กระบี่เพลงสุดท้ายของบุญชู


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับศัตรูของเขาแล้ว

บุญชู โรจนเสถียร เป็นคนที่จะต้องทำลายให้พังพินาศลงไป!

สำหรับคนที่เป็นเพื่อนเขา

บุญชู โรจนเสถียร เป็นคนที่เก่งมีบุญแต่กรรมมาบัง

สำหรับคนข้างนอกที่ไม่รู้จักบุญชู

บุญชู โรจนเสถียร เป็นคนรวยที่มีเงินมีทองเป็นที่ร่ำลือ!

สำหรับปัญญาชนคนหัวก้าวหน้า

บุญชู โรจนเสถียร เป็นคนมีความคิดดี เป็นนายทุนหัวก้าวหน้า!

สำหรับนักการเมือง

บุญชู โรจนเสถียร เป็นคนที่อุจจาระเหนียวและฉวยโอกาส!

สำหรับทหารที่กุมอำนาจ

บุญชู โรจนเสถียร เป็นคนเก่งแต่มีปัญหา

สำหรับลูกน้องบริวาร

บุญชู โรจนเสถียร เป็นคนมีน้ำใจแต่ต้องขอ!

สำหรับกลุ่มอำนาจอิทธิพลในโครงสร้างเก่าของสังคม

บุญชู โรจนเสถียร เป็นตัวอันตรายต่อสถานภาพของเขา!

สำหรับบุญชู โรจนเสถียรเอง

เขาไม่มีอะไรเหลืออีกแล้วนอกจากเพลงกระบี่เพลงสุดท้าย!!!

กระบี่เพลงสุดท้ายของบุญชู
“กระบี่เพลงสุดท้ายของบุญชู” เป็นเรื่องจากปกที่เขียนยากที่สุด ในบรรดาเรื่องจากปกทั้งหลายของ “ผู้จัดการ” เพราะบางครั้งการที่คิดว่าเรารู้จักเรื่องนี้ดีที่สุด แต่พอเริ่มลงมือเขียนก็อาจจะพบว่าเราไม่รู้จักเขาเลยก็ได้ เหมือนกับว่า “รู้จักคือไม่รู้จัก” “ไม่รู้จักคือรู้จัก” นั่นเอง

บุญชู โรจนเสถียร มีคนเขียนถึงเขามามาก แต่ยังไม่มีใครเขียนถึงเขาตั้งแต่เขาเริ่มกระโดดเข้าสู่วงการเมืองมาจนกระทั่งปัจจุบันว่าเขาเป็นคนอย่างไร และทำไมเขาถึงเป็นเช่นนั้น?!

ชีวิตของคนเราไม่มีด้านใดด้านหนึ่งแต่ด้านเดียว

แม้แต่เหรียญก็ยังมีสองด้าน!

ท่ามกลางการกล่าวหาบุญชูต่างๆ นานา ในทุกวันนี้ แทบจะทุกคนลืมไปว่า เขาเป็นผู้สร้างสังคมคนหนึ่ง

แต่การสร้างของบุญชูเป็นการสร้างที่ต้องรอผลระยะยาวจึงจะเห็นและเมื่อผลนั้นออกมา ทุกคนก็แทบจะลืมไปหมดแล้วว่าเป็นผลการสร้างของบุญชู โรจนเสถียร

แต่บุญชูเองก็ไม่ใช่องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปราศจากมลทิน!

ก็ต้องมีความผิดพลาดบ้าง!

เป็นแต่ว่าความผิดพลาดนั้นจะยอมรับกันหรือเปล่า?!!!

ในอดีต บุญชู ก็เหมือนผู้มีอำนาจวาสนาทั้งหลายที่ต้องมีคนห้อมล้อม คอยกลั่นกรองเรื่อง คอยรายงาน

เหมือนกับที่เคยพูดกันว่าลูกน้องชอบรายงานแต่ข่าวดีให้เจ้านาย!

แต่ถ้าเป็นข่าวไม่ดีและเป็นข่าวที่เพราะเจ้านายทำไม่ดี ลูกน้องจะไม่กล้าพูด
แต่กลับจะพูดว่า “ไม่ใช่เจ้านายไม่ดีแต่มีคนแกล้งพูดว่าเจ้านายไม่ดี”

เราเพียงแต่หวังว่าเรื่องนี้คงจะถูกอ่านและพิจารณาด้วยความเป็นธรรมทั้งสองด้าน เพราะเราคิดว่า “บุญชูเป็นคนดีมีประโยชน์ต่อสังคมเพียงแต่...”
ชายร่างเล็กที่ติดหนวดเรียวเหนือริมปากในร่างที่สวมสูทร้านมาร์โค เสื้อเชิ้ตที่ตัดจากอังกฤษ และรองเท้าแบลลี่ สง่าราศีความมีอำนาจบารมีแฝงอยู่ในวัยใกล้ 64 มีแต่แววตาเท่านั้นที่บ่งบอกถึงความขมขื่นซึ่งเก็บกดเอาไว้อย่างเต็มที่

ถ้าจะพูดกันในแง่ของดวงชะตาในทางโหราศาสตร์แล้ว ในรอบสี่ห้าปีที่ผ่านมาเป็นยุคพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกของคนที่ชื่อบุญชู โรจนเสถียรมาตลอด

10 ปีที่แล้ว บุญชู โรจนเสถียร ได้ทำสิ่งหนึ่งซึ่งคนทั่วไปพากันตะลึง นั่นคือการลาออกจากตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพมาสมัคร ส.ส. ในนามพรรคกิจสังคมที่จังหวัดชลบุรี

บางคนก็อ้างว่าบุญชูออกมาเล่นการเมืองเพราะนายห้างชินไม่ยอมให้ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่แก่เขา

แต่สำหรับบุญชูแล้วการเมืองเป็นความรักที่อมตะของชายคนนี้มานานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ธรรมศาสตร์

“สมัยนั้นคุณบุญชูกับคุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ร่วมกันทำโรงพิมพ์และเป็นคนพิมพ์รัฐธรรมนูญโซเวียตออกมาเผยแพร่” สุวัฒน์ วรดิลก หรือรพีพร นักเขียนอาวุโสชื่อดังเล่าให้ฟัง

การออกจากธนาคารกรุงเทพครั้งนั้น เป็นการก้าวออกมาสู่สิ่งที่บุญชูต้องการจะทำมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้บุญชูเห็นว่าจังหวะและโอกาสมาถึงแล้ว

“ถึงคุณบุญชูช่วงนั้นจะเป็นแค่รองผู้จัดการแต่ทุกคนในแบงก์กรุงเทพ ก็รู้ว่าคนที่สั่งงานจริงๆ ก็คือ ตัวแก เพราะฉะนั้นที่ว่าแกออกมาเล่นการเมืองเพราะไม่ได้ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่นั้นก็ไม่น่าจะเป็นไปได้” อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงเทพระดับสูงเล่าให้ฟัง

การเมืองนั้นบุญชูเล่นมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์จนเข้าทำงานธนาคารกรุงเทพ บุญชูก็เคยโดนการเมืองเล่นงานครั้งหนึ่ง โดยในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์มีอำนาจ จอมพลเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ผู้ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับธนาคารกรุงเทพ มีความคิดที่จะปลดบุญชูออกจากตำแหน่งหลังจากที่จอมพลเฉลิมเกียรติได้เข้ามาเป็นประธานกรุงเทพ แต่โชคยังอยู่ข้างบุญชูที่จอมพลเฉลิมเกียรติเครื่องบินชนภูเขาที่ไทเปเสียชีวิตไปก่อน

ในยุคของจอมพลถนอมและประภาส ก็เป็นยุคที่บุญชูเข้าไปใกล้ชิดฐานอำนาจนี้อย่างมากเพราะความจำเป็นและเพราะ “คุณบุญชูคิดว่าไหนๆ สังคมถูกผู้นำเผด็จการครอบงำอยู่แล้วน่าจะเข้าไปใกล้ชิดเพื่อชี้แนะสิ่งที่ถูกต้องให้ทำ ถึงจะเผด็จการแต่ถ้าเดินไปถูกทางก็ไม่มีอะไรจะเสียหาย” ผู้รู้เรื่องนี้เล่าให้ฟัง

ภาพพจน์ของบุญชูในยุคถนอมและประภาสนั้น เป็นภาพพจน์ของนายทุนที่ต้องใช้ฐานอำนาจทางทหารเข้ามาค้ำจุนอย่างเต็มตัว และภาพพจน์นี้ก็ติดตัวบุญชูตั้งแต่นั้นมา

ในช่วงที่บุญชูอยู่ธนาคารกรุงเทพนั้น ก็นับได้ว่าเป็นช่วงที่โยงใยเส้นสายเริ่มถูกบุญชูวางเอาไว้เพื่อผลประโยชน์ภายภาคหน้า

“ความจริงการเป็นผู้จัดการธนาคารนี้อำนาจบารมีมันก็มีอยู่แล้ว ยิ่งเป้นผู้จัดการธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยก็ยิ่งทำให้สถานภาพไม่ต่างไปกว่าตำแหน่งนายกฯ ในภาคเอกชนทีเดียวล่ะ” แหล่งข่าวคนหนึ่งอธิบายบทบาทของผู้กุมเงินให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

เหตุการณ์ 14 ตุลา นอกจากจะเป็นหัวโค้งที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต อำนาจวาสนา และบารมีของคนจำนวนมากแล้ว ยังเป็นวาระที่กำหนดเส้นทางเดินของบุญชูในชีวิตใหม่อีกด้วย

“14 ตุลา ตอนนั้นมีสิ่งบอกเหตุได้ว่าเป็นยุคสิ้นสุดของถนอมและประภาสแล้ว รากฐานที่เคยเป็นหอคอยสูง พังคลืนลงมาแทบจะไม่มีอะไรเหลือ และเป็นยุคของคนที่เคยพึ่งฐานอำนาจเก่าต้องรีบตัดสินใจว่าจะเกาะที่เดิมไว้หรือจะสลัดหลุดออกไปอย่างไม่มีเยื่อใย” อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ให้ความเห็น

และบุญชูก็ตัดสินใจสลัดประภาสออกไปอย่างไม่มีเยื่อใย!

เมื่อบุญชูกระโดดเข้าไปเล่นการเมือง หลัง 14 ตุลา บุญชูก็รู้ว่าตนเองจะต้องมีข้อแก้ตัวที่ดีแก่ประชาชนขณะนั้น ในเรื่องความสัมพันธ์ในอดีตกับจอมพลประภาส

“ถ้ามองในรูปนี้คุณบุญชูก็เริ่มเอาตัวรอดแล้ว แต่คุณว่าแกไม่ได้ เหตุการณ์มันบังคับ และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่จอมพลประภาสเองก็มักจะกล่าวถึงคุณบุญชูในแง่ชอบเอาตัวรอดเสมอ” อดีตทหารคนสนิทของจอมพลประภาสพูดให้ฟัง

จอมพลประภาสเองตอนให้สัมภาษณ์นิตยสาร แหล่งข่าวเมื่อถูกถามเรื่องบทบาทของบุญชูในธนาคารนครหลวงไทย ก็ไม่รีรอที่จะย้ำหัวตะปูให้เห็นชัดว่าจอมพลประภาสไม่ได้มีความประทับใจในตัวบุญชูเลยแม้แต่น้อย

ความจริงการเข้ามาในวงการเมืองของบุญชูครั้งนั้นเป็นการก้าวเข้ามาอย่างชนิดที่คำนวณแล้วว่า มีแต่ได้ เพราะเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้พวกนักการเมืองและหลายฝ่ายเชื่อว่า โอกาสที่ทหารจะกลับเข้ามามีอำนาจในแบบเดิมนั้นจะไม่มีอีกแล้ว “คนอย่างคุณบุญชูถ้าเห็นอะไรไม่ชัดแจ้งก็จะไม่มีวันกระโดดลงไปเล่นด้วยหรอก นิสัยนักบัญชีติดตัวอยู่เสมอ ว่าลงทุนเท่านั้น หักลบเท่านี้เหลือเท่าไร ถ้าติดลบก็จะไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย” คนวงในเล่าให้ฟัง

การร่วมกันระหว่างบุญชูกับกิจสังคมหรือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงเป็นการร่วมกันแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน

แนวความคิดของบุญชูคือแนวความคิดแบบทุนเสรีนิยม (Free Enterprise Capitalism) ซึ่งมาพบกับแนวความคิดของคึกฤทธิ์ซึ่งไม่เคยมีรูปแบบความคิดอะไรที่ตายตัว ก็เลยเป็นส่วนผสมของน้ำกับน้ำตาลซึ่งจะผสมกันได้ในช่วงแรกแต่พอนานเข้าน้ำตาลจะตกลงมาที่ก้นแก้วแยกจากส่วนของน้ำ

“อาจารย์คึกฤทธิ์ต้องพึ่งคุณบุญชูในแง่การทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายการเงินการทอง และจากการที่กิจสังคมในยุคนั้นจะต้องกระโดดออกมาในเวทีการเมือง การมีคุณบุญชูไว้ในพรรค เท่ากับเป็นการสร้างความอุ่นใจกับบรรดานายทุนทั้งหลายว่า กิจสังคมคือที่พึ่งของพวกเขาในภาวะที่สังคมกำลังจะเอนเอียงไปในทางสังคมนิยม” สมาชิกพรรคกิจสังคมเดิมเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

การลงสนามครั้งแรกของบุญชูในจังหวัดชลบุรีเรียกได้ว่าเป็นการระดมพลครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของบุญชู

“ถ้าคุณเป็นคุณบุญชูก็ต้องกลัวแน่ๆ เพราะคุณไม่เคยหาเสียง และคุณไม่เคยสมัครส.ส. คุณเคยนั่งอยู่แต่ในห้องแล้วมีคนมาหา มายกมือไหว้คุณ นี่คุณกลับต้องไปยกมือไหว้เขา” อดีตสตาฟฟ์หาเสียงของบุญชูพูด

ในปี 2517 นั้น บุญชูต้องชนะให้ได้ เพราะปีนั้นเป็นปีแรกที่เขาตัดสินใจหักเหวิถีชีวิตเข้าสู่เส้นทางใหม่ การพ่ายแพ้ย่อมหมายถึงทางอับที่หาทางออกไม่ได้ในอนาคต

