Greening the GDP

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

การพัฒนากับความเสื่อมโทรมของทรัพยากร

สองคำนี้ฟังดูน่าจะอยู่ตรงข้ามกัน การพัฒนาหมายถึงการสร้างสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เจริญขึ้น ส่วนความเสื่อมโทรมก็อย่างที่เห็นๆ กัน เมื่อใช้อะไรไปมากขึ้นๆ ก็สูญสลายหรือเสื่อมโทรมไป ในการพัฒนาประเทศจึงต้องมีการวางแผนจัดการให้เกิดการขยายตัวและการยกระดับความเป็นอยู่โดยมีการเสื่อมโทรมน้อยที่สุด และถ้าทำได้ก็ต้องทำให้เกิดการหมุนเวียนคืนรูปให้มากที่สุด

ที่นำเรื่องนี้มาสาธยายในที่นี้ ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง วิถีทางหนึ่งที่จะแก้ไขได้คือ การพัฒนาเพื่อลดความยากจน และเพิ่มความเท่าเทียมกัน ฟังดูง่าย แต่ทำยาก อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารประเทศก็ควรจะลองทำดูให้ได้มากที่สุด ก่อนอื่นเราควรจะต้องมาพิจารณาดูประเด็นปัญหาที่เป็นสาเหตุหลักของบ้านเรา

ความยากจน ถ้าเราคิดดูดีๆ มิใช่มีความหมายแต่เพียงการขาดแคลนเงินทองเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงการขาดแคลนปัจจัยที่จะทำมาหากิน ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก และความเท่าเทียมกันก็มิได้หมายความว่าทุกคนจะต้องมีทรัพย์สินเท่ากัน แต่หมายถึงการมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร การได้รับความยุติธรรมในการทำกินอย่างเหมาะสมเท่ากัน โดยมิต้องแลกมาด้วยเงินทอง เพราะทุกคนเกิดและเหยียบแผ่นดินไทยด้วยน้ำหนักเท่าๆ กันการพัฒนาเพื่อขจัดความยากจนได้ จึงมิใช่การให้เงินให้ทอง หากจะต้องเป็นการให้โอกาสเข้าถึงทรัพยากร เพื่อให้ชาวบ้านท้องถิ่นใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งการให้ความเท่าเทียมกันในการแสวงหาโอกาส อันมีการศึกษาเป็นสำคัญ การพัฒนาการศึกษาและสังคมจะทำให้ประเทศมั่นคงได้อย่างยั่งยืน

แต่ที่ทุกๆ คนต้องตระหนัก คือการพัฒนาทางเศรษฐกิจและยกระดับความสะดวกสบายทันสมัยนั้นต้องแลกมาด้วยทรัพยากร ซึ่งมีขีดความสามารถที่ให้ได้จำกัด จำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบเหมาะสมเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้าถึง และระวังมิให้การใช้ประโยชน์กระจุกอยู่กับคนกลุ่มที่มีเงินทุนหรือมีอำนาจอยู่เพียงไม่กี่คน แหล่งทรัพยากรหลายอย่างสามารถหมุนเวียนคืนรูปได้ด้วยการฟื้นฟูหรือด้วยวัฏจักรธรรมชาติ จึงสามารถบริหารจัดการได้หากมีการวางแผนที่คำนึงถึงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่แนวโน้มของสังคมโลก คือ ระบบทุนนิยมในปัจจุบัน มีการผลิตเพื่อแข่งขันกันทั้งทางด้านคุณภาพและราคา โดยคำนึงถึงแต่ในด้านเศรษฐกิจและไม่นึกถึงขีดความสามารถอันจำกัดของแหล่งทรัพยากร ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรเกินขอบเขต จึงจำเป็นต้องถูกเบรกด้วยรสนิยม แห่งความพอเพียง ซึ่ง! โชคดีที่กระแสนี้กำลังก่อตัวขึ้นทีละน้อย

