จาก “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” สู่โรงแรมบูติกใจกลางเยาวราช

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

หนุ่มจีนในสูทชุดดำคล้องผ้าพันคอสีขาวมือถือหมวก เดินเคียงข้างสาวหมวยในชุดกี่เพ้าดูโมเดิร์นด้วยทรงผมดัดลอน เป็นภาพคุ้นตาของละครจีนชุดคลาสสิกเรื่อง “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” ที่นำกลับมาฉายซ้ำในทีวีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใครเลยจะคิดว่าจากฉากที่เคยคุ้นจะมีผู้นำมารังสรรค์เป็นบรรยากาศแปลกใหม่แต่คุ้นเคย ในรูปแบบของโรงแรมบูติก ภายใต้ชื่อ “เซี่ยงไฮ้ แมนชั่น”

ท่ามกลางเสียงจอแจของย่านเยาวราช ย่านที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางการค้าอีกแห่งของมหานครกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน แม้จะย้อนกลับไปเกือบ 100 ปีก่อน ย่านนี้ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางไม่ต่างจากวันนี้

เยาวราชหรือ “ไชน่าทาวน์เมืองไทย” จะเสียแชมป์ไชน่าทาวน์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของโลกให้กับกรุงมะนิลา แต่เยาวราชก็นับเป็นไชน่าทาวน์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดของโลกอีกแห่งหนึ่ง ด้วยอายุกว่า 200 ปีแล้ว

กว่าครึ่งศตวรรษ เยาวราชไม่เพียง เป็นศูนย์กลางธุรกิจ แต่ยังเป็นศูนย์กลางความบันเทิงของชาวกรุงเทพฯ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองและความทันสมัยของเมืองกรุงเทพฯ

หลังจากตัดถนนเยาวราชไม่นาน ตึกที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ แห่งแรกก็เกิดขึ้นบนถนนเยาวราช ด้วยความสูงเพียง 6 ชั้น ไม่นานก็ถูกล้มแชมป์ด้วยตึก 7 ชั้น ซึ่งอยู่ฝั่งถนนตรงข้าม แล้วก็ถูกลบสถิติด้วยตึก 9 ชั้น ที่อยู่ในย่านเยาวราชเช่นกัน โดยตึกเหล่านี้มักสร้างเพื่อเป็นแหล่งบันเทิง ที่ทันสมัยสำหรับเศรษฐีสมัยนั้น

ตึก 6 ชั้น ที่เป็นตึกแห่งแรกที่เคยสูงที่สุดในกรุงเทพฯ เป็นของพระยาสารสินสวามิภักดิ์ หรือ “หมอเทียนอี้” ต้นตระกูลสารสิน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมบูติกที่มีชื่อว่า “เซี่ยงไฮ้ แมนชั่น”

ทันทีที่เข้ามาถึงล็อบบี้ของโรงแรมแห่งนี้ ความเงียบสงบก็เข้ามาแทนที่ความวุ่นวาย ราวกับว่าความสับสนจอแจของเยาวราชถูกใครพัดโบกออกไปอยู่ภายนอก

ก่อนจะกลายมาเป็นที่ตั้งโรงแรม ตึกอายุกว่า 60 ปีแห่งนี้ ถูกเปลี่ยนสภาพมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งของห้างเซาท์ แปซิฟิค ห้างเก่าแก่ของย่านนี้ จากนั้นก็ถูกปรับปรุงให้เป็นศูนย์การค้าที่มีชื่อว่า “D.S. เยาวราชสแควร์” ซึ่งประกอบด้วยสถานบันเทิง ร้านอาหาร และฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่าง McDonald’s พร้อมด้วยห้องค้าหลักทรัพย์บนชั้น 5

กระทั่งกว่า 5 ปีก่อน พงส์ สารสินได้ปรับปรุงตึกนี้อีกครั้ง ภายใต้โครงการ “หอม หมื่นลี้” โดยชั้นล่างสุดเปิดให้ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้เช่า ชั้น 2-3 เป็นศูนย์อาหารที่รวมห้องอาหารขึ้นชื่อหลายแห่ง ส่วนชั้น 4-5 เป็นที่ตั้งของโรงแรมบูติก โดยครั้งแรกยังใช้ชื่อ “เซี่ยงไฮ้ อินน์”

