|
สามแพร่ง
โดย
ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ชุมชนสามแพร่งที่เก่าแก่ มีชื่อเสียง และคุ้นหูชาวพระนครมายาวนาน คือ แพร่งนรา แพร่งภูธร และแพร่งสรรพศาสตร์ นอกจากจะมีเรื่องราวในอดีตที่มีสีสันแล้ว ยังเป็นแหล่งรวบรวมอาหารรสชาติระดับเสิร์ฟให้กับเจ้านายในรั้วในวัง
แพร่งเป็นคำที่ใช้เรียกทางแยก ที่มีลักษณะเป็นทางแยก 3 ทาง ถ้าเอ่ยถึงทางสามแพร่งแล้ว ในอดีตผู้คนมักจะพูดเป็นเสียง เดียวกันว่า เป็นสิ่งไม่ดีต่างๆ นานา เป็นเรื่องราวที่มีอาถรรพ์
โดยเชื่อกันว่าทางสามแพร่งนั้นเป็นที่สิงสถิตของเหล่าบรรดา สัมภเวสีต่างๆ ทั้งเทพที่เป็นเจ้านายของภูตผีปีศาจ วิญญาณของผีตายโหง ผีฆ่าตัวตาย
ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าทางสามแพร่งจะมีเจ้านายแห่งผีที่อาศัยอยู่ จะคอยปกปักรักษาคุ้มครองคนดี ไม่ให้วิญญาณร้ายมาอาละวาดได้
ตามหลักธรรมชาติแล้ว ทางแยกย่อมต้องมีความพลุกพล่าน ความวุ่นวายสับสน หากขณะขับรถอยู่ต้องมีการชะลอความเร็ว ขับอย่างระมัดระวังกว่าปกติ อาจเกิดอาการเก้ๆ กังๆ ขึ้นบ้าง ถ้ายิ่งเป็นเวลากลางคืนด้วยแล้ว อาจจะมีแสงไฟสาดส่องก่อให้เกิด ความรำคาญ หรือการเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้บ่อยครั้ง
จากความเชื่อในเรื่องนี้ทำให้เกิดมีสิ่งที่จะสามารถขจัดปัดเป่า ความทุกข์ร้อนเหล่านี้ได้ และเชื่อว่าเป็นการเสริมมงคลอีกด้วย
ทางสามแพร่งหากอยู่ตรงบ้านเรือนใครแล้ว คนโบราณจะแก้ไขด้วยสิ่งเหล่านี้ เพื่อทำให้ร้ายกลายเป็นดี
เสือคาบดาบ เพราะเชื่อกันว่าเสือเป็นพาหนะของเซียน สามารถปราบความเป็นอัปมงคลได้
กระจก 8 เหลี่ยม รูปยันต์ 8 ทิศ จะสามารถกระจายสิ่งเลวร้ายให้กลายเป็นดีได้
กระจกแผ่นเรียบ เป็นการเพิ่มปริมาณของสิ่งนั้นให้มีมากขึ้น เช่นการนำไปติดไว้ที่มุมมั่งคั่ง เงินทองลาภผลมีทวีคูณ
กระจกนูน ติดขึ้นเพื่อการแก้ไข เป็นการติดเพื่อการกระจาย สิ่งที่เลวร้าย
กระจกเว้า เป็นการดูดซับสิ่งที่เป็นมงคล ข้อควรระวังในการติดตั้ง คือควรอยู่เหนือศีรษะ เมื่อส่องแล้วจะเห็นใบหน้าได้ชัดเจน ตู้ปลา อ่างปลา เพื่อเสริมความสดชื่น เกิดความร่มเย็น ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ แก้ไขความหยุดนิ่ง ความแห้งแล้ง
กระดิ่ง ระฆัง ช่วยในการเพิ่มพลังอันสดใส ช่วยเรียกโชคลาภเงินทอง
เนินดิน ภูเขาหิน หิน พีระมิด ถูกโฉลกกับทางสามแพร่งที่อยู่ในตำแหน่งทิศใต้
ไฟ โคมไฟ ตะเกียง
ต้นไม้ ต้นหญ้า ศาลานั่งเล่น
ลูกแก้ว คริสตัลเป็นการกระจายพลังงานที่ดีให้ไหลเวียนเข้าบ้าน ช่วยแก้จุดอับมุมทึบของบ้าน
ขลุ่ย พิณ แคน ทำให้ลมนั้นผันแปรเป็นเสียงดนตรี นอกจากให้เป็นแสงสว่างสำหรับบ้านที่มีคาน เพดานต่ำ ซอกตึกหรือทางเดินที่อับ แคบ และทึบ
วงกลมเจาะรู เป็นรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งถูกโฉลกกับทางสามแพร่งที่อยู่บริเวณทิศเหนือ
สำหรับชุมชนสามแพร่งที่เก่าแก่ มีชื่อเสียงมายาวนาน คุ้นหูชาวพระนคร มานมนาน คือ แพร่งนรา แพร่งภูธร และแพร่งสรรพศาสตร์ นั่นเอง
แพร่งนรา เป็นย่านการค้าที่ตั้งอยู่ระหว่างวัดสุทัศน์เทพวรา รามกับวัดมหรรณพารามคือถนนตะนาว และถนนอัษฎางค์ บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของวังวรวรรณ ที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์ ต่อมาได้ถูกเวนคืนเพื่อนำพื้นที่มาสร้างถนนตามโครงการขยายความเจริญของพระนครในสมัยนั้น
