|
เตือนส่งออกครึ่งปีหลังชะลอตัว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 543)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองเข้าขั้นวิกฤติ และมีวันทำการน้อยจะมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 22 เดือน โดยการส่งออกสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ก็ยังคงขยายตัวสูง ซึ่งส่วนหนึ่งยังได้รับอานิสงส์จากการส่งออกทองคำที่พุ่งขึ้นถึงร้อยละ 521 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงถึง 1,379 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกทองคำในปีที่แล้วทั้งปี
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การส่งออกในระยะข้างหน้ายังต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาครัฐและเอกชนอาจต้องเตรียมรับมือกับแนวโน้มที่การส่งออกในครึ่งปีหลังอาจชะลอตัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มการส่งออกของไทยว่า การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2553 มีมูลค่า 16,556 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 22 เดือน และมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 42.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 35.2 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่า 14,345 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 55.1 (YoY) สูงขึ้นจากร้อยละ 46.0 ในเดือนก่อน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันที่อ่อนตัวลงอย่างมากในระยะที่ผ่านมา เป็นสาเหตุให้ผู้ประกอบการไทยเร่งนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อให้ได้ประโยชน์จากต้นทุนราคาสินค้าที่ต่ำ สำหรับดุลการค้าในเดือนพฤษภาคมพลิกกลับมาเกินดุลในระดับที่สูงสุดในรอบ 12 เดือน ที่มูลค่า 2,111 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่บันทึกการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 17 เดือนที่ 266 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนก่อนหน้า
สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอตัวในเดือนก่อนกลับมาดีขึ้นอย่างมาก ขณะที่กลุ่มสินค้าที่มีการส่งออกขยายตัวโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ก็ยังมีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินค้ากลุ่มที่ไม่สดใสนัก ได้แก่ ข้าว อาหาร ทะเลกระป๋องและแปรรูป เสื้อสำเร็จรูป เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดส่วนใหญ่ในเดือนพฤษภาคมมีการฟื้นตัวดีขึ้นมากจากที่ชะลอตัวในเดือนก่อน
แต่ตลาดประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปยังขยายตัวไม่ต่างจากเดือนก่อนมากนัก ซึ่งสะท้อนถึงทิศทางอุปสงค์ในตลาดยุโรปที่อาจไม่สดใสนักในระยะข้างหน้า โดยการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป 15 ประเทศ ขยายตัวร้อยละ 19.3 (YoY) ในเดือนพฤษภาคม (จากร้อยละ 15.0 ในเดือนก่อน)
ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 26.7 ญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 39.4 อาเซียน 5 ประเทศ ขยายตัวร้อยละ 50.0 ส่วนตลาดใหม่โดยเฉลี่ยขยายตัวร้อยละ 48.3 ทั้งนี้ ตลาดยุโรปที่เริ่มชะลอตัวแล้วในเดือนพฤษภาคม ได้แก่ เยอรมนีและโปรตุเกส ขณะที่ไอร์แลนด์มีการหดตัวมาตั้งแต่ต้นปี
จากตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวสูงอย่างมากในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 อีกทั้งมีผลของการส่งออกทองคำ ซึ่งด้วยระดับราคาในเดือนมิถุนายน ที่ยังคงพุ่งทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่และทรงตัวในระดับสูงนี้ น่าจะยังเป็นแรงจูงใจให้มีการขายทองคำออกมาต่อไปอีก ซึ่งคงจะหนุนตัวเลขการส่งออกในเดือนมิถุนายนให้ยังคงขยายตัวสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า การส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 น่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 34 (YoY)
ในระยะต่อไป แม้คาดว่าการส่งออกจะยังสามารถรักษาอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้ในแต่ละเดือนของช่วงครึ่งปีหลัง แต่การส่งออกมีแนวโน้มที่จะชะลอตัว อันเนื่องมาจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับวิกฤติด้านการคลังของหลายประเทศในยุโรป เป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ทั้งผลที่อาจจะมีขึ้นต่อภาคสถาบันการเงินของยุโรป และผลกระทบ ต่อระบบเศรษฐกิจของยุโรปทั้งภูมิภาค รวมถึงเสถียรภาพของค่าเงินยูโร หากวิกฤติดังกล่าวลุกลามขยายวงออกไปมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจจะส่งผลให้การส่งออกของหลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งไทย ชะลอตัวตามไปด้วย
ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความเสี่ยงจากวิกฤติหนี้สาธารณะของหลายประเทศในยุโรป จนทำให้มีความวิตกกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบสอง (Double-Dip Recession) ในบางประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงรอติดตามสถานการณ์ในเดือนข้างหน้าต่อไปก่อนที่จะพิจารณา ปรับประมาณการแนวโน้มการส่งออกอีกครั้ง
ความเสี่ยงด้านวิกฤติหนี้ในภูมิภาคยุโรปที่อาจส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว ผู้ส่งออกไทยอาจต้องเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้นหลายด้าน ทั้งค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า ขณะที่ต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคาอย่างหนัก เนื่องจากผู้ซื้อในต่างประเทศมีทางเลือกให้สามารถต่อรองราคาได้มาก นอกจากนี้ยังต้องเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุน ทั้งจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่มีโอกาสปรับขึ้นในระยะข้างหน้า รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่อาจเข้าสู่ช่วงขาขึ้น
ภายใต้ปัจจัยความเสี่ยงเหล่านี้ ผู้ส่งออกไทยจึงควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ที่อาจต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|