“เยาวราชเป็นไชน่าทาวน์นอกประเทศจีนที่เก่าแก่เกือบที่สุดในโลก เป็นแหล่งของกินชั้นดี เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญ แต่พอพูดถึงโรงแรมในเยาวราช กลับไม่มีใครนึกถึงโรงแรมหรูหรือโรงแรมบูติกที่นี่ มีแต่ภาพโมเต็ลเล็กๆ เก่าๆ เราก็อยากโชว์ให้ต่างชาติเห็นว่าไชน่าทาวน์ของเราก็มีโรงแรมเดิ้นๆ เหมือนกัน” ลิลลี่ อุดมคุณธรรม ผู้บริหารสาวและเจ้าของโรงแรมเซี่ยงไฮ้แมนชั่นฯ อธิบายที่มาของไอเดียสร้างโรงแรมบูติกในเยาวราช

คงไม่ใช่เพียงความอยากและคอนเซ็ปต์ข้างต้นของลิลลี่ที่ดลใจให้พงส์ สารสินตัดสินใจเลือกโปรเจ็กต์ของเธอมาเป็นส่วนสำคัญของโครงการหอมหมื่นลี้

และก็คงไม่ใช่เพียงเพราะความสัมพันธ์ระหว่างพงส์กับมานิต อุดม คุณธรรม ผู้เป็นพ่อของลิลลี่ แต่ยังเป็นเพราะฝีมือในการสร้างและบริหารโรงแรมของเธอที่ประจักษ์ผ่านโรงแรมบูติกชื่อดังแห่งหาดป่าตอง ที่มีชื่อว่า “บุราส่าหรี” โรงแรมแห่งแรกในชีวิตของเธอ ซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปี 2545

“คล้ายว่าเราอยากมีบุราส่าหรีสาขาสอง แต่จะยกมาทำที่นี่ก็ไม่ได้ เพราะทำเลที่เป็นไชน่าทาวน์ เราก็คิดว่าต้องหาจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ นั่นก็คือต้องหาจุดเชื่อมโยงกับความเป็นเยาวราช”

แม้ไม่ได้ยกรูปแบบของบุราส่าหรีมาใช้ แต่ลิลลี่ก็ได้นำกลเม็ดที่ได้มาจากประสบการณ์เปิดโรงแรมแห่งแรกมาใช้ นั่นคือการให้ความสำคัญกับชื่อโรงแรม เพราะชื่อที่เหมาะสมจะนำมาซึ่งจินตภาพของหญิงสาวที่ชัดเจน อันจะกลายมาเป็นคาแรกเตอร์และรายละเอียดของโรงแรมในที่สุด เหมือนกับ “บุราส่าหรี” ที่กลายเป็นภาพสาวไทยผมยาวแต่ยาวไม่มาก ยิ้มเก่งดูไม่เย่อหยิ่ง มีบุคลิกอ่อนหวานและอ่อนโยน ซึ่งนำมาสู่คาแรกเตอร์ของโรงแรมที่มีองค์ประกอบการดีไซน์เป็นสถาปัตยกรรมที่เน้นสัมผัสกับธรรมชาติ ประกอบกับผ้าพลิ้วไหว และบริการที่เน้นความเป็นไทย

ขณะที่เซี่ยงไฮ้ อินน์นับว่าโชคดีกว่าที่ไม่ต้องใช้จินตนาการสูง เพราะลิลลี่ได้ไปเจอรูปภาพหญิงสาวที่เหมาะจะมาเป็นต้นแบบคาแรกเตอร์ของโรงแรมแห่งนี้โดยบังเอิญ เธอจึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการวางภาพรวมคอนเซ็ปต์ของโรงแรมตั้งแต่ต้น