แพร่งภูธร อยู่ระหว่างถนนตะนาว และถนนอัษฎางค์ริมคลองหลอดเชิงสะพานช้างโรงสี ซึ่งเดิมคือวังสะพานช้างโรงสี “วังเหนือ” เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าไพฑูรย์ กรมหมื่นสนิทนเรนทร์
ต่อมาเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าชุมแสง กรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชา และที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์จนสิ้น พระชนม์
ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้แบ่งพื้นที่สร้างตึกแถว พร้อมทั้งพระราชทานชื่อถนนว่าแพร่งภูธร
สำหรับแพร่งสรรพศาสตร์นั้น เดิมเคยเป็นที่ตั้งวังของกรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ
ปัจจุบัน แพร่งสรรพศาสตร์เหลือเพียงซุ้มประตูวังไว้เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น
อาคารที่ได้พบเห็นอยู่ในแบบปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ภายหลังจากได้เกิดไฟไหม้ใหญ่ในชุมชนแถบนี้
บริเวณสามแพร่งแห่งนี้ จึงมีชื่อเรียกขานตามพระนามของเจ้าของวัง อาคารสิ่งปลูกสร้าง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความสวยงามเชิงชั้นศิลปกรรมยังมีให้เห็นเป็นบุญตา จรรโลงจิตใจของผู้คนที่นิยมความมีกลิ่นอายของอดีต เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานความเป็นยุโรปบวกกับจีน พร้อมทั้งการตกแต่งช่องประตู หน้าต่าง ช่องลม แม้แต่เชิงชายด้วยศิลปะแบบไทยๆ ภายหลังจากเจ้านายของวังต่างๆ ได้แยกย้ายไปจากบริเวณนี้ บรรดาผู้คน โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนได้เข้ามาอาศัยพร้อมกับประกอบอาชีพค้าขาย
แม้ว่าจะเป็นชุมชนเล็กๆ แต่ความคึกคักมีชีวิตชีวาเต็มไปด้วยร้านค้าที่หลากหลาย เครื่องหนัง รองเท้า กระเป๋า เสริมสวย เสื้อผ้า ชุบเงินชุบทอง โดยเฉพาะร้านอาหารการกินที่อร่อยปาก ขึ้นชื่อทั้งของคาวและของหวาน ตำรับต้นเครื่องจากวัง สูตรโบราณ ดั้งเดิมมีพร้อมสรรพ
สิ่งที่ยังคงหลงเหลือให้ได้เห็น นอกจากอาคารบ้านเรือน จะมีอาคารส่วนหนึ่ง ซึ่งอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งตำหนักของวังวรวรรณ เป็นอาคารตึกและไม้ 2 ชั้น สร้างต่อเนื่องกัน มีการตกแต่งด้วยไม้ฉลุลวดลายอ่อนช้อยสวยงามแบบไทย ลายปูนปั้นที่งดงาม ห้องชั้นลอยต่อด้วยไม้ขนาดย่อม ที่บันไดเวียนทางขึ้นสร้างด้วยเหล็กหล่อ เดิมเป็นที่ตั้งของโรงละคร “ปรีดาลัย” ซึ่งเป็นโรงละคร ร้องแห่งแรกในสยาม และยังเคยเป็นอาคารเรียนโรงเรียนเอกชนตะละภัฏศึกษา เป็นสถานศึกษาของลูกหลานเจ้าของโรงเรียนและบุตรธิดาของผู้คนในละแวกนี้อีกด้วย
หลังจากนั้นมีอันต้องเลิกกิจการไป ปัจจุบันคือที่ตั้งของสำนักงานทนายความสมหมาย ตะละภัฏ และเพื่อน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงในการเป็นที่ปรึกษากฎหมายแห่งหนึ่งทีเดียว
สำหรับละครร้อง คือศิลปะการแสดงรูปแบบใหม่ กำเนิดขึ้นในตอนปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้รับอิทธิพลจากละครต่างประเทศ
