ฟังผู้บริหารกลุ่มพลังงานพูดเรื่องนิวเคลียร์

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีหลายมิติที่จะต้องมอง ครั้งนี้ลองมาฟังเสียงของผู้บริหาร 4 คน ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการพลังงานน้ำมันและไฟฟ้ามาเกือบตลอดชีวิต “สุรงค์ บูลกุล” ไทยออยล์ “อนนต์ สิริแสงทักษิณ” ปตท.สผ. “ชายน้อย เผื่อนโกสุม” ปตท.เออาร์ และ “นพพล มิลินทางกูร” บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง เขาเหล่านี้คิดเห็นอย่างไรบ้าง

หลายครั้งนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศไทยยังไม่ชัดเจนมากนัก และปัจจุบันอยู่ระหว่างให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาต้นทุน แหล่งเงินทุน และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่น

ผลการศึกษาจะสรุปได้ภายในสิ้นปีนี้ หลังจากใช้เวลา 3 ปี สำหรับการศึกษาในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นไปตามแผนดำเนินงานพลังงานนิวเคลียร์ ที่แบ่งออกเป็น 4 ระยะ

ระยะที่ 1 (ปี 2551-2553) เวลา 3 ปี เตรียมโครงการ
ระยะที่ 2 (ปี 2554-2556) เวลา 3 ปี ขอใบอนุญาตก่อสร้างเพื่อดำเนินโครงการ
ระยะที่ 3 (ปี 2557-2562) เวลา 6 ปี ดำเนินการก่อสร้าง
ระยะที่ 4 (ปี 2563-2564) เริ่มดำเนินการเดินเครื่อง

แม้ว่าขณะนี้ กฟผ.กำลังเดินตามแผนดำเนินงาน แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่ากรอบเวลาที่กำหนดไว้จะเป็นไปตามแผน เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยมีนโยบายจะสร้างโรงงานนิวเคลียร์ รวมทั้งได้ตั้งทีมงานศึกษาแต่ก็ล้มแผนไปเมื่อมีการขุดพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

โครงการนิวเคลียร์จึงยืนอยู่บนฐานความไม่แน่นอนของรัฐบาล ประกอบกับการต่อต้านกลุ่มเอ็นจีโอและประชาชนที่ห่วงเรื่องสภาพแวดล้อมจะได้รับผลกระทบ เพราะมีบทเรียนมากมายไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สงคราม โลกระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น และการระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลในอดีตสหภาพโซเวียต

ทำให้แผนการใช้พลังงานในประเทศไม่เด่นชัด สิ่งที่เห็นในปัจจุบันคือประเทศไทยพึ่งพิงพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่นพม่าและลาวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยใช้อยู่ร้อยละ 70 ในปัจจุบัน เป็นก๊าซธรรมชาติจากพม่า 1 ใน 3

แม้กระทั่งในประเทศลาว บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จะนำเข้าไฟฟ้าใน 5 ปีข้างหน้าประมาณ 3,823 เมกะวัตต์ ในขณะที่ปี 2543 นำเข้าวัตถุดิบก๊าซธรรมชาติจากพม่าประมาณ 3,645 เมกะวัตต์

การพึ่งพาพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบันเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าในอนาคตของไทย

แต่หากมองในด้านความมั่นคงในระดับประเทศ ยังไม่เห็นแผนรูปธรรมของภาครัฐมากนัก และจะสร้างความสมดุลให้กับประเทศในเรื่องของพลังงานได้อย่างไร หากยังพึ่งพาพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

สุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) มีประสบการณ์สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่แคลิฟอร์เนีย ให้กับบริษัท เบคเทค พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น ในสหรัฐอเมริกา เขามองว่านิวเคลียร์เป็นพลังงานของอนาคต

“ผมคิดว่านิวเคลียร์มีความสำคัญในด้านยุทธศาสตร์ มีด้านเศรษฐศาสตร์ ทางเศรษฐศาสตร์มันเป็นการผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำที่สุด ต้นทุนการผลิตพลังงานไทยต่ำลง โดยทั่วไปมันกลับนำมาใช้ใหม่ได้ นิวเคลียร์ใช้พื้นที่น้อย มลภาวะกระทบสิ่งแวดล้อมค่อนข้างต่ำ การดูแลมีประสิทธิภาพค่อนข้างยอมรับ แม้แต่โอบามายังอนุมัติให้สร้างนิวเคลียร์”

