ในช่วงเดือนธันวาคมมีข่าวคราวที่น่าจับตามองเกี่ยวกับการประมูลสื่อวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์
5 สถานีที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการอย่างยิ่ง ด้วยการพลิกผันราคาประมูลของบริษัทเอกชนที่พยายามเสนอผลประโยชน์ให้กับรัฐอย่างเต็มที่
ซึ่งทางกรมประชาสัมพันธ์ก็ไม่ได้คาดหมายว่าจะได้รับผลประโยชน์เกินความคาดหมายถึง
8 เท่าตัว
สถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ทั้ง 5 สถานี คือ 88 MHZ, 93.5 MHZ, 95.5
MHZ, 97 MHZ และ 105 MHZ ซึ่งแต่เดิมบริษัทมีเดีย พลัส และบริษัทรายย่อยอื่น
ๆ เช่าสถานีจัดรายการอยู่นั้น
ขณะนี้ได้มีเอกชนรายใหม่เข้ามาร่วมแสดงความสนใจ เพื่อช่วงชิงสิทธิการเช่าสถานีของกรมประชาสัมพันธ์ที่นับได้ว่าเป็นสถานีที่มีเรทติ้งสูงขณะเดียวกันนั้น
มีอยู่หลายบริษัท เช่น ยูแอนด์ไอ สตูดิโอ 107 เรดิแอด ทีกรุ๊ป มีเดีย พลัส
เจ้าเก่า แกรมมี่ และมาสเตอร์แพลน เป็นต้น
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดลัทธิเอาอย่าง เพราะนับจากนี้ต่อไปเอกชนรายใดจะเข้าไปจัดรายการในสถานีวิทยุที่เป็นของรัฐจะใช้สายสัมพันธ์ดั้งเดิมหรือความแน่นแฟ้นไม่ได้อีกแล้ว
เงินเท่านั้นที่จะมีความหมาย การประมูลจะทำให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์มหาศาล
ใครเงินถึง..ใจถึงจะประสบความสำเร็จในที่สุด
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับงานประมูลในครั้งนี้ของกรมประชาสัมพันธ์ไม่ได้อยู่ตรงที่บริษัทใดจะได้เข้าไปจัดรายการในสถานีต่าง
ๆ ทั้ง 5 สถานีที่เปิดซองประมูล แต่ความน่าสนใจอยู่ที่การแข่งขันของเอกชนรายต่าง
ๆ มีความต้องการสูง จึงมีผลทำให้ราคาซองประมูลพุ่งสูงขึ้นอย่างมากมายถึง
8 เท่าตัวเช่นนี้
ความสนใจของบริษัทเหล่านี้ได้เข้ายื่นซองประกวดราคาการประมูลทำให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือด
ซึ่งมีผลทำให้ผลประโยชน์เสนอสู่รัฐเป็นค่าเช่าสถานีพุ่งขึ้นจาก 41 ล้านบาท
ต่อ 2 ปี ตามคาดหวังกลายเป็น 328 ล้านบาทต่อ 2 ปี เกินความคาดหวังอย่างมากมาย
ซึ่งคาดกันว่า ยูแอนด์ไอ เรดิแอด มีสิทะลอยลำได้เช่าสถานีของกรมประชาสัมพันธ์พร้อมๆ
กับมาสเตรอ์แพลนในขณะที่มีเดียพลัสซึ่งเป็นผู้บุกเบิกรายการทางสถานีดัง ๆ
เช่น 88 MHZ, 95.5 MHZ และ 105 MHZ มีอันต้องพลาดหวังไปอย่างคาดไม่ถึงซึ่ง
วนิดา ทักษิณาภินันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทมีเดียพลัสถึงกับส่ายหน้าอย่างคาดไม่ถึงและกล่าวว่า
เป็นการประมูลที่ดุเดือดมากอย่างไรก็ตามเธอก็ยังหวังว่า เพราะฝีมือที่ผ่านมาในอดีตจากการเป็นผู้บุกเบิกให้สถานีดังมากขนาดนี้จะทำให้มีเดียพลัสยังคงอยู่ในสายตากรรมการบ้าง
คำถามที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจคือในที่สุดเอกชนเหล่านั้นจะจัดการอย่างไรกับสถานีที่ได้มาในราคาสูงกว่าปกติเช่นนี้
?