ละครร้องนั้นมีต้นกำเนิดมาจากการแสดงของชาวมลายู “บังสาวัน” ซึ่งเล่นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เมืองไทรบุรี ต่อมาได้เข้ามาแสดงในกรุงเทพฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์แก้ไขปรับปรุงเป็นละครร้อง เพื่อเล่นที่โรงละครปรีดาลัย ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนโดยเรียกชื่อว่า “ละครหลวงนฤมิตร” ทำให้เกิดคณะละครขึ้นอีกมากมาย คณะเสรีสำเริง บันเทิงไทย ไฉวเวียง ประเทืองไทย วิไลกรุง ปราโมทัย ปราโมทย์เมือง และอีกมากมายหลายคณะ โรงละครที่เกิดขึ้นหลังสุด “นาคบันเทิง” ของแม่บุนนาค และ “เทพบันเทิง” ของแม่ช้อย
ละครนี้นิยมกันเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 7
ละครร้อง เป็นละครที่ใช้การร้องในการดำเนินเรื่องบอกอาการกิริยา ที่ใช้ลูกคู่ร้องอยู่ในโรง บทคำพูดตัวละครจะร้องเองไม่มีการรำ แต่ใช้กิริยาท่าทางเช่นสามัญชน
แต่เดิมใช้ตัวแสดงหญิงล้วน ต่อมาใช้ทั้งชายและหญิง เปลี่ยนฉากไปตามเรื่องราว การแสดงละครแบบนี้นิยมนำนวนิยายมาประพันธ์เป็นบทละคร บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้นวม หรือวงมโหรีประกอบ สำหรับเพลงร้อง เป็นเพลงชั้นเดียวหรือเพลง 2 ชั้น ในขณะที่ตัวละครร้องใช้ซออู้คลอตามเบาๆ เรียกว่า “ร้องคลอ”
ความหลากหลายของผู้คน วัฒนธรรม ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้ชุมชนสามแพร่งมีกิจกรรมย้อนยุค ผู้คนต่างพากันมาเสพสุขชื่นชมในเรื่องราว ชื่อเสียงความดั้งเดิม
จากสี่แยกคอกวัวเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนตะนาว เมื่อแรกสร้าง คือส่วนหนึ่งของถนนเฟื่องนคร สร้างขึ้นเมื่อปี 2406-2407 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยสันนิษฐานว่า ชื่อ “ตะนาว” นี้เป็นการตั้งตามชื่อย่านที่พระมหากษัตริย์ โปรดเกล้าฯ ให้ชาวตะนาวศรีมาตั้งถิ่นฐาน ถนนสายนี้จะได้พบกับการผสมผสานระหว่างผู้คนต่างศาสนา จะมีศาสนสถานทั้งไทย จีน และแขกอยู่ร่วมกัน
เมื่อเดินเข้ามาได้สัก 20 เมตร ซ้ายมือด้านหลังตึกแถวจะมีร้านขายแป้งทำขนมเค้ก ขนมไทย พร้อมทั้ง ขนมหวาน เปียกปูน ชั้น วุ้น ซ่าหริ่ม ลอดช่อง ฯลฯ ไว้จำหน่ายอีกด้วย เป็นร้านเก่าแก่สั่งสมชื่อเสียงมาเป็นระยะอันยาวนาน “ชูถิ่น”
สาวเท้าต่อไปอีกเล็กน้อยจะมองเห็นวัดมหรรณพาราม ฝั่งตรงข้ามจะมีชายวัยเริ่มชรากำลังขะมักเขม้นกับการละเลงขนมเบื้องไทยไส้ต่างๆ ทั้งเค็ม หวาน ด้วยความสุข ส่วนข้างๆ ลูกชายกำลังโรยแป้งขนมเบื้องญวน มีทั้งแบบแป้งและแบบไข่ที่ลูกค้ากำลังยืนรอคิว “ละเมียด” ในรสชาติเป็นที่ติดอกติดใจของผู้คนทุกสารทิศมาช้านานเช่นกัน
วัดมหรรณพาราม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วเสร็จในรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงรับไว้ ทรงสร้างเจดีย์ใหญ่หลังพระอุโบสถ
รัชกาลที่ 5 ทรงนำต้นโพธิ์ หรือที่เรียกกันว่า “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” จากประเทศศรีลังกามาทรงปลูกด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง สถาปัตยกรรมของวัดนี้มีทั้งแบบไทย ได้รับอิทธิพลจากจีน หลังคาของพระอุโบสถไม่มีช่อฟ้า ใบระกา พระประธานปั้นด้วยปูน ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา พระวิหารมีขนาดเท่าพระอุโบสถ สร้างด้วยศิลปะแบบเดียวกัน มีพระพุทธรูปหล่อสมัยสุโขทัย นามว่า “พระร่วงทองคำ” ประดิษฐานอยู่
