Like

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าเราสังเกตเว็บไซต์ที่เราใช้อยู่ประจำดีๆ นะครับ ไม่ว่าจะเป็นบริการเกี่ยวกับเพลง เกี่ยวกับหนัง เช่น IMDB, ข่าวจาก CNN, เครื่องสำอางใน Sephora. com, กางเกงยีนส์ Levi’s รวมถึงสินค้าและบริการต่างๆ อีกมากมาย ได้เริ่มเอาฟังก์ชันสำคัญอันหนึ่งของเฟซบุ๊กเข้ามาใส่ไว้คือ ปุ่ม Like ซึ่งถ้าเรารู้สึกชอบ ชื่นชม หรือปลื้มใจอะไรก็ตามกับข่าว, เพลง, ภาพยนตร์ รวมถึงสินค้าใดๆ เราก็เพียงแค่กดปุ่ม Like เท่านั้น ความรู้สึกของเราจะถูกลิงค์เข้ากับข้อมูลในเฟซบุ๊กของเรา และส่งผ่านความรู้สึกเหล่านี้ไปยังมวลหมู่เพื่อนๆ ของเรา ทำให้เพื่อนๆ ของเราในเฟซบุ๊กรับรู้ถึงความรู้สึกชื่นชมต่อสินค้าหรือบริการนั้นๆ ทันที

บางเว็บไซต์อย่างเช่น Levi’s ถึงกับจัดกิจกรรมกับปุ่ม Like ของเฟซบุ๊กอย่างจริงจัง โดยมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ของ Levi’s และชักชวนให้คนเข้าไปคลิกปุ่ม Like นี้ และแสดงสถิติของการคลิกปุ่ม Like เพื่อแสดงความชื่นชอบในรูปแบบแต่ละรุ่นของกางเกงยีนส์ Levi’s อย่างจริงจัง

หลายๆ คนมองว่าปุ่ม Like กำลังจะทำให้เฟซบุ๊กยึดโลกอินเทอร์เน็ตแทนกูเกิ้ลที่เคยถูกมองไว้มาก่อน

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือที่ใดๆ ก็ตามถูกมองว่าสร้างขึ้นให้อยู่ใน walled gardens ซึ่งหมายถึงว่าเครือข่ายเหล่านั้นจะอยู่ในพื้นที่ปิดที่ไม่ยอมให้คนนอกเข้ามาได้ง่ายๆ นั่นคือผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจะไม่สามารถสื่อสารหรือแบ่งปันข้อมูลใดๆ กับเพื่อนๆ ข้ามเครือข่ายได้ อย่างไรก็ตาม ตามธรรมชาติของ walled gardens คนหรือสิ่งใดๆ ที่อยู่ภายในกำแพงนั้นก็จะพยายาม ข้ามหรือทลายกำแพงเพื่อออกมาสู่โลกภายนอก นั่นคือ กำแพงนั้นจะไม่สามารถอยู่ได้ตลอดไป ซึ่ง Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กและพันธมิตรก็คงเห็นถึงอันตรายนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตลอด 2-3 ปีหลังที่ผ่านมาเฟซบุ๊กค่อยๆ เปิดตัวเองสู่บริการภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เฟซบุ๊กก็ไม่ได้ทำลายกำแพงลงเสียทีเดียว แต่พวกเขาค่อยๆ ขยายมันโดยการชักชวนคนอื่นๆ ให้เข้ามาอยู่ในกำแพงของพวกเขาแทน เป็นการทำให้เส้นแบ่งระหว่าง เฟซบุ๊กและอะไรที่ไม่ใช่เฟซบุ๊กเริ่มลางและจางลงเรื่อยๆ

ทุกวันนี้ เราสามารถติดต่อเชื่อมโยงกับเฟซบุ๊กแม้เราจะอยู่ห่างจากเฟซบุ๊กหรือไม่ได้เข้าเฟซบุ๊กเลยก็ตาม โดยเฟซบุ๊กไม่ได้มีเพียงแค่ปุ่ม Like เท่านั้น แต่พวกเขายังมี plugin ของเฟซบุ๊ก อีกมากมายที่คอยเชื่อมโยงกับโลกภายนอก