การพัฒนาที่ชี้วัดด้วย GDP

โดยทั่วไปประเทศต่างๆ จะประเมิน ความสำเร็จของการพัฒนาด้วยตัวชี้วัดที่เรียกว่า GDP โดยคิดจากผลรวมของผลผลิตทั่วประเทศ ปัจจุบันนักสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงเริ่มตระหนัก เริ่มทักท้วงกันว่า GDP มิได้สะท้อนให้เห็นการพัฒนาที่แท้จริง เพราะมิได้รวมความเสื่อมโทรมของแหล่งทรัพยากรและผลกระทบเข้าไปในต้นทุนการผลิตด้วย จำเป็นจะต้องมีการปรับปลี่ยน เรียกว่า “greening the GDP”

การปรับ GDP ลักษณะนี้จำเป็นต้องหาทางประเมินความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ด้วยปัญหาว่าจะตีราคามูลค่าของแหล่งทรัพยากรพื้นฐานอย่างไร ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำ มีคุณค่าเท่าชีวิต เมื่อเกิดการขาดแคลนและอาจไม่มีคุณค่าเลย เมื่อมีอยู่ดาษดื่น หรือไม่มีการใช้ประโยชน์ การดำเนินการด้วยวิธี “greening the GDP” อาจทำให้อุตสาหกรรมการผลิตหลายๆ อย่างรวนเรไป จึงเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ยังรอการตัดสินใจของหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค อันที่จริง การรวมตัวของนานาประเทศในเรื่อง climate change เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการประกาศตัวของประเทศที่ก้าวหน้าอย่างญี่ปุ่น เยอรมนี เพื่อเป็น “low-carbon society” และการดำเนินการอย่าง “carbon footprint” ก็อาจเรียกได้ว่า เป็นจุดเปลี่ยนอันหนึ่งที่เข้าสู่ภาพที่แท้จริงของการพัฒนา

แม้แต่ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา การเพิ่มขึ้นของ GDP ก็มิได้หมายความว่า รายได้ในกระเป๋าของแต่ละบุคคลจะเพิ่มตามไปด้วย จากรูปจะเห็นได้ว่า GDP ที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงในช่วงทศวรรษ 1980-2000 ทำให้การใช้พลังงานเพิ่มสูงตามไปด้วย โดย GDP/บุคคล เพิ่มขึ้นตามไปแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนที่หายไปได้กลายเป็นส่วนที่เพิ่มความมั่งคั่งให้แก่กลุ่มทุนเพียงไม่กี่คน

กรณีของทรัพยากรที่หดหาย อาจเห็นได้ชัดจากปริมาณการจับปลา หรือการทำประมงในทะเลต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติก อินเดีย แปซิฟิก โดยเฉพาะในย่านเขตร้อน ล้วนมีปริมาณปลาลดลงอย่างมาก เตือนให้มนุษย์เรารู้ตัวว่า ถึงเวลาแล้วที่จำเป็นต้องมีการอนุรักษ์ทรัพยากร ควบคุมจำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น (เพิ่มจำนวนประชากรสัตว์น้ำที่ลดลง) และลดความมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขในส่วนที่เหนือกว่าความพอเพียง นั่นหมายถึงคนร่ำรวยที่มีเหลือกินเหลือใช้ต้องเสียสละบ้าง ผู้เขียนมิได้หมายความเลยไปถึงการปฏิวัติสังคมแบบลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่พยายามจะส่งสัญญาณว่า จะต้องมีการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากร และการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพกันอย่างจริงๆ จังๆ ทุกภาคส่วน มิใช่เพียงแต่พูดกันลอยๆ ในสังคมอุดมการณ์ วิธีที่จะปฏิบัติได้ผล คือ การเข้าหาผู้บริโภคและผู้ผลิต ด้วยการกระตุ้นจิตสำนึก ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการขจัดความยากจนในสังคมด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรไว้ให้ชาวบ้านท้องถิ่นได้ทำมาหากิน