ขยับเข้าไปอีกหน่อย “ศาลเจ้าพ่อเสือ” “ศาลเจ้าเสียนเทียนซ้ง” จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ ไทย จีน คนเฒ่า คนแก่ โดยเฉพาะปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาจะมีผู้คนมากเป็นพิเศษ ด้วยเหตุว่าเป็นปีเสือซึ่งถือว่าเป็นปีชงกับผู้ที่เกิดในปีมะเส็ง จอ กุน จะพากันมาทำพิธีสะเดาะเคราะห์และกราบไหว้กันมากมาย โดยบริเวณรอบๆ ศาลเจ้าจะมีร้านค้าจำหน่ายเครื่องเซ่นไหว้ โดยเฉพาะข้าวเหนียวนึ่งสุกผสมโอทึ้ง (น้ำตาลทรายแดง) หมูสามชั้นสด ไข่สด ผลไม้ ดอกไม้ ธูป 18 ดอก เทียนแดงคู่ น้ำมัน ฯลฯ เพื่อเคารพสักการะขอพรเพื่อให้ชีวิตเป็นมงคล
ผู้คนนิยมทำการกราบไว้ขอพร อัญเชิญเทพเจ้าเสด็จลงมา รับเครื่องสักการบูชา ประทานพรให้มีความสุข เจริญด้วยลาภยศเงินทอง ทำมาค้าขึ้น ปราศจากโรคทุกข์ภัยต่างๆ สมปรารถนาด้วยประการทั้งปวง
โดยการนำกระดาษปัดตัว 13 ครั้ง ต่อหน้าเจ้าพ่อเสือ ส้ม 4 ลูก ถังเงินถังทอง ขอพรเจ้าพ่อใหญ่เพื่อเสริมบารมี
บัวทองขอพรเทพโชคลาภ เพื่อเสริมโชคลาภ
หลังจากนั้นให้ลาส้มนำกลับไปทานเพื่อความเป็นสิริมงคล ศาลเจ้าพ่อเสือ หรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า “ตั่งเล่าเอี้ย” เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ เดิมตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง เป็นศาลขนาดใหญ่ ภายในเคยมีเทพจีนทำด้วยทองคำหนัก 120 บาท แต่ถูกโจรปล้นไปเมื่อสมัยรัชกาลที่ 2
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการขยายถนน ได้โปรดฯ ให้ย้ายศาลมาอยู่ที่ถนนตะนาวในปัจจุบัน
ศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อเสือ เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม ผู้คนนิยมมาเสี่ยงเซียมซีด้วยเหตุผลว่า “แม่นมาก”
เดินต่อไปฝั่งศาลเจ้าพ่อเสือ จะเห็นร้านไอศกรีมนัฐภรณ์ (เป็นร้านสาขา ร้านดั้งเดิมยังคงอยู่ในแพร่งภูธร ร้านที่เก่าแก่มาช้านาน)
ในอดีตเคยเป็นร้านเครื่องหนัง สั่งตัดและจำหน่ายรองเท้าสุภาพสตรี โดยเฉพาะเหล่าบรรดาผู้เข้าประกวดนางงาม
โดยเฉพาะเวทีนางสาวไทยที่บริเวณวังสราญรมย์ ที่ต้องมีการเดินอวดโฉม เฉิดฉายอวดความงาม ทั้งรอบกลางวันและยามค่ำคืน ต่างสวมใส่รองเท้าที่สั่งตัดหรือซื้อจากร้านนี้แทบทั้งสิ้น
สมัยก่อนการประกวดนางงาม นางสาวไทย ไม่ใช่ธุรกิจที่เป็นล่ำเป็นสันที่มีเหล่าบรรดาเจ๊ๆ แม่ๆ หรือค่ายรองรับเช่นปัจจุบัน
ผู้เข้าประกวดส่วนใหญ่จะจัดส่งโดยห้างร้านหรือจังหวัดต่างๆ ซึ่งส่วนมากผู้ที่เป็นธุระจัดหาพี่เลี้ยงนางงามตัวจริง ไม่พ้นที่จะเป็นคุณนายผู้ว่าฯ ร่วมกับคุณนายหัวหน้าส่วนราชการ คุณนายนายอำเภอ จะพากันตระเวนไปตามหมู่บ้านช่วยกันเฟ้นหาเหล่าบรรดาสาวงามไป “ฉุดช้างเผือกออกจากป่า” หรือผู้ที่ได้รับตำแหน่งนางงามของจังหวัดส่งเข้าประกวด ซึ่งบางคนไม่เคยใส่รองเท้าส้นสูงจะเกิดอาการเดินไม่ถนัด โขยกเขยก ไม่เป็นธรรมชาติ “ฟุ้งฟ้า” จึงได้มีโอกาสดูแลคนเหล่านี้
ส่วนฝั่งตรงข้ามจะเป็นภัตตาคารที่ผู้คนในย่านนี้ ข้าราชการ ประชาชน พ่อค้าแทบทุกคนต้องไปกิน สังสรรค์ จัดเลี้ยง หรืองานแต่งงานอยู่เสมอ ชื่อ “นามชัย”
