วันชัย คุณานันทกุล ส่งออกคอนเทนเนอร์ทั่วโลก


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

"เวลา-วารีมักไม่คอยใคร" วันชัย คุณานันทกุล เจ้าของกลุ่มสยามสตีลก็คิดเช่นนั้นแทนที่จะนั่งรถ วันชัยกลับขับเรือเร็วลำเล็กชื่อ "สยามสตีล" วิ่งฉิวตัดกระแสน้ำเจ้าพระยามุ่งหน้าสู่โรงแรมแชงกรี-ลา ที่ซึ่งค่ำคืนนั้นวันชัยต้องเป็นตัวหลักในงานฉลองเปิดบริษัทใหม่ "สยามคาร์โก้ คอนเทนเนอร์" หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า "เอสซีจี"

สยามคาร์โก้ คอนเทนเนอร์ เกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสยามสตีลกับคู่ค้าที่ติดกับคู่ค้าที่ติดต่อธุรกิจระหว่างประเทศกันมานาน ดังนั้นหุ้นส่วนในบริษัทสยามคาร์โก้ คอนเทนเนอร์จึงประกอบด้วยสามยักษ์ใหญ่ในแต่ละสาขา

หนึ่ง-บริษัทสยามสตีล กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนลถือหุ้น 55 % และสยามสตีล เซอร์วิสเซนเตอร์ถือหุ้น 10 % กลุ่มสยามสตีลจัดเป็นกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเหล็กที่ใหญ่มากของไทย โดยเริ่มต้นชื่อเสียงจากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์เหล็ก ยี่ห้อ "ลักกี้" และ "คิงด้อม" ที่ฉีกแนวจากผู้ผลิตเหล็กแล้วแตกตัวไปสู่กิจการยักษ์ใหญ่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็กมากมาย

สอง-บริษัท HYUNDAI PRECISION & INDUSTRY (HDPIC) และฮุนได คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่คอนเทนเนอร์จากเกาหลีใต้ถือหุ้น 10 % ทำหน้าที่ช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีการผลิตและการขายตู้คอนเทนเนอร์

ฮุนไดเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดตู้คอนเทนเนอร์ 40 % ของตลาดโลก ที่มีกำลังผลิตต่อปีจำนวน 180,000 ทีอียู ป้อนสินค้าแก่บริษัทชิปปิ้งและบริษัทลิสซิ่งชั้นนำของโลก

สาม-บริษัทมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่ทางการค้าแห่งญี่ปุ่นถือหุ้น 25 % มีสำนักงานการค้าทั่วโลก 173 แห่ง ทำหน้าที่บริหารด้านการตลาดและการบริการหลังขายโดยมีบริษัทในเครือคือเอ็น วาย เค ซึ่งเป็นบริษัทชิปปิ้งทำหน้าที่บริการลิสซิ่งในต่างประเทศด้วย

"เราคัดเลือกผู้ร่วมทุนที่มีพลังทางเศรษฐกิจในแต่ละสาขาและพร้อมจะร่วมกันทำงานเช่น ฮุนไดซึ่งเป็นเจ้าตลาด ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมิตซูบิชิก็เป็นเทรดดิ้งเฟิร์มที่ใหญ่มาก พูดง่าย ๆ ทั้งเราและเขาต่างก็สนใจซึ่งกันและกัน ถึงได้แต่งงานกัน" อนันตชัย คุณานันทกุล กรรมการรองผู้อำนวยการน้องชายวันชัยเปิดเผยถึงเบื้องหลังการร่วมทุน

เงินลงทุนมหาศาลมูลค่า 55.53 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1400 ล้านบาทในโครงการยักษ์ใหญ่นี้ ได้ทุ่มเทลงไปเพื่อผลิตตู้คอนเทนเนอร์ป้อนตลาดโลก ตามเป้าหมายในแต่ละปีต้องให้ได้ถึง 60,000 ทีอียู โครงการนี้วันชัยได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอตั้งแต่ปี 2532

"ปริมาณคาร์โกที่ผ่านท่าเรืองกรุงเทพได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่าในระยะห้าปีที่ผ่านมา และตู้คอนเทนเนอร์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.6 เท่า โดยเฉพาะในส่วนของการส่งออกตู้คอนเทนเนอร์ที่ตลาดโตเป็นสามเท่า จากเหตุผลด้านการค้าและความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้นทำให้ สยามคาร์โก้ คอนเทนเนอร์ต้องเกิดขึ้น และคาดว่าปีต่อไปจะเติบโตถึงปีละ 20 % วันชัย คุณานันทกุล กรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มสยามสตีลเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังการก่อตั้งกิจการนี้