การหาเสียงในครั้งนั้นเงินทองที่ใช้ไปไม่มีใครรู้แน่ว่าเท่าไร แต่ว่ากันว่าประชาชนจังหวัดชลบุรีโดยเฉพาะในเขตที่บุญชูลงนั้นเหมือนได้พระมาโปรด การเงินการทองหมุนเวียนสะพัดอย่างดี

บุญชูทุ่มเทการลงทุนในด้านถนน บ่อน้ำ จิปาถะ ให้กับประชาชนอย่างหนัก ถึงขนาดนั้นก็ตามคะแนนเสียงของบุญชูก็ยังตกมารองอุทัย พิมพ์ใจชน “เวลานั้นถึงกับมีคนเปรียบเปรยว่า พลตรีศิริ ศิริโยธิน เคลียร์พื้น ทำถนน บุญชูราดยางถนน แล้วอุทัย พิมพ์ใจชน เดินบนถนนนั้นมารับเสียงจากประชาชน” คนเมืองชลพูดให้ฟัง

“คุณบุญชูเข้ามาเป็น ส.ส. ถึงจะได้ที่ 3 ก็ต้องนับว่าเก่ง คุณอย่าลืมว่าคุณจะเอาคุณบุญชูไปเทียบกับอุทัย พิมพ์ใจชน ในขณะนั้นไม่ได้ เพราะอุทัยเคยสร้างประวัติศาสตร์ ฟ้องถนอมและประภาสจนถูกจับเข้าคุก ในขณะที่บุญชูถูกมองว่าเป็นนายทุนและเป็นคนสนิทของประภาสเก่า ฉะนั้นบุญชูในตอนนั้นโดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่คนที่คนเมืองชลจะเชื่อได้ ไม่ว่าจะหว่านเงินเท่าไร ก็คงจะไม่มีทางติดแม้แต่ที่ 3 ก็ตามเถอะ” แหล่งข่าวเมืองชลคนเก่าเล่าให้ฟัง

และในปี 2517 จากรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ บุญชู โรจนเสถียรก็มาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี ในยุคประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน

กิจสังคมมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลด้วยการเล่นกลยุทธ์การซื้อเสียงพรรคเล็กพรรคน้อยด้วยตำแหน่งทางการเมืองและดัดหลังพรรคประชาธิปัตย์ ในวันแถลงนโยบายของประชาธิปัตย์ต่อสภาด้วยการพลิกลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ

จากรองผู้จัดการใหญ่มาเป็นสมาชิกสภาฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บุญชู โรจนเสถียร ใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี!

ในระยะที่บุญชูเข้าไปบริหารกระทรวงการคลังครั้งนั้น เขาเข้าไปด้วยความกระตือรือร้นและความหวังที่เต็มเปี่ยมว่าจะต้องมีผลงานเกิดขึ้นให้คนเห็น

แต่บุญชูลืมนึกไปว่ากระทรวงการคลังหาใช่ธนาคารกรุงเทพไม่ ที่คำสั่งเมื่อออกไปแล้วต้องวิ่งกันหน้าตาตั้ง

ฤทธิ์เดชข้าราชการประจำที่บุญชูเจอในตอนนั้น ฝากรอยแผลเป็นให้บุญชูจนทุกวันนี้

ทุกวันนี้บุญชูก็ยังย้ำหัวตะปูอยู่เสมอว่าการปฏิวัติระบบราชการ คือองค์กรสำคัญองค์กรหนึ่งที่จะให้ประเทศชาติอยู่รอด

และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเดียวในไม่กี่เรื่องในชีวิตบุญชู ที่เขายอมรับโดยดุษณีภาพว่าเขาแพ้ภัยข้าราชการประจำ

ถึงแม้เขาจะแพ้โรคข้าราชการประจำ แต่ช่วงหนึ่งที่เขาอยู่กระทรวงการคลังบุญชูเป็นคนริเริ่มผลักดันคนหนุ่มที่มีความสามารถให้ขึ้นมาแสดงฝีไม้ลายมือ

หนึ่งในหลายๆ คนคือ ดร.อำนวย วีรวรรณ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ที่บุญชูดันขึ้นมาจากอธิบดีกรมศุลกากร หลังจากที่ปลดสนั่น เกตุทัต ออกเพราะข้อหาพัวพันคดีทุจริตในเรื่องไม้เถื่อน

“ความจริงคุณบุญชูมอง ดร.อำนวยไว้นานแล้ว ทั้งสองรู้จักกันดีมากตั้งแต่สมัย ดร.อำนวยเป็นเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งต้องมีหน้าที่ติดต่อภาคเอกชน และหนึ่งในภาคเอกชนที่ ดร.อำนวยต้องติดต่อคือ พร สิทธิอำนวย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของบุญชูมาตลอด” คนในธนาคารกรุงเทพเล่าให้ฟัง

การตั้งอำนวย วีรวรรณ ขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงการคลังนั้น นอกจากเป็นการเปิดทางให้คนหนุ่มที่มีความสามารถขึ้นมาแล้ว ยังเป็นการทำลายขนบธรรมเนียมของการเลื่อนตำแหน่งโดยใช้หลักอาวุโสเข้าว่าในกระทรวงการคลังอย่างสิ้นเชิง

และก็ต้องให้เครดิตบุญชูในการเลื่อนอำนวยขึ้นมาในครั้งนั้น เพราะทุกวันนี้ในบรรดาตำแหน่งอธิบดีกรมต่างๆ ของกระทรวงการคลัง จะมีแต่คนหนุ่มแทบจะทั้งสิ้น เป็นผลจากการที่อำนวยขึ้นมาเป็นปลัด และทำให้การหมุนเวียนเลื่อนตำแหน่งต่างๆ คล่องขึ้น โดยไม่ต้องรอแต่หลักอาวุโสเพียงอย่างเดียว

ในยุคของบุญชูเป็นรัฐมนตรีคลัง รัฐบาลชุดคึกฤทธิ์ได้สร้างความฮือฮาขึ้นมาด้วยโครงการเงินผันสู่ตำบล

โครงการนี้เป็นความคิดริเริ่มจาก พร สิทธิอำนวย ซึ่งต้องการสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นแทนวิธีการเก่าๆ

สำหรับบุญชูแล้วโครงการเงินผันคือตัวเร่งให้มีการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในระดับพื้นบ้าน เพื่อให้การค้าเกิดการเร่งตัวซึ่งจะเป็นผลดีในแง่การจ้างแรงงาน

อีกเหตุผลหนึ่งของเงินผันที่บุญชูต้องการมาก คือการสร้างประชาธิปไตยในระดับตำบล โดยการใช้เงินเป็นตัวกระตุ้น

“ถ้านายเป็นประชาชนแล้วรู้ว่าเงินก้อนนี้ของตำบลเป็นสิทธิของนายเหมือนกัน ถึงแม้กำนันจะเป็นคนดูแล แต่นายก็ต้องจับตาดูกำนันอีกที เท่ากับนายเริ่มเรียนรู้การใช้สิทธิของนาย” บุญชูพูดเรื่องเงินผันให้ผู้ใกล้ชิดฟัง

และนี่คือปรัชญาสภาตำบลที่บุญชูเชื่อมั่นมาตลอด ว่าเป็นรากฐานของการสร้างประชาธิปไตยจริงๆ

แต่สำหรับสมาชิกพรรคกิจสังคมและคึกฤทธิ์แล้ว เงินผันคือการนอนมาในการหาเสียงงวดหน้าของพรรคกิจสังคม

พรรคฝ่ายค้านโดนเงินผันฟาดฟันอย่างตั้งตัวไม่ติดและการต่อต้านก็ออกมาในรูปการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

“คุณต้องเสียเปรียบซิ เพราะใครๆ ก็พูดแต่เงินผัน เพราะเป็นครั้งแรกที่เงินของรัฐได้ไปถึงมือชาวบ้านจริงๆ ข้าราชการที่เคยมีอำนาจกุมเงินในจังหวัดต้องมานั่งตาปริบๆ ดูชาวบ้านใช้กัน ช่องทางกินเล็กกินน้อยก็หมดไป ก็เลยมีเสียงต่อต้านเรื่องเงินผันจากข้าราชการด้วยว่ารั่วไหลมาก” แหล่งข่าวบุญชูกล่าว

บุญชูมีโอกาสได้แสดงฝีมือเพียงไม่นาน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในชีวิตการเมืองของบุญชู เขาทำได้ดีกว่าเดิม อาจเป็นเพราะบทเรียนครั้งแรกสอนให้รู้ว่า การเมืองที่แท้จริงนั้นควรเล่นด้วยวิธีใด

ในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 บุญชูมาเป็นอันดับ 1 ในเขตของเขา อีกประการหนึ่งในช่วงระยะเวลาที่เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการคลัง เขาได้เริ่มสร้างฐานทางการเมืองที่จังหวัดชลบุรี ช่วงนี้เองเป็นช่วงที่อดีตเจ้าพ่อเมืองชล จุมพล (เสี่ยจิว) เริ่มได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากบุญชูหลายด้าน

“แต่ก่อนเสี่ยจิวเป็นเพียงนักเลงใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งอำนาจและอิทธิพลยังมีเพียงระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่พอมาคบกับบุญชู ความที่เสี่ยจิวรู้ว่าบุญชูต้องใช้ตัวเองในงานต่างๆ ในทางการเมืองเสี่ยจิวก็ถือโอกาสใช้คุณบุญชูกลับในลักษณะเป็นเกราะป้องกันตัว” คนเมืองชลคนเดิมพูดให้ฟัง

บุญชูเองก็ไม่ใช่ไม่รู้ว่าเสี่ยจิวเป็นคนเช่นไร อะไรก็ตามที่ผิดกฎหมายในเมืองชลจะต้องมีโยงใยเกี่ยวพันกับเสี่ยจิวเกือบจะทุกเรื่องเสมอไป ว่ากันว่ากิจการที่ทำเงินให้กับเสี่ยจิวอย่างมหาศาลในช่วงนั้น คือการค้าของเถื่อน ตั้งแต่บุหรี่ต่างประเทศหนีภาษี ไปจนถึงเครื่องไฟฟ้าแทบจะทุกประเภท

พวกเจ้าหน้าที่ในกรมศุลกากรและกระทรวงการคลังก็รู้ดีว่าเสี่ยจิวมีอาชีพอะไร แต่ก็อยู่ในสภาวะที่พูดไม่ออก และก็ทำอะไรไม่ได้

บุญชูพยายามที่จะปลูกฝังให้เสี่ยจิวทำมาหากินอย่างสุจริตชนทั่วๆ ไป โดยส่งเสริม และสนับสนุนให้เสี่ยจิวมาลงทุนในกิจการที่สามารถจะเจริญเติบโตและให้งานกับบรรดาลูกน้องของเสี่ยจิวให้มีงานทำ

บริษัทเงินทุนชลธนาธร ก็เกิดขึ้น!!

ในการตั้งบริษัทนี้ บุญชูได้ให้สุธี นพคุณ และพร สิทธิอำนวย เป็นผู้เข้าร่วมถือหุ้นและส่งเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของสยามเครดิตเข้าไปช่วยดำเนินการ

กิจการหลักของชลธนาธรนั้นคือการให้เช่าซื้อรถบรรทุก ว่ากันว่าแทบจะไม่มีลูกค้าชลธนาธรคนใดเลยที่กล้าเบี้ยวไม่ส่งค่างวดรถให้กับบริษัทนี้ ซึ่งมีเสี่ยจิวเป็นประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด

นอกจากนั้นแล้วเสี่ยจิวยังถูกแนะนำให้หันเหไปลงทุนด้านอาคาร ทรัพย์สิน เช่นการสร้างศูนย์การค้า การทำกิจการโรงแรมที่ชื่อโรงแรมอีสเทอร์น และก็พอจะพูดได้ว่าการมองการณ์ไกลของบุญชูอย่างน้อยทุกวันนี้ก็มีประโยชน์กับบรรดาลูกหลานของเสี่ยจิว เมื่อเสี่ยจิวถูกยิงตายไปอย่างน้อยก็มีกิจการหลักถูกกฎหมาย ซึ่งถูกพัฒนามาจนสามารถยืนได้ เป็นแหล่งทำรายได้ให้ดำรงชีพอยู่ต่อไป

“แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ข่าวคราวการทำผิดกฎหมายของเสี่ยจิวก็ยังคงมีมาเรื่อยๆ อันนี้ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนสันดานคนคงจะเปลี่ยนได้บ้าง แต่ไม่หมดถ้าคุณเป็นเสี่ยจิว คุณเคยมีการค้าขายที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนและมีกำไรอย่างมหาศาล คุณจะทิ้งมันไปทีเดียวหรือ อย่างน้อยที่สุดบรรดาลูกน้องบริวารของเสี่ยจิวก็มีอยู่ไม่น้อยที่ถึงแม้ลูกพี่จะไม่ค้าของเถื่อนแล้ว ตัวเองก็เห็นช่องทางเข้าทำ และก็เที่ยวพูดไปว่าเป็นการค้าของลูกพี่ เรื่องนี้คนเมืองชลเขารู้กันดี” แหล่งข่าวในจังหวัดชลบุรีกล่าวต่อ

การได้เป็น ส.ส.ของบุญชูในสมัยที่ 2 นั้น เสริมสร้างบุญบารมีของบุญชูให้เด่นขึ้นในหมู่คนทั่วไปและในบรรดานักการเมือง เหตุผลหนึ่งก็เพราะในการเลือกตั้งครั้งแรกนั้นฝ่ายบุญชูมีการใช้เงินใช้ทองเกือบ 20 ล้าน ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วเงินจำนวนขนาดนี้เป็นตัวเลขที่เกือบทำให้คนในวงการช็อกได้ จากการที่บุญชูเคยใช้เงินขนาดนั้น เลยทำให้บรรดานักการเมืองทั้งหลายที่มีความใฝ่สูงแต่มีสภาพคล่องทางการเงินที่ต่ำ ก็เลยพากันมองว่าบุญชูคือคนที่พร้อมจะแจกเงินแจกทองเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายทางการเมือง

และนี่คือข้อผิดพลาด ซึ่งต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน!