ภาพดังกล่าวเป็นภาพของสาวหมวยผมดัดลอนในชุดกี่เพ้า ดูมีชาติตระกูล มีรสนิยม มีความมั่นใจใน ตัวเอง มีลุคทันสมัยตามกระแสแฟชั่นแต่ก็ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดี หากดูเผินๆ อาจทำให้สาวกละครเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้นึกไปถึง “เฝิงเชิงเชิง” นางเอกในเรื่องนี้ก็เป็นได้

ภาพรีเซฟชั่นสาวในชุดกี่เพ้าหลังเคาน์เตอร์ไม้สีเข้ม เมื่อบวกกับเก้าอี้บุหนังและโซฟาเบดดูทันสมัย ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมและการตกแต่งที่ส่งกลิ่นอายความเป็นจีน ยิ่งทำให้ล็อบบี้ของโรงแรมแห่งนี้ดูคล้ายกับฉากในบ้านหรูของ “สี่เหวินเฉียง” หรือพระเอกในละครเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้

“เวลาพูดถึงหนังจีน คนไทยจะนึกถึงแต่เจ้าพ่อ เซี่ยงไฮ้ พอพูดถึงเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ปุ๊บ ดูเหมือนทุกคนจะนึกออกเลยว่าสถาปัตยกรรม การแต่งตัว วิถีชีวิต จะออกมาเป็นยังไง ภาพลอยมาเลย ไม่ต้องอธิบายมาก”

ลิลลี่เลือกที่จะนำเอาความเป็นเซี่ยงไฮ้ในยุค 1930s ที่สถาปัตยกรรม ศิลปะ แฟชั่น และวิถีชีวิตของคนยุคนั้นได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสเข้าไปผสมค่อนข้างมาก โดยเอกลักษณ์ความเป็นเซี่ยงไฮ้ภายใต้อาณานิคมหลายอย่าง คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดีผ่านฉากละครจีนเรื่องเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ที่ถูกนำมาฉายซ้ำอยู่บ่อยครั้ง

ความหรูหราสไตล์จีนที่มีกลิ่นอายโมเดิร์นแห่งยุคทองของเซี่ยงไฮ้ในอดีต (Golden Shanghai Oldies) ถูกแทรกอยู่ในดีไซน์ห้องพักและเกือบทุกพื้นที่ของโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นโซฟาเบด ผ้าม่านกำมะหยี่ อ่างอาบน้ำขนาดใหญ่ และโคมไฟระย้า เป็นต้น

ขณะเดียวกันวิถีชีวิตคนจีนยุคเก่าของชาวเยาวราชบางส่วนยังถูกนำมาผสมผสานอยู่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ภายในโรงแรมแห่งนี้ เช่น อ่างล้างหน้าแบบอากงอาม่า โคมกระดาษ และระเบียงทางเดินที่มีดีไซน์ และสีสันฉูดฉาดรุนแรงดูคล้ายวัดจีน เป็นต้น

ไม่เพียงของตกแต่งที่กล่าวมา ภาพวิถีชีวิตเก่าๆ ของเยาวราชที่นำมาประดับ สลับกับภาพเขียนสีรูปซูสีไทเฮา รูปสาวหมวยในชุดกี่เพ้า และรูปดอกโบตั๋น ก็เป็นอีกสิ่งที่ช่วยสร้างอารมณ์ของความเป็นจีนโบราณให้คละคลุ้งทั่วโรงแรม

“เรื่องการตกแต่ง เราให้ฝรั่งทำ เพราะถ้าให้คนไทยทำอาจจะไม่สะใจเท่า เนื่องจากคนไทยเวลาดูเมืองจีนหรือความเป็นจีนเราจะรู้สึกเฉยๆ แต่ขณะที่เวลาฝรั่ง เห็น เขาจะสนใจในทุกมิติ เขาจึงสามารถดึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ออกมาทำให้ดูโดดเด่นและดูแรงได้”

