ในปัจจุบันการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลหรือกุ้งกุลาดำได้ชื่อว่าเป็นตัวการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงยิ่งกว่าอาชีพอื่นใด
อาชีพนี้ไม่ใช่อาชีพใหม่ อาจนับย้อนหลังไปได้นับหลายสิบปี แต่เพิ่งจะมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็วเมื่อประสบภาวะล่มสลาย
ก่อนปี 2531 ประเทศไต้หวันคือผู้ผลิตกุ้งกุลาดำรายใหญ่ที่สุดของโลก ผลผลิตที่ทำได้ทั้งหมดในปี
2530 มีมากถึง 100,000 ตัน โดยแนวโน้มการเติบโตก็ยังคงไปได้ดี ในวงการประมาณกันว่าน่าจะได้ผลผลิตเพิ่มถึง
15 % ในปีต่อมา ทว่าเมื่อสิ้นปี 2531 รวมผลผลิตตลอดทั้งปีปรากฏว่าไต้หวันเลี้ยงกุ้งได้เพียง
20,000 ตันเท่านั้น
ผลผลิตที่ตกพรวดลงจาก 100,000 ตันในปี 2530 เหลือเพียง 20,000 ตันเมื่อถึงปี
2531 เป็นสิ่งที่ไม่อาจนึกถึงเช่นเดียวกับที่ไม่เคยมีใครคาดหมายมาก่อนว่าปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมจะสามารถก่อความเสียหายได้ถึงเพียงนี้
จากความรุ่งโรจน์สู่ความหายนะที่เกิดขึ้นในเวลาเพียงพริบตาเดียวนั้นนับเป็นบทเรียนที่ไม่อาจมองข้าม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเรียนแบบเดียวกันนี้ก็ได้เกิดขึ้นภายในประเทศมาแล้ว
โดยทั่วไปผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดเนื่องมาจากการทำนากุ้งมีอยู่
2 ลักษณะด้วยกัน หนึ่งคือปัญหามลภาวะแหล่งน้ำ และสองคือการบุกรุกทำลายป่าชายเลน
เมื่อครั้งที่กุ้งกุลาดำยังราคาไม่ดีเนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีไม่สูงมากนัก
ยุคนั้นนอกจากการเพาะเลี้ยงกุ้งจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายแล้ว รูปแบบการเลี้ยงก็ยังคงมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติอีกด้วย
สิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องทำก็คือ เพียงก่อค้นดินกั้นน้ำทะเลไว้ในพื้นที่ของตนเองที่อยู่บริเวณชายฝั่ง
จากนั้นก็รอเวลาเพื่อให้กุ้งตัวอ่อนจากธรรมชาติที่อยู่อุดมสมบูรณ์ยิ่ง ไม่จำเป็นต้องมีการปล่อยลูกกุ้ง
ไม่ต้องให้อาหาร ไม่ต้องฟูมฟักดูแล บ่อเลี้ยงธรรมชาติจะมีขนาดใหญ่ และใช้ที่ดินมาก
เนื่องจากโดยสภาพธรรมชาติของป่าชายเลนนั้นเป็นแหล่งพักพิงอาศัยของตัวอ่อน
มีความสมบูรณ์และความเหมาะสมพร้อมูล
นั่นคือภาพคร่าว ๆ ของการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบธรรมชาติแบบที่ผลาญป่าชายเลนไปมากที่สุด
นั่นคือภาพคร่าว ๆ ของการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบธรรมชาติแบบที่ผลาญป่าชายเลนไปมากที่สุด
จุดอ่อนอีกประการหนึ่งก็คือผลผลิตจากการเลี้ยงรูปแบบนี้ค่อนข้างจะต่ำ เฉลี่ยประมาณไร่ละ
50 กิโลกรัมเท่านั้น แต่รูปแบบธรรมชาติก็ยังมิได้ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะแหล่งน้ำ