วันชัยได้เลือกเอาทำเลที่ตั้งโรงงานสยามคาร์โก้ฯ บนเนื้อที่ 99,200 ตารางเมตรไว้ที่ถนนบางนา-ตราด กม.37 เป็นการเลือกทำเลที่เหมาะสม เพราะใกล้ท่าเรือคลองเตยและแหลมฉบัง สนามบินดอนเมืองและสนามบินอู่ตะเภา ตลอดจนไม่ห่างจากท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดเท่าไรนัก ทำให้สะดวกต่อการนำเข้าวัตถุดิบเหล็กซึ่งมาจากญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ บางส่วนจากเกาหลี มาเลเซียและอินโดนีเซีย ขณะเดียวสามารถส่งออกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ให้ลูกค้าอย่างรวดเร็ว

"เราส่งออกตู้คอนเทนเนอร์ไปยังทั่วโลก โดยลูกค้าเป็นยุโรปอเมริกาที่ซื้อของเรามาก แต่เขาจะไม่เอาตู้ไปเปล่า ๆ แต่ละบรรทุกสินค้าจากไทยไปทางญี่ปุ่นหรือยุโรปอเมริกาด้วย" วันชัยเล่าให้ฟัง

ตลาดลูกค้าของสยามคาร์โก้ คอนเทนเนอร์ จะเป็นบริษัทลิสซิ่งปล่อยสินเชื่อตู้คอนเทนเนอร์แถบประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น หน้าที่หาตลาดนี้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ชื่อ ฮิโรยูคิ ฮิราโน่ ที่มิตซูบิชิ คอร์ปฯ ส่งมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด โดยอาศัยเครือข่ายมิตซูบิชิ คอร์ปที่มีสำนักงานทั่วโลก 173 แห่ง

"ในไตรมาสแรกของปี 2535 นี้เราได้ออร์เดอร์จากลูกค้าแล้วจำนวนถึง 3,000 ทีอียู และตั้งเป้าหมายรายได้ต่อปีจะต้องได้ 100 ล้านเหรียญ โดยปีแรกจะมีกำลังผลิตประมาณ 20,000 ทีอียู. สินค้าของเราจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต และ 40 ฟุต โดยส่วนแบ่งตลาดของตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต จะมากถึง 60 % และที่เหลือ 40 % เป็นของ 40 ฟุต" ฮิราโน่ ผอ.การตลาดเปิดเผยถึงตลาดตู้คอนเทนเนอร์

นอกจากตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐาน 20 ฟุต/40 ฟุตแล้ว สยามคาร์โก้ฯ ยังผลิตตามแบบพิเศษที่ลูกค้าต้องการอีกด้วย อาทิเช่น แบบ BULK, VENTILATED, OPEN TOP, REEFER, ARMORY, FLAT FORM และแบบมินิ

คู่แข่งรายสำคัญของสยามคาร์โก้ฯ ในไทยที่ผลิตตู้คอนเทนเนอร์ มีอยู่สองบริษัทคือบริษัทบางกอก คอนเทนเนอร์ อินดัสทรี หรือ "บีซีไอ" และบริษัทสยาม ยูเนียน คอนเทนเนอร์ "เอสยูซี" บีซีไอถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในไทยที่มีประสบการณ์มาแล้วกว่า 3 ปี เพราะเปิดตั้งแต่ปี 2531 ส่วนเอสยูซีเป็นบริษัทใหม่เพิ่งจะเริ่มผลิตได้ในปีที่แล้ว

"แต่ในอนาคต สยามคาร์โก้ฯ เราจะต้องเป็นผู้นำตลาด" ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดชาวญี่ปุ่นกล่าวอย่างมั่นใจในศักยภาพบริษัทซึ่งมีฮุนได ยักษ์ใหญ่ตู้คอนเทนเนอร์ของโลกหนุนหลังอยู่

แผนการลงทุนของกลุ่มสยามสตีลยังเดินหน้าขยายตัวไปอย่างสม่ำเสมอในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยมีวันชัย คุณานันทกุลเป็นหัวเรือใหญ่วางแผนจังหวะก้าวทางธุรกิจอุตสาหกรรมไปในทิศทางที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเหล็ก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.