นอกจากดีไซน์ในแง่ของบริการลิลลี่ได้ยึดคอนเซ็ปต์ “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” มาใช้เป็นมาตรฐานบริการที่เธอนิยามว่า “Feel Noble @home” ผ่านการบริการอย่างใกล้ชิดราวกับบัตเลอร์ส่วนตัว

จากจุดเริ่มต้นที่ไม่มั่นใจว่าจะมีลูกค้าไฮเอ็นด์ยอมจ่ายค่าที่พักเฉลี่ยคืนละเกือบครึ่งหมื่น ในทำเลอย่างเยาวราช ซึ่งไม่ใช่แหล่งที่ตั้งของโรงแรม 5 ดาว เมื่อแรกเปิดตัวโรงแรมเซี่ยงไฮ้ อินน์ ในปี 2549 ลิลลี่จึงสร้างเพียงห้องพักแบบ Superior ในจำนวนราว 50 ห้อง ใช้พื้นที่เพียง 2 ชั้นของอาคาร

ด้วยดีไซน์ที่แปลกตาราวกับหลุดเข้าไปในฉากละครเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้หรือทะลุมิติไปอยู่ใน เซี่ยงไฮ้ยุค 1930s บวกกับบริการระดับ 5 ดาว จึงได้ผลตอบรับดีเกินคาด จนลิลลี่เริ่มรู้สึกว่า เซี่ยงไฮ้ อินน์คงเล็กไปแล้ว

“พอทำไปเรื่อยๆ ลูกค้าจะเป็นคนบอกเราว่าพวกเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และจากจุดนี้ก็ทำให้เรารู้ว่า สำหรับลูกค้าของเรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป เขามองว่าถ้าโรงแรมดีจริงๆ มากกว่านี้เขาก็ยอมจ่ายเพื่อสไตล์ที่จะตอบสนองไลฟ์สไตล์ของเขา”

ปลายปี 2551 ลิลลี่จึงตัดสินใจขยายพื้นที่ โรงแรมไปสู่ชั้น 2 ชั้น 3 และชั้น 6 ทันทีที่ผู้เช่า เดิมหมดสัญญากับเจ้าของอาคาร 6 ชั้นแห่งนี้ ดังนั้นอาคารแห่งนี้จึงมีเพียงชั้นล่างที่ยังเป็นท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนชั้นที่เหลือเป็นพื้นที่โรงแรมบูติกของเธอ ในชื่อใหม่ “เซี่ยงไฮ้ แมนชั่น”

นอกจากจำนวนห้องที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 70 ห้อง เซี่ยงไฮ้ แมนชั่นยังมาพร้อมกับความทันสมัย และความสง่างามในแบบจีนเซี่ยงไฮ้ยุคโคโลเนียลเพิ่มขึ้น โดยเริ่มสร้างกลิ่นอายกันตั้งแต่ล็อบบี้บนชั้น 2

ขณะที่ส่วนหลังของชั้น 2 และชั้น 3 ถูกปรับเป็นห้องพักระดับดีลักซ์และห้องสูทที่ดูหรูหรายิ่งขึ้น โดยเฉพาะระเบียงใหญ่หน้าห้องสำหรับนั่งเล่นเกมหรือจิบน้ำชา ปล่อยอารมณ์ไปกับเสียงน้ำไหลจากบ่อปลาขนาดใหญ่ที่ลิลลี่ตั้งใจเนรมิตไว้กลางชั้น 2 เพื่อเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลายราวกับอยู่บ้าน

ยามบ่ายของวันเสาร์-อาทิตย์ และในโอกาสพิเศษ ที่ริมบ่อน้ำแห่งนี้จะมีสาวสวยในชุดกี่เพ้ามานั่งบรรเลงเพลงกู่เจิงให้ลูกค้าได้ปลดปล่อยอารมณ์อย่างสุนทรีไปเสียงใสๆ ของเครื่องดนตรีจีนชิ้นนี้