จริงๆ แล้ว ปุ่มในลักษณะเดียวกับปุ่ม Like ของเฟซบุ๊กมีใช้ในหลายๆ เว็บไซต์มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้คะแนนความเห็นในเว็บข่าวของผู้จัดการเอง โดยถ้าใครเห็นว่าความเห็นในข่าวใดๆ น่าสนใจหรือรู้สึกชอบ สามารถให้คะแนนโดยการคลิกปุ่มยกนิ้วโป้งขึ้น หรือถ้าไม่เห็นด้วยก็คลิกปุ่มยกนิ้วโป้งชี้ลงได้ ซึ่งความเห็นที่เป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดจะแสดง เป็นความเห็นพื้นสีเหลืองห้าอันดับแรกในเนื้อข่าวนั้นๆ รวมถึงการโหวตความเห็นหรือกระทู้ต่างๆ ในเว็บบอร์ดต่างๆ มากมาย

แต่ความแตกต่างที่สำคัญก็คือการให้คะแนนในเว็บอื่นๆ นั้นเป็นเพียงกิจกรรม ในเว็บนั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้เผยแพร่ให้คนอื่นรู้อย่างแพร่หลาย ในขณะที่การกดปุ่ม Like ของเฟซบุ๊กจะมีการลิงค์ข้อมูลไปแสดงให้เพื่อนๆ ในกลุ่มที่ใช้เฟซบุ๊กได้รับรู้ด้วย ซึ่งถือเป็นการใช้ความสามารถและเครือข่ายของเฟซบุ๊กได้อย่างตรงจุดอย่างแท้จริง แม้ก่อนหน้านี้จะมีเว็บอย่าง Twitter, Digg, Yahoo และอีกหลายๆ เว็บไซต์ที่ทำ Plugin ให้ใช้ในเว็บต่างๆ สำหรับการแชร์ข้อมูลระหว่างกันก็ตามแต่ก็ยังไม่ตรงจุดเสียทีเดียว

Zuckerberg เพิ่งเปิดตัวปุ่ม Like นี้อย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา นี้เอง Zuckerberg เล่าถึงการประชุม Facebook f8 ซึ่งเป็นการประชุมประจำปี ซึ่งจัดขึ้นโดยเฟซบุ๊กโดยมีเป้าหมายให้เหล่านักพัฒนา นักลงทุน รวมถึงผู้ประกอบการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์แนวสังคม ออนไลน์ทั้งหลาย โดยเฉพาะเป็นการมาพูดคุยถึงอนาคตของเทคโนโลยีในวงการนี้โดยเฉพาะ ในงานวันนั้น Zuckerberg พูดถึงกราฟเครือข่ายซึ่งเป็นกราฟที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของคนคนหนึ่งที่มีต่อคนอื่นๆ รอบๆ ตัวเขารวมถึงสิ่งต่างๆ ที่คนคนนั้นสนใจด้วย ซึ่งกราฟเครือข่ายนี้จะสามารถเชื่อมตัวคนทุกคนทั่วโลกให้มาติดต่อถึงกันได้ ซึ่งสิ่งที่เฟซบุ๊กทำมาแล้วคือการเชื่อม ต่อคนแต่ละคนที่มีความสัมพันธ์เข้าหากันแล้ว ขณะเดียวกัน เว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยว ข้องกับสินค้าและบริการก็จะทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อกราฟในส่วนที่เป็นสิ่งต่างๆ ที่คนคนนั้นสนใจ

แต่ที่ผ่านมา Zuckerberg รวมถึงคนอื่นๆ ก็พบว่า จนถึงบัดนี้ ดูจะยังไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเชื่อมความสัมพันธ์เหล่านั้น เข้าหากันได้ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ความรู้สึกของคนคนหนึ่งที่มีต่อสินค้าใดๆ ในเว็บไซต์หนึ่งๆ ให้เพื่อนๆ ในเครือข่ายรู้ได้ รวมถึงการที่เราไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกใดๆ ของเพื่อนเราในเครือข่ายได้เช่นกัน