จากรูปที่ 3 สังคมของประเทศร่ำรวยที่กินเนื้อเป็นหลัก มีการใช้ทรัพยากรมากกว่าสังคมที่กินพืชเป็นหลัก ถึง 10 กว่าเท่าตัว ดูได้ง่ายๆ จากทรัพยากรพื้นฐาน คือ น้ำ น้ำมัน ที่ดิน ที่ใช้ในการผลิตอาหาร นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ให้ความเห็นว่า แนวโน้มในอนาคต ประเทศที่มั่งคั่งก็จำเป็นต้องลดการบริโภคลง มีความพอเพียงมากขึ้น จึงจะอยู่รอด ส่วนประเทศที่พอเพียงอยู่แล้วก็ต้องเข้าใจว่า ความมั่งคั่งและความยั่งยืน ที่แท้จริงนั้น มิใช่มาจากสิ่งของฟุ่มเฟือย แต่มาจากทรัพยากรที่มีอยู่ให้รุ่นลูกรุ่นหลานใช้ และความยากจนก็อาจลดลงได้ด้วยการฟื้นฟูทรัพยากรและการบริหารจัดการที่ดี การบริโภคเหลือกินเหลือใช้เป็นสาเหตุโดยตรงของความเสื่อม โทรมและของเสียที่เพิ่มขึ้น แม้จะทำให้สภาพเศรษฐกิจดีขึ้นก็ตาม (จากการหมุน เวียนของเงินตรา) ก็เป็นเพียงภาวะชั่วคราว มิใช่สภาพของความยั่งยืนโดยแท้จริง

รถประหยัดพลังงาน (eco-car) ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศได้จริงหรือ

คำถามนี้มิได้ตั้งข้อสงสัยในเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่อย่างใด แต่มีรายงานการสำรวจที่น่าสนใจอันหนึ่งชี้ให้เห็นว่า การผลิตรถ hybrid และ eco-car ออกมาสู่ตลาดเมื่อไม่กี่ปีมานี้ มิได้ช่วยให้เกิดการลดการใช้น้ำมันได้อย่างที่คาดหมาย ด้วยเหตุที่ว่า ผู้คนยังไม่สำนึกถึงความพอเพียงเท่าที่ควร

ในสหรัฐฯ ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์สามารถประหยัดน้ำมันได้ถึง 45% (จากรถที่เคยวิ่งได้ 13 ไมล์/แกลลอน ในปี 1973 มาเป็นรถที่วิ่งได้ 22 ไมล์/แกลลอน ในปี 2003) ซึ่งน่าจะประหยัดพลังงานของประเทศได้มาก แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการที่ผู้ใช้รถรู้สึกว่า รถสามารถประหยัดน้ำมันได้ ทำให้มีการใช้รถนานขึ้น ไกลขึ้น บ่อยครั้งขึ้น หรือไม่ก็ซื้อรถเพิ่มอีกคันหนึ่ง ด้วยนิสัยชอบบริโภคยังคงอยู่ในสังคม ข้อมูลนี้อาจจะเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ผู้บริหารกระทรวงพลังงานได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการส่งเสริมการผลิต eco-car ให้กับบริษัทผู้ผลิต แต่มีข้อกำหนดให้ผลิตออกมาเยอะๆ ราคาถูกๆ โดยมิได้ประมวลถึงผลดีผลเสียโดยรวมของประเทศและการใช้รถในภูมิภาค แทนที่จะเกิดการประหยัดน้ำมันนำเข้ากับประเทศ กลับกระตุ้นให้เกิดการบริโภคนิยมมากขึ้น

ผู้เขียนตระหนักดีว่า รัฐบาลโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ กำลังวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฉบับใหม่ (ฉบับที่ 11) โดยนำเอาแนวคิดของความพอเพียงเข้ามาบูรณาการร่วมกับฐานทรัพยากรชีวภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้เขียนเชื่อว่า หากแผนนี้ถูกดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมจะลดช่องว่างความยากจนเนื่องจากขาดโอกาส ขาดความเท่าเทียมกัน ทรัพยากรเสื่อมโทรมลงไปได้มาก ในขณะเดียวกันก็ลดความวุ่นวาย ความไม่สงบจากการก่อหวอดชุมนุมเรียกร้องลงไปได้ด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.