บุญชูกับศิลปวัฒนธรรมและวงการวรรณกรรม


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงแม้ถวัลย์ ดัชนี จะเคยพูดในวงเหล้าว่ารสนิยมศิลปะของนายธนาคารทั้งหลายเป็นรสนิยมระดับจัณฑาลก็ตาม

แต่บุญชูเองก็เป็นคนที่รักในด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีรสนิยมค่อนข้างสูงพอสมควร (บัญชา ล่ำซำ ก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งชอบในด้านนี้)

“มีอยู่หลายครั้งที่ท่านแอบไปดูการแสดงภาพวาด และครั้งหนึ่งท่านให้ช่วง มูลพินิจ ขนภาพสีน้ำไปให้ดูที่สำนักงาน ในครั้งนั้นท่านซื้อไปหลายรูป มีอยู่รูปหนึ่งเป็นรูปศาลเจ้าซึ่งท่านส่งไปให้ธนาคารกรุงเทพ สาขาสำเพ็งติดไว้” คนใกล้ชิดบุญชูเล่าให้ฟัง

ในยุคที่บุญชูเป็นผู้จัดการใหญ่เป็นยุคที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์รุ่งเรืองมาก “ธนาคารต้องแสดงออกต่อสังคมในด้านอื่นด้วย ไม่ใช่เฉพาะในด้านการเงินการทอง” บุญชูเคยพูดกับผู้ใกล้ชิด

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมของธนาคารกรุงเทพที่อยู่ชั้นบนสุดของธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า ก็เป็นผลงานของบุญชู

“แม้แต่หนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่ธนาคารกรุงเทพทำ และแจกในงานเปิดตึกใหม่ก็สำเร็จได้เพราะการสนับสนุนของบุญชู” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

หนังสือชุดนี้มีหลายเล่ม เดิมทีเป็นโครงการที่สุจิตต์ วงษ์เทศ เสนอขึ้นมาแต่บุญชูนำไปขยายจากชื่อ “เมืองไทยของเรา” เป็นการชำระประวัติศาสตร์ไทยและมอบให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบรรณาธิการ เฉพาะค่าใช้จ่ายในการจัดทำก็เป็นล้านๆ บาท

บุญชูอาจจะเป็นนายธนาคารเพียงคนเดียวในเมืองไทย ที่พยายามจัดให้มีการนัดพบสังสรรค์กับบรรดานักเขียนต่างๆ เมื่อสมัยที่เขาเป็นผู้จัดการใหญ่

ในสายตาของปัญญาชนจึงมองบุญชูว่าเป็นนายทุนที่มีความคิดก้าวหน้ามากกว่าคนอื่น

บุญชูให้ความเคารพปรีดี พนมยงค์ อย่างสูง

ครั้งหนึ่งหลังจากกลับจากต่างประเทศซึ่งเขาเดินทางไปเยี่ยมปรีดี พนมยงค์ ที่กรุงปารีส เขากลับมาพร้อมกับต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสที่ปรีดี พนมยงค์ เขียนเกี่ยวกับการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน

เขาสั่งให้คนใกล้ชิดบินไปฮ่องกง เพื่อหาสำนักพิมพ์ที่สามารถซื้อลิขสิทธิ์เพื่อแปลเป็นหนังสือภาษาจีนเพื่อเผยแพร่ทันทีตามความประสงค์ของปรีดี พนมยงค์

บุญชูเป็นคนรักหนังสือและมีความปรารถนาจะเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เองสักหนึ่งเล่ม พินิจ พงษ์สวัสดิ์ อดีตฝ่ายบริหารฝ่ายประชาสัมพันธ์ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เคยเล่าให้ฟัง “คุณบุญชูเคยพูดว่าถ้าว่างงานท่านอยากทำหนังสือแนวรีดเดอร์ไดเจสท์สักเล่ม”

แม้แต่ในการทำรายงานประจำปีของธนาคารกรุงเทพ พินิจพูดว่า “ท่านเป็นคนสั่งให้เปลี่ยนรูปแบบจากการเสนอแต่ตัวเลขและการทำรายงานประจำปีที่ดูขรึม เป็นเพิ่มเติมในแง่ของคนธนาคารเพื่อเน้นในเรื่องคนซึ่งเป็นทรัพยากร มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านได้รับ lay out ของรายงานประจำปีแล้วไม่พอใจถึงกับโทรเรียกคนข้างนอก ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการจัดรูปเล่มเข้ามาให้จัดรูปเล่มใหม่หมด และให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง”



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.