สุจินต์ ธรรมศาสตร์ นักวิจัยสัตว์น้ำของชีพี


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

นับเป็นเวลากว่า 5 ปีมาแล้วที่ซีพีได้บุกเบิกธุรกิจด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจนเติบใหญ่และรุ่งเรืองขึ้นมา ด้วยการดำเนินกิจการอย่างครบวงจรตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายอาหาร ฟาร์มเพาะเลี้ยง การส่งเสริมเกษตรกร การแปรรูปสินค้า ตลอดจนถึงงานทางด้านวิชาการ

ปัจจุบันซีพีถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งกุลาดำที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในโลก ในขณะเดียวกันสินค้ากุ้งกุลาดำก็ส่งออกจากประเทศไทยสู่ตลาดโลกเป็นอันดับหนึ่ง

สำหรับโครงสร้างภายในของซีพีเอง แม้ธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะเพิ่มเริ่มต้นไม่นานนักแต่กลุ่มธุรกิจนี้ก็มุ่งเน้นที่จะพัฒนาตัวเองอย่างจริงจังเทคโนโลยีและวิทยาการต่าง ๆ ได้รับการสนับสนุนทุ่มเทค้นคว้าวิจัยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นสร้างความยืนยาวให้กับอาชีพนี้

เมื่อปี 2521 ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ชื่อว่าสุจินต์ ธรรมศาสตร์เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสัตวแพทย์เต็มตัวตามสาขาวิชาการที่ได้ร่ำเรียนมา และเริ่มต้นชีวิตการทำงานครั้งแรกกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ระดับชาติที่ชื่อว่าเจริญโภคภัณฑ์ หรือที่รู้จักกันดีในนามซีพี

ปีแรกในซีพีเป็นเพียงช่วงระยะเวลาเดียวที่สุจินต์ได้ใช้วิชาเกี่ยวกับสัตวแพทย์โดยตรง หลังจากนั้นก็รับงานด้านอาหารเรื่อยมา จนกระทั่งประมาณปี 2526 ทางซีพีได้ไปเช่าฟาร์มเล็ก ๆ แห่งหนึ่งอยู่ที่แม่กลองทำการทดลองเลี้ยงกุ้งกุลาดำ สุจินต์ ธรรมศาสตร์ก็คือผู้ที่รับมอบหมายให้ดูแลงานบุกเบิกนี้

สมัยนั้นฟาร์มเลี้ยงแบบพัฒนายังไม่เกลื่อนกลาดไปทั่วเมืองไทยดังเช่นปัจจุบัน พื้นที่แถบ ระโนด-หัวไทรยังคงเป็นเพียงผืนนากว้าง หรือแม้แต่ทางภาคตะวันออกแถวจังหวัดตราดและจันทรบุรีก็ล้วนยังคงเป็นป่าชายเลนและสวนผมไม้

มีไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ว่าซีพีเริ่มต้นพัฒนาด้านการเลี้ยงมาแล้วถึง 8 ปี ส่วนใหญ่จะรับรู้ว่าซีพีเริ่มต้นที่ธุรกิจด้านอาหารมากกว่าทั้งที่ในความจริงซีพี เริ่มทำอาหารกุ้งกุลาดำเมื่อปี 2528 นี่เอง โดยคนริเริ่มวิจัยสูตรอาหารเหล่านี้ก็คือสุจินต์ ธรรมศาสตร์

สุจินต์ยอมรับว่า ก่อนหน้านั้นตัวเขาเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับกุ้งกุลาดำเลย รวมถึงในส่วยของบริษัทเองก็ยังไม่มีทรัพยากรและเครื่องไม้เครื่องมือทางด้านนี้มากเท่าใดนัก แม้แต่ลูกกุ้งที่ใช้ปล่อยในการทดลองเลี้ยงก็ยังต้องซ้อเอาจากกรมประมงด้วยซ้ำไป ด้วยการเริ่มต้นจากศูนย์อย่างแท้จริง ตลอดช่วง 3 ปีของการทำฟาร์ม ทดลองจึงไม่มีผลิตผลอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ผลตอบแทนที่มีค่าอย่างยิ่งก็คือความรู้ทั้งมวลเกี่ยวกับกุ้งอันเป็นฐานรากสำคัญให้กับการทำธุรกิจในภายหลัง

