เอเยนซีรื้อ"พิตชิงฟี"แก้ลำโดนขโมยไอเดีย


ผู้จัดการรายวัน(13 ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

สมาคมโฆษณาฯแก้เผ็ดเจ้าของสินค้าขโมยไอเดีย ดีเดย์เก็บค่าพิตชิงฟี ต้นปี 2547 จำนวน 50,000-100,000 บาท ต่อการ เสนองานแต่ละครั้ง หลังเอเยนซี่ยอมอ่อนข้อมานาน "ไลอ้อน" ชี้เปิดช่อง เอเยนซี่ระดับเล็กแหกคอกไม่เรียกค่าพิตชิงฟีหวังฮุบงานโฆษณา เจ้า ของสินค้าระบุข้อกำหนดยังไม่เคลียร์ เผยต้นทุนทำโฆษณาพุ่งแน่

ปัญหาระหว่างเจ้าของสินค้ากับเอเยนซี่เกี่ยวกับการเรียกเสนองานเพื่อรับงานโฆษณานั้น ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังมาตลอด โดย เฉพาะอย่างยิ่งทางฟากของเจ้าของสินค้าที่ไม่ต้องการจ่ายเงินค่าเสนองานของเอเยนซี่เพราะว่า เป็นเพียง การเสนอเท่านั้นยังไม่ได้รับไอเดียนั้น ขณะที่เอเยนซี่ก็อ้างว่า เป็นการ ขายไอเดียซึ่งต้องมีต้นทุนในการคิด ออกมา แม้ว่าเจ้าของสินค้ายังไม่รับงานนั้นก็ตาม สุดท้ายจึงเป็นที่มาของการกล่าวหาเจ้าของสินค้าว่า มักจะแอบเอาไอเดียงานของ ครีเอทีฟไปประยุกต์ใช้ตอนหลัง

นายปารเมศร์ รัชไชยบุญ นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย เปิดเผย"ผู้จัดการรายวัน"ว่า ในช่วง 1-2 ปีก่อน ผู้ประกอบการเอเยนซี่ในประเทศไทยได้พิจารณานำแนวคิดการเรียก เก็บค่าใช้จ่ายการนำเสนองานโฆษณาให้ลูกค้า หรือ Pitching Fee เพื่อแก้ไขปัญหาลูกค้าเรียกเอเยนซี่แข่งนำเสนอผลงานโฆษณา หลายรายโดยไม่จำเป็น โดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการดูแนวคิด ของแต่ละเอเยนซี่ ในขณะที่เอเยนซี่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

ทั้งนี้ จากการประชุมเอเยนซี่ในประเทศไทยครั้งล่าสุด ได้หยิบ ยกประเด็นการเรียกเก็บค่าพิตชิงฟี กับลูกค้ามาเจรจากันอีกครั้ง ซึ่งทุก เอเยนซี่เสนอให้สมาคมฯดำเนิน การเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดย ที่ประชุมมีมติออกมาว่า สมควรที่จะนำระบบพิตชิงฟีกลับมาใช้อย่าง เป็นรูปธรรมอีกครั้ง และจะเรียกเก็บค่าพิตชิงฟีในเดือนม.ค.2547 แน่นอนโดยจะเรียกเก็บเป็น 2 ประเภท คือ เอเยนซี่เล็กจะเรียกเก็บครั้งละ 50,000 บาท รายใหญ่ครั้งละ 1 แสนบาท โดยเจ้าของสินค้าจะต้องจ่ายพิตชิงฟี

