10 ปี ป่าชายเลนหายไป 40 %


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ทรัพยากรป่าชายเลนเป็นดังเช่นทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่ถูกใช้ประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจโดยมนุษย์มากจนกระทั่งเป็นการทำลายความสมดุลย์ของระบบนิเวศวิทยา ผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรุกรานธรรมชาติมิได้กระทบกับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่ส่งผลข้างเคียงโยงใยไปถึงองค์รวมของธรรมชาติที่ไม่จำกัดขอบเขตตามพรมแพนของประเทศ

ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันระดับหนึ่งในการปฏิบัติกับป่าชายเลนของแต่ละประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติร่วมกับสมาคมนานาชาติว่าด้วยระบบนิเวศป่าชายเลน (INTERNATIONAL SOCIETY FOR MANGROVE ECOSYSTEM-ISME) เชิญตัวแทนประเทศต่าง ๆ 22 ประเทศในภาคพื้นเอเซียแปซิฟิกมาประชุมเพื่อเตรียมจัดทำกฎระเบียบหรือข้อปฏิบัตินิเวศวิทยาป่าชายเลน (CHARTER FOR MANGROVE) โดยทาง ISME จะนำผลสรุปของการประชุมเสนอที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาหรือที่เรียกว่า EARTH SUMMIT ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ต้นเดือนมิถุนายนปีนี้

เมื่อเอ่ยถึงป่าไม้คนส่วนใหญ่มักจะนับถือป่าเขาลำเนาไพร เสียมากกว่าป่าที่ขึ้นริมฝั่งทะเล หรือที่รู้จักกันว่าป่าชายเลน แม้ป่าชายเลนไม่ค่อยได้รับความสนใจมากเท่ากับป่าปกแต่ปริมาณพื้นที่ก็ลดลงอย่างน่าใจหายในช่วงสิบปีที่ผ่านมาก

ดังเช่นตัวอย่างในประเทศไทยจากการสำรวจทางดาวเทียมไทย ป่าชายเลนมีอยู่ประมาณ 1,795,675 ไร่ สิบปีต่อมาพื้นที่ลดเหลือเพียง 1,128,493 ไร่

ความสำคัญของป่าชายเลนมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่มูลค่าจากการนำไม้ในป่าไปทำฟืน เผาถ่านและไม้เสาเข็มเท่านั้น หากยังหมายถึงคุณค่าพันธุ์ไม้หลากชนิดที่มีต่าง ๆ กันในแต่ละเขตร้อนซึ่งมีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการศึกษาวิจัย ไม้หลายพันธุ์ที่ค้นพบสามารถนำมาใช้ทำสมุนไพรได้ เช่น การนำเปลือก ไม้โกง กางใบเล็กมาต้มน้ำรักษา โรคบิดเรื้อรัง เป็นต้น

นอกจากนั้นความสำคัญในด้านประมง สัตว์น้ำหลาย ๆ ชนิด เช่น ปลา กุ้ง หอย มีการสืบพันธุ์ในบริเวณป่าชายเลน และอาศัยบริเวณนี้เป็นที่พักพิงเติบโตของตัวอ่อน ซากใบไม้กิ่งก้าน ดอกและผลของต้นไม้ในป่าที่หล่นทับถมย่อยสลายบนดินเลนยังเป็นอาหารสำหรับสัตว์น้ำเหล่านี้อีกด้วย

ป่าชายเลนยังเป็นตัวช่วยลดความรุนแรงของพายุและคลื่นลมที่ทำลายชายฝั่งและการกัดเซาะดิน

ป่าชายเลนมีอยู่เฉพาะในเขตร้อนของ 3 ทวีป คือเขตร้อน เอเชีย

เขตร้อนอเมริกาและเขตร้อนแอฟริกา จากพื้นที่ทั้งหมดทั่วโลกประมาณ 113,420,089 ไร่ มีในเขตเอเซียมากถึง 46.4 % รองลงมาคือแถบร้อนอเมริกา 34.9 % และแถบแอฟริกา 18.7 %

ด้วยคุณค่าเหลือคณานับของป่าชายเลน หากปล่อยให้มีการใช้พื้นที่จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศไปในทางที่ไม่เหมาะสม บทบาทหน้าที่ของป่าชายเลนที่เป็นทั้งแหล่งพลังงาน แหล่งโปรตีนจากทะเล รวมทั้งหน้าที่ในการเชื่อระบบนิเวศวิทยาของบกและทะเล ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยและนั่นหมายถึงผลกระทบที่มีต่อมนุษย์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

เมื่อปี 2533 จึงมีการก่อตั้งองค์กรระหว่างประเทศซึ่งเล็งเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์และการรู้จักใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนอย่างถูกวิธีนั่นคือ สมาคมนานาชาติว่าด้วยระบบนิเวศป่าชายเลน หรือ ISME ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 30 ประเทศ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของ ISME โดยมีสง่า สรรพศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงานดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสมาคมแห่งนี้

สาระสำคัญของการประชุม 3 วันที่จัดขึ้นในประเทศไทยเพื่อเตรียมการสำหรับข้อปฏิบัติร่วม ในเรื่องป่าชายเลนกล่าวถึงสาเหตุการทำลายสภาพป่าชายเลนซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่ทั่วโลก ว่าเกิดจากการใช้พื้นที่อย่างไม่สมเหตุสมผลและเห็นว่าจำเป็นจะต้องฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าชายเลนที่ถูกทำลายไปแล้ว และอนุรักษ์สภาพป่าชายเลนที่ยังสมบูรณ์ไม่ให้ถูกรุกราน