"สิ่งที่ได้รู้ก็คือกุ้งเป็นอย่างไร ได้เข้าใจว่าปัญหามีมากน้อยแค่ไหน และสมัยก่อนคุณชิงชัย ก็มีเวลาค่อนข้างมาก ไม่ยุ่งเหมือนเดี๋ยวนี้ คุณชิงชัยก็พาไปไต้หวันได้เห็นอะไรต่าง ๆ จนที่สุดก็มาลงทุนร่วมกับญี่ปุ่น ทำจริงจังขึ้นมา" สุจินต์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

"คุณชิงชัย" ที่ได้รับการกล่าวถึงก็คือ ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล หรือดร.หลิน กรรมการผู้จัดการใหญ่สายธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของซีพีนั่นเอง ซึ่ง ณ วันนี้นายสัตวแพทย์ที่ชื่อว่าสุจินต์ ธรรมศาสตร์ฟผู้มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านกิจการฟาร์มทดลองของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ ถือได้ว่าเป็นมือวิชาการสำคัญที่ช่วยงานของดร.หลินได้มาก

ฟาร์มเลี้ยงกุ้งในเครือซีพี ขณะนี้มีการกระจัดกระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 12 แห่ง ส่วนใหญ่ได้แก่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ พวกนี้ถือว่าเป็นแหล่งผลิต ถึงแม้ส่วนนี้จะไม่ใช่กิจกรรมหลัก สำหรับซีพีแต่ทุกฟาร์มก็คือที่มาของรายได้ ยกเว้นก็แต่ฟาร์มที่แม่กลอง

"คือฟาร์มที่นั่นหลังจากเริ่มเปิดทำได้ 2 ปีแล้วก็เสียหาย เลี้ยงเสียหายติดต่อกันอยู่ถึงประมาณ 1 ปี บริษัทก็คิดว่าฟาร์มพวกนี้ขืนเอาเป็น PROFIT CENTER ก็คงจะไม่มีใครไปรับผิดชอบ และคนอื่นเขาก็ทำไม่ได้แล้ว จะไปดันทุรังทำทำไม เขาก็เลยเอาฟาร์มนี้ให้ผม ส่วนของผมเป็น COST CENTER บริษัทมีงบประมาณให้ เพราะฉะนั้นผมก็เอาฟาร์มนี้ทำงานวิจัยค้นคว้าเรื่องนั้นเรื่องนี้"

ความล้มเหลวของกิจการการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในบริเวณมหาชัย แม่กลองที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณปลายปี 2532 ได้ถลำลึกลงสู่ความหายนะอย่างรวดเร็วหลังจากผ่านช่วงเวลาบูมสูงสุด เมื่อเปลี่ยนมาทำการเลี้ยงแบบพัฒนาตามที่ซีพีเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปส่งเสริมให้เกิดขึ้นอยู่เพียงประมาณ 2 ปี โดยที่ก่อนหน้านั้นพื้นที่แถบสามสมุทรนี้ถูกใช้เลี้ยงกุ้ง ในรูปแบบธรรมชาติมาแล้วกว่า 40-50 ปี

เมื่อฟาร์มที่แม่กลองแปรสภาพเป็นฟาร์มทดลองอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสุจินต์ ธรรมศาสตร์ เขาต้องวนเวียนอยู่กับความท้อแท้นับครั้งไม่ถ้วนหลังจากที่ปล่อยกุ้งไปแล้วได้เห็นแต่เพียงพ่อที่ค่อนข้างว่างเปล่า