Zuckerberg จึงนำเสนอในการประชุม f8 ครั้งที่สามเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาถึงเครื่องมือเล็กๆ อันหนึ่งที่เรียกว่าปุ่ม Like ซึ่งจะช่วยในการสร้างแผนที่ความสัมพันธ์ซึ่งช่วยให้เราสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆ ในเครือข่ายได้ โดย Zuckerberg ออกแบบแพลท ฟอร์มของเฟซบุ๊กให้สามารถสนับสนุนเครื่องมือนี้ได้ง่ายๆ

ในอนาคต Zuckerberg จะทำให้เฟซบุ๊กเอาคนเป็นศูนย์กลางของเว็บและทำให้เราสามารถเรียนรู้ประสบการณ์และแบ่งปันในเครือข่ายได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สมมุติเราอาจจะชอบวงดนตรีสักวงหนึ่งในเว็บ Pandora ซึ่งเป็นเว็บที่ให้บริการเกี่ยวกับเพลง ข้อมูลที่เราชอบวงดนตรีใดสักวงหนึ่งจะถูกใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของกราฟ และเมื่อเราเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์เกี่ยวกับคอนเสิร์ต เว็บนั้นๆ จะสามารถเรียนรู้จากกราฟความสัมพันธ์และบอกเราได้ว่า เมื่อไรวงดนตรีที่เราชื่นชอบนั้นจะมาแสดงที่ใกล้ๆ บ้านเรา ซึ่งศักยภาพของกราฟแบบเปิดนี้จะทำให้เราสามารถสร้างเว็บไซต์ที่สามารถตอบคำถามความชอบเฉพาะคนแต่ละคนได้ดีขึ้น

นั่นคือ Zuckerberg มองถึงการสร้างเว็บไซต์ในอนาคตที่จะเก็บข้อมูลประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนไว้ เฟซบุ๊กมีพันธมิตรที่สำคัญสามรายคือ Microsoft Docs, Yelp และ Pandora ในการทดลองและสร้างเว็บไซต์ในอนาคตนี้ ซึ่งเราอาจจะลองเข้าไปทดลองใช้งานได้ โดยตอนนี้ ถ้าเราล็อกอินเข้าเฟซบุ๊กแล้ว เมื่อเราเปิดเว็บอย่าง Pandora เว็บนั้นก็จะเล่นเพลงจากวงดนตรีที่เราชื่นชอบได้ทันที (น่าเสียดายที่ Pandora ไม่เปิดให้ผู้ใช้งานจากนอกประเทศสหรัฐอเมริกาฟังเพลงได้ เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม เราสามารถทดลองใช้งานกับเว็บ Microsoft Docs และ Yelp ได้) นอกจากนี้ เรายังจะ รับรู้ว่าเพื่อนคนใดในเครือข่ายเฟซบุ๊กของเราที่ชอบวงดนตรีเดียวกับเรา หรือชอบเพลงเดียวกับเราได้ด้วย และเราก็สามารถดูว่าเขาชอบเพลงอื่นใดบ้างได้ด้วยเช่นกัน

เช่นเดียวกับที่ปัจจุบัน เว็บไซต์ต่างๆ อนุญาตให้เราสามารถใช้แอคเคาน์ของเฟซบุ๊กในการเข้าใช้บริการต่างๆ และแสดงความคิดเห็นได้ โดยสามารถจะแสดงให้เห็นว่าเพื่อนคนใดในเครือข่ายของเราเข้าดูเว็บไซต์นั้นๆ บ้างและพวกเขาชอบหน้าไหนบ้างเช่นกัน