สำหรับพื้นที่ที่นำมาใช้ประโยชน์จะต้องได้รับการดูแลทดแทนไม่ให้ระบบนิเวศสูญเสียหรือเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม โดยให้รัฐบาลแต่ละประเทศทำการศึกษาข้อมูล การบริหารการจัดการป่าชายเลน ออกกฎหมายควบคุมและร่วมมือกับทุกหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนในระดับประเทศและระหว่างประเทศเพื่อควบคุม ดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดผลเสียหายกับระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลน

ผลการประชุมร่างกฎระเบียบนี้ สง่า สรรพศรีซึ่งเป็นรองประธานอีกคนหนึ่งของ ISME จะเสนอต่อ EARTH SUMMIT เพื่อให้นานาชาติลงนามเป็นข้อตกลงร่วมกัน M.VANNUCCI รองประธาน ISME กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ตัวแทนจากหลายประเทศที่เข้าร่วมประชุมได้มีการถกเถียงถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อป่าชายเลน

สนิท อักษรแก้ว ศาสตราจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านป่าชายเลนมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าการที่อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น ความชื้น กระแสลมและที่สำคัญที่สุดคือทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การที่น้ำทะเลสูงขึ้นจะทำให้ท่วมพื้นที่ป่าชายเลน ทำให้มีการสันนิษฐานกันในหมู่ผู้ศึกษาป่าชายเลนว่าอาจทำให้ป่าชายเลนเคลื่อนตัวไปข้างหลัง เนื่องจากไม่สามารถเจริญเติบโตนี้อาจส่งผลให้องค์ประกอบของพันธุ์ไม้ที่อยู่ในป่าชายเลนหายไป การเคลื่อนย้ายของสังคมสัตว์และการพังทลายของริมตลิ่ง

อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ สนิทเห็นว่าเป็นเรื่องคิดคาดคะเนถึงอนาคตซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเทียบกับการสูญเสียป่าชายเลนที่เกิดจากการสูญเสียป่าชายเลนที่เกิดจากการเพราะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการทำนากุ้ง

จากการศึกษาเรื่องป่าชายเลนของสนิท เขาพบว่ากว่า 50 % ที่ป่าชายเลนลดลงในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีสาเหตุมาจากการทำนากุ้ง และรองลงมาคือการตัดไม้ที่เกินกำลังของสภาพป่า ประเทศไทยเองก็เช่นกัน

นอกจากนั้นยังมีปัญหามาจากการทำเหมืองแร่ดีบุกทางภาคใต้ การสร้างท่าเทียบเรือทำถนนและโรงงานไฟฟ้ารวมทั้งการขยายตัวของชุมชน

การสำรวจทางดาวเทียมของกรมป่าไม้ล่าสุดปี 2532 มีพื้นที่ป่าชายเลนในไทยประมาณ 1.1 ล้านไร่กระจายอยู่ 3 ภาคคือ ภาคใต้ฝั่งตะวันตด 78.74 % ภาคใต้ฝั่งตะวันออก 9.46 % ภาคตะวันออก 9.46 % และภาคกลาง 0.33 %

ปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลป่าชายเลนโดยตรงคือ กองจัดการป่าไม้ สังกัดกรมป่าไม้และมีคณะกรรมการทรัพยากรป่าชายเลนแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากกรมป่าไม้ กรมประมง กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฯลฯ

เป็นผู้ดูแลในระดับนโยบาย เมื่อ ปี 2530 คณะกรรมการฯ มีมติแบ่งป่าชายเลนเป็นเขตอนุรักษ์ซึ่งเป็นพื้นที่ห้ามทำกิจกรรมใด ๆ และเขตเศรษฐกิจ ก. หมายถึงพื้นที่ที่ให้ใช้ประโยชน์เฉพาะด้านป่าไม้เขตเศรษฐกิจ ข. หมายถึงพื้นที่ที่ยอมให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาอื่น ๆ แต่ต้องคำนึงถึงผลดีและผลเสียด้านสิ่งแวดล้อม

แม้กระนั้นก็ตามในทางปฏิบัติการจัดการป่าชายเลนจำเป็นจะต้องสอดคล้อง

กับทรัพยากรชายฝั่งอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับการพัฒนาในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงชายฝั่งกับป่าชายเลนซึ่งยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน

การดำรงอยู่ของพืชและสัตว์หลากหลายพันธุ์ ต่างมีหน้าที่ตามกลไกธรรมชาติ หากพืชหรือสัตว์ชนิดใดจะต้องสูญพันธุ์ การทำงานของธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพจะเกิดการบกพร่องในหน้าที่นั้น ๆ มนุษย์ถือเป็นตัวแปรที่สำคัญทั้งในด้านการอนุรักษ์ และการทำลายระบบนิเวศในธรรมชาติ

แต่นี้ต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลังจากที่ไทยเข้าร่วมลงนามในข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับระบบนิเวศป่าชายเลนในการประชุม EARTH SUMMIT แล้ว กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับป่าชายเลนจะต้องอยู่ภายใต้การยอมรับในกฏเกณฑ์ร่วมกันของนานาชาติที่ไม่ทำลายระบบนิเวศของป่าชายเลน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.