คลัง-ICTสางโทรคม ทวงคืน1.3แสนล้าน!!


ASTVผู้จัดการรายวัน(14 มิถุนายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

จับมือทวงผลประโยชน์ชาติ-สร้างความเป็นธรรม “กรณ์" ยัน "จุติ” ร่วมสางปัญหาสัมปทานโทรคมนาคม เล็งฟ้องเรียกค่าเสียหาย 3 ค่ายยักษ์มือถือ เอไอเอส-ดีแทค-ทรูมูฟ แก้ไขสัญญาสัมปทานยุครัฐบาลนช.แม้ว ทำรัฐสูญรายได้กว่า 1.3 แสนล้านบาท

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แล้วได้มีการหารือในเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาการแก้ไขสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคมกับบริษัทเอกชนในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำให้รัฐบาลสูญรายได้ไปเป็นจำนวนมาก โดยในสัปดาห์นี้จะมีการหารือในแนวทางการดำเนินการแก้ปัญหานี้ให้ชัดเจนก่อนมีการเปิดประมูลใบอนุญาตระบบ 3G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในช่วงเดือนกันยายนนี้

“มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจะต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนควรจะไปเริ่มต้นตามอัตราที่กฎหมายกำหนดที่เท่าเทียมกันทุกค่ายมือถือ ซึ่งจากนี้ไปรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเดียวกันจะทำให้การทำงานร่วมกันราบรื่นขึ้นเพื่อให้รัฐบาลสามารถสะสางปัญหาที่หมักหมมอย่างยาวนานให้ลุล่วงไปได้ และคงไม่เพิกเฉยเหมือนเช่นที่ผ่านมาอีกแล้ว” นายกรณ์กล่าว

นายกุลิศ สมบัติศิริ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า สคร.อยู่ระหว่างรอกระทรวงต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะในส่วนการกำกับดูแลด้านนโยบายนั้นพร้อมที่จะดำเนินการตามที่นายกรณ์มอบหมายให้อยู่แล้วเนื่องจากต้องการดึงผลประโยชน์ของประเทศที่สูญเสียไปกลับคืนมา

“จริงๆ แล้วกระทรวงการคลังเป็นแค่ตัวประกอบและแนะนำสิ่งที่ควรทำให้ถูกต้องเท่านั้นเจ้าของเรื่องนี้จริงๆ คือกระทรวงไอซีที แต่หลักการที่เรายึดคือต้องทำทุกอย่างให้มีความเท่าเทียมกันสมบัติที่ควรกลับมาเป็นของรัฐวิสาหกิจทั้งทีโอทีและกสท.ก็ควรต้องกลับคืนมาโดยการแปรสัญญาสัมปทานให้ถูกต้อง ซึ่งหลังจากที่ได้รัฐมนตรีที่มาจากพรรคเดียวกันแล้วงานคงเดินหน้าเร็วกว่าที่ผ่านมา” นายกุลิศกล่าว

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดจากการแก้ไขสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคมที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ทำร่วมกับเอกชน เนื่องจากระยะเวลาตั้งแต่ช่วงปี 2540 เป็นต้นมาที่มีการแก้สัญญาสัมปทานหลายครั้ง ซ้ำซ้อน และไม่ทำตามขั้นตอนทำให้รัฐเสียหายรวมถึง 1.3 แสนล้านบาท

โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นสัญญาสัมปทานของ บริษัท บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งได้รับสัมปทานจากทีโอที แก้ไขสัญญากรณีรายได้จาก การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจ่ายก่อนหรือบัตรเติมเงิน(พรีเพด) และแก้ไขสัญญาระบบ เหมาจ่ายรายเดือนตั้งแต่ปี 2549 - 2553 ที่จะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้จำนวน 30% กลับแก้ไขให้ เหลือเพียง 25% เท่านั้น

ขณะเดียวกันยังได้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานในช่วงปี 2554 – 2558 ซึ่งเป็นปีที่หมดอายุ สัญญาสัมปทานจากเดิมที่กำหนดให้จ่ายส่วนแบ่งรายได้จำนวน 35% ก็แก้ไขให้จ่ายเพียง 25% เช่นกัน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้รวมทั้งสิ้น 8.7 หมื่นล้านบาท

ในส่วนของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ก็มีการแก้ไข สัญญาสัมปทานที่ทำกับบมจ. กสท สร้างความเสียหายแก่รัฐกว่า 2 หมื่นล้านบาท และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ได้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ทำกับบมจ. กสท รัฐเสียรายได้ 7.9 พันล้านบาท ดังนั้นเพื่อปกป้องความเสียหายของรัฐจะเสนอให้ครม.พิจารณาเรียกร้องค่าเสียหายกลับคืน

“ที่ผ่านมามีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือ ถือของบริษัทเอกชนที่ทำกับทีโอทีและกสท กฤษฎีกาก็ระบุชัดว่าการแก้ไขไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วย กฎหมาย ไม่ผ่านกระบวนการกฎหมายร่วมทุนรัฐและเอกชน แต่ก็ยังแก้ไขบ่อยครั้งและรัฐสูญเสีย รายได้เป็นจำนวนมากถึงแสนกว่าล้านบาท มาคราวนี้จึงต้องเรียกร้องกลับคืน และเอกชนที่ กระทำกับรัฐก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการเมืองทำให้ที่ผ่านมาไม่มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้” แหล่ง ข่าวกล่าว

สำหรับอายุสัมปทานระหว่างทีโอทีกับเอไอเอสจะสิ้นสุดปี 2558 สัญญาสัมปทานของ กสท กับ ดีแทค จะสิ้นสุดปี 2560 และสัญญาสัมปทานระหว่าง กสท กับ ทรูมูฟ สิ้นสุดปี 2556


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.