“มีน้อยคนจะรู้ว่าบุญชูโดยธรรมชาติแล้วเป็นคนควักเงินไม่เป็น ควักยากมาก เงินทองที่จับจ่ายใช้สอยในการหาเสียงนั้น เป็นเงินที่บรรดาพวกบุญชูพากันออกให้ทั้งสิ้น แม้แต่กำนันเป๊าะเองก็ยังเคยพูดว่าบุญชูหาเสียงทีไรตัวกำนันเป๊าะเองต้องควักกระเป๋าส่วนตัวออกไปเยอะ เพื่อช่วยหาเสียง” คนเมืองชลคนเดิมพูดต่อ

ก็คงจะจริงดังที่ว่า เพราะจากการที่บุญชูเคยเป็นรองผู้จัดการใหญ่ในธนาคารกรุงเทพก็ได้ช่วยเหลือคนมามากรายโดยเงินของธนาคารเป็นผู้ช่วย และนี่ก็คือหนี้บุญชูที่พวกนี้ต้องทดแทนกันในภายหลัง

สำหรับพ่อค้าแล้ว การจะช่วยลงขันให้บุญชูหาเสียงกันคนละห้าแสนหรือคนละล้านบาทเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว

การเป็น ส.ส.ครั้งที่ 2 นั้นบุญชูมิได้มีโอกาสกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดชลบุรีเท่านั้น

ในระหว่างนั้นพรรคชาติไทยและพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในรัฐบาลอยู่ บุญชูต้องนั่งตบยุงอยู่นอกเวทีเป็นเวลานานพอสมควร ระหว่างที่เป็นเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น จากการที่ตัวเองจำเป็นต้องมีสถานที่ทำการเพื่อเป็นแหล่งติดต่อของบรรดาคนในวงการ บุญชู โรจนเสถียร ก็ไปนั่งอยู่ที่ชั้น 3 ของตึกกรุงเทพสหกล บนถนนสุขุมวิท ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่ทำการของบริษัทพัฒนาเงินทุน และบริษัทบ้านและที่ดินไทย จำกัด โดยมีสุธี นพคุณ เป็นผู้ดูแลกิจการฝ่ายนั้น ขณะนั้นสุธี นพคุณ ยังคงอยู่กับพร สิทธิอำนวย ในกลุ่ม PSA ด้วยกัน

และการเริ่มต้นไปใช้ที่ทำงานที่เดียวกับสุธี นพคุณ นั้นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเริ่มมองว่ากลุ่ม PSA เป็นของบุญชู โดยให้พร สิทธิอำนวย และสุธี นพคุณ ออกหน้าออกตา

“แท้ที่จริงแล้วบุญชูไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ PSA เลย นอกจากการเป็นพรรคพวกฝ่ายเดียวกัน แต่คุณก็รู้ว่า PSA ทั้งพรและสุธีล้วนแล้วแต่เป็นคนที่บุญชูสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น อีกประการหนึ่ง ถ้าจะพูดไปทั้ง 2 คนก็เปรียบเสมือนพรเป็นมันสมองให้บุญชู ในขณะที่สุธีเป็นแขนขาให้บุญชู เพราะฉะนั้นการที่สุธีจะสร้างห้องให้บุญชูนั่งตรงข้ามห้องของตัวเองก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจอะไร” อดีตพนักงานตึกดำเล่าให้ฟัง

นอกจากการให้สถานที่บุญชูนั่งแล้วสุธี นพคุณ ยังต้องจ่ายเงินเดือนให้กับทีมงานของบุญชูอีกด้วย และทีมงานนั้นคือทีมที่ทำงานทางการเมือง “คุณต้องเข้าใจว่าคุณบุญชูมีลักษณะการทำงานแบบฝรั่ง เคยชินกับระบบการทำงานในธนาคาร ซึ่งต้องมีนักวิชาการ นักสถิติข้อมูลพร้อมเพรียง เพราะฉะนั้นเมื่อบุญชูเข้ามาเล่นการเมือง ก็ต้องมีทีมงานประเภทนี้เอาไว้ใช้ เพราะแกเป็นคนทำงานที่มีระบบ ยกตัวอย่าง จะต้องมีคนคอยประสานงานระหว่างแกกับหัวคะแนนต่างๆ ในจังหวัดชลบุรี จะต้องมีคนคอยทำงานในพรรคกิจสังคมให้ตัวบุญชูเอง จะต้องมีคนคอยรวบรวมข่าวสารข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวพันทางการเมือง จะต้องมีคนคอยทำหน้าที่ติดต่อและประสานกับนักการเมือง รวมทั้งคนที่ต้องคอยเขียนสุนทรพจน์และอื่นๆ อีกจิปาถะ” แหล่งข่าวจากเมืองชลพูดต่อ

สำหรับสุธีแล้วการที่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องทีมงานของบุญชูเป็นเรื่องที่เขาไม่เสียดายเลยแม้แต่น้อย เพราะเพียงแค่คนภายนอกรู้ว่าบุญชูนั่งห้องตรงข้ามกับสุธี ก็มีคุณค่าเกินกว่าเงินที่สุธีต้องใช้เงินบริษัทจ่ายไปทุกๆ เดือนในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านนี้ของบุญชู

“คุณอย่าลืมว่าสมัยนั้นอำนาจบารมีของคุณบุญชูยังล้นดินล้นฟ้าอยู่ และใครๆ ก็รู้ว่าสุธีคือตัวแทนของบุญชู เพียงแค่นี้ถ้าสุธีจะติดต่อกับใครในเรื่องธุรกิจการค้า ฝ่ายที่ต้องติดต่อกับสุธีก็เห็นจะต้องเกรงใจสุธีอยู่หลายส่วน”

ความไว้ใจที่บุญชูมีต่อสุธีนั้นมีมากถึงขนาดให้สุธีเป็นผู้อนุมัติสั่งจ่ายเงินเดือนของบุญชูซึ่งตั้งเอาไว้ก้อนหนึ่งสำหรับใช้จ่ายจิปาถะในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

และนี่คือจุดเริ่มต้นที่สุธีเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับบุญชูในลักษณะการเป็นเสมือนคนที่มีอิทธิพลในการทำให้บุญชูต้องรับฟังความคิดเห็นของสุธีในแทบจะทุกเรื่อง “แม้แต่การประสานงานระหว่างคุณบุญชูและอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็เป็นคุณสุธีนี่แหละที่มีหน้าที่ทำจนถึงจุดจุดหนึ่งสุธีทำหน้าที่เป็นเลขากลายๆ ของอาจารย์คึกฤทธิ์ไป” แหล่งข่าวในพรรคกิจสังคมสาธยายให้ฟัง

ช่วงที่บุญชูยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บุญชูพยายามที่จะผลักดันคนหนุ่มนอกจาก ดร.อำนวย ให้ขึ้นมารับตำแหน่งและหน้าที่ความรับผิดชอบที่สูงขึ้น รวมทั้งคนในภาคเอกชนที่เข้ามารับตำแหน่งในภาครัฐบาลมีอยู่ 2 คนในหลายๆ คนนั้น คนหนึ่งคือประสิทธิ์ ณรงค์เดช ได้เข้ามาเป็นผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ และอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคนที่บุญชูวางหมากเอาไว้ในระยะยาว คนคนนั้นคือ ตามใจ ขำภโต ที่ถูกดึงตัวออกมาจากกลุ่มพรรคชาติไทย

ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ไม่ได้ทำความผิดหวังให้บุญชู เพราะกิจการจากด้านการเคหะภายใต้การบริหารของประสิทธิ์ ณรงค์เดช ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีคนในภาคเอกชนเข้ามาบริหารงาน ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงและทำให้ประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ส่วนธนาคารกรุงไทยนั้นก็เช่นกัน เพราะต่อมาภายหลังหมากที่วางตามใจไว้เป็นผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ก็ได้แสดงออกไว้ให้เห็นว่าเป็นหมากที่วางไว้ถูกต้อง เพราะความช่วยเหลือ ที่ธนาคารกรุงไทยได้มอบให้กับกลุ่มตึกดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทรามาทาวเวอร์ ในภายหลังที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการช่วยเหลือกัน

บุญชูนั่งอยู่ที่ตึกกรุงเทพสหกลได้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้บุญชูท้อแท้ใจอย่างมาก ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์นั้นได้ปิดประตูทางการเมืองของบุญชูอย่างสิ้นเชิง

ความจริงแล้วก่อนที่บุญชูจะลาออกจากธนาคารไปเล่นการเมืองนั้น ชิน โสภณพนิช ก็ได้พยายามขอร้องให้บุญชูอยู่ต่อไป ไม่ให้เล่นการเมือง แต่ก็ไม่สำเร็จ แม้แต่ในช่วงหลังที่บุญชูไม่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ชินก็ยังแวะเวียนมาหาบุญชูถึง 2-3 ครั้ง เพื่อชักชวนให้บุญชูกลับเข้าแบงก์อีก

เหตุการณ์ 6 ตุลาว่าไปแล้วเหมือนกับทำให้บุญชูกลายเป็นคนตกงานไป การกลับเข้าไปทำงานที่ธนาคารกรุงเทพจึงดูเหมือนเป็นข้อเสนอที่เย้ายวนใจที่สุด “ทุกอย่างมันลงตัวพอดี คุณบุญชูกำลังอยู่เฉยๆ ไม่รู้ว่าจะเดินไปทิศทางไหน ส่วนคุณชินนั้นก็อยากให้คุณบุญชูกลับไปเพื่อจัดระบบปูทางเพื่อเตรียมตัวให้ชาตรี โสภณพนิช ขึ้นมาเป็นผู้จัดการใหญ่สืบต่อไป เรียกได้ว่าทั้งสองฝ่ายต้องการซึ่งกันและกัน” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกรุงเทพกล่าว

อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งไม่มีใครรู้ก็คือ ตัวบุญชูเองมีความวิตกเพราะในขณะนั้นรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร นอกจากการกำจัดฝ่ายซ้ายอย่างไม่มีความเมตตาปรานีแล้ว ยังได้มองฝ่ายอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับพวกนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ถูกจ้องมองอย่างเป็นเอาตายคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งบุญชูเองในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของคึกฤทธิ์ก็พลอยโดนหางเลขไปด้วย อันนี้แหละทำให้บุญชูคิดว่าตัวเองกลับเข้าไปทำงานที่ธนาคารก็จะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ให้เห็นว่าตัวเขาเลิกยุ่งการเมืองแล้ว

“ตรงนี้แหละซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่คนอื่นพูดถึงคุณบุญชูว่าเป็นคนใจไม่สู้ เพราะถ้าเป็นคนอื่นก็คงจะไม่กลับเข้าสู่แบงก์ คงจะสู้ไปตามวิถีทางการเมือง”

แต่การกลับเข้าแบงก์ของบุญชูคือการสู้ของบุญชูอีกวิธีหนึ่ง “การที่คุณได้เป็นผู้จัดการใหญ่ของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็แทบจะเรียกว่าคุณใหญ่ที่สุดในภาคเอกชนอยู่แล้ว มันกลับเหมาะสมที่สุดที่คุณจะใช้เวลาช่วงนี้เป็นช่วงของการพักผ่อน สะสมพละกำลังในการสร้างบุญบารมีของคุณให้มากขึ้น รวมไปถึงการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจเพื่อคานอำนาจทางการเมือง”

การกลับเข้าไปในธนาคารกรุงเทพของบุญชู โรจนเสถียร ครั้งที่ 2 ว่าไปแล้วบุญชูเองก็ตั้งอกตั้งใจที่จะทำงานด้านธนาคารให้เต็มที่เพราะ “ผมมองไม่เห็นอนาคตทางการเมืองเมืองไทย มันมืดสนิท” บุญชูเคยกล่าวกับผู้ใกล้ชิดในเรื่องของผลกระทบของเหตุการณ์ 6 ตุลา พอจะพูดได้ว่าหลังจากที่บุญชูกลับไปอยู่ธนาคาร เขาแทบจะล้างมือจากวงการเมืองไปเลย หากแต่ว่าก็ยังมีคนในวงการเมืองมาติดต่อเขาบ้างเป็นครั้งคราว ธนาคารจึงเป็นที่ที่บุญชูทำงานอย่างเต็มที่ ในขณะที่ “บ้านอยู่สบาย” ที่หัวหินทุกๆ วันหยุดสุดสัปดาห์จะเป็นแหล่งชุมนุมพรรคพวกบุญชูและตัวบุญชูเพื่อถกเรื่องการบ้านการเมือง

ในยุคของธานินทร์ กรัยวิเชียร บรรดาคนที่บุญชูใช้สอยงานรวมทั้งผลักดันขึ้นมาเพื่อที่จะรับตำแหน่งแทบจะพากันตกอับกันเกือบหมด ทั้งนี้เพราะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นพวกเดียวกับบุญชู โรจนเสถียร

มีอยู่ 2 คนที่โดนหนักกว่าเพื่อน คนหนึ่งคือ ดร.อำนวย วีรวรรณ ซึ่งโดนปลดออกจากราชการ ถูกขุดคุ้ยเรื่องราวตั้งแต่สมัยเป็นเลขาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน อีกคนหนึ่งคือ อานันท์ ปันยารชุน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งก็โดนหวยด้วย ทั้งนี้เพราะอานันท์ ปันยารชุน เป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้าล้ำบุคคลในคณะรัฐบาลชุดนายธานินทร์ กรัยวิเชียร จะยอมรับได้

เมื่อการเมืองเริ่มหมดไป คนเอาใจใส่ในการค้าก็เพิ่มมากขึ้น และเป็นช่วง พ.ศ. 2520 เป็นต้นไปที่สุธี นพคุณ และพร สิทธิอำนวย เริ่มขยับขยายกลุ่ม PSA ออกมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือของการขยายงานของกลุ่ม PSA ก็มาจากเครือข่ายธนาคารกรุงเทพในขณะที่บุญชูเข้ามาบริหารเป็นครั้งที่ 2

ความกระตือรือร้นของบุญชูในเรื่องการเมืองเริ่มกลับเข้ามาอีกเมื่อกลุ่มทหารได้ปฏิวัติรัฐบาลชุดนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ท้องฟ้ามืดมิดทางการเมืองก็เริ่มมีช่องว่างระหว่างเมฆที่มืดครึ้มให้เห็นแสงสว่างลอดออกมาบ้าง

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มีความต้องการจะเรียกใช้ความสามารถของบุญชู โรจนเสถียร โดยเก็บตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอาไว้ให้ ตำแหน่งนี้พลเอกเกรียงศักดิ์ดำรงเอาไว้เองเพราะจะรอให้บุญชู โรจนเสถียร พร้อมเสียก่อนแล้วถึงจะเข้ามาร่วมด้วย