จนเมื่อราคากุ้งเกิดพุ่งสูงขึ้นมา ประกอบกับพื้นที่เพาะเลี้ยงอันเป็นป่าชายเลนเดิมที่มีความอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มถดถอยคุณภาพลงไป
ป่าชายเลนหายากขึ้น การเลี้ยงกุ้งก็ได้มีการปรับตัวพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
รูปแบบการเลี้ยงแบบพัฒนาเกิดจากการริเริ่มของบริษัทธุรกิจเอกชนด้วยการทำฟาร์มขนาดใหญ่
เริ่มต้นปรับพื้นที่ขุดเป็นบ่อ สูบเอาน้ำเค็มเข้าไปกักไว้ จากนั้นปล่อยลูกกุ้งลงไปเลี้ยงดูโดยให้อาหาร
จัดสภาพแวดล้อม และคอยดูแลในเรื่องต่าง ๆ
กระบวนการเลี้ยงแบบพัฒนาที่มีการปล่อยกุ้งอย่างหนาแน่นนั้นต้องถ่ายน้ำบ่อยครั้งเพื่อให้น้ำในบ่อเลี้ยงมีสภาพอันเหมาะสมทั้งในเรื่องของความเค็ม
ความสะอาดและปริมาณธาตุอาหาร โดยน้ำทิ้งนั้นก็จะอุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารตลอดจนมีสิ่งปฏิกูลหรือยาตกค้างปะปนอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในทางหลักวิชาการและในสภาพความเป็นจริง การเลี้ยงแบบพัฒนาไม่ได้ต้องพึ่งพิงพันธุ์หรืออาหารจากธรรมชาติจึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ที่ป่าชายเลนเหมือนกับการเลี้ยงแบบธรรมชาติ
สถานที่ที่ใช้ขอเพียงไม่ห่างไกลจากทะเลเพื่อสามารถนำน้ำเค็มเข้าบ่อได้ และไม่ใช่ที่เป็นดินทรายก็เพียงพอแล้ว
ถ้าใช้ป่าชายเลนที่มีลักษณะดินเป็นเลนจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าด้วยซ้ำไป
โดยทั่วไปจะนิยมขุดบ่อกันในที่นาข้าวเก่ามากกว่าเพราะถือเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์
ในขณะนี้ประเทศไทยคือผู้ส่งออกกุ้งกุลาดำรายใหญ่ที่สุดของโลก ปริมาณผลผลิตทั้งหมดที่ทำได้ในปี
2534 นั้นมากกว่า 150,000 ตัน เป็นที่มาของรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยที่แหล่งเพาะเลี้ยงใหญ่ที่สุดในขณะนี้ก็คือ
แนวชายฝั่งตะวันออกหรือฝั่งอ่าวไทยของภาคใต้ ที่นี่เพิ่งมีการขยายตัวไม่นานนัก
ถือว่าเป็นแผ่นดินผืนสุดท้ายที่อาชีพการเลี้ยงกุ้งได้รุ่งเรืองขึ้นมา หลังจากแผ่นดินผืนอื่นที่รุ่งเรืองมาก่อนได้ตกต่ำลงไปแล้ว
ภาคกลางแถบสามสมุทรคือพื้นที่แห่งแรกที่รุ่งเรืองสูงสุดมาก่อน เคยผลิตกุ้งกุลาดำออกสู่ท้องตลาดได้มากถึงเกือบ
50,000 ตันในแต่ละปี แต่แล้วก็ต้องปิดร้างลงไปเนื่องจากปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นกับแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นย่อมส่งผลกระทบย้อนกลับไปถึงการเลี้ยงกุ้งด้วย
โดยที่กุ้งกุลาดำก็เป็นสัตว์ที่มีความเปราะบางอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมมาก หากจัดสภาพได้ไม่เหมาะสมหรือมีปัญหาด้านคุณภาพของน้ำ
ผลผลิตกุ้งก็จะตกต่ำลง
ต่อจากภาคกลางก็คือภาคตะวันออก ที่นั่นเคยทำผลผลิตได้มากกว่าแถบสามสมุทรเสียอีก
ทว่าบทจบนั้นก็ซ้ำรอย
