คลังหารือกฤษฎีกา14ต.ค.นี้ถกพ.ร.ก.ควบกิจการ"BT-IFCT"


ผู้จัดการรายวัน(13 ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

กระทรวงการคลัง เตรียมนำร่างกฎหมายควบรวมกิจการไทยธนาคารและไอเอฟซีทีฉบับใหม่หารือกับกฤษฎีกาในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ก่อนจะเสนอให้ครม. พิจารณาอนุมัติต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดการสะดุดในแง่ของกฎหมาย ระบุประเด็นหลักเป็น การเปิดทางให้ไอเอฟซีทีโอนสินทรัพย์ไปยังธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ พร้อมควบรวมกิจการกับไทยธนาคารได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย ถึงความคืบหน้าในการควบรวมกิจการของธนาคารไทยธนาคาร (BT) และบรรษัทเงินทุน อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) ว่า ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ กระทรวงการคลังจะนำร่างพระราชกำหนดฉบับใหม่ที่จัดทำขึ้นเพื่อรองรับการควบรวมกิจการของไทยธนาคารกับไอเอฟซีที เข้าหารือหลักการด้านกฎหมายร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะมีการนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ทั้งนี้เพื่อให้ขั้นตอนในการดำเนินการทางด้านกฎหมายต่างๆ ไม่เกิดการสะดุด

"หลักการของพระราชกำหนดฉบับใหม่ จะเป็นการเพิ่มวัตถุประสงค์ของไอเอฟซีทีให้สามารถโอนสินทรัพย์เพื่อควบรวมกิจการได้ และให้ใช้กฎหมายมหาชนมาบังคับใช้กับ ไอเอฟซีทีเช่นเดียวกับบริษัทมหาชนทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการหารือในหลักการกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเบื้องต้นแล้ว แต่จะต้องมีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง เพื่อฟังความเห็นจาก ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และไอเอฟซีทีด้วย" แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ ความเห็นว่า กฎหมายเดิมที่มีอยู่ไม่เปิดช่องทาง ให้มีการควบรวมกิจการได้ เพราะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งไอเอฟซีทีไม่อนุญาตให้ดำเนินการโอนสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปควบรวมกิจการกับธนาคารพาณิชย์ใหม่ได้ จึงต้องมีการร่างพระราชกำหนดฉบับใหม่ขึ้น เพื่อให้อำนาจไอเอฟซีทีโอนสินทรัพย์เพื่อไปควบรวมกิจการได้ หลังจากนั้น จะเปิดช่องให้สามารถดำเนินการควบกิจการเช่นเดียวกับบริษัทมหาชนทั่วไป เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อยตามหลักกฎหมายมหาชน

แหล่งข่าว กล่าวว่า รูปแบบของพระราชกำหนดใหม่ดังกล่าวจะไม่มีความยุ่งยากมากนัก มีมาตราเพียงไม่กี่มาตรา และจะเปิดช่องให้คล้องกับกฎหมายฉบับอื่นที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้การพิจารณาข้อกฎหมายไม่มีความยุ่งยาก และจะทำให้กระบวนการออกกฎหมายสามารถ ดำเนินการได้ทันเวลา และไม่ทำให้การควบรวม กิจการของสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่งไม่ชะลอออกไป โดยจะยังคงเสร็จสิ้นทันปี 2546 ตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับวัตถุประสงค์ของการควบรวมกิจการครั้งนี้ รัฐบาลต้องการเสริมฐานะของสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง ให้มีความเข้มแข็งเพิ่ม มากขึ้นและสามารถแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ ซึ่งจากการควบรวมจะทำให้เกิดธนาคารพาณิชย์ใหม่ขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของระบบธนาคารพาณิชย์

โดยการควบรวมดังกล่าว จะเป็นลักษณะ A+B เป็น C ที่จะออกมาเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ และไม่มีใครเป็นแกนนำในการควบรวม

หลังจากการควบรวมกิจการแล้ว ธนาคาร ใหม่นี้จะเป็นธนาคารเอกชน เพราะจากกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือหุ้นในไทยธนาคาร 49% และกระทรวงการคลังถือหุ้นของไอเอฟซีที 1 ใน 3 ทำให้เมื่อควบรวมกิจการในลักษณะ 50 ต่อ 50 ทำให้หุ้นที่รัฐ ถืออยู่ต่ำกว่า 50%

ทั้งนี้ ไทยธนาคารมีสินทรัพย์ประมาณ 247,454 ล้านบาท มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมตราฐานบีไอเอส 20.23% แบ่งเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ประมาณ 19.60% เงินกองทุน ขั้นที่ 2 0.63% พนักงานทั้งหมด 2,257 คน ในขณะที่สาขามีเพียง 85 สาขาทั่วประเทศ


กลับสู่หน้าหลัก


Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.