ปัจจุบันกลายเป็นตำนานแห่งความทรงจำไปแล้วเช่นกัน ริมถนนตรงนี้จะเห็น “เจ๊นี” “เผือกหิมะ” ส่งกลิ่นโชยหอมกรุ่นแต่ไกล กำลังทอดและคั่วเผือกอย่างเอาจริงเอาจัง ทอดสัก 5 นาที นำเผือกมาคั่วใส่น้ำตาลทราย เกลือ น้ำสะอาด ต้นหอมหั่นฝอย จนได้ที่อีก 5 นาที เจ๊บอกว่าเผือกหน้าร้อนอร่อยและดีที่สุด ปริมาณ 100 กก.ต่อวัน หัวละประมาณ 1 กก. เลือกใช้ได้เพียงครึ่งลูก ส่วนที่เหลือนำไปทำเผือกทอดรสเค็มและหวาน ทำขายมากว่า 10 ปี แล้ว เมื่อก่อนช่วยสามีทำธุรกิจ เกิดปัญหาเศรษฐกิจไปไม่ไหว เลยต้องช่วยกันอีกแรง สูตรได้จากอาม่า แม่สามี
เผือกหิมะเป็นของที่ทำกันในช่วงเทศกาลต่างๆ ของจีน แต่อาม่าชอบทำทานเองเป็นประจำ เพราะที่มีขายก็แต่บนเหลา และแพงอีกด้วย แม้ว่าจะเป็นงานที่หนักเอาการ ต้องอยู่หน้าเตาตลอดเวลา ทนทำเพราะหากินส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง นี่แหละหัวใจพ่อแม่ คิดแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ทนได้
สาวเท้าเดินต่อไปก่อนจะแยกเข้าถนนแพร่งภูธร จะเห็นร้าน ก.พานิช ตำนานข้าวเหนียวมูลอันลือชื่อเกือบร้อยปีแล้ว เดิมคือข้าวเหนียวแม่ภี ต่อมาเปลี่ยนมาตามชื่อของนายกาบ เฉียบฉลาด เป็น ก.พานิช ซึ่งมีความหมายคือ การทำมาค้าขายของนายกาบนั่นเอง
สูตรข้าวเหนียวมูลรสอร่อย สารภีภรรยานายกาบ ได้เรียนรู้ สืบทอดสูตรมาจากมารดาที่เคยเป็นช่างเครื่องในวัง รสชาติมีความหวานมัน กลมกล่อม สะอาด โดยการคัดสรรวัตถุดิบ เช่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงูจากอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมล็ดข้าวเรียวเล็ก นุ่ม น่ารับประทาน มะพร้าวเมื่อคั้นออกมาจะได้กลิ่นหอมเข้มข้น น้ำตาลจากเมืองกาญจนบุรี เกลือไอโอดีน ปัจจุบันที่นี่คือร้านของลูกชายที่ดำเนินกิจการต่อมา ส่วนลูกสาวได้เปิดเป็นร้านลูกสาว ก.พานิช อยู่แถวเทเวศร์
เข้าสู่ถนนแพร่งภูธร ด้านซ้ายมือเดินเข้าไปสัก 20 เมตร จะพบกับร้านโชติจิตร ถือกำเนิดมากว่า 80 ปีเช่นกัน ทำมาถึงรุ่นหลานเป็นรุ่นที่ 3 จากโชติ เหล็งสุวรรณ เมื่อเข้าไปในร้านนี้ทุกครั้ง จะเห็นฝรั่งมังค่ามานั่งทานทุกครั้งไป สอบถามได้ความว่าที่ชาวต่างชาติรู้จักร้านนี้ เกิดจากหนังสือพิมพ์หัวฝรั่งของไทยมาทานแล้วเขียนถึง จึงมีสื่อสิ่งพิมพ์จากอเมริกามาลองทานและขอสัมภาษณ์ ทำให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติกันมากขึ้น มีทั้งอาหารจานเดียว และอาหารไทยตำรับโบราณให้ได้ชิมมากมาย จานที่จะต้องสั่งทานและสั่งกลับบ้าน ซึ่งทางร้านจะทำทีละจาน แต่เน้นว่าต้องทานห้ามเก็บค้างคืน เพราะไม่ได้ใส่แบะแซ คือหมี่กรอบ มีความอร่อยสุดยอด
ก่อนที่จะพาไปทานอาหารเจ้าอร่อยในแพร่งภูธร ขอเข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และชมความงามพร้อมกับไปเดินถนนสายเก่าแก่แถบนี้เสียก่อน
เดินเลยไปอีกเล็กน้อย โภชน์สภาคาร (กุ๊กสมเด็จชาย) อาหารไทยๆ ที่หาทานยาก อย่างแกงจืดลูกรอก เปรี้ยวหวาน หรือแกงเลียง ถ้าเดินต่อไปจะเป็นสี่กั๊กเสาชิงช้าที่ถนนตะนาวตัดกับถนนบำรุงเมืองนั่นเอง ที่เรียกว่าสี่กั๊ก หมายถึงสี่แยกที่เป็นวงเวียนสี่กั๊กในกรุงเทพฯ มีอีกแห่ง คือสี่กั๊กพระยาศรี อยู่บนถนนเจริญกรุงที่ตัดกับถนนเฟื่องนคร ช่วงสี่แยกสะพานมอญ ซึ่งสองแห่งนี้อยู่ใกล้ๆ กัน