ความว่างเปล่าในท้องน้ำย่อมหมายถึงการสูญเปล่าของเงินลงทุนน้อย

"ผมขาดทุนที่แม่กลองนั่นรอบการผลิตหนึ่งตั้งสิบ ๆ ล้านเวลาเลี้ยงกุ้งถ้าเสียหายจะเสียครั้งละเป็นสิบล้าน ผมทำกุ้งครั้งหนึ่งล้มเหลว ทำอีกครั้งก็ล้มเหลง ก็ท้อใจเหมือนกันอย่างเจ้าข้าง ๆ เขาก็ตายหมดเลย มองไปทางไหนมีแต่เกลือมีแต่ขายอุปกรณ์ เขาเลิกกันหมด คือ การเลี้ยงกุ้งถ้ายกยอขึ้นมาเห็นกุ้งเต็มคนเลี้ยงก็ดีใจแต่ยกขึ้นมาไม่เจอกุ้งเลย อันนี้ทำให้ท้อแท้มาก ขาดทุนเยอะมากมากก็เลยลดขนาดลงมาทำกุ้งเพียงนิดหน่อย แล้วก็หันมาทำปลา ก็ไม่ใช่ง่ายหรอกที่จะทำให้สำเร็จขึ้นมา" สุจินต์เล่าถึงช่วงเวลาเลวร้ายที่ได้ฝ่าข้ามมาแล้ว

ผลของการทดลองที่กำลังฉายแสงบ่งบอกวี่แววแห่งความสำเร็จอยู่ในขณะนี้ก็คือสิ่งที่เรียกกันว่าการเลี้ยงโดยใช้ระบบปิดหรือ ระบบน้ำหมุนเวียน

หลักการทั่วไปของการใช้น้ำในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำก็คือ เมื่อมีการเอาน้ำเข้าสู่บ่อและใช้ไประยะหนึ่งแล้วก็ต้องปล่องทิ้งออกมา เนื่องจากว่าในน้ำที่ผ่านการเลี้ยงแล้วนั้นจะปะปนไปด้วยเศษอาหารตกค้างและของเสียที่กุ้งขับถ่ายออกมา หลังจากใช้ไปช่วงเวลาหนึ่ง ความเข้มข้นของของเสียก็สะสมมากขึ้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการถ่ายออก นำน้ำใหม่เข้าไปแทน

ความตายที่เกิดขึ้นกับสายสมุทรมีสาเหตุหลักมาจากระบบการถ่ายน้ำนี่เอง เนื่องจากโดยพื้นฐานสภาพน้ำในแหล่งธรรมชาติแถบนั้น มีคุณสมบัติไม่ดีอยู่แล้ว ปนเปื้อนไปด้วยโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง ตลอดจนของเสียทั้งจากชุมชนและโรงงานต่าง ๆ ประกอบกับระบบของการทำนากุ้งที่มีลักษณะแห่ตามกัน จนทำอย่างเอาง่ายเข้าว่าไม่มีช่องทางน้ำเข้าน้ำออกที่เหมาะสม ผลจึงต้องเป็นอย่างที่ปรากฏอยู่

ระบบปิดหรือการใช้น้ำหมุนเวียนสามารถเป็นคำตอบก็เพราะระบบนี้ได้ตัดทอนขั้นตอนการพึ่งพาน้ำจากภายนอกออกไปจากกระบวนการเลี้ยง มีความจำเป็นต้องสูบน้ำจากภายนอกเข้าสู่ฟาร์ม เฉพาะในขั้นต้นที่สุดเท่านั้น โดยที่น้ำดังกล่าวอาจจะต้องนำไปผ่านการบำบัดให้มีสภาพดีและเหมาะสมพอก่อน จนกระทั่งสามารถมั่นใจได้แล้ว จึงนำไปใช้ และเมื่อใช้แล้ว ก็ไม่ปล่อยทิ้งออกมา แต่จะผ่านตามรางน้ำทิ้งไปใช้ในการเลี้ยงปลา เลี้ยงหอยซึ่งเป็นตัวกรองที่กินตะกอนของเสียอันเป็นสารอินทรีย์ต่าง ๆ ให้ลดจำนวนลงได้ จากนั้นอาจจะบำบัดเพิ่มด้วยการเติมออกซิเจนหรือใช้แพลงตอนพืชชนิดกินแอมโมเนียเข้าช่วย น้ำนั้นก็สามารถใช้ได้อีก