ถึงแม้บุญชูจะไม่ได้เข้าไปร่วมอย่างเป็นทางการ แต่โดยส่วนตัวแล้วบุญชูเป็นที่ปรึกษาที่พลเอกเกรียงศักดิ์จะโทรศัพท์มาถามไถ่ปัญหาและขอวิธีแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา

แท้จริงแล้วบุญชูเคยตั้งเงื่อนไขให้พลเอกเกรียงศักดิ์เพื่อจะพิสูจน์ความจริงใจของพลเอกเกรียงศักดิ์ “ผมบอกเขาว่าให้เขาเคลียร์เรื่องคุณอำนวยให้ก่อน และผมก็ต้องดูว่าที่ผมแนะนำเขาไปนั้นเขาทำตามหรือเปล่า” บุญชูเคยพูดกับผู้ใกล้ชิด

พลเอกเกรียงศักดิ์ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและคณะกรรมการได้ชี้ขาดเป็นเอกฉันท์ว่าอำนวยไม่ได้ผิดตามข้อกล่าวหา และจะต้องได้รับการกลับเข้ามารับราชการอย่างเดิม

ส่วนเรื่องที่พลเอกเกรียงศักดิ์จะทำตามคำแนะนำของบุญชู โรจนเสถียร หรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องที่ยากจะรู้ได้ แต่บุญชูบ่นกับผู้ใกล้ชิดหลายครั้งว่ามีหลายอย่างที่เขาแนะนำไปแล้วพลเอกเกรียงศักดิ์ไม่ทำตาม

และก็เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า อาจจะเป็นเพราะบุญชูศรศิลป์ไม่กินเส้นกับสมพร บุณยคุปต์ และอบ วสุรัตน์ ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นทั้งรัฐมนตรีและกุนซือที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดกับพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เชื้อเชิญบุญชูหลายต่อหลายครั้ง ทั้งเป็นการส่วนตัวและส่งคนมาทาบทาม น้ำเสียงที่บุญชูมีต่อพลเอกเกรียงศักดิ์ในช่วงท้ายๆ ของรัฐบาลชุดพลเอกเกรียงศักดิ์ก่อนที่พลเอกเปรมจะขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็ได้เปลี่ยนไป จากเงื่อนไข 2 ข้อที่บุญชูว่า กลายเป็นเรื่องที่บุญชูเห็นว่าพลเอกเกรียงศักดิ์มัวหมองในเรื่องการประมูลโรงเหล้า

“คุณประสิทธิ์ ณรงค์เดช ซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในยุครัฐบาลเกรียงศักดิ์ เป็นผู้ถือหางฝ่ายหงส์ทอง และเมื่อฝ่ายคุณประสิทธิ์ซึ่งถือหางหงส์ทองประมูลแม่โขงไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่บุญชูมองพลเอกเกรียงศักดิ์ว่ามัวหมองในเรื่องแม่โขงนี้ อย่าลืมว่าประสิทธิ์ ณรงค์เดช นั้นเป็นคนในกลุ่มบุญชู โรจนเสถียร และสายสัมพันธ์ของเถลิง เหล่าจินดากับบุญชูก็เป็นสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมานาน” (ภายหลังที่บุญชูมาอยู่ที่ธนาคารนครหลวงไทย บุญชูก็เป็นผู้จัดให้ธนาคารนครหลวงไทยค้ำประกันเงินกู้ของกลุ่มเถลิงที่กู้จากซิตี้แบงก์เป็นเงินกว่า 300 ล้านบาทเพื่อเอาไปประมูลโรงเหล้า 12 โรงทั่วประเทศ)

ข้ออ้างอันนี้ก็เลยเป็นข้ออ้างที่บุญชูใช้อยู่ตลอดเวลาในการไม่เข้าไปร่วมกับรัฐบาลชุดพลเอกเกรียงศักดิ์

แต่ที่จริงแล้ว บุญชูกำลังดูทิศทางลมอยู่เพราะบุญชูไม่แน่ใจ เนื่องจากตัวเองคิดว่ารัฐบาลชุดพลเอกเกรียงศักดิ์ตั้งมาโดยไม่มีฐานอะไรค้ำเลย และพลเอกเกรียงศักดิ์ได้ใช้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นฐานรองรับการเป็นใหญ่ของตัวเอง

เผอิญในรัฐบาลชุดเกรียงศักดิ์นั้นก็เกิดมีนายพลทหารม้าที่ไม่ค่อยจะพูดจากับใครนัก แต่มีกำลังภายในที่สูงส่งหนุนหลังอยู่ และดาวรุ่งดวงนี้ก็เริ่มส่องแสงจรัสเจิดจ้าออกมาในยุคท้ายๆ ของรัฐบาลชุดพลเอกเกรียงศักดิ์ 3 ทำให้บุญชูพอจะมองเห็นว่าควรจะแทงม้าตัวไหนดีกว่า

“ทางพรรคกิจสังคมเอง โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็รู้อย่างชัดเจนว่าพลเอกเปรมจะต้องมาแทนพลเอกเกรียงศักดิ์แน่และโอกาสที่พรรคกิจสังคมจะเข้าร่วมเป็นรัฐบาลก็มีอยู่มาก” แหล่งข่าวในพรรคกิจสังคมพูดให้ฟัง ในที่สุด บุญชูก็ได้กลับเข้าไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดีกว่าตำแหน่งที่พลเอกเกรียงศักดิ์เสนอให้ไว้แต่แรก

การกลับมาครั้งนี้ของบุญชูเรียกได้ว่าเป็นการกลับมาอย่างกระตือรือร้นที่สุดในชีวิตการทำงานของบุญชู “ผมเชื่อว่าคุณบุญชูช่วงนั้นต้องการจะทำงานเพื่อแสดงผลงานจริงๆ เพราะตั้งแต่ผมรู้จักท่านมาไม่เคยเห็นท่านตั้งใจทำงานครั้งไหนเหมือนกับครั้งนั้นเลย” คนใกล้ชิดบุญชูคนหลังพูดให้ฟัง

อาจจะเป็นเพราะตัวพลเอกเปรมจะหนุนเขาเต็มที่ในด้านการทำงานในช่วงนั้น บุญชูจะยกยอพลเอกเปรมทั้งในที่เปิดเผยและเป็นการส่วนตัวอย่างที่ไม่เคยยกยอใครมาก่อนเลย

การกลับเข้ามาเป็นรองนายกฯ ครั้งนี้ของบุญชู เป็นการกลับเข้ามาที่มีทีมงานยิ่งใหญ่กว่าครั้งแรกหลายเท่า “คุณบุญชูดึงคนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นทั้งทีมงานที่เข้าไปรับตำแหน่งทางการเมือง เช่น ดร.อำนวย วีรวรรณ, ตามใจ ขำภโต, พิสิษฐ์ ตันสัจจา และก็เกือบเอาคุณสุธี นพคุณ มาเป็นรัฐมนตรีด้วย เพียงแต่มีเสียงคัดค้านก็เลยต้องระงับเอาไว้ก่อน นอกจากนั้นก็ยังมีทีมงานที่สนับสนุนอยู่ข้างนอก เช่น ดร.เชษฐ์ เชาว์วิศิษฐ์ ซึ่งจบมาจาก L.S.C. (London School of Economics) ดร.เสาวราช สัจจมรรค และอีกหลายคนมาใช้งาน” แหล่งข่าวในพรรคกิจสังคมคนเดิมเล่าให้ฟัง

รองนายกรัฐมนตรีบุญชู โรจนเสถียร ทำท่าจะไปได้ดี แต่เผอิญในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้น บุญชู โรจนเสถียร มีความใจร้อน มักจะสั่งงานข้ามกระทรวงที่ตัวเองรับผิดชอบไปยังกระทรวงอื่นที่ตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้อง เล่นเอาพรรคการเมืองอื่นโดยเฉพาะพรรคชาติไทยต้องปั่นป่วน

“คุณบุญชูแกสั่งงานในรัฐบาลเหมือนแกสั่งงานในแบงก์กรุงเทพ” พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เคยบ่นให้คนใกล้ชิดฟัง

จะเป็นเพราะความที่พื้นฐานของบุญชูจะต้องเกี่ยวและมีความสัมพันธ์กับนักธุรกิจมาตั้งแต่ต้น พอมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ ก็เลยทำให้มีบรรยากาศของความไม่ไว้วางใจว่าสิ่งที่บุญชูทำนั้นทำเพื่อประเทศชาติหรือทำเพื่อพรรคพวกตัวเองกันแน่ และมีคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วคือผู้ที่ทำหน้าที่เฝ้าดูบุญชูอย่างใกล้ชิด

ต้องยอมรับว่าความคิดของบุญชู โรจนเสถียร นั้นเป็นความคิดที่ก้าวหน้าเกินกว่าคนอื่นจะทำความเข้าใจและยอมรับได้อย่างกะทันหัน เพราะฉะนั้นแนวความคิดและการปฏิบัติในบางเรื่องที่บุญชูได้เสนอออกไปก่อให้เกิดความแตกตื่น และเมื่อไม่เข้าใจ เลยกลายเป็นความหวาดระแวงในตัวบุญชู อย่างเช่นบรรษัทรวมไทย (Thailand Incs.)

เมื่อบุญชูเสนอความคิดนี้ออกมาในครั้งแรกเล่นเอาวงการปั่นป่วนหมด เพราะหลายคนคิดว่าเป็นโครงการขายประเทศไทยออกไปในรูปแบบของการใช้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ แต่ในที่สุดความหมายของบรรษัทรวมไทยที่บุญชูพูดในตอนนั้น มันก็คือคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนและรัฐบาลในปัจจุบันนั่นเอง

อีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเรื่องการขายรัฐวิสาหกิจที่ประสบการขาดทุน เพื่อให้เอกชนไปดำเนินการนั้น เมื่อความคิดนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ความคิดนี้ถูกมองว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดระหว่างบุญชูกับกลุ่มนักธุรกิจของเขา แต่เพียง 5 ปีให้หลัง ความคิดนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลเรียกร้องและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วๆ ไป

“ผมคิดว่าปัญหาของคุณบุญชูแท้ที่จริงแล้วอยู่ตรงที่ ไม่มีใครไว้ใจท่าน จากการที่เอาแต่มั่วสุมกับบรรดานักธุรกิจ และถูกห้อมล้อมด้วยบรรดากลุ่มนายทุนทั้งหลายทำให้คนในภาครัฐบาลไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวท่าน เพราะฉะนั้นอะไรที่ถูกเสนอออกมาก็จะถูกตี และออกมาในการหาผลประโยชน์” คนใกล้ชิดบุญชูพูดกับ “ผู้จัดการ”

อีก 2 เหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในสมัยที่บุญชูเป็นรองนายกฯ ทำให้สถานภาพของความไม่ไว้วางใจบุญชูกลับยิ่งเลวร้ายลงไปอีกนั้นคือ เรื่องการสั่งน้ำตาลนอกเข้าประเทศเพื่อชดเชยการขาดแคลนและการกักตุนน้ำตาล อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องเทเล็กซ์น้ำมันที่อื้อฉาว

เรื่องน้ำตาลนั้น ถ้ามองดูจากข้อเท็จจริงและด้วยความเป็นธรรมแล้วมันเป็นการคาดคะเนผลผลิตของน้ำตาลที่ผิดพลาดของรัฐบาลชุดพลเอกเกรียงศักดิ์ ซึ่งผลผลิตอันนี้ออกมาสู่ประชาชนในยุคที่บุญชูเป็นรองนายกฯ ประกอบกับการทำงานในระบบราชการของกรมการค้าภายในซึ่งมีหน้าที่จำหน่ายน้ำตาลออกไปทำงานกันอย่างล่าช้า และไม่ประสานงานกัน ทำให้สภาวะน้ำตาลอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนอย่างหนัก

“ผมคิดว่าการตัดสินใจสั่งน้ำตาลนอกเข้ามา คุณบุญชูคงทำด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ประการแรกเพื่อต้องการขจัดความเดือดร้อนของประชาชนอย่างทันทีทันใด อีกประการหนึ่งเพื่อใช้หลักการตลาดบีบให้พ่อค้าที่กักตุนน้ำตาลอยู่ต้องปล่อยน้ำตาลออกสู่ท้องตลาด แน่ละ การสั่งน้ำตาลในมูลค่าขนาดนั้นก็จะต้องมีคอมมิชชั่นอยู่บ้างเพราะเป็นเรื่องไหลตามน้ำ ซึ่งลงล็อกพอดี แต่จะมีใครได้บ้างหรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องเดากันเอาเอง”

ก็เป็นของธรรมดา เมื่อมีคนไม่ไว้ใจบุญชูอยู่แล้ว ก็กล่าวหาว่าทั้งบุญชูและตามใจรับเงินค่าคอมมิชชั่นจากการสั่งน้ำตาลปลิวว่อนไปทั่ว

กรณีน้ำตาลนี้เป็นสาเหตุอันหนึ่งซึ่งทำให้ตามใจ ขำภโต ถูกขอให้กลับไปอยู่ที่ธนาคารกรุงไทยเหมือนเดิม โดยแลกเปลี่ยนกับสัญญาว่าจ้างที่มีระยะเวลา 5 ปี ซึ่งบุญชูได้สั่งให้อำนวย วีรวรรณ จัดการสัญญานี้ “ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรคกิจสังคมได้สร้างความกดดันเหล่านี้ให้เกิดขึ้น” แหล่งข่าวในพรรคกิจสังคมพูดให้ฟัง

ก่อนหน้าที่บุญชู โรจนเสถียร จะเข้ามารับตำแหน่งรองนายกฯ เป็นครั้งที่ 2 ก็ได้มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งในเวลาไม่เกิน 4-5 ปีต่อมา เหตุการณ์นี้พอจะพัวพันกับบุญชูทำให้ตัวเขาต้องอยู่ในสภาพอัดอั้นตันใจอย่างมากๆ เหตุการณ์นั้นคือการแตกแยกของพร สิทธิอำนวย กับสุธี นพคุณ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้ตัดสินใจแยกออกจากกันและกัน โดยบุญชูเป็นผู้มาถือหางฝ่ายสุธี นพคุณ