ความมั่นคงด้านพลังงาน สุรงค์ไม่ได้มองด้านเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ได้พยายามชี้ให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศยิ่งสำคัญมากกว่าเศรษฐศาสตร์ เพราะมีพลังงานอยู่ในมือย่อมแสดงให้เห็นถึงอำนาจในการต่อรอง โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่นพม่า หรือเขมร ในฐานะผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ สามารถกำหนดราคาได้

สุรงค์เชื่อว่าตราบใดที่ประเทศไทยไม่มีนิวเคลียร์ ก๊าซธรรมชาติก็ต้องแพงเพราะไม่มีทางเลือก แต่ถ้ามีนิวเคลียร์ ก๊าซธรรมชาติราคาจะถูกลง

สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดระยะที่ผ่านมาหลังจากประเทศไทยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เสียงส่วนใหญ่คือการต่อต้าน แต่สุรงค์ได้แนะแนวทางว่าควรสนับสนุนก่อนในเบื้องต้น และให้มีการศึกษาอย่างจริงจังไปพร้อมๆ กันถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้น และนำเหตุผลทั้งสองฝ่ายมาแสดงหักล้าง

ส่วนความไม่ปลอดภัยของนิวเคลียร์ได้มีการศึกษามาตลอดและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคแรก แต่นิวเคลียร์ได้พัฒนามาสู่ยุคที่ 3 และ 4 แล้ว และในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ร้อยละ 67 ใช้พลังงานนิวเคลียร์

สำหรับทางออกในด้านสังคม สุรงค์มองว่าต้องให้ความยุติธรรมกับสังคม คนที่เสียสละต้องได้ประโยชน์ ชุมชนต้องมีโรงพยาบาล โรงเรียน สาธารณสุข โรงแรม ทุกอย่างต้องอยู่ในระดับชั้น 1 และมีงานรองรับชุมชน หากมีสิ่งเหล่านี้ชุมชนจะต้อนรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่าวันนี้ทั่วโลกหันมาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันมากขึ้น และคิดว่าประเทศไทยคงหนีไม่พ้น โดยเฉพาะประเทศไทยเราบอกว่าโรงกลั่นเราก็ไม่เอา เขื่อนก็ไม่เอาก๊าซใหญ่หน่อยก็ไม่เอา ถ้าบอกว่านิวเคลียร์ก็ไม่เอา ก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไร

ตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น มีนโยบายปิดโรงกลั่น นโยบายเขาไปเทคโนโลยีไฮบริด ทำให้ประหยัดการใช้พลังงาน เวลานี้โรงกลั่นในญี่ปุ่นเหลือร้อยละ 80 แล้วก็เขาก็สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกมาก

ฉะนั้น กระทรวงพลังงานต้องศึกษาให้กับทางออกของประเทศ ไม่ค่อยมีทางเลือกมากเท่าไร เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเหลือ 20-30 ปี ไบโอฟิลก็มีจำกัด

อนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์ว่า สุดท้ายประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพราะไม่มีทางเลือก แต่ต้องมีระบบการจัดการที่ดี และทำให้ประชาชนเชื่อมั่น เพราะนิวเคลียร์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องดูทุกมิติ ดูความเป็นไปได้ ดูกลไก ดูนิสัยคนไทย

เมื่อมีการศึกษาเรื่องนิวเคลียร์ได้ในระดับหนึ่ง เมื่อถึงตอนนั้นประชาชนอาจเริ่มมีความมั่นใจ เพราะที่ผ่านมาประชาชนมองเรื่องอดีตของนิวเคลียร์เป็นเรื่องไม่ดี ทำให้ไม่มีความเชื่อมั่น

ส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพราะระบบการวางแผนพลังงานของประเทศไทยอยู่บนความไม่แน่นอนมาก เพราะแผนต้องกำหนดระยาว จึงจำเป็นต้องมีแผนเผื่อเลือก เพื่อเดินคู่ขนานไปกับการใช้พลังงานในรูปแบบอื่นๆ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะมีต้นทุนสูงจากพลังงานทุกประเภท

นพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นรุ่นแรก และก่อนที่จะทำงานให้กับบริษัท เขาอยู่ฝ่ายนิวเคลียร์ของ กฟผ.มาตั้งแต่ปี 2518

เขาไม่ได้ปฏิเสธ หรือตอบรับอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยควรมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่ เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล แต่ถ้าหากรัฐเดินตามแผนเดิมให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็ต้องเร่งศึกษาและพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะวิศวกรนิวเคลียร์ตั้งแต่วันนี้ เพราะบุคลากรที่มีความรู้นิวเคลียร์เหลือเพียงไม่กี่คนในปัจจุบัน

เขาได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศเวียดนาม หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เวียดนามได้ส่งบุคลากรไปหลายประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและเตรียมความพร้อม

แม้ว่าเวียดนามจะมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากในวันนี้ แต่รัฐบาลก็อนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำรัฐบาลเพื่อรองรับการใช้พลังงานในอนาคต

ส่วนของประเทศไทยมีความเป็นห่วงหลายด้าน ความปลอดภัย หรือแม้แต่งบประมาณจำนวนมากเพื่อใช้ก่อสร้าง

แต่นพพลได้ชี้สาเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีราคาแพง เนื่องจากต้องสร้างความปลอดภัย เช่น เตาปฏิกรณ์ใช้เหล็กหนา 50 เซนติเมตร และติดตั้งคอนกรีตเสริมเหล็กเข้าไปอีก 10 เมตร เมื่อเครื่องบินผ่านจะไม่มีการสั่นสะเทือน จึงทำให้โรงไฟฟ้ามีค่าก่อสร้างแพงกว่าเขื่อน

ทว่าวัตถุดิบคือแร่ยูเรเนียมมีราคาถูกเมื่อเทียบกับวัตถุดิบฟอสซิล และราคาของแร่ยูเรเนียมไม่ขึ้นกับกลไกตลาด และมีอายุใช้งานนาน 3 ปี

“ถ้าสมมุติเรานำเข้าพลังงานจากเพื่อนบ้าน 3,000 เมกะวัตต์ เราก็สร้าง 3 โรง ก็มีความมั่นคงในประเทศ สิ่งสำคัญที่เราไม่ได้นึกถึงคือเราไปสร้างให้กับประเทศเพื่อนบ้านเท่ากับเราไปสร้างอินฟราสตรัคเจอร์ให้เขามหาศาล เพราะเอาเงินไปลงทุน 5 หมื่นล้าน หรือแสนล้าน กระตุ้นจีดีพีมากกว่าทั้งประเทศ ถ้าลงบ้านเราก็เกิดการสร้างงาน”

ในขณะที่ประเทศไทยยังห่างไกลกับทางออกสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอยู่นั้น เพื่อนบ้านเริ่มมีนโยบายชัดเจนมากขึ้นตามลำดับเพื่อสร้างโรงงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม รัฐบาลได้อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกและคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้ในปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1000 กิโลวัตต์

เวียดนามมีพันธมิตรเข้าไปช่วยการทำงาน คือญี่ปุ่นช่วยเหลือด้านก่อสร้าง ส่วนสหรัฐอเมริกาจะเข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัยและการแพร่กระจายของนิวเคลียร์ ในประเทศอินโดนีเซียได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรก ในปี 2563 พร้อมกับเวียดนามและประเทศไทย แม้ว่าในอินโดนีเซียจะมีการต่อต้านอย่างหนัก เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่บริษัทพลังงานนิวเคลียร์ของอินโดนีเซียก็เดินหน้าจะสร้างโรงไฟฟ้าในเขตเงาของเทือกเขามูเรีย

นอกเหนือจากนั้นได้มีบริษัทเอกชนจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฝรั่งเศสกำลังแข่งขันประมูลสร้างโรงปฏิกรณ์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 4 แห่งในอูจุง เลมาฮาบังอีกด้วย

ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนเริ่มมีแผนผุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ค่อนข้างชัดเจน เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยว่าจะเลือกสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือไม่เลือก ดูเหมือนว่ามีคำตอบอยู่ในตัวแล้ว แต่ประเทศไทยจะเดินไปทางไหนและอย่างไร?


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.