"สิ่งที่ผมนึกถึงคือการปลูกพืชหมุนเวียนที่พืชแต่ละชนิดต้องการปุ๋ยไม่เหมือนกัน การอยู่ด้วยกันทำให้เกิดสมดุล ผมก็ไม่รู้ว่าปัจจัยจริง ๆ อยู่ที่ไหนบ้าง แต่ได้คำตอบว่าการเลี้ยงแบบ POLY CULTURE คือการเลี้ยงหลาย ๆ SPECIES ด้วยกันเป็นทางออกที่ดีที่สุด" สุจินต์พูดถึงหลักการใหญ่

ด้วยความที่ยังไม่มั่นใจว่าองค์ประกอบของความสมดุลที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นกับปัจจัยตัวใดกันแน่ สุจินต์ตัดสินใจว่าจะยังไม่เผยแพร่ระบบนี้ให้แพร่หลายนักหรือถ้าจะแนะนำกับเกษตรกรรายใดก็จะมีข้อแม้และข้อติงเตือนพ่วงไปด้วยเสมอ

อย่างไรก็ตามบ่อกุ้งจำนวน 4 บ่อในฟาร์มที่แม่กลองกำลังใช้ระบบนี้ อยู่ได้ผลผลิตไปแล้ว 1 รอ ซึ่งอยู่ในอัตราสูงอย่างน่าสนใจและฟาร์มที่ภาคอีสานที่ได้นำระบบน้ำไปทดลองทีหลังก็เริ่มให้ผลผลิตแล้วในระดับที่ดีเช่นกัน รวมทั้งฟาร์มทางตะวันออกที่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำเค็มในบางฤดูกาลก็สามารถใช้ระบบปิดนี้เป็นทางออกเช่นเดียวกัน

ดังนั้นเมื่อใดที่ระบบนี้ได้รับการเรียนรู้จนเข้าถึงจุดที่เป็นหัวใจสำคัญได้ ความหวังที่จะฟื้นแม่กลองมหาชัยให้กลับคืนมาก็ย่อมไม่ใช่ฝันที่ไกลจนเกินจริง

13 ปีเต็มของชีวิตการทำงาน สุจินต์ ธรรมศาสตร์อยู่กับซีพีมาโดยตลอด ในช่วงหนึ่งคือระหว่างปี 2530-2534 เขาถูกส่งไปรั่งตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทกรุงเทพเพาะเลี้ยงกุ้งที่ซีพีร่วมทุนทำกับมิตซูบิชิโดยเป็นการแลกเปลี่ยนตัวผู้บริหารระหว่างกัน จนกระทั่งเมื่อต้นปีนี้เขาก็กลับมาทำงานให้กับเครือโดยตรงอีกครั้งหนึ่ง

สุจินต์กล่าวว่าเขาเองยังคงรู้สึกสนุกกับงานด้านวิชาการอยู่เสมอ โดยที่การทำงานค้นคว้าวิจัยและพัฒนานั้นทำให้ได้อยู่กับเรื่องใหม่ ๆ ตลอดเวลา ได้รับรู้ในสิ่งต่าง ๆ ก่อนผู้อื่นสิ่งเหล่านี้ตรงกับนิสัยส่วนตัวที่ชอบความท้าทาย อีกทั้งยังมีความภาคภูมิใจอยู่เสมอยามที่เอาชนะอุปสรรคหรือสามารคถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ลุล่วง

นอกจากงานวิชาการทางด้านสัตว์น้ำทั้งหมด งานหลักอีกส่วนหนึ่งในซีพีที่ยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของสุจินต์ก็คืองานวิจัยสูตรอาหาร อาหารของ "สัตว์พิเศษ" ที่นอกเหนือจากบรรดาหมูและไก่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารนก อาหารแมว ลิง สุนัข หนู ปลา เหล่านี้อยู่ในความดูแลของเขาทั้งสิ้น

การที่องค์กรใดก็ตามเติบใหญ่รุ่งเรืองขึ้นมาได้คงไม่อาจปฏิเสธว่าส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจของคน อันเป็นหน่วยเล็ก ๆ ทั้งหลายในทางกลับกัน ความภักดีต่อองค์กรก็ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีที่มา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.