สุธี นพคุณ มาสร้างรากฐานของตัวเองที่ตึกดำ พร้อมกับได้นำเอากลุ่มบริษัทเช่น บ้านและที่ดินไทย จำกัด เครดิตฟองซิเอร์บ้านและที่ดินไทย บริษัทประกันชีวิตประกันภัยอินเตอร์ไลฟ์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด ทัวร์รอยัล และบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมรามาที่สีลม และรามาการ์เด้น ที่ถนนวิภาวดีรังสิต

ก็เหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมาของสุธี นพคุณ ที่ตึกดำนี้ตรงกันข้ามห้องของเขาก็คือห้องทำงานของบุญชู โรจนเสถียร ที่สร้างและตกแต่งไว้อย่างดี ส่วนอีกชั้นหนึ่งเหนือขึ้นไปซึ่งเป็นชั้นบนสุดของตึกก็เป็นเพนท์เฮาส์ซึ่งไว้ใช้เป็นที่รับประทานอาหารและรับรองแขกส่วนตัวของบุญชู

ตึกดำจึงกลายเป็นสัญลักษณ์อันหนึ่งซึ่งทำให้บุญชูถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับกิจการในเครือของตึกดำมาตั้งแต่ต้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลกระทบอันนี้ก็ปรากฏต่อมาอีกไม่กี่ปีในภายหลัง

หมดจากตามใจ ขำภโต บุญชูก็เผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกน้องผู้ร่วมงานอีกคน คือวิสิษฐ์ ตันสัจจา

วิสิษฐ์ ตันสัจจา นั้นถูกคุณบุญชูส่งเข้าไปประกบพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ในกระทรวงอุตสาหกรรม ความสัมพันธ์ระหว่างวิสิษฐ์ ตันสัจจา กับพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ไม่เคยราบรื่นเลยแม้แต่น้อย เพราะเป็นลักษณะไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่

ในด้านหนึ่ง พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ คร่ำหวอดมากับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งรับผิดชอบด้านการสั่งน้ำมันดิบเข้าประเทศ อีกด้านหนึ่ง คือ วิสิษฐ์ ตันสัจจา ซึ่งอดีตคร่ำหวอดกับวงการน้ำมันมาเหมือนกัน แต่อยู่ในบริษัทเอสโซ่ภาคเอกชน

อันความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกิจสังคมและพรรคชาติไทยนั้น ลึกลงไปแล้วต่างฝ่ายก็รอที่จะจ้องจับผิดซึ่งกันและกัน ฉะนั้นถ้าใครพลาดก็ต้องถูกฟันจนเละแน่

แต่เผอิญวิสิษฐ์เป็นคนพลาดเสียก่อน!

เหตุการณ์เรื่องเทเล็กซ์น้ำมันนั้น พอจะสรุปสั้นๆ ด้วยความเป็นกลางดังต่อไปนี้

1. พลตรีชาติชายได้รับบัญชาเป็นความลับสุดยอดจากนายกฯ เปรม ให้ไปเจรจาซื้อน้ำมันกับประเทศซาอุดีอาระเบียในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล

2. ก่อนหน้านั้น วิสิษฐ์ ตันสัจจา ก็ได้มีการติดต่อเพื่อสั่งน้ำมันเข้ามาเช่นกัน แต่การติดต่อได้มีการติดต่อผ่านบริษัทนายหน้า ชื่อบริษัทไทยยืนยง โดยมีนายสุมิตร เหลืองสกุล เป็นตัวแทน

3. ในระหว่างที่นายสุมิตรกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ก็ได้ข่าวว่าพลตรีชาติชายก็ได้เข้าไปเจรจาอีก และกำลังจะมีการเซ็นสัญญากัน นายสุมิตรจึงรับส่งเทเล็กซ์เพื่อแจ้งข่าวให้วิสิษฐ์ ตันสัจจา ทราบ

4. วิสิษฐ์ ตันสัจจา ในช่วงนั้นกำลังอยู่ระหว่างเยือนประเทศอินโดนีเซียเป็นทางการกับบุญชู โรจนเสถียร ก็ส่งเทเล็กซ์ไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย ขอร้องไม่ให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเซ็นสัญญากับพลตรีชาติชาย พลตรีชาติชายต้องติดต่อกลับมาเพื่อให้นายกฯ เปรม ยืนยันอีกครั้งหนึ่งจึงจะเซ็นได้

5. เทเล็กซ์ซึ่งวิสิษฐ์ส่งไป แต่ใช้ชื่อบุญชู โรจนเสถียร จึงเป็นอาวุธทางการเมืองที่พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ และพรรคชาติไทยใช้ฟาดฟันพรรคกิจสังคม

ทั้งหมดนี้คือข้อสรุปของเหตุการณ์

แน่นอนที่สุดการกล่าวหาและข่าวลือจะจริงหรือไม่จริง ก็ประดังตามมาว่าทั้งวิสิษฐ์และบุญชูมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องน้ำมันที่อื้อฉาวนี้เพื่อหวังผลด้านคอมมิชชั่น

“คุณบุญชู ท่านไม่รู้เรื่องนี้เลยแม้แต่นิดเดียว เพราะตอนที่อยู่อินโดนีเซียนั้นคุณวิสิษฐ์ส่งเทเล็กซ์ไปโดยที่ท่านไม่ได้รับทราบเลยแม้แต่น้อย แต่ในฐานะที่ท่านเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งมาทราบตอนหลังท่านก็ไม่รู้จะทำอย่างไร” ผู้ใกล้ชิดบุญชูเล่าให้ฟัง

พอจะเรียกได้ว่ารายงานข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวพันกรณีเทเล็กซ์น้ำมันนี้ เป็นเรื่องอื้อฉาวที่สุดในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา เกือบจะ 100% ของเนื้อข่าวหรือความเห็นของหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ มุ่งไปสู่ข้อสรุปข้อเดียวกันหมดว่าทั้งวิสิษฐ์และบุญชูมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องเทเล็กซ์น้ำมัน

เปรมเองกลับทำเหตุการณ์ให้เลวลงไปกว่าเดิม โดยการใช้บทใบ้ไม่ยอมพูดจา ในช่วงนั้นคนที่อึดอัดใจที่สุดก็น่าจะเป็นบุญชู โรจนเสถียร เพราะเมื่อนายกฯ ถูกถามถึงเรื่องเทเล็กซ์น้ำมัน และไม่ยอมพูดอะไรทั้งสิ้นอย่างน้อยที่สุดมันก็สามารถทำให้คนภายนอกเห็นว่านายกฯ มองบุญชูแบบใด

และในการเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวนั้นมีอยู่ครั้งหนึ่ง บุญชูถึงกับบอกว่าเรื่องการส่งเทเล็กซ์ครั้งนั้นเป็นเรื่องที่วิสิษฐ์ทำไปโดยพลการ โดยที่บุญชูไม่รู้เรื่องเลย “คนก็เลยมองว่าคุณบุญชูเวลามีปัญหาก็เอาตัวรอดคนเดียว เพราะในลักษณะของการเป็นผู้นำนั้น ถ้าผู้ใต้บังคับบัญชาทำอะไรผิดขึ้นมา ผู้นำที่ดีจะต้องกล้าก้าวเข้ามารับผิดชอบ” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเปรมก็ออกมาพูดอย่างเป็นทางการว่า บุญชูไม่ผิด เพราะไม่รู้เรื่อง แต่วิสิษฐ์ทำไม่ถูก

เท่านั้นเอง เท่ากับเปรมได้ยื่นหอกให้กับพรรคชาติไทย นอกเหนือจากดาบที่พรรคชาติไทยถืออยู่แล้ว ทั้งฟันทั้งแทงพรรคกิจสังคมอย่างหนักจนกระทั่งพรรคกิจสังคมซึ่งส่วนหนึ่งมีความขัดแย้งกับบุญชู โรจนเสถียร เป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว รวมไปถึงกลุ่ม ส.ส.อีกไม่น้อย ที่มีความไม่พอใจที่บุญชูเอาคนข้างนอกมากินตำแหน่งทางการเมือง ถือโอกาสล้มกระดานหมากรุกเสียโดยประกาศถอนตัวออกจากพรรครัฐบาล

ในการทำเช่นนั้น นายเกษม ศิริสัมพันธ์ ได้เขียนแถลงการณ์ของพรรคกิจสังคม ตัดพ้อต่อว่าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อย่างชนิดไม่เผาผีกัน และเป็นเหตุให้บุญชู โรจนเสถียร โกรธเคืองมากที่เขียนแถลงการณ์แบบนั้น ทำให้โอกาสการจะเข้าร่วมกันต่อไปไม่มี “ตรงนี้แหละที่คนในพรรคกิจสังคมเขาว่าคุณบุญชูเป็นคนเอาตัวรอดแต่คนเดียว เพราะถึงคราวที่จะต้องแสดงศักดิ์ศรีและสปิริต แต่ตัวเองกลัวจะสูญเสียตำแหน่งจึงไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วย ตรงนี้ไม่เรียกว่าเอาตัวรอดแล้วเรียกว่าอะไร” แหล่งข่าวในพรรคกิจสังคมพูดกับ “ผู้จัดการ”

ในที่สุดบุญชูก็ตกงานเป็นครั้งที่ 2 แต่คราวนี้มีกลุ่มธุรกิจของสุธี นพคุณ ซึ่งขณะนั้นเป็นกลุ่มที่หวือหวามากเป็นฐานรองรับตัวเองอยู่แต่เบื้องหลังของโครงสร้างที่ใหญ่โตนั้น คือรากฐานที่ผุกร่อนและพร้อมที่จะพังทลายลงมาทุกเมื่อ

ตึกดำในช่วงที่บุญชูออกจากรองนายกฯ มานั่งประจำอยู่ทุกวัน ก็เลยกลายเป็นแหล่งชุมนุมทางการเมืองอีกขุมหนึ่ง ในขณะที่พรรคกิจสังคมส่วนหนึ่งจะนั่งชุมนุมกันที่ซอยสวนพลู แต่ที่ตึกดำก็จะมีบรรดานักการเมืองแวะเวียนเข้ามาหา

ถึงแม้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเหมือนลมที่พัดผ่านตัวบุญชูไปแล้ว แต่อำนาจวาสนาและบารมีของบุญชูก็ยังคงมีอยู่ ทั้งนี้เพราะบุญชูยังคงมีการติดต่อเป็นครั้งคราวกับพลเอกเปรมอยู่เป็นประจำ โดยบางครั้งพลเอกเปรมก็จะโทรศัพท์มาหาเพื่อขอคำปรึกษาบ้าง

นี่ก็เลยเป็นการสร้างความหวังให้บุญชูคิดว่าการที่ตนเองได้แสดงออกถึงการคัดค้านแถลงการณ์ของพรรคกิจสังคมที่เกษม ศิริสัมพันธ์ เป็นผู้เขียน ได้สร้างความเข้าใจและเห็นใจจากพลเอกเปรม ทำให้โอกาสที่บุญชูจะกลับเข้าไปอีกมีอยู่หลายส่วน

แต่บุญชูลืมสังเกตว่าภายในพรรคกิจสังคมเอง กำลังมีความเคลื่อนไหวที่จะดัดหลังบุญชู โรจนเสถียร โดยหาทางที่จะขจัดบุญชูและพวกให้พ้นไปจากวิถีทางทางการเมือง ซึ่งหมายถึงให้พ้นไปจากฐานอำนาจของพรรคกิจสังคม เพื่อที่จะไม่ให้มีอำนาจการต่อรองเกิดขึ้นมาในอนาคต

สำหรับบุญชูแล้วเขาคิดว่าการจะสร้างฐานอำนาจพรรคกิจสังคมนั้น เป็นการสร้างพรรคให้มีระบบในพรรคกิจสังคมเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานของประชาชนอย่างสมบูรณ์ และด้วยเหตุผลดังกล่าวก็จะสามารถสร้างผู้แทนราษฎรที่มีคุณภาพขึ้นมาได้

ความคิดนี้เป็นความคิดที่ดีแต่เป็นความคิดที่มุ่งไปทำลายกลุ่มพลังเก่า ซึ่งย่อมมองเห็นได้ชัดว่าถ้าพรรคยอมรับการแก้ไขโครงสร้างอันนี้ของบุญชูแล้ว กลุ่มพลังเก่าก็จะไม่มีวันได้ผุดได้เกิดอีกต่อไป เรียกได้ว่ายุทธศาสตร์ของบุญชูคือยุทธศาสตร์ของการสู้แบบถอนทั้งยวง

ในที่สุดก็ไม่มีการยอมรับระบบที่บุญชูได้เสนอไป และไม่มีการให้อำนาจในการทำงาน ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งควรจะเป็นคนที่เข้าใจถึงปัญหาอย่างที่สุด กลับเล่น 2 บท โดยบทหนึ่งกับบุญชูว่าเห็นด้วยกับวิธีการของบุญชูและอยากให้ทำ และอีกบทหนึ่งกลับไปบอกให้กลุ่มพลังรู้ว่าบุญชูเป็นตัวปัญหาของพรรคที่ไม่เข้าร่องเข้ารอย “อาจารย์หม่อมเป็นคนพูดเลยว่าตัวเองแก่แล้ว อยากจะให้คุณบุญชูขึ้นมารับภาระเพื่อแก้ไขและเสริมโครงสร้างของพรรคให้มั่นคงถาวรต่อไป แต่พอลับหลังคุณบุญชูอาจารย์หม่อมกลับไปพูดกับคุณเกษม ศิริสัมพันธ์ หรือกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ชอบคุณบุญชูว่าท่านไม่ได้พูดแบบนั้น ทั้งที่มีคนรู้เห็นคำพูดที่ท่านพูด” คนใกล้ชิดบุญชูเล่าให้ฟัง

และต่อมาครั้งหนึ่งในการประชุมใหญ่ของพรรคกิจสังคมที่โรงแรมอินทรา บุญชูมีความกระตือรือร้นอย่างมากเป็นพิเศษที่จะไปร่วม เพราะวันนั้นบุญชูเข้าใจว่าจะเป็นการยอมรับว่าบุญชูจะต้องมีบทบาทและอำนาจในการแก้ไขโครงสร้างของพรรค “วันนั้นท่านผิดหวังกลับมาอย่างมาก และเป็นครั้งแรกที่ท่านเริ่มรู้ว่าเรื่องของท่านกับกิจสังคมมันไม่ง่ายเหมือนดังที่ท่านคิดเอาไว้” คนใกล้ชิดบุญชูเล่าให้ฟังเพิ่มเติม