วัดสุทัศน์เทพวรารามตั้งอยู่ถนนบำรุงเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชประสงค์จะสร้างพระวิหารให้มีขนาดใหญ่เท่ากับพระวิหารวัดพนัญเชิงแห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นศรีสง่าแก่พระนคร ได้พระราชทานนามไว้ว่าวัดมหาสุทธาวาส โดยเริ่มสร้างในปี พ.ศ.2350 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงดำเนินการสร้างต่อ และพระราชทานนามวัดใหม่ “วัดสุทัศน์เทพวราราม” สร้างเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.2390 วัดนี้ไม่มีเจดีย์เช่นวัดอื่นๆ เพราะเหตุที่มีสัตตมหาสถานเป็นอุเทสิกเจดีย์ คือต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา 7 ชนิดอยู่แล้ว
เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) เป็นพระประธานซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ถอดแบบมาจากพระวิหารพระมงคลบพิตร กรุงศรีอยุธยา ไม้สลักสวยงามที่บานประตูใหญ่ของพระวิหาร รอบพระวิหารมีเจดีย์ศิลาแบบจีน ตั้งอยู่ บนฐานทักษิณ เป็นเจดีย์ 6 ชิ้น จำนวน 28 องค์ หมายถึง พระพุทธเจ้า 28 องค์ มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ เป็นพระประธานปางมารวิชัย ใหญ่กว่าพระที่หล่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นฝีมือช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีความงดงามมาก นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญที่มีพระพุทธเสรฏฐมุนีเป็นพระประธานที่หล่อด้วยกลักฝิ่น เมื่อปี พ.ศ.2382
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์เป็นเทวสถาน วัดหรือโบสถ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มีความสำคัญมากที่สุดในบรรดาวัดฮินดูทั้งหมดในประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2327 มีโบสถ์ทั้งหมด 3 หลัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว มีกำแพงล้อมรอบ ปัจจุบันมีอายุกว่า 225 ปี
ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี 2492
พราหมณ์หลวงจะเป็นผู้ประกอบพระราชพิธีถวายแด่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ วาระสำคัญของประเทศ ประกอบพิธีตามประเพณีและวัฒนธรรมของไทยแต่โบราณ เช่น พิธีแรกนาขวัญ พิธีตรียัมปวาย และตรีปวาย พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต วันฉัตรมงคล พืชมงคล สงกรานต์ ลอยกระทง หรือพิธีบวงสรวง พิธีมงคลส่วนใหญ่เป็นการเผยแพร่ตามคติประเพณีด้วยการประกอบพิธีกรรม เพื่อรักษาวัฒนธรรม พราหมณ์จะเป็นผู้ดูแลเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้าให้ความช่วยเหลือด้านการศาสนา บูรณะส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชน การบูชาเทวสถานเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพิฆเนศ เทพแห่งอุปสรรคและศิลป์
เสาชิงช้า เมื่อสร้างกรุงเทพฯ เสร็จแล้ว มีการสร้างโบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้า เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ทางจะเลี้ยวไปถนนดินสอ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2327 และย้ายมาตั้งที่ถนนบำรุงเมือง ในปัจจุบัน เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีบริษัทค้าไม้เอกชนได้บริจาคซุงไม้สัก เพื่อสร้างเสาชิงช้าใหม่
มีการซ่อมแซมใหม่เมื่อ พ.ศ.2548 มีส่วนสูง 21 เมตร เสาชิงช้านี้ใช้ประกอบพิธีตรียัมปวายหรือพิธีโล้ชิงช้าในศาสนาพราหมณ์ พิธีนี้ได้ยกเลิกไปแล้วตั้งแต่ปี 2478
ผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบนี้เล่าว่า สมัยก่อนเมื่อมองมาบริเวณ ที่ตั้งของเสาชิงช้า จะเห็นเพียงเสาแดงๆ โด่เด่โผล่ขึ้นมามีความเด่นเป็นสง่า โดยรอบๆ จะยังคงเป็นป่าอยู่ ถนนชุดแรกๆ ที่สร้างขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อใช้สัญจรทางบกแทนทางเรือ ซึ่งชาวต่างชาติเรียกเราว่า “เวนิชตะวันออก”
ถนนบำรุงเมืองสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มตั้งแต่ถนนสนามชัย ตั้งแต่ป้อมเผด็จดัสกร หัวมุมกำแพงพระบรมมหาราชวังฝั่งเหนือ ตรงข้ามศาลหลักเมือง ถึงถนนมหาราชและถนนราชินี ผ่านเสาชิงช้า สำราญราษฎร์ วัดสระเกศ จนถึงสะพานยศเส
เป็นถนนที่มีชาวจีนอยู่อาศัยจำนวนมาก ซึ่งมีความสงบร่มรื่น ด้วยตลอดสองฟากฝั่งถนนจะประกอบไปด้วยร้านค้าจำหน่ายเครื่อง สังฆภัณฑ์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นร้านรับหล่อพระพุทธรูปจำนวนมากอีกด้วย ทำให้ผู้คนพากันเรียกถนนสายนี้ว่า ถนนสายสังฆภัณฑ์
นอกจากคนจีนแล้วยังมีพวกแขกที่มาเช่าที่เปิดร้านค้าขายอยู่ด้วย แต่จะอยู่คนละช่วง คนจีนจะอยู่ค่อนไปทางเสาชิงช้า
ส่วนแขกจะอยู่อาศัยและมีห้างร้านเรียงราย ตั้งแต่สะพานช้างโรงสีเรื่อยมา แล้วเลี้ยวไปตามถนนเฟื่องนครจนถึงวัดราชบพิธ
ช่วงถนนบำรุงเมืองตัดกับถนนมหาชัย สมัยโบราณเรียกบริเวณนั้นว่าประตูผี เพราะเป็นประตูที่นำศพออกจากเมืองไปเผานอกเมือง เพื่อไม่ให้เถ้าถ่านจากการเผาศพฟุ้งกระจาย ต่อมาเปลี่ยนชื่อจากประตูผีเพื่อความไพเราะและเป็นมงคล ในชื่อสำราญราษฎร์
ได้รับรู้ชื่นชมเรื่องราวต่างๆ ของชุมชนแถบนี้ไปพอสมควรแล้ว คราวนี้เป็นเรื่องกินจริงๆ เสียที ร้านอาหารแถบนี้จะมีอาหารที่มีสูตรเฉพาะตัว สูตรโบราณมากมายไปหมด เพราะเป็นย่านใกล้วังหลวง และเป็นย่านวังเก่าของเจ้านายมากมาย
วันนี้จะพาไปชิมอาหารจานเดียว สูตรซึ่งเตี่ยนำมาจากจีนผืนแผ่นดินใหญ่และเป็นคนชอบเสาะหาอาหารตามภัตตาคาร ร้านอาหารที่มีชื่อและอาหารอร่อยๆ อยู่เป็นประจำ ร้านอยู่ในแพร่งภูธร ขายข้าวหมูแดง หมูกรอบ แกงกะหรี่ สตูที่โดดเด่น
สมัยเริ่มแรกอยู่สนามหลวงแถวศาลหลักเมือง ซึ่งจอแจไปด้วยรถเมล์ รถราง และผู้คน
ต่อมาย้ายเข้ามาขายภายในแพร่งภูธร หลังสถานีอนามัยสุขุมาล สาขาสถานีกาชาดจุฬา
เช้าขึ้นมาจะกางเต็นท์ผ้าใบ เย็นเก็บ บางช่วงบางสมัยจะทำเป็นร้านที่ล้อมด้วยสังกะสี และมีอยู่ช่วงหนึ่งก่อเป็นห้องดูคล้ายตึกเลยก็มี เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว กทม.ขอคืนพื้นที่ปัจจุบันคือสวนหย่อมอย่างที่เห็น เลยต้องย้ายเข้ามาที่พักอาศัยอาคารตึกแถวข้างสถานีอนามัยในปัจจุบัน
ตรงอู่วิเชียรในปัจจุบัน เมื่อก่อนจะเป็นที่ตีทะเบียนของเหล่ารถลาก รถเจ๊ก ตรงสวนหย่อม กลางคืนคือตลาดโต้รุ่ง ที่ถือได้ว่าเป็นโต้รุ่งแห่งแรก ทุกคนจากทุกสารทิศ หลังเลิกงานจะมารวมตัวกันที่นี่ เมื่อหมดภาระหน้าที่ก่อนกลับบ้าน จะมานั่งฟังเพลงจากตู้เพลง (Juke Box) เป็นเพลงฝรั่งล้วนๆ ซึ่งไม่มีที่ไหน สมัยนั้นวิทยุ ยังหาฟังยากอยู่