ประการแรก เมื่อผลประโยชน์ที่เสนอให้รัฐมีราคาสูง ผลตอบแทนที่เอกชนจะเรียกเก็บจากเจ้าของสินค้าและนักจัดรายการต่าง
ๆ จะเป็นอย่างไร
ประการต่อมาจะเป็นผลที่เกิดขึ้นจากประการแรกคือ มีทางเป็นไปได้ไหมว่าเจ้าของสินค้าก็จะผลักภาระที่ต้องแบกรับเพิ่มสะท้อนกลับสู่ผู้บริโภคโดยการขึ้นราคาสินค้า
หรือลดต้นทุนการผลิตโดยการลดคุณภาพของสินค้าลง ประกอบกับเป็นช่วงแรกของการเริ่มต้นใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม
บรรดาผู้ผลิตสินค้าเตรียมขึ้นราคาสินค้าเพื่อรับระบบภาษีใหม่ในปี 35 นี้
ขณะเดียวกันผู้ฟังสถานีต่าง ๆ เหล่านี้จะได้สาระอะไรจากผู้จัดรายการที่เข้ามาดำเนินรายการด้วยงบสูงเช่นนี้
คนในวงการกล่าวกันว่า เมื่อมีราคาประมูลขยับสูงขึ้นเช่นนี้ ผู้ชนะการประมูลจะต้องมีการขึ้นราคาจากรายการต่าง
ๆ ซึ่งเจ้าของรายการอาจหาทางออกของตนเองไว้ด้วยทางเลือก 3 ทางคือ
ทางเลือกแรก ขึ้นสปอตโฆษณาจากราคาปัจจุบัน 400-500 บาท เป็น 1,500 บาทอย่างต่ำจะสามารถเรียกทุนคืนได้เร็ว
หรือว่าจ้างนักจัดรายการด้วยราคาที่ถูกลงกว่าที่เคยจ้าง หรือจ้างนักจัดรายการหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่สนามซึ่งนักจัดรายการหน้าใหม่นี้เงินเดือนจะไม่สูง
ส่วนทางเลือกสุดท้าย ใช้วิธีการโฆษณาแอบแฝงโดยนักจักรายการจะเป็นผู้พูดโฆษณาสินค้านั้น
ๆ เองในเชิงแนะนำสินค้าที่ไม่ใช่การขายสินค้าโดยตรง ซึ่งตามข้อกำหนดของสื่อวิทยุที่อนุญาตให้โฆษณาได้ชั่วโมงละไม่เกิน
8 นาที การโฆษณาแอบแฝงเช่นนี้จะทำให้เจ้าของรายการจะได้เงินเพิ่มขึ้นโดยการตกลงกับเจ้าของสินค้านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นการบอกทิศทางในอนาคตของเอกชนในการเข้าครอบครองสิทธิ์เช่าสถานีวิทยุของรัฐต่าง
ๆ ดำเนินรายการได้ว่า
นักจากนี้ต่อไปเอกชนที่จะเข้ามาเช่าสถานีวิทยุเพื่อดำเนินรายการต่าง ๆ
ของตนเองจะเป็นลักษณะยากเย็นยิ่งขึ้น กล่าวคือ เอกชนรายใดที่เคยใช้สายสัมพันธ์ในการสร้างฐานและครอบครองสิทธิสถานีต่าง
ๆ เสมือนผูกขาดการจัดรายการมานานปีจะค่อย ๆ หมดยุคหมดสมัยไป หรืออาจจะยังคงมีอยู่แต่จะเป็นในลักษณะของการผนวกผลประโยชน์เพิ่มเข้าไปด้วยจึงจะมีสิทธิในสถานีนั้น
ๆ
ทว่าปรากฏการณ์ประมูลสถานีวิทยุนี้ใช่ว่าจะเป็นธรรมเนียมเสมอไปก็หาไม่
หากแต่ว่าขึ้นอยู่กับกับนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่เข้าบริหารการปกครองในแต่ละยุคแต่ละสมัยด้วยเช่นกัน
ว่ากันว่าในสมัยหน้าอาจพลิกผันจากการประมูลเป็นการหยิบยกให้โดยเสน่หาหรือสายสัมพันธ์กลมเกลียวเพื่อไว้ใช้เป็นฐานต่อไปในอนาคตก็เป็นได้
เป็นความคิดเห็นของคนเก่าแก่ที่อยู่ในวงการนี้มานานกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
อย่างไรก็ตามสถานีวิทยุททท.ในขณะนี้ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 สถานีเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร
คือ ภาค FM 95.0 MHZ สถานีถ่ายทอดเสียงภาษาอังกฤษ 96.5 MHZ ภาคพิเศษ 97.5
MHZ ภาคละครและเพลง 99.0 MHZ และภาคปกติ 100.5 MHZ ตามลำดับ
สถานีต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นสถานีเครือข่ายต่อไปที่กำลังเป็นเป้าหมายใหม่ของคนในวงการในอันที่จะเข้าไปช่วงชิงสิทธิเพื่อดำเนินรายการ
ซึ่งจัดเป็นสถานีหนึ่งที่มีเรทติ้งคนฟังสูงพอๆ กับวิทยุกรมประชาสัมพันธ์เช่นกัน
ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนที่ดำเนินรายการของสถานีวิทยุ ททท. นี้คือ นิธิทัศน์
เอไทม์มิเดีย สามอนงค์ ฟาติมา ยูแอนด์ไอ รีลโปรโมชั่น เอ็มเจ เอ็นเตอร์เทนเมนท์
แว่วหวาน วายสตูดิโอ โปรแกรมมี่ เน็ทเวิร์ค ฯลฯ
คาดกันว่าทางวิทยุททท.ก็จะใช้วิธีการประมูลสิทธิการเช่าสถานีเช่นกันเพราะก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงกว่าที่เคยได้รับ