เหตุการณ์อีกเหตุการณ์หนึ่ง ในที่สุดก็ได้พิสูจน์ว่ากลุ่มพลังเก่าสามารถจะปิดประตูกั้นไม่ให้บุญชูมีอำนาจเหมือนเดิมในพรรคกิจสังคม นั่นคือการที่ ส.ส.พรรคกิจสังคม 7 คน ที่ลาออกจากพรรคเพื่อประท้วงพรรค ซึ่งทั้ง 7 คนนั้นเป็น ส.ส.ทางสายบุญชู

บุญชูคิดว่าจะใช้ ส.ส.7 คนนี้เป็นเครื่องทดสอบว่าพรรคกิจสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังมีเยื่อใยกับตนอยู่มากน้อยเพียงใด โดยขอร้องให้พรรคกิจสังคมรับ ส.ส.ทั้ง 7 คนเข้าไปเหมือนเดิม ซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์ก็รับปาก แต่ก็ไม่สามารถจะรับปากได้ว่าจะรับได้หมดหรือเปล่า ซึ่งในที่สุดก็พิสูจน์ออกมาว่าพรรคกิจสังคมไม่สามารถจะรับ ส.ส.ทั้ง 7 คนเข้าไปหมดได้ และนี่คือบทพิสูจน์ที่เริ่มเห็นได้ชัด

ความสัมพันธ์ระหว่างบุญชูกับพลเอกเปรมก็เริ่มเปลี่ยนไป เพราะพลเอกเปรมโดยเนื้อแท้แล้วเป็นคนที่มีความคิดลึกซึ้งมาก อาจจะเป็นเพราะพลเอกเปรมเริ่มเห็นชัดแล้วว่าฐานอำนาจของบุญชูทางการเมืองเริ่มหมดไป หรืออาจจะเป็นเพราะในทางลับๆ แล้ว กลุ่มพรรคกิจสังคมที่ต่อต้านบุญชู รวมทั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สามารถจะเริ่มประสานรอยร้าวกับพลเอกเปรมโดยตรงได้

และในที่สุด การเลือกตั้งก็เกิดขึ้น

ในการเลือกตั้งครั้งนี้บุญชู โรจนเสถียร ได้ทำสิ่งหนึ่งออกมา ซึ่งในช่วงแรกทำให้คนหลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้ที่รักประชาธิปไตยเห็นว่าเป็นเรื่องของความถูกต้อง นั่นคือ บุญชูประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และขอถอนตัวออกจากการเมืองสักระยะหนึ่ง

“การเลือกตั้งที่จัดให้มีขึ้นอย่างกะทันหันในครั้งใหม่นี้ ก็จะเป็นไปในรูปเดิม ซึ่งทำให้เห็นได้ล่วงหน้าชัดเจนว่า หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงแล้วก็จะเกิดรัฐบาลในรูปที่ไม่ต่างไปจากที่เป็นอยู่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา การบริหารงานก็คงจะเป็นไปในทำนองถ้อยทีค่อยประนีประนอมเพื่อการอยู่รอดไปวันหนึ่งๆ ด้วยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาที่สะสมกันมามากมายนานปีก็ยังไม่ได้แก้ พร้อมกันนั้นปัญหาใหม่ๆ ก็จะเกิดตามขึ้นมาอีก แล้วก็จะสะสมเพิ่มกันต่อไป”

“ผมจึงมองไม่เห็นประโยชน์อะไรในการที่จะไปลงสมัครรับเลือกตั้งและเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองที่มีลักษณะน่าอเนจอนาถดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผมเองก็รู้อยู่แก่ใจดีว่า ผมไม่มีโอกาสที่จะได้นำแนวความคิดและวิธีแก้ไขปัญหาของประชาชนและประเทศชาติตามที่ผมได้ศึกษาและเตรียมเป็นแผนงานไว้ออกใช้ปฏิบัติแน่ ผมจะออกไปบอกกับประชาชนว่าผมจะเข้าไปทำอย่างโน้น อย่างนี้ ผมก็ย่อมไม่กล้าพอที่จะพูดกับประชาชน จึงทำให้ผมรู้สึกว่า ผมไม่อยู่ในวิสัยที่ควรจะออกไปอาสาสมัครเป็นผู้แทนของประชาชนในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ผมขอยืนยันว่าผมพร้อมเสมอที่จะรับใช้ประชาชนและประเทศชาติ พร้อมที่จะเสียสละและทุ่มเททุกอย่าง ทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ และสติปัญญา เพื่อแก้ปัญหาของชาติบ้านเมือง ให้ปรากฏผลเป็นความจริง พร้อมที่จะร่วมมือกับหมู่คณะ และกลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมือง ไม่ว่ากลุ่มใด คณะใด ที่สามารถทำให้ผมเกิดความหวังขึ้นมาได้ว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ มีความจริงใจและเด็ดขาดเพียงพอที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ที่ผมกล่าวมาแล้วได้ ความรู้ความสามารถและประสบการณ์อันใดที่ผมมีอยู่ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง ผมพร้อมที่จะทำทุกอย่างและทุกเวลา

แต่ผมจะไม่ยอมรับ และไม่ยอมร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่มีลักษณะเลี่ยงโชค สุกเอาเผากิน และเอาแต่คอยประนีประนอมให้เกิดผลเพียงสนองความต้องการด้านรูปแบบหรือการธำรงอยู่ของรัฐบาล หรือเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยไม่ได้คำนึงถึงผลด้านการขจัดปัญหาของประชาชน ผลทางด้านกอบกู้ฐานะและความมั่นคงของประเทศชาติโดยเด็ดขาด แต่ผมจะใช้เวลาศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของปัญหาที่มีอยู่ในบ้านเมือง รวมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขออกเผยแพร่ต่อไป เพื่อให้แนวความคิดและวิธีแก้ไขต่างๆ ที่เผยแพร่ได้ถูกนำออกปฏิบัติ เมื่อได้รับความเห็นชอบในอนาคต

ทั้งหมดที่ผมได้แถลงมานี้ มิได้กระทำด้วยความรู้สึกโอหังบังอาจ แต่ระบายออกมาด้วยความขมขื่น ด้วยความทุกข์และวิตกกังวลต่อสถานการณ์ของบ้านเมืองที่ผมมองเห็น”

บุญชูพูดในแถลงการณ์

แต่ก็มีคนสงสัยและเชื่อว่าที่บุญชูทำเช่นนั้นเพื่อที่จะประกาศให้พลเอกเปรมรู้ว่าตัวเองนั้นไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับพรรคกิจสังคมที่ยังคงยึดถือแนวน้ำเน่าเดิม “ถ้ามองในอีกแง่หนึ่งก็มองดูได้ว่า บุญชูไม่ต้องการเสียงในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะการตายของเสี่ยจิวที่จังหวัดชลบุรีเป็นสัญญาณบอกอะไรบางอย่างให้บุญชูรู้ว่า การเดินสายการเมืองข้างหน้าของบุญชูนั้นคงจะไม่ง่ายเหมือนเดิม” แหล่งข่าวจังหวัดชลบุรีพูดให้ฟัง

และในเมื่อบุญชูเป็นคนที่ถ้าไม่มีความมั่นใจในเรื่องอะไรแล้วก็จะไม่ทำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะลงเลือกตั้งในภาวการณ์ที่ไม่ค่อยมั่นใจก็จะหมดไป

การตายของเสี่ยจิว นอกจากจะเป็นการสูญเสียในแง่ขุมกำลังสำหรับบุญชูแล้ว ยังเป็นลางบอกเหตุกับบุญชูว่าเขากำลังถูกผู้ที่มีอำนาจมากๆ จับตาดูอย่างไม่ไว้วางใจ เพราะการลอบสังหารเสี่ยจิวนั้นเป็นการลอบสังหารที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการเหมือนกับเป็นการปฏิบัติการของคนที่เคยชินกับระเบียบวินัยอันสูง ประกอบกับอาวุธที่ใช้นอกเหนือจากปืนเอ็ม 16 แล้วยังมีเครื่องยิงระเบิดและอาวุธสงครามหนักๆ หลายประเภท และก็เป็นที่รู้กันในเมืองชลว่ากลุ่มผู้ลอบสังหารนี้ไม่ได้หายไปไหนเพียงแต่อยู่ในที่ที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปแตะต้อง

“ในช่วงนั้นมีกระบวนการดับเจ้าพ่อเป็นพักๆ บรรดาผู้มีอิทธิพลทั้งหลายทั้งกลุ่มมือปืนพากันวิ่งหัวซุกหัวซุน เพราะพวกเจ้าพ่อนี้ถ้าใช้มาตรการทางกฎหมายมากำจัดก็คงจะทำได้ยาก” นักข่าวสายการเมืองของนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่งให้เหตุผล

การประกาศรามือจากการเมืองสักระยะหนึ่งของบุญชูนั้น คือการลาออกจากพรรคกิจสังคมโดยปริยายนั่นเอง

ความรู้สึกของบุญชูที่มีต่อพลเอกเปรมนั้นเปลี่ยนไปอย่างมาก ในช่วงหลังๆ บุญชูจะเริ่มมองพลเอกเปรมว่าเป็นคนที่บริหารงานอย่างไร้ประสิทธิภาพ และไม่กล้าตัดสินใจ ประกอบกับในรัฐบาลชุดหลังของพลเอกเปรมนั้น หลังจากเลือกตั้งครั้งหลังสุดได้มีรัฐมนตรีคลังที่ชื่อสมหมาย ฮุนตระกูล ซึ่งตำแหน่งรัฐมนตรีคลังนี้พลเอกเปรมได้ขอเป็นโควตาของตัวเอง ทั้งนี้เพราะบรรดานักวิชาการของธนาคารชาติและกระทรวงการคลังบางส่วน รวมทั้งที่ปรึกษาของพลเอกเปรมด้วย พากันเห็นว่าถ้าตำแหน่งนี้เป็นโควตาของพรรคการเมืองแล้วจะทำให้สถานภาพทางการเมือง การคลังของประเทศไม่อยู่ในร่องรอยแห่งความรอบคอบและระมัดระวัง

“พวกแบงก์ชาติและกระทรวงการคลังตลอดจนบางคนในสภาพัฒนาฯ ชอบพูดเสมอว่า เมื่อบุญชูคุมด้านเศรษฐกิจได้ใช้เงินออกไปมากเกินไป” แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังเล่าให้ฟัง

สมหมาย ฮุนตระกูล และบุญชู โรจนเสถียร ความจริงแล้วอยู่กันคนละสาย

สมหมายนั้นอยู่ทางสายเก่าคือสายแบงก์ชาติ ธนาคารไทยพาณิชย์ และกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ในขณะที่บุญชูอยู่ในสายของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งโดยส่วนลึกแล้วไม่ใช่สายที่จะมาร่วมสังฆกรรมกันได้

ในขณะที่สมหมายจะใช้นโยบายรัดเข็มขัด ตัดค่าใช้จ่าย ยอมลำบากโดยไม่คำนึงถึงว่าคนในระดับเล็กและระดับกลางจะเป็นคนลำบาก

แต่บุญชูกลับมีนโยบายการใช้เงิน เพราะบุญชูคิดว่ารัฐบาลจะต้องเป็นผู้นำในการใช้เงินเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ และในด้านของเป้าหมายรายได้ของรัฐบาลนั้นบุญชูจะตั้งไว้สูงเพราะเขาคิดว่ามีความจำเป็นจะต้องผลักดันให้ทุกคนหารายได้เข้าเป้าให้ได้ ซึ่งก็ไม่ต่างกับนโยบายที่บุญชูเคยตั้งเป้าให้ผู้จัดการสาขาของธนาคารกรุงเทพหาเงินฝากให้เข้าเป้าให้ได้ “ความจริงสิ่งที่คุณบุญชูพยายามทำคือการบีบบังคับให้ข้าราชการทำงานให้มากขึ้น ให้มีการตั้งเป้าหมายในการทำงานสูงกว่าที่ควรจะเป็นอยู่ทุกปี เมื่อมองในแง่ของการบริหารแล้วนี่คือลักษณะของผู้จัดการที่ดี แต่เผอิญประเทศไทยมีระบบข้าราชการที่ใหญ่กว่าธนาคารกรุงเทพหลายสิบเท่า รวมทั้งรากของข้าราชการพวกนี้ได้งอกลึกลงไปเกินกว่าจะแก้ไขได้ ประการหนึ่งภาวการณ์เศรษฐกิจของโลกตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา อยู่ในช่วงของ Recession ก็เลยทำให้รายได้จากการส่งออกไม่ดีเท่าที่ควร” แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังเล่าให้ฟัง

เมื่อแนวโน้มนโยบายการคลังไม่ตรงกันแล้ว ประกอบกับภาวการณ์เศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้น ก็เลยเป็นการเปิดโอกาสให้บุญชูได้ฟาดฟันรัฐบาลของพลเอกเปรมอย่างเต็มที่ รวมทั้งการลดค่าเงินบาทที่ผ่านมา ซึ่งในกรณีนี้บรรดานักวิชาการในธนาคารชาติที่บุญชูเคยใช้สอย ก็พากันประหลาดใจว่าบุญชูไม่น่าจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้เลย “เรื่องลดค่าเงินบาทเป็นเรื่องที่ถ้าคุณบุญชูเป็นรัฐบาล คุณบุญชูก็ต้องทำและที่ผมเสียใจอยู่จนทุกวันนี้คือถึงแม้ตัวเลขหลังจากลดค่าเงินบาททจะพิสูจน์ว่าการลดค่าเงินบาทเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ท่านเองก็ยังไม่ยอมรับ ยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์เป็นครั้งคราว” นักวิชาการระดับสูงในธนาคารชาติที่เคยถูกบุญชูเรียกใช้เอ่ยเอื้อนขึ้นมาอย่างน้อยใจ

บุญชูจะถูกเชิญไปปราศรัยให้สุนทรพจน์ตามที่ต่างๆ อยู่อย่างไม่ขาดสาย และส่วนใหญ่เรื่องที่บุญชูพูดก็จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

ในช่วงที่บุญชูเริ่มมานั่งที่ตึกดำหลังจากที่ออกมาจากการเป็นรองนายกฯ ก็เป็นช่วงที่ภาวการณ์ทางการเงินของตึกดำกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต

จากการที่บุญชูถูกสุธีนำเข้ามาผูกพันเช่นนั้นทำให้บุญชูอยู่ในสภาวะต้องตกกระไดพลอยโจน เพราะบุญชูเองเมื่อตอนที่พอล สิทธิอำนวย และสุธี นพคุณ ตกลงใจแยกทางกัน พอลเคยพูดกับบุญชูว่าให้ระวังสุธีเอาไว้ และบุญชูก็เป็นคนพูดกับพอลว่า “อย่าลืมว่าเราเป็นนักบัญชีเก่าไม่มีอะไรรอดหูรอดตาเราได้”

แต่สิ่งที่รอดหูรอดตาบุญชูไปอย่างมากคือการทำงาน และการบริหารงานที่หละหลวม การบริหารงานที่ไม่ดูตาม้าตาเรือ

ในความวิกฤตทางการเงินนั้นบุญชูจำเป็นต้องลืมเรื่องการบ้านการเมืองไปชั่วคราว และบุญชูกลับถึงต้องออกหน้าเป็นครั้งแรกในการเป็นประธานโครงการเทพธานี ซึ่งจะเป็นโครงการที่ช่วยชีวิตเครือตึกดำได้ทั้งหมด และโครงการเทพธานีนี้คือการพัฒนาที่ดินของโรงแรมรามาทาวเวอร์ ซึ่งจะต้องใช้เงินถึง 3-4 พันล้านบาทและส่วนหนึ่งของเงินก้อนนี้ ที่ได้มาจะเป็นการต่อชีวิตของกิจการในเครือตึกดำไปจนกว่าอะไรต่ออะไรมันจะดีขึ้น

ในช่วงปี 2525 เป็นช่วงที่บุญชูเริ่มตระหนักว่า เหตุผลใหญ่เหตุผลหนึ่งของการล้มของรามาทาวเวอร์คือตัวสุธี นพคุณ เอง และเพื่อที่จะให้ได้การสนับสนุนจากสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อโครงการเทพธานีนี้บุญชูจึงต้องนำเอานายเจมส์ สเต็นท์ อดีตผู้บริหารของธนาคารคร็อกเกอร์ ที่เป็นผู้ปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มรามาเข้ามาบริหาร แต่โครงการเทพธานีก็พับไป

“ในการทำงานทุกวันของกลุ่มตึกดำ เป็นภาวการณ์ของโรงพยาบาลโรคประสาทจริงๆ เพราะทุกวันผู้บริหารต้องวิ่งหมุนเงินกันจนปวดหัว มีที่ใดที่พอจะกู้ยืมขึ้นมาเพื่ออุดสภาพคล่องของพัฒนาเงินทุนก็ต้องทำกัน จนกระทั่งในการหาเงินฝากของพัฒนาเงินทุน เมื่อเลือดเข้าตาก็ประกาศกับคนฝากว่าบุญชูเป็นเจ้าของพัฒนาเงินทุน ไม่งั้นแล้วจะไม่มีใครกล้าเอาเงินมาฝาก เพราะชื่อเสียงของคุณบุญชูยังดีอยู่” แหล่งข่าวในตึกดำเล่าให้ฟัง

พัฒนาเงินทุนจึงเป็นหัวใจสำคัญของกลุ่มตึกดำ ขั้นนี้เพราะพัฒนาเงินทุนคือศูนย์รวมแห่งศรัทธาและความเชื่อมั่น เพราะถ้าสถาบันเงินทุนของกลุ่มตึกดำล้มเสียแล้ว ทุกอย่างก็จะล้มตามกันไปหมด

“บทบาทของคุณบุญชูเท่าที่ผมดูก็เลยต้องอยู่ในภาวะที่ต้องช่วยเหลือกันแน่นอนที่สุด ก็จำเป็นต้องใช้บารมีของบุญชู ในเรื่องการเงินการทอง” แหล่งข่าวตึกดำคนเดิมกล่าว

สุธี นพคุณ นั้นคุยกับธนาคารกรุงเทพไม่ได้อยู่แล้วเพราะ” ไม่มีใครชอบขี้หน้าแก ที่แกเคยได้ความช่วยเหลือจากธนาคารกรุงเทพในอดีตเพราะคุณบุญชูทั้งสิ้น” คนในธนาคารกรุงเทพพูดเสริม

ส่วนธนาคารกรุงไทยที่ตามใจเป็นใหญ่อยู่นั้นก็ได้ทดแทนบุญคุณบุญชูไปเรียบร้อยแล้ว โดยการช่วยธุรกิจในเครือตึกดำของสุธีจนแอ่นไปแอ่นมา “คุณอย่าลืมว่าธนาคารกรุงไทยรับจำนองหุ้นรามาทาวเวอร์ไว้ นอกจากนั้นแล้วคุณตามใจยังเป็นตัวแทนของกองทุนกรุงไทย เวลาประชุมกรรมการของรามาาทาวเวอร์ คุณตามใจก็คอยปกป้องโดยยืนยันกับทุกๆ คนว่ารามาทาวเวอร์ยังมีทรัพย์สินที่ดีอยู่ ควรสนับสนุนต่อไป นอกจากนั้นแล้วธนาคารกรุงไทยยังค้ำประกันเงินกู้จากต่างประเทศของรามาทาวเวอร์ อีกหลายร้อยล้านบาท อย่างนี้ก็คงพอจะเรียกได้ว่าเป็นการทดแทนบุญคุณกระมัง” แหล่งข่าวในธนาคารกรุงไทยพูดขึ้นมา

ในที่สุดก็ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา และก็ไม่มีใครที่จะอยู่ค้ำฟ้าได้ ถึงแม้ว่าบุญชูจะเจรจากับทางชิน โสภณพนิช โดยตรงเพื่อให้ช่วย แต่ชินก็บอกว่าแล้วแต่ชาตรี ซึ่งชาตรีในปี พ.ศ. 2525 เป็นชาตรีที่ไม่ใช่ชาตรีปีก่อนๆ

ชาตรี โสภณพนิช ได้เติบโตเต็มที่แล้วทั้งขอบข่ายสายงาน รวมทั้งลูกน้องบริวารที่ธนาคารกรุงเทพล้วนแล้วแต่เป็นคนของชาตรีหมด และในวงการก็รู้กันว่าอะไรก็ตามที่กำลังจะเน่า ชาตรีจะไม่เข้าไปแม้แต่เข้าใกล้

อีกกระแสข่าวหนึ่งอ้างว่าความจริงแล้วทางกลุ่มธนาคารกรุงเทพพร้อมจะช่วย เพียงแต่ขอให้บุญชูบอกมาว่า กลุ่มธุรกิจตึกดำเป็นของบุญชู เพราะที่เคยติดต่อมามีความไม่แน่ชัดว่ากิจการเหล่านี้เป็นของใครกันแน่?

“คุณต้องยอมรับว่าคุณบุญชูในปี 2525-2526 ไม่มีอำนาจวาสนาเหมือนเดิม แล้วเกมการเมืองที่เกิดขึ้นก็เริ่มลงตัว และปริศนาภาพต่อก็ไม่เป็นปริศนาอีกต่อไป ในที่สุดบุญชู โรจนเสถียร กลายเป็นคนวงนอกอำนาจทางการเมืองไปเสียแล้ว นอกจากนั้นการสูญเสียคนใกล้ชิด เช่นเสี่ยจิว และจากการที่โส ธนะวิสุทธิ์ ซึ่งครั้งหนึ่งมีคนเข้าใจว่าเป็นผู้รับใช้คุณบุญชู ต้องถูกทางการล่าตัว ยิ่งทำให้สถานภาพของบุญชูตกต่ำไปมาก แล้วคุณก็รู้ว่า ไอ้พวกธนาคารในระดับแบบนี้มันเจรจากันอยู่บนพื้นฐานของความเกรงใจ เมื่อคุณไม่มีอะไรที่จะให้มันเกรงใจอีกแล้ว ถ้ามันเพียงแต่คุยกับคุณด้วยก็นับว่ามันให้เกียรติคุณพอสมควรอยู่แล้ว” แหล่งข่าวคนใกล้ชิดบุญชูพูดให้ฟัง

การช่วยชีวิตของกลุ่มตึกดำนั้นไม่ว่าบุญชูจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องด้วยมันก็ต้องเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพราะถ้ากลุ่มตึกดำล้มมันจะต้องกระเทือนไปถึงสถานภาพของบุญชูด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปลายปี 2525 บุญชูถูกกลุ่มมหาดำรงค์กุล ชักชวนให้เข้าร่วมซื้อหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยจากกลุ่มของเสี่ยเม้งผู้ถือหุ้นเดิม

ความสัมพันธ์ระหว่างบุญชูกับกลุ่มมหาดำรงค์กุลนั้นมีมานานแล้ว อาจจะเป็นเพราะมีเชื้อสายไหหลำด้วยกัน แต่เข้าใจว่าความสัมพันธ์ด้านธุรกิจคงจะมากกว่า มีมาตั้งแต่สมัยที่บุญชูยังคุมธนาคารกรุงเทพอยู่ ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่ฝ่ายมหาดำรงค์กุลจะต้องให้ความเกรงใจบุญชูมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยที่บุญชูอยู่ที่ธนาคารและคอยให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน จนกระทั่งถึงในสมัยที่บุญชูเล่นการเมือง ก็ต้องพึ่งพาอาศัยบุญชูในการช่วยเหลือทางการเงิน “กลุ่มมหาดำรงค์กุลเคยมีปัญหากับกรมศุลกากร ในเรื่องเอานาฬิกาเข้า ซึ่งคุณบุญชูก็เคยเจรจาให้จนสำเร็จ หรือแม้กระทั่งบางครั้งก็มีการขอให้คุณบุญชูช่วยขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์กันอย่างหน้าตาเฉย” แหล่งข่าวที่รู้จักทั้งสองฝ่ายดีเล่าให้ฟัง

กลุ่มมหาดำรงค์กุลต้องการจะพึ่งพาอาศัยบุญชูในรูปการเข้ามาช่วยจัดโครงสร้างและนโยบาย สอนพวกเขาทำธนาคาร โดยให้พวกเขาเป็นผู้บริหาร การเชื้อเชิญของกลุ่มมหาดำรงค์กุลเป็นจังหวะพอดีกับที่กลุ่มตึกดำประสบมรสุมทางการเงิน และมรสุมนั้นกำลังเริ่มขยายตัวอย่างน่าเป็นห่วง” คุณบุญชูท่านคงมองแล้วว่าธนาคารนครหลวงไทย ไม่ใช่ธนาคารระดับที่ท่านจะเข้าไปเล่นด้วย อาจจะเป็นเพราะมันเล็กเกินไป ส่วนธนาคารกรุงเทพนั้นก็ปิดประตูได้แล้ว แต่ผมเชื่อว่าที่ท่านกระโดดเข้าในที่สุดก็เพราะเหตุผล 2 ประการด้วยกัน ประการแรก คือต้องการจะเข้าไปช่วยกลุ่มมหาดำรงค์กุลจริงๆ อีกประการหนึ่งก็เป็นหลักธรรมดาที่ว่า ไม่มีฐานอะไรที่ดีเท่าฐานการเงิน และเมื่อดูไปรอบๆ ตัวแล้ว ตำแหน่งประธานธนาคารนครหลวงไทยก็ยังดีกว่าหลายๆ อย่างที่จะไปทำเพราะสามารถใช้ฐานธนาคารในการสร้างบารมีขึ้นมาอีกได้” คนใกล้ชิดบุญชูเล่าให้ฟัง

ในที่สุดทั้งบุญชูและกลุ่มมหาดำรงค์กุลก็ตกลงที่จะทำงานร่วมกัน แต่ความเข้าใจในข้อตกลงการทำงานกลับเข้าใจไปคนละด้าน เพราะบุญชูคิดว่าเมื่อพวกมหาดำรงค์กุลต้องการให้เข้าไปช่วยบริหารนั้นย่อมหมายถึงการจัดทีมเข้าไปจัดการให้ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งเป็นคนละแนวความคิดกับกลุ่มมหาดำรงค์กุล

ชื่อเสียงของสุธี นพคุณ ในขณะนั้นไม่มีใครยอมรับนับถืออีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นการเอาสุธีเข้าไปร่วมด้วยก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ส่วนการจะเอามือรองเช่น วัฒนา ลัมพะสาระ หรือจิตตเกษม แสงสิงแก้ว ไปคุมทีม ก็ยังบารมีไม่ถึง

ในที่สุดก็เลยกลายเป็น วิสิษฐ์ ตันสัจจา เป็นผู้เข้ามาโดยบุญชูเป็นผู้ชักจูงเข้ามา!