ผมกำลังคิดว่า เฟซบุ๊กกำลังเข้ามา ศึกษาข้อมูลส่วนตัวของเราในเชิงลึก ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภค การใช้ชีวิต และความชื่นชอบส่วนตัวต่อสิ่งใดๆ รอบตัว โดยเฟซบุ๊กมองลึกไปถึงความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนๆ หรือคนรอบข้าง เฟซบุ๊กสามารถใช้พฤติกรรมของเพื่อนๆ หรือคนรอบข้างของเราในการสร้าง พฤติกรรมใหม่ๆ ของเราได้ด้วย รวมถึงใช้ความเชื่อถือ ความเชื่อมั่นที่เรามีต่อเพื่อนๆ และคนรอบข้างของเรามาใช้ในการตัดสินใจของเราได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมต้องการจะซื้อสินค้าใดสินค้าหนึ่งอาจจะเป็นยี่ห้อหรือรุ่นของสินค้าใดนั้น ถ้าผมมีข้อมูลว่า เพื่อนหรือคนรอบข้างผมใช้กัน ก็อาจจะมีผลทำให้ผมตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือสื่อสาร เสื้อผ้า หรือเครื่องสำอาง ก็จะทำให้ความรู้สึกอินเทรนด์ หรือพวกเขาพวกเราเป็นประเด็นในการตัดสินใจได้

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเก็บไว้ในเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนและระหว่างเรากับสินค้าใดๆ ซึ่งจะกลายเป็นข้อมูลสำคัญที่แม้เราจะไม่เคยใช้สินค้าใดหรือไม่เคยเข้าเว็บไซต์ใดมาก่อน สินค้านั้นก็จะสามารถส่งผ่านมาถึงเราได้ เว็บไซต์ นั้นๆ ก็สามารถรู้พฤติกรรมของเราได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้นว่า เรากำลังถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไปหรือเปล่า

ข้อมูลที่เฟซบุ๊กได้รับจากเครือข่ายความสัมพันธ์ของคนและสินค้าและบริการ จะกลายเป็นข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เฟซบุ๊กสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย แค่ 24 ชั่วโมงนับจากวันที่ปุ่ม Like เปิดตัวให้ใช้งาน ก็คาดการณ์กันว่าจะมีคนคลิกปุ่ม Like นี้มากถึงหนึ่งพันล้าน ครั้ง ข้อมูลที่ส่งกลับมายังเฟซบุ๊กจำนวนมหาศาลนี้ แน่นอนว่า พวกเขาสามารถนำไปใช้ทำเงินจำนวนมหาศาลได้แน่นอน โดยการร่วมกับบริษัทผู้สนับสนุนและผู้ขาย สินค้าและบริการต่างๆ แต่หลายๆ คนอยากที่จะเห็นการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในเชิงสร้างสรรค์ เหมือนกับที่กูเกิ้ลสามารถใช้ข้อมูลจากการค้นหาข้อมูลในเสิร์จเอ็นจิ้นของพวกเขาไปใช้ในการทำนายภาวะความเสี่ยงของการเกิดไข้หวัดใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ ในโลก หรือการใช้วิเคราะห์ภาวะรถติดในที่ต่างๆ ได้

แม้จะเป็นเพียงปุ่มสีฟ้าเล็กๆ ที่แอบซ่อนอยู่ตรงมุมใดมุมหนึ่งของหน้าเว็บ ที่ต้องการเพียงแค่คลิกหนึ่งคลิกเพื่อแสดงว่าชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ปุ่มเล็กๆ นี้กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับเฟซบุ๊ก ซึ่งหลายๆ คนมองกันว่า พวกเขากำลังจะมาครองอินเทอร์เน็ตแทนที่กูเกิ้ลในอนาคตเสียแล้ว

อ่านเพิ่มเติม:
1. การเปิดตัวปุ่ม Like, http://blog.facebook.com/blog.php?post=383404517130
2. Recordon, D. (2009), ‘Facebook in 2010: no longer a walled garden,’ March 4, 2009, http://radar.oreilly.com/2009/03/facebook-in-2010-no-longer-a-walled-garden.html
3. Manjoo, F. (2010), ‘Facebook’s Plan to Take Over the Web,’Slate.com, April 22, 2010, http://www.slate.com/id/2251646
4. http://www.sephora.com/
5. http://www.imdb.com/title/tt0955308/
6. http://us.levi.com/home/index.jsp
7. http://docs.com/
8. http://www.pandora.com/
9. วิเคราะห์ความเสี่ยงของการเกิดไข้หวัดใหญ่, http://www.google.org/flutrends/
10. วิเคราะห์ภาวะรถติด, http:/googleblog.blogspot.com/2009/08/bright-side-of-sitting-in-traffic.html


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.