ราช-ลาว เพื่อธุรกิจมั่นยืน

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

อนาคตของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งในระยะยาว แน่นอนแล้วว่าคงไม่ได้ฝากอนาคตไว้ที่ประเทศไทยเป็นหลัก และไม่เพียงการอาศัยพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านในฐานะผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าและผู้ให้บริการเท่านั้น แต่หากยังต้องสร้างความสัมพันธ์ที่กระชับแน่นขึ้นกว่าเดิม

นั่นคือที่มาของบริษัท ราช-ลาว บริการ จำกัด พร้อมออฟฟิศที่ดูอบอุ่นด้วยบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ขนาดสองชั้นบริเวณรอบนอกของกำแพงนครเวียงจันทน์ ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 โดยมีทั้งตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมของรัฐบาลทั้งจากฝั่งไทยและมีผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการค้าการลงทุนของลาว ฝั่งเจ้าบ้านมาร่วมยินดี

บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง เริ่มเข้ามาลงทุนในลาวแล้วเกือบครึ่งหนึ่งของอายุบริษัทที่ตั้งขึ้นในเมืองไทย โดยการเข้ามาลงทุนในลาวของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง มีรูปแบบต่างจากบริษัทคู่แข่งจากหลายประเทศในลาว อย่างเกาหลีและจีน ซึ่งมีรัฐบาลเป็นหัวหอกในการชักนำเข้ามาเจรจาเพื่อการลงทุน แล้วพ่วงเอาเอกชนเข้ามาด้วย

แต่สำหรับนักลงทุนไทยแล้ว กลับเป็นฝ่ายเอกชนเป็นคนนำ โดยมีรัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่ห่างๆ

การตัดสินใจก่อตั้งบริษัทราช-ลาวฯ และเปิดสำนักงานในลาวขึ้นเพราะเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเริ่มดูแลการลงทุนให้ใกล้ชิดและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานมากขึ้น โดยปัจจุบันสำนักงานแห่งนี้มีพนักงานประจำเพียง 5 คน 2 คนจากไทย และที่เหลือเป็นคนท้องถิ่น

จตุพร โสภารักษ์ ผู้อำนวยการ บริษัทราช-ลาว บริการ จำกัด ผู้ให้การต้อนรับทีมงานผู้จัดการ 360 ํ ที่สำนักงานแห่งใหม่เล่าว่า งานหลักตอนนี้ของราช-ลาว คือการดูแลการก่อสร้างเขื่อน 2 เขื่อน รวมทั้งแผนดูแลสำหรับการลงทุนเขื่อนน้ำงึม 3 ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งตอนนี้ก็เพิ่งผ่านขั้นตอนการคัดเลือกผู้มีศักยภาพที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการ

ส่วนหนึ่งของการตั้งสำนักงานจึงเหมือนการเตรียมพร้อมเพื่อหาและสร้างทีมงานเพื่อการขยับขยายเพิ่มขึ้นสำหรับงานในอนาคต

“งานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยับขยายช่องทางไม่ได้จัดการเฉพาะเรื่องงานเทคนิค ตอนนี้ก็มีหลายโครงการที่นำเสนอผู้บริหารที่นี่ ตอนเราเปิดออฟฟิศก็เป็นช่วงเดียวกับที่โครงการเขื่อนน้ำงึม 2 เข้ามาพอดี จึงลงตัวว่าเราน่าจะมีออฟฟิศเพราะนอกจากดูเรื่องการจัดการทั่วไปสำหรับการขยายธุรกิจแล้ว ก็จะเป็นหน่วยสนับสนุน บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งอีกที”

การให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับการดูแลใกล้ชิดด้านการลงทุนในลาว ถือเป็นเรื่องที่บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งมาถูกทาง เพราะตามแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำของลาวจะมีถึง 140 แห่ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานประเมินว่าลาวมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 26,500 เมกะวัตต์

“จริงไม่จริง ไม่รู้ แต่ลาวมีศักยภาพ แล้วถ้าอยู่ เราจะทำอะไรบ้าง จากเดิมที่เราขายไฟกลับไทยอย่างเดียว แต่ตอนนี้เรากำลังทำโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 150 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟสำหรับใช้ในประเทศลาว เพราะเราก็อยากจะพรีเซ็นต์ว่าเรามาลงทุนที่ลาว ก็อยากจะให้บริการที่ลาวด้วย ไม่ใช่ว่าเอาอย่างเดียว เพราะนโยบายของราชบุรีก็คือการให้พลังงานอย่างยั่งยืน” จตุพรกล่าวถึงบทบาทของราช-ลาว

แนวคิดของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ “มั่นยืน” ในสำนวนลาว จึงถือเป็นแนวคิดที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะการลงทุนเขื่อนหรือโรงผลิตไฟฟ้า เป็นธุรกิจที่ทำให้บริษัทต้องอยู่กับคนท้องถิ่นอย่างน้อย 20-30 ปี เท่าอายุโรงไฟฟ้า และจะ “มั่นยืน” ได้ ก็ต้องอยู่กันด้วยสัมพันธภาพที่งดงามแบบเพื่อนฝูงพี่น้อง ไม่ใช่การเข้ามาเพียงเพื่อกอบโกยแต่เพียงอย่างเดียว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.