั้งจีนและไต้หวันในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าข้อตกลง ECFA จะส่งผลให้มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างจีน-ไต้หวันมีโอกาสขยายตัวขึ้น โดยการค้าระหว่างจีนและไต้หวันในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 44.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.9 (YoY) โดยการส่งออกจากจีนไปยังไต้หวันมีมูลค่า 8.52 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.8 (YoY) และการส่งออกจากไต้หวันไปยังจีนมีมูลค่า 35.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.9 (YoY)

นอกจากนั้น มูลค่าการค้ารายเดือนระหว่างสองประเทศ ทั้งมูลค่ารวม การส่งออกจากจีนไปไต้หวัน และการส่งออกจากไต้หวันไปจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น (YoY) ทั้ง 4 เดือน ทั้งนี้จีนเป็นตลาด ส่งออกที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน ในปี 2552 มูลค่าการส่งออกไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.3 ของการส่งออกทั้งหมด และถ้ารวมการส่งออกไปฮ่องกงด้วย จะมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมด

ในส่วนการลงทุน 4 เดือนแรกของปีนี้มีการลงทุนของนักลงทุนไต้หวันในจีนมูลค่า 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.7 (YoY) ทั้งนี้จีนเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญที่นักลงทุนไต้หวันเข้าไปลงทุนในจีนมากคือ กลุ่มอุตสาหกรรมไอที ไต้หวันถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก

จากข้อมูลของ Market Intelligence & Consulting Institute of the Institute of Information Technology ระบุว่า ฐานการผลิตสินค้าไอทีของไต้หวันร้อยละ 90 อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากอุตสาหกรรมไอที ไต้หวันยังเป็นประเทศชั้นนำในอุตสาหกรรมการเงินอีกด้วย โดยในการเจรจาความตกลง ECFA ครั้งนี้ จีนยังได้ให้สิทธิพิเศษให้ธนาคารไต้หวันเข้าไปจัดตั้งธุรกิจในจีนได้โดยสามารถให้บริการธุรกรรมด้วยเงินสกุลหยวนได้ทันทีหลังจากการจัดตั้งสาขา

ขณะเดียวกันการลงทุนของจีนในไต้หวัน จากการที่ในปี 2552 ไต้หวันเริ่มเปิดให้นักลงทุนจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปลงทุนในไต้หวันได้ในกิจการที่ไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศได้มากขึ้น เช่น สิ่งทอ รถยนต์ โรงแรม และท่องเที่ยว ทำให้เริ่มมีมูลค่าการลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาในไต้หวันในครึ่งหลังของปี 2552 มากขึ้น โดยใน 4 เดือนแรกของปีนี้มีการลงทุนของนักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ได้รับอนุญาตทั้งสิ้น 34.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2534 มีการลงทุนของนักลงทุนจีนในไต้หวันเป็นมูลค่าราว 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลการค้าและการลงทุนระหว่างจีนและไต้หวันแสดงให้เห็นว่าการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศมีแนวโน้มทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผลจากข้อตกลง ECFA ซึ่งจากการเจรจาในรอบที่ 3 ได้ข้อสรุปเรื่องการลดภาษีสินค้ากลุ่มปิโตรเคมี เครื่องจักร และชิ้นส่วนยานยนต์ และยังอาจจะมีข้อตกลงลดภาษีสินค้ากลุ่มอื่นๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตตามการเจรจาเปิดเสรีในรอบต่อๆ ไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของไทยกับจีนและไต้หวันได้ ในฐานะที่จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ส่วน ไต้หวันแม้การส่งออกของไทยไปไต้หวันมีมูลค่าไม่สูงนัก แต่ไต้หวันก็มีความสำคัญในด้านการเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนรายหลักๆ ในประเทศแถบเอเชีย

การเปิดเสรีการค้าระหว่างจีนและไต้หวันในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยบางชนิดไปยังประเทศทั้งสอง เนื่องจากจะต้องแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกันที่ทั้งสองประเทศค้าขายกันข้ามพรมแดนมากขึ้นจากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้นหากอัตราภาษีที่ทั้งสองประเทศจะบังคับใช้ระหว่างกันเป็นอัตราต่ำลง โดยสินค้าของไทยที่ได้รับผลกระทบมากคือสินค้าที่เป็นสินค้าส่งออกหลักระหว่างกันของไต้หวันและจีนอยู่แล้วและไทยยังถูกเก็บภาษีนำเข้าจีนและไต้หวัน ซึ่งหากข้อตกลง ECFA ทำให้การนำเข้าสินค้าชนิดนั้นข้ามพรมแดน จีน-ไต้หวันถูกเรียกเก็บภาษีน้อยกว่าสินค้าจากไทย ก็จะทำให้สินค้าชนิดเดียวกันนั้นได้เปรียบสินค้าส่งออกจากไทย

สินค้าออกหลักของไทยไปยังจีนบางชนิดที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงหากข้อตกลง ECFA เก็บภาษีจากไต้หวันในอัตราต่ำกว่า ได้แก่ สินค้ากลุ่มส่วนประกอบเครื่องจักร (HS 8473) และสารเคมีประเภทโพลีอะซีทัล โพลีเอทิลีนอื่นๆ (HS 3907) ซึ่งในปัจจุบันสินค้าเหล่านี้ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าไปจีนในอัตราร้อยละ 0-10.5 และร้อยละ 6.5-10 ตามลำดับ (ขึ้นอยู่กับประเภทย่อยของสินค้า)

โดยใน 4 เดือนแรกของปี 2553 จีนเป็นตลาดส่งออก อันดับ 1 ของไทยสำหรับสินค้าทั้งสองชนิด ด้วยมูลค่าการส่งออก 300.2 และ 110.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 27.45 และ 18.29 ของการส่งออกสินค้าแต่ละชนิดตามลำดับ

ผลกระทบโดยตรงของข้อตกลงดังกล่าวต่อสินค้าออกของไทยไปยังไต้หวันน่าจะยังจำกัดอยู่เพียงสินค้าบางชนิดที่มีมูลค่าการส่งออกไปไต้หวันไม่มากนัก เนื่องจากสินค้าออกหลักของไทย ไปยังไต้หวันส่วนใหญ่ในกลุ่มวงจรรวม เครื่องจักร และชิ้นส่วนเครื่องจักร ได้รับอัตราภาษีเท่ากับศูนย์จากการเป็นประเทศ Most Favored Nation ของไต้หวันจากการเป็นสมาชิก WTO อยู่แล้ว

สินค้ากลุ่มดังกล่าวบางชนิดที่ยังถูกเก็บภาษีมากกว่าศูนย์มีมูลค่าการส่งออกไปยังไต้หวันไม่มากนัก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ (HS 8415) และส่วนประกอบยานยนต์ (HS 8708) ในปัจจุบันถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าไต้หวันร้อยละ 1.5-10 และร้อยละ 0-30 ตามลำดับ (ขึ้นกับชนิดย่อยของสินค้า)

ทั้งนี้ใน 4 เดือนแรกของปี 2553 การส่งออกเครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบยานยนต์จากไทยไปยังไต้หวันมีมูลค่า 29.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 17.8 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.58 และ 1.45 ของการส่งออกของไทยในสินค้าแต่ละชนิดตามลำดับ

ขณะที่สินค้าออกหลักของไทยไปยังไต้หวันที่เป็นสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ซึ่งถูกไต้หวันเก็บภาษีนำเข้ามากกว่าศูนย์ น่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนักจากข้อตกลง ECFA เนื่องจากไม่ใช่สินค้าออกหลักของจีนไปยังไต้หวันในขณะนี้ ทำให้การแข่งขันจากจีนในสินค้าดังกล่าวยังมีน้อย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศจีนมีกำลังการผลิตสูงและมีต้นทุนต่ำ หากสินค้าดังกล่าว เป็นที่น่าสนใจในตลาดไต้หวันอาจทำให้จีนพัฒนาการผลิตและส่งออกไปยังไต้หวันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากจีนมากขึ้นในอนาคต

ถึงที่สุดไม่ว่าจะเป็นจีนเดียวหรือสองจีน การแข่งขันในระดับสากลของผู้ประกอบการไทยก็เผชิญกับสถานการณ์ที่หนักหน่วงอย่างยิ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.