ด้วยบทเรียนมากบทเหล่านี้เมื่อมาถึงแผ่นดินผืนสุดท้ายคือชายฝั่งด้ามขวานที่เหลืออยู่
ความตื่นตัวและการพยายามที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมจึงมีมากขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกำลังได้รับการบอกกล่าวให้ตระหนักต่อการรักษาความยืนยาวของอาชีพมากกว่าคำนึงถึงผลกำไรฉาบฉวย
การรณรงค์ให้หยุดฉีดเลนให้มีการจัดการฟาร์มอย่างมีระบบ ให้ปล่อยกุ้งในอัตราที่พาเหมาะจัดระบบน้ำเข้า
- น้ำออก ทั้งหมดนี้คือรูปธรรมที่พบเห็นได้ในขณะนี้
แม้จะยังมีปัญหาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติโดยเฉพาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนสำหรับจัดทำระบบ
การขาดความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ถูกต้อง แต่ปัญหามลภาวะทางน้ำก็ยังมีทางออก
มีแววให้หวังว่าจะดีขึ้น ในขณะที่เรื่องการสูญเสียป่าชายเลนยังคงอยู่ในความมืดมน
ไม่มีการตื่นตัว
ข้อมูลจากการสำรวจการกองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ระบุว่า
การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งได้กลายเป็นสาเหตุหลักของการทำลายพื้นที่ชายเลนตั้งแต่ปี
2522 เป็นต้นมา ประมาณ 65 % ของป่าชายเลนที่ถูกทำลายนั้นถูกทำลายโดยการเพาะเลี้ยงกุ้ง
จริงอยู่ที่ว่า การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้ง ณ วันนี้ได้ลดความรุนแรงลงมาก
แล้วด้วยสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลี้ยงมาเป็นแบบพัฒนา และการขยายตัวของอาชีพนี้ได้ลดลงเนื่องจากความจูงใจด้านผลตอบแทนไม่มากเท่าที่ผ่านมา
ราคากุ้งถูกลงมาก แต่ป่าชายเลนที่หายไปแล้วก็คือความสูญเสียของสมบัติอันล้ำไม่อาจจะละเลย
ซ้ำการสูญเสียนั้นก็ยังได้ก่อผลเสียหายอื่นตามมาอีก และการทำนากุ้งย่อมไม่อาจจะปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนี้
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ซีพีได้เปิดศูนย์บริการการเลี้ยงกุ้งแห่งที่
14 ขึ้นมาที่จังหวัดตรัง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการ
และเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้กับเกษตรกร ปรากฏการณ์เช่นนี้บอกเล่าได้ดีว่า
กุ้งกุลาดำกำลังจะแผ่ขยายยึดครองชายฝั่งอันดามันแล้ว
ที่นั่นเป็นเขตที่ป่าชายเลนผืนสำคัญผืนท้าย ๆ อันหนึ่งของประเทศซึ่งยังมีหลงเหลืออยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ที่สุด
ว่ากันว่าเป็นแหล่งที่ดีที่สุดสำหรับการเลี้ยงกุ้งด้วย
สำหรับความต้องการของตลาดโลกที่จะบริโภคกุ้งตอนนี้มีอัตราการเพิ่มประมาณปีละ
3-5 %
ตราบเท่าที่ตลาดยังเปิดอยู่เช่นนี้ รายได้นับหมื่นล้านคงไม่ใช่สิ่งที่ควรจะปล่อยให้ต้องหลุดลอยไปด้วยการหยุดขยายพื้นที่
แต่ป่าชายเลนในประเทศไทยก็คงจะไม่ถูกปล่อยให้กลายเป็นเพียงตำนานเท่านั้นเช่นกัน