นายชัยประนิน วิสุทธิผล กรรมการผู้จัดการ บริษัททีบีดับบลิวเอ ไทยแลนด์ จำกัด เปิดเผยว่า แนวคิดการเรียกเก็บค่าพิตชิง จะทำให้ลูกค้าไตร่ ตรองก่อนว่าจะเรียกเอเยนซี่เข้ามาเสนองานกี่ราย ตามความเหมาะของงบประมาณสินค้าที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมาพบว่ามักจะเรียกเอเยนซี่เข้ามาพิตช์งานจำนวนมาก โดยจำนวนที่มากเกินไป คือ 5-8 ราย ทั้งที่ควรจะเรียกเข้ามาพิตช์ 2-3 รายเท่านั้น การนำเสนองานแต่ละครั้งเอเยนซี่จะเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมงาน 1 แสนบาทขึ้นปี บางงานที่มีขนาดใหญ่อาจจะถึง 4-5 แสนบาท

นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมลูกค้าที่เรียกพิตช์งาน และเลือกเอเยนซี่ที่ได้รับงานแล้วไม่ใช้จ่ายเงินตามที่กำหนดไว้ ซึ่งพฤติกรรมลักษณะนี้ คงต้องการดูแนวคิดของเอเยนซี่ต่างๆ ที่เข้ามาแข่งขัน แม้จะเลือกเอเยนซี่ที่จะมีการแข่งขัน แต่ ไม่ได้ใช้งานตามแผนงานที่เสนอไว้ เพื่อต้องการ เสียค่าจ้างให้เอเยนซี่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บพิตชิงฟี จะเป็น การกำหนดขอบข่ายการทำงานของลูกค้าและ เอเยนซี่ระดับหนึ่ง โดยลูกค้ารายเล็กก็อาจเรียกเอเยนซี่ที่ลงทะเบียนว่าเป็นเอเยนซี่ขนาดเล็ก เพื่อเสียพิตชิงฟีในราคาที่ไม่แพงมาก ซึ่งจะทำ ให้ลูกค้าและเอเยนซี่ทุกระดับสามารถอยู่รอดในตลาดได้ ชี้จ่ายพิตชิงยังคลุมเครือ

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก กล่าวว่า ในฐานะเจ้าของสินค้าและบริการอาจจะต้องเจอปัญหาของการเรียกเก็บค่าพิตชิงฟี เนื่องจากว่า จะทำให้ต้นทุนบานปลายและเพิ่มขึ้น เมื่อต้องเรียกเอเยนซี่มาเสนองานนั้น ในแต่ละครั้ง ซึ่งบางครั้ง อาจจะไม่ได้ไอเดียหรือการนำเสนองาน ที่ถูกใจจากเอเยนซี่ได้ ซึ่งทำให้เสียเงินเปล่า เพราะตรงนี้ไม่มีอะไรมาเป็นมาตรฐานบังคับว่า ทุกครั้งที่เอเยนซี่เสนองานหรือคอนเซ็ปต์เข้ามาจะใช้ได้หรือตรงกับความต้องการของเจ้าของสินค้าทุกครั้งไป

ขณะเดียวกัน ทางสมาคมฯจะต้องมีมาตรการหรือข้อบังคับอะไรก็ตามที่ชัดเจนในการ ควบคุมดูแลสมาชิกของสมาคมฯด้วย ในแง่ของการนำเสนองานที่จะเข้าพิตชิงให้กับลูกค้า และในแง่ของค่าใช้จ่ายที่มีการแยกออกเป็น 2 ประเด็นคือ รายเล็ก 50,000 บาท และรายใหญ่ 100,000 บาท ซึ่งเมื่อเสนอครั้งแรกเจ้าของสินค้า ต้องจ่ายให้เอเยนซี่ทุกราย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อเอเยนซี่ที่ผ่านการเสนองานเข้ารอบสองเมื่อมาเสนองานอีกแล้วทางเจ้าของสินค้าจะต้องจ่ายค่าพิตชิงฟีให้อีกหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน

"เมื่อมีการเรียกเก็บค่าเสนองาน แน่นอนว่าทำให้เจ้าของสินค้ามีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ตรงนี้อาจจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคในทางอ้อมก็ได้ เมื่อเจ้าของสินค้าและบริการจะผลักภาระมาสู่ผู้บริโภคด้วยการเพิ่มราคาสินค้า"