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 สุวรรณ รุ่งโรจน์สุวรรณ ลูกชายของเล้ง แซ่ตั้ง ได้รับมรดกสูตรอาหารดำเนินกิจการต่อด้วยการทำตามตำรา ดั้งเดิม ยามบ่ายเมื่อลูกค้าเริ่มซา จะเริ่มนำเนื้อและหมูมาหั่นเพื่อเตรียมเคี่ยว ซึ่งต้องเคี่ยวข้ามคืน ไม่มีสูตรเร่งรัด ซึ่งเขาบอกว่า เห็นไหมล่ะ เดี๋ยวนี้ผู้คนหาของอร่อยทานยาก ทำอะไรต้องใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไป ทำไปเรื่อยๆ อย่าเร่งรีบ เพราะอาหารที่อร่อยต้องใช้เวลาประดิดประดอยถึงจะได้รสชาติ วัตถุดิบต้องคับแก้วด้วยคุณภาพโดยเนื้อ เอ็น สั่งมาจากปทุมธานี ส่วนหมูจะสั่งเจ้าประจำมาส่ง หมูแดง โดยเฉพาะหมูกรอบจะใช้ถังอบ ไม่ต้มหรือทอดหมู เด็ดขาด เครื่องแกงทำเอง ทำให้ถึงเครื่อง
นับถึงวันนี้เปิดมาได้เกือบ 80 ปีแล้ว ลูกสาวคนกลางซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ธันยมล รุ่งโรจน์สุวรรณ จบโทจากรามคำแหง อาสาเป็นตัวแทนสืบต่ออาชีพจากบิดา เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ที่รักและหวงแหนในอาชีพนี้ด้วยความสุขอย่างล้นเปี่ยม
สุวรรณนั่งหั่นหมูหั่นเนื้อต้องฮำเพลงไปด้วย
ธันยมลบอกว่า พ่อจะลงมือทำเอง ปรุงเอง นอกเสียจากเกิดอาการป่วยไข้ ทำไม่ไหวจริงๆ ถึงจะได้โชว์ฝีมือความอร่อยที่ไม่แพ้บิดาเลย
อาหารจานเดียวเหล่านี้ เมื่อสัก 30 ปีที่แล้ว เมื่อในวังมีงาน มีราชพิธี งานเลี้ยงต่างๆ ได้มีโอกาสรับใช้อยู่เสมอ ลูกค้าที่ร้าน มีทั้งคนดังและคนเดินดินกินข้าวแกงปะปนกันไป
ส่วนใหญ่ลูกค้าคือ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ท่านทูต ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษา อัยการ บรรดานักการเมือง
ท่านชวน หลีกภัยมาทานตั้งแต่สมัยที่ยังเดินสายทนายความ นักการเมืองอย่างโกศล ไกรฤกษ์ จนกระทั่งกลายเป็นลูกค้ารุ่นลูก จุติ ไกรฤกษ์ วันก่อนนักเขียน “ช่อลดา” มาซื้อไปทำบุญ บอกว่าคุณพ่อมาเข้าฝันอยากทานสตูราดน้ำเยอะๆ
ลูกค้าของร้าน เดินมาจะรู้ทันทีว่านี่คือลูกค้าร้านเราแน่นอน เดินผมขาวหรือถือไม้เท้ามาแต่ไกล คือลูกค้าเลข 6 ขึ้นไปแทบทั้งสิ้น ทานตั้งแต่สมัยพ่อจนถึงสมัยหลานเหลนในปัจจุบัน บางคนมาซื้อไป ฝากคุณปู่คุณย่า พ่อ-แม่ ซึ่งเคยเป็นลูกค้าและยังมีชีวิตอยู่ หรือแม้แต่ไปสวรรค์แล้วยังซื้อไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้
ประดิษฐ์ กัลย์จารึก ลูกค้าประจำอีกคนที่เหนียวแน่น ยังมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องลูกกรอกที่ร้านนี้ หนังเรื่องนี้เข้าฉายที่โรงหนังเฉลิมบุรี
แม้แต่เวลามีงานเลี้ยงที่บ้านสวนอ้อย จอมพลประภาส จารุเสถียร หรือประมาณ ชันซื่อ “อุดมโชนา” จะได้ไปบริการอยู่เป็นประจำ
เมื่อมองไปรอบๆ ภายในร้าน ความเก่าแก่ที่บอกอายุของอาคารยังให้ความรู้สึกอยู่ เพียงความคลาสสิกลดลงไปบ้าง แต่นั่งทานอย่างสบายใจและมีความสุข เหตุผลที่พื้นและผนังตึกปูด้วยกระเบื้องที่ออกสมัยใหม่ไปหน่อย สุวรรณบอกว่าเพราะปูนสมัยเก่าและใหม่ไม่สามารถฉาบเป็นเนื้อเดียวกันได้ ทำให้หลุดร่อนและเกิดเชื้อราขึ้นตลอดเวลาดูไม่สะอาดตาแก่ผู้พบเห็น
เดี๋ยวนี้ที่ร้านเสริมก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เปาะเปี๊ยะ เพิ่มขึ้นมาบริการลูกค้า ปัจจุบันลูกค้าน้อยลงกว่าเดิม เพราะหน่วยราชการได้ย้ายไปอยู่ ณ ที่แห่งใหม่เสียหลายหน่วยงาน และเขาบอกต่อไปว่า แต่ลูกค้าเก่าๆ ยังเหนียวแน่นเช่นเดิม
อย่างโต๊ะที่คุณนั่งอยู่นี่ ท่านรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เพิ่งลุกขึ้นไปเมื่อตะกี้นี้เอง VIP จริงๆ ครับ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|