นอกจากนี้ ลิลลี่ยังได้สร้างกิมมิคเพื่อเชื่อมโยงกับความเป็นเยาวราช ด้วยการเปลี่ยนชื่อเรียกคลาสห้องพักแบบใหม่โดยใช้ชื่อดอกไม้จีนโบราณ “Mei Hua” หรือดอกบ๊วยแทนห้องซูพีเรีย “Ying Hua” หรือดอกซากุระแทนห้องดีลักซ์ ส่วนห้องสูทที่จัดว่าหรูที่สุดแทนด้วย “Mu Dan” หรือดอกโบตั๋น ซึ่งว่ากันว่าเป็นดอกไม้ตระกูลฮ่องเต้และเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้ดี

พร้อมกันนี้ยังมีการปรับปรุงบางส่วนบนชั้น 3 เป็นห้องอาหารหรูสำหรับคนรักแจ๊ซ หรือ “แจ๊ซบาร์” โดยใช้ชื่อ “COTTON” ชื่อเดียวกับแจ๊ซบาร์ชื่อดังของนิวยอร์ก ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างสูงในหมู่คนรักแจ๊ซแห่งยุค 1930s อันเป็นยุคร่วมสมัยกับช่วงเวลาในละครเจ้าพ่อ เซี่ยงไฮ้

“ย่านเยาวราชยังไม่มีบาร์หรือร้านเหล้าที่ฟังดนตรีแจ๊ซดีๆ สดๆ ได้ เราก็คิดว่าตรงนี้น่าจะมาเสริมวัฒนธรรมแบบนี้ให้กับย่านนี้ได้”

ขณะที่ลิลลี่คาดหวังว่า COTTON Jazz Bar จะเป็นอีกไลฟ์สไตล์ที่ช่วยยกระดับภาพลักษณ์ความหรูให้กับเยาวราช ในเวลาเดียวกันเธอก็ใช้จุดแข็งในเรื่องความเป็นแหล่ง รวมสุดยอดความอร่อยจากร้านอาหารชื่อดังของเยาวราชมาเป็นจุดขายให้กับ COTTON ด้วยบริการสั่งอาหารจากร้านอร่อยในเยาวราชมาขึ้นโต๊ะเสิร์ฟ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องลำบากไปสืบค้นและเสาะหาเอง

สำหรับชั้น 4 และชั้น 5 ยังคงเป็นห้องพัก บางส่วนบนชั้น 5 ถูกจัดเป็นแกลเลอรี สำหรับจัดแสดงวัฒนธรรมเกี่ยวกับความเป็นจีนและความเป็นเยาวราชที่เกี่ยวเนื่องกับด้านศิลปะ ดนตรี และอาหาร

ส่วนชั้น 6 ปรับปรุงเป็นฟังก์ชันสำหรับงานแต่งงานแบบจีน ซึ่งเป็นไอเดียที่ต่อยอด จากความนิยมของคู่บ่าวสาวเชื้อสายจีนที่มักติดต่อมาขอใช้สถานที่ของโรงแรมเพื่อถ่ายรูปคู่แต่งงาน

เกือบ 5 ปีที่ลิลลี่ใช้เวลาพิสูจน์ว่า ไชน่าทาวน์เมืองไทยก็สามารถมีโรงแรมบูติกดีๆ เดิ้นๆ ที่สามารถขายห้องพักคืนละเกือบหมื่นได้เหมือนกัน ขอแค่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจนและทำการบ้านมาดีพอ ทว่า ความฝันที่จะยกระดับภาพลักษณ์ของเยาวราชให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน เฉกเช่นไชน่าทาวน์ของหลายประเทศ ยังอาจต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่านี้

“ตอนนี้เหมือนมีเราทำอยู่คนเดียว อยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้ามาช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้เยาวราชร่วมกัน” ลิลลี่กล่าวด้วยความหวังว่า ความสำเร็จจากมนต์เสน่ห์ของ “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” ที่ถ่ายทอดผ่านโรงแรมของเธอ อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นอยากเข้ามาร่วมขับเคลื่อนยกระดับเยาวราชร่วมกับเธอ ก็เป็นได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.