เปิดช่องให้บริษัทเอเยนซี่ใหม่

นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า กรณีสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย จะรื้อระบบโดยการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการพิตช์งานกับกลุ่มผู้ประกอบการนั้น สำหรับบริษัทไลอ้อนในฐานะที่ดำเนินธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค มีความคิดเห็นว่า หากเรียก เก็บค่าพิตช์จริง เชื่อว่าจะเกิดการแบ่งแยกกันอย่างเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ บริษัทเอเยนซี่รายเก่า หรือบริษัทที่มีชื่อเสียง และบริษัทเอเยนซี่รายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจ

ในกรณีดังกล่าวนี้ อาจเป็นการเปิดช่องว่าง ให้บริษัทเอเยนซี่รายใหม่ที่ไม่เรียกเก็บค่าพิตช์งานกับกลุ่มผู้ประกอบการมีโอกาสได้รับงานนั้นๆ มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการลดช่องว่างทางการแข่งขันระหว่างเอเยนซี่รายใหม่กับบริษัทเอเยนซี่รายใหญ่ที่มีชื่อเสียง

"หากบริษัทเอเยนซี่เรียกเก็บค่าพิทช์งานจริง ในแง่ของความรู้สึกคงจะแย่เหมือนกัน เนื่อง จากบริษัทจะต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งในส่วนหนึ่งก็เห็นใจที่ว่ากลุ่มบริษัทเอเยนซี่จะต้องพัฒนาสตอรี่บอร์ด หรือพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หากเก็บค่าพิตช์งานจริงเราก็คงจะต้องยอมจ่าย"

แรงเยอร์ชี้ค่าพิตช์งานสูงเกิน

นางขวัญตา เวศย์วรุตม์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แชมป์ไทยเครื่องดื่ม จำกัด เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า หากบริษัทเอเยนซี่เรียก เก็บค่าพิตช์งาน ในกรณีที่เป็นบริษัทเอเยนซี่รายเล็กจะเรียกเก็บ 50,000 บาทต่องาน แต่หากเป็นบริษัทเอเยนซี่รายใหญ่จะเรียกเก็บ 100,000 บาทต่องาน ถือว่าเม็ดเงินจำนวน 100,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่จะต้องจ่ายให้ ซึ่งหากบริษัทจะเปลี่ยนบริษัท เอเยนซี่คงจะต้องตรวจสอบก่อนว่า บริษัท เอเยนซี่รายใดบ้างที่เข้าร่วมกับทางสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น

"ปกติการเรียกพิตช์งานหนึ่งครั้ง จะเรียกบริษัทเอเยนซี่ประมาณ 4 ราย ซึ่งหากบริษัทจะเสียค่าใช้จ่ายให้รายละ 100,000 บาท รวมทั้งหมด 400,000 บาท ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก กรณี ดังกล่าวอาจทำให้บริษัทเอเยนซี่ที่ไม่ได้เข้าร่วมกับสมาคมฯได้รับผลประโยชน์และมีโอกาสได้งานมากขึ้น อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการพิตช์งาน ก็เป็นการทำงานในขั้นหนึ่ง และเป็นรูปเป็นร่างเกือบ 60% แล้ว แต่ที่เหลือ 40% จะมีปัญหาในเรื่องของการวางกลยุทธ์ว่าจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายและสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน"

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย เคยนำระบบดังกล่าวมาใช้แล้ว แต่ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีหลายบริษัทไม่เข้าร่วมด้วย ซึ่งการรื้อระบบใหม่ในครั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าทางสมาคมจะสามารถรวบรวมบริษัทเอเยนซี่ได้มากน้อยแค่ไหน ในขณะที่บริษัทที่จะเข้าร่วมนั้น ก็จะต้องมีความมั่นใจในความสามารถ ในการทำงานของตนเองด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.