“ไม่มีใครรู้ว่าคุณวิสิษฐ์เข้ามาได้อย่างไร แต่มีคนเชื่อว่าคุณบุญชูท่านต้องการจะแสดงน้ำใจคืนให้กับคุณวิสิษฐ์ ในเรื่องกรณีเทเล็กซ์น้ำมัน ก็เลยเอาคุณวิสิษฐ์มาทำงานด้วย แต่ก็มีคนพูดว่าท่านได้ชวนคนหลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูงจากธนาคารกรุงเทพแล้วแต่ไม่มีใครยอมมา” แหล่งข่าวในตึกดำพูดให้ฟัง

แต่อย่างไรก็ตาม การเอาวิสิษฐ์ ตันสัจจา เข้ามาร่วมงานอีกครั้งหนึ่ง ก็อาจจะมีผลทำให้บุคคลบางส่วนเกิดความเข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วเรื่องเทเล็กซ์น้ำมันเป็นเรื่องที่ทำกันระหว่างบุญชูและวิสิษฐ์

“ตรงนี้แหละที่คุณบุญชูท่านเสียมาก ผมเชื่อว่าท่านไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แต่ที่ท่านเอาคุณวิสิษฐ์มานั้นเป็นเพราะในขณะนั้นมีแต่คุณวิสิษฐ์เท่านั้นที่เหมาะสม หลังจากที่คนที่เหมาะสมกว่าเช่น ดร.อำนวย วีรวรรณ ได้ปฏิเสธข้อเสนอไป” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวต่อ

ในช่วงต้นปี 2526 จนถึงกลางปีเป็นช่วงที่ความขัดแย้งในการทำงานระหว่างทีมงานของบุญชูกับกลุ่มมหาดำรงค์กุล ทวีคูณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทางกลุ่มมหาดำรงค์กุลมองกลุ่มตึกดำว่าเป็นคนซึ่งทำงานล้มเหลวมาแล้ว และการมาอยู่ธนาคารนครหลวงไทย อาจจะมีการใช้ฐานของธนาคารนครหลวงไทยมาพยุงกิจการเครือตึกดำ “มันมีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องมองไปแบบนั้นเช่นยังไม่ทันที่จะเข้าเต็มตัว ก็มีเช็คตึกดำเข้ามาตัดบัญชี 2 ใบ ใบแรก 3 ล้านบาท ใบที่สอง 6 ล้านบาท โดยที่มีเงินในธนาคารไม่พอ และไม่มีการตกลงกับธนาคารไว้ก่อน เช็คใบแรกผ่านไปด้วยความเกรงใจคุณบุญชู แต่ใบที่สองเด้ง นี่ก็ทำให้พวกมหาดำรงค์กุลยิ่งไม่ไว้ใจหนักมากขึ้น” แหล่งข่าวในธนาคารนครหลวงไทยพูด

ความขัดแย้งของทั้ง 2 กลุ่มนี้รุนแรงถึงขนาดออกมาในหน้าหนังสือพิมพ์แทบจะทุกวัน

และแล้วก็มีใบปลิวออกมาโจมตีบุญชูอย่างสาหัสสากรรจ์ นอกเหนือจากใบปลิวที่โจมตีบุญชูแล้ว ยังนับว่าเป็นครั้งแรกในรัฐสภาเมืองไทยที่สมาชิกผู้แทนราษฎรคือ ปิยณัฐ วัชราภรณ์ ได้ตั้งกระทู้ถามถึงเรื่องกิจการในเครือตึกดำที่กำลังประสบภาวะล้มเหลว ส่วนใบปลิวโจมตีบุญชูนั้นเป็นใบปลิว 7 หน้ากระดาษที่ขุดถึงโคตรเหง้าของบุญชูอย่างละเอียดถี่ยิบ ชนิดที่เรียกว่าเผากันจนไม่เหลือซาก “ไหหลำเป็นคนเขียนแน่ๆ ใบปลิวนี้ เพราะมีแต่ไหหลำกับไหหลำเท่านั้นที่จะรู้ว่าต้นตระกูลของไหหลำอีกฝ่ายหนึ่งมีรากเหง้าอยู่ที่ไหน คุณก็คิดดูเอาเองก็แล้วกันว่าเป็นฝีมือใคร”

ก็นับว่าบุญชูมีความอดทนอย่างสูงที่ไม่โต้ตอบอะไร หากแต่ในบรรดาผู้ใกล้ชิดบุญชูมักจะพูดอยู่เสมอว่าการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุดในชีวิตของบุญชูคือ การตัดสินใจเข้าไปบริหารงานในธนาคารนครหลวงไทย

บังเอิญในกลุ่มนักธุรกิจที่บุญชูดึงเข้าไปร่วมซื้อหุ้นอยู่ด้วยมีคนชื่อ สุพจน์ เดชสกุลธร ซึ่งบุญชูเคยสัญญาว่าจะเสนอชื่อและหาทางให้เป็นกรรมการธนาคาร แต่ก็ทำให้ไม่ได้ ในที่สุดสุพจน์ถึงกับลุกขึ้นส่งภาษาดอกไม้ ซึ่งเผอิญเป็นดอกอุตพิดให้บุญชูในที่ประชุมผู้ถือหุ้น “ต้องยอมรับว่าท่านเป็นคนอดทนมาก ถ้าท่านถูกคนระดับอย่างนายสุพจน์ เดชสกุลธร ลุกขึ้นมาว่าท่านต่อหน้าคนจำนวนมากแล้ว ก็ยังทนได้ ต้องนับว่าคนคนนี้เป็นนักสู้จริงๆ” ผู้ใกล้ชิดบุญชูเล่าให้ฟัง

ไม่เพียงแต่สุพจน์เท่านั้นที่จะว่าบุญชู แม้แต่เด็กวัยลูกซึ่งอยู่ในธนาคารนครหลวงไทย และเผอิญเป็นลูกชายของผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของธนาคารนครหลวงไทย ที่ถือหุ้นใหญ่อยู่ก็ยังเที่ยวพูดดูถูกบุญชูว่าไม่มีน้ำยากับพนักงานทั่วๆ ไป “ไม่ใช่ว่าท่านไม่รู้ ท่านรู้ดี แต่จะให้ท่านทำอย่างไร มาให้ท่านนั่งด่าตอบหรือ ท่านไม่ใช่คนอย่างนั้น คนพวกนี้ลืมไปว่าสมัยหนึ่งต้องพึ่งบุญบารมีของท่าน แม้กระทั่งในเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ ในเรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่หน้าด้านขอให้ท่านขอให้ หรือเมื่อตัวเองจะถูกเล่นงานเรื่องภาษีอากรก็มานั่งเหงื่อแตกให้ท่านช่วย แต่มาวันนี้พอมันรู้ว่าท่านย่ำแย่ แม้แต่ระดับลูกมันก็ยังเที่ยวเอาท่านไปด่า” คนสนิทบุญชูเล่าให้ฟังอย่างเหลืออด

ในช่วงหลังของปี 2526 ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป พัฒนาเงินทุนมีลางสังหรณ์บอกให้รู้ว่า จะต้องล้มแน่ๆ ในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ บุญชูเองก็คงจะอ่านทุกอย่างออกหมด ก็เลยไม่เกี่ยวข้องไม่ว่าเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากการไปใช้สถานที่เท่านั้น อาจเป็นเพราะโดยเนื้อแท้แล้วบุญชูก็ไม่ได้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น แต่ถูกสุธีดึงเข้าไปและแอบอ้างใช้ชื่อ

เป็นปกติธรรมดาของชีวิตบุญชูที่ทุกปีจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ 1 ครั้ง และหมายกำหนดการเดินทางก็มักจะตกอยู่ในช่วงปลายปีประมาณเดือนตุลาคม “ก่อนท่านไปเมืองนอกท่านก็ยังพยายามช่วยจนวินาทีสุดท้าย โดยเจรจากับธนาคารกรุงเทพเข้ามาซื้อกิจการไป ซึ่งธนาคารกรุงเทพเองก็เพียงแต่นึกว่าพัฒนาเงินทุนมีแค่ปัญหาขาดสภาพคล่อง ประกอบกับธนาคารชาติก็คิดว่า ปัญหาพัฒนาเงินทุนคงจะพอแก้ได้ ท่านก็เลยเดินทางไปต่างประเทศทันที” แหล่งข่าวบุญชูคนเดิมพูดให้ฟัง

แต่ปัญหาของพัฒนาเงินทุน มันไม่ใช่ปัญหาของสภาพคล่อง แต่เป็นปัญหาของการขาดทุนอย่างย่อยยับ เพียงไม่ถึง 2 อาทิตย์ ธนาคารกรุงเทพก็ถอนตัววออก

เท่านั้นเอง เหมือนภูเขาไฟซึ่งคุกรุ่นมานานแล้ว ก็ระเบิดออกมา!

ข่าวการล้มของพัฒนาเงินทุน และเครือตึกดำถูกนำมารายงานแม้กระทั่งในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ที่เคยลงเฉพาะข่าวอาชญากรรม

เป็นธรรมดาที่ข่าวลือกต้องแพร่สะพัดตามออกมา ประกอบกับบุญชู โรจนเสถียร ไม่อยู่ในเมืองไทย ก็เลยเป็นอาหารปากของนักวิเคราะห์วิจารณ์ รวมทั้งคนที่จ้องจะคอยทำลายบุญชูอยู่แล้วที่จะแพร่กระจายข่าวว่า บุญชูไม่กลับมาเมืองไทยอีกแล้ว

เรียกได้ว่าในชีวิตของบุญชูไม่มีช่วงไหนที่ตกต่ำไปกว่าช่วงนั้นอีก!

"ความจริง การไปเมืองนอกคราวนั้นของท่านก็ไปนานกว่าปกติธรรมดา แต่ถ้าคุณเป็นท่าน คุณจะรีบกลับมาทำไม กลับมาช่วงตอนภูเขาไฟระเบิดมันแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ และมันก็ตอบคำถามอะไรไม่ได้เหมือนกัน เพราะฝุ่นมันตลบอยู่ สู้รอให้ฝุ่นสงบก่อน ให้รู้หัวรู้หางว่าอยู่ที่ไหนจะได้ตอบถูก” คนใกล้ชิดคนเดิมของบุญชูชี้แจง

ในที่สุดบุญชูก็กลับมาพร้อมกับคำแถลงที่ว่าตัวเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการเลยแม้แต่น้อย

แต่สำหรับคนภายนอกที่ไม่ได้เข้าไปสัมผัสภายใน ก็อาจจะไม่เชื่อเพราะนับตั้งแต่วันแรกที่สุธี นพคุณ ทำห้องทำงานให้บุญชู โรจนเสถียร นั่งอยู่ตรงกันข้ามห้องสุธี บนตึกกรุงเทพสหกลตลอดมาจนถึงวันนี้ พร้อมกับที่สุธียังเที่ยวไปประกาศว่าเป็นตัวแทนของบุญชู ก็เป็นการแสดงออกที่ทำให้คนภายนอกเชื่อว่าบุญชูเป็นเจ้าของกิจการของสุธี โดยให้สุธีออกหน้าออกตาแทน “มันเหมือนกรณีอาควิโนถูกยิงตายที่สนามบินที่กรุงมนิลา แล้วมาร์กอสพยายามปฏิเสธว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้อง ก็คงจะไม่มีใครเชื่อ” คนในวงการธุรกิจพูดให้ฟัง

นับว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งในกรณีของสุธี นพคุณ ที่บุญชูถูกมองว่าเอาตัวรอดอีก “มันเหมือนกับฝนตก แล้วทุกคนเปียกหมดมีคุณบุญชูเท่านั้นที่ไม่เปียกอยู่คนเดียว และนี่คือปัญหาใหญ่ที่สุดของคุณบุญชู” อดีตลูกน้องเก่าบุญชูพูดให้ฟัง

อย่างที่ “ผู้จัดการ” ได้พูดมาในตอนต้นเรื่องว่า บุญชูมีลักษณะของการชอบช่วยคน ถึงแม้จะไม่เคยใช้เงินตัวเองช่วย แต่จากการที่ใช้อำนาจบารมีช่วยเหลือผู้คน เลยทำให้ถูกมองไปว่าจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น

เหมือนกับว่าบรรดาศัตรูบุญชูจะไม่ยอมให้คนคนนี้มีความสงบและสันติสุขเลยแม้แต่นิดเดียว เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีใบปลิวหนา 15 หน้า ลงวันที่ 13 เมษายน ร่อนไปตามสถาบันการเงินต่างๆ อีกชุดหนึ่ง เนื้อหาในใบปลิวเมื่ออ่านดูแล้วก็คงจะเป็นพนักงานเก่าของเครือตึกดำที่ผิดหวังกับบุญชู และเอาเรื่องราวของบุญชูซึ่งเป็นเรื่องเก่าผสมกับเรื่องใหม่ที่บุญชูสั่งงานแล้วไม่ยอมรับผิดชอบ โยนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งเป็นอดีตพนักงานเครือตึกดำเป็นผู้รับผิด แม้แต่การใช้ภาษาในใบปลิวก็เป็นการแบ่งแยกวรรณะให้เห็นได้ชัดเช่นเรียกบุญชู โรจนเสถียร ในใบปลิวว่า “นายบุญูชู” และเรียกคนอื่นที่เกี่ยวข้องในนั้นซึ่งเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับบุญชูว่า “คุณ” เช่น “คุณชัยโรจน์” “คุณอนงค์” ฯลฯ

ใบปลิวฉบับนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นการตามล้างตามเช็ดที่คงจะไม่จบสิ้นกันง่ายๆ

64 ปีที่ผ่านมาของคนชื่อบุญชู โรจนเสถียร เป็น 64 ปีที่เกิดขึ้นกับคนน้อยมาก เพราะบุญชู โรจนเสถียร ไม่เพียงแต่เป็นผู้สร้างเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเท่านั้น ถ้ามองกันให้ลึกแล้วเขาเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่มีอะไรเลย จากชาติตระกูลที่มีเชื้อสายจีนใหม่ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจนชีวิตประสบความสำเร็จทัดเทียมกับคนในกลุ่มตระกูลเก่า หรือในกลุ่มศักดินา เจ้าขุนมูลนายทั่วๆ ไป โดยที่เขาก้าวขึ้นมาด้วยความสามารถของเขาเท่านั้น

แต่เมื่อบุญชูเริ่มกระโดดเข้ามาในวงการเมืองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นอกเหนือจากความทะเยอทะยานส่วนตัวที่ต้องการจะประสบความสำเร็จในวงราชการแล้ว การเข้าเล่นการเมืองของเขาเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นสัญญาณอันตรายที่มีต่อโครงสร้างของสังคมเก่าซึ่งกุมอำนาจการผูกขาดเอาไว้หลายขั้นตอน

แต่ความจริง 10 ปีที่ผ่านนั้น กลับเป็น 10 ปีที่มีความหมายที่สุดต่อชีวิต 64 ปีของเขา เพราะมันเป็น 10 ปีที่เคี่ยวกรำกัดกร่อนที่ให้ความหมายในชีวิตของเขาได้สมบูรณ์ที่สุด

ลาภ ยศ และสรรเสริญ เปรียบเสมือนลมที่พัดผ่านตัวเราไป ซึ่งมักจะพัดถูกตัวเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น แต่ความขมขื่น ศัตรูและการปองร้ายเปรียบเสมือนพายุฝน ที่เมื่อมาแล้วมักจะมาอยู่กับเรานานเกินไป

2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ชีวิตของบุญชู โรจนเสถียร เหมือนกับเหล็กที่ถูกเผาจนร้อน และถูกช่างตีเหล็กใช้ค้อนกระหน่ำตีแล้วตีอีก

บทพิสูจน์ของบุญชูก็เหมือนกับเหล็กชิ้นนี้ซึ่งถ้าเป็นเหล็กเนื้อดี ไม่ว่าจะถูกกระหน่ำตีกี่ครั้งก็ตาม เหล็กเนื้อดี ก็ยังคงเป็นเหล็กเนื้อดีที่ไม่แตกหัก

และนั่นก็หมายถึงว่าบุญชู โรจนเสถียร จะมีความอดทนต่อการถูกกระหน่ำได้นานเพียงใด?

และความอดทนนี้แหละ คือกระบี่เพลงสุดท้ายขอบุญชู



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.