“ฟอร์ด”ตั้งโรงงานใหม่


ASTVผู้จัดการรายวัน(25 มิถุนายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ค่าย “ฟอร์ด” มั่นใจศักยภาพไทย ประกาศลงทุนตั้งโรงงานแห่งใหม่มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อผลิตเก๋ง “ฟอร์ด โฟกัส” รุ่นใหม่ในปี 2555 และอีกหลายรุ่นสู่ตลาดในอนาคต เผยฟอร์ดมีแผนการที่จะจัดซื้อชิ้นส่วนมูลค่าปีละกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท จากเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทย เพื่อป้อนโรงงานผลิตรถแห่งใหม่นี้

นายโจ ฮินริคส์ ประธานฟอร์ด ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา เปิดเผยว่า เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้นฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี จึงประกาศแผนการลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ในประเทศไทย ด้วยมูลค่าการลงทุน 450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี โดยจะเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2555 เป็นต้นไป

“โรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่นี้ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ถือหุ้น 100% ซึ่งเป็นเงินลงทุนของฟอร์ดและบางส่วนมาจากเงินกู้สถาบันการเงินในประเทศ เพื่อที่จะทำการผลิตรถยนต์ ฟอร์ด โฟกัส รุ่นใหม่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการผลิต เพื่อส่งออกประมาณ 85% ไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เหลือจะรองรับตลาดในไทย”

สำหรับการลงทุนครั้งนี้เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ฟอร์ดมีศักยภาพในการผลิตรถยนต์ได้หลากหลายรุ่นในอนาคต และเป็นกลยุทธ์เชิงรุกของฟอร์ดในการขยายธุรกิจอย่างไม่หยุดยั้ง ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา พร้อมทั้งย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของประเทศไทย ในการเป็นฐานผลิตและการส่งออกที่มีความสำคัญระดับโลกของฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ซึ่งไทยถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานสู่การเติบโต ภายใต้กลยุทธ์ One Ford ที่ประกาศไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

นายฮินริคส์เปิดเผยว่า ทั้งนี้ฟอร์ด มอเตอร์ ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถแห่งใหม่ในไทยตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เบื้องต้นเลือกพื้นที่ก่อสร้างแถบมาบตะพุด แต่ติดปัญหาเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้หมายถึงฟอร์ดไม่ผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เพราะโรงงานฟอร์ดเป็นมาตรฐานระดับโลกที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดเพื่อความยั่งยืน ตลอดจนกระบวนการ และระบบการผลิตที่มีความรับผิดชอบ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ปัญหาอยู่ที่กฎหมายเรื่องเขตพื้นที่ของไทยมากกว่า ทำให้แม้โรงงานฟอร์ดจะผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม แต่หากอยู่ในเขตพื้นที่มีปัญหาและไม่รู้ว่าจะได้รับอนุมัติเมื่อไหร่ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินงาน ฟอร์ดเลยต้องติดสินใจย้ายสถานที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ มายังนิคมอุตสาหกรรมเหมราชทันที จึงไม่ส่งผลต่อแผนการผลิตรถยนต์ของฟอร์ดแต่อย่างใด” นายฮินริคส์กล่าวและว่า

โดยโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่ที่จะสร้างขึ้นนี้ ดำเนินงานภายใต้บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ประเทศไทย ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดระยอง อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานออโต้ อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย หรือเอเอที(AAT) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี และมาสด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น มีขนาดพื้นที่ 750,000 ตารางเมตร เป็นโรงงานแบบครบวงจร เพื่อการประกอบตัวถัง การพ่นสี การเก็บรายละเอียด และการประกอบรถยนต์ขั้นสุดท้าย โดยใช้กระบวนการผลิตตามรูปแบบระดับโลก

“ที่สำคัญจากการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่นี้ ยังจะทำให้ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี มีการแผนจัดซื้อชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าสูงสุดต่อปีถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 26,000 ล้านบาท จากเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทย”

พร้อมกันนี้การเปิดโรงงานแห่งใหม่ ยังจะสามารถจ้างงานใหม่ได้สูงสุด 11,000 ตำแหน่ง โดยจะเป็นตำแหน่งงานที่ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี จ้างโดยตรงสูงสุดถึง 2,200 ตำแหน่ง และเป็นการจ้างงานผ่านทางเครือข่ายซัพพลายเออร์ และดีลเลอร์อีกถึง 8,800 ตำแหน่ง เมื่อโรงงานมีกำลังการผลิตสูงถึง 150,000 คันต่อปี

นายปีเตอร์ ฟลีท ประธานฟอร์ดอาเซียน เปิดเผยว่า ทั้งนี้รถยนต์ฟอร์ด โฟกัส รุ่นใหม่ ที่จะถูกผลิตในโรงงานใหม่แห่งนี้ ใช้โครงสร้างตัวถังใหม่ของรถยนต์ขนาดกลาง หรือซี-คาร์ของฟอร์ด ซึ่งคาดว่าจะมียอดขายรวมทั่วโลกมากกว่าปีละ 2 ล้านคัน โดยปัจจุบันตลาดรถยนต์นั่งขนาดกลางถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ในโลก และคาดว่าภายในปี 2556 จะมีสัดส่วนประมาณ 28% ของยอดขายรถยนต์นั่งโดยรวมทั้งหมด

“ในช่วงระยะเวลา 5-7 ปีข้างหน้านี้ คาดกันว่าภูมิภาคเอเชียจะมีอัตราการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 40% และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตดังกล่าว ฟอร์ดจึงได้ลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งลงทุนมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งแห่งใหม่ ในนามของบริษัทเอเอที เพื่อผลิตรถยนต์นั่ง ฟอร์ด เฟียสต้า ใหม่ ซึ่งกำลังจะแนะนำเข้าสู่ตลาดไทยเร็วๆ นี้ และจากการลงทุนล่าสุดผลิตรถยนต์นั่ง ฟอร์ด โฟกัส ใหม่ รวมถึงอีกหลายรุ่นที่จะผลิตในอนาคต ทำให้ฟอร์ดเชื่อมั่นว่าจะช่วยผลักดันส่วนแบ่งทางการตลาดของฟอร์ดในไทยเพิ่มขึ้นได้”นายฟรีทกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.