|
Regional Player เวทีใหม่ราชบุรีโฮลดิ้ง
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ได้กำหนดยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้มาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว หลังจากเห็นว่าตลาดไทยเริ่มมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ จากนี้ไปจะเริ่มเห็นบทบาทของบริษัทในเวทีระดับภูมิภาคมากขึ้น
แม้ว่า บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งมีอายุครบรอบ 10 ปีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นบริษัทอายุน้อย แต่สามารถสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจในระยะ 4 ปีค่อนข้างสม่ำเสมอ อยู่ในระดับ 5-6 พันล้านบาท
รายได้หลักของบริษัทมาจากโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3 แห่งที่ตั้งอยู่จังหวัด ราชบุรี คือ โรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 4,374 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจัดจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรืออีแกท (EGAT)
กฟผ.นอกจากจะเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าแล้ว หน่วยงานรัฐแห่งนี้ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 45 ในบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และผู้มีถือหุ้นรายใหญ่ลำดับสองคือ กลุ่มบริษัทบ้านปู ร้อยละ 14.99
การที่บริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ระบบบริหารงานและระดมเงินทุนคล่องตัว บริษัทจึงทำหน้าที่เปรียบเสมือนแขน ขา ของอีแกทในการขยายและสร้าง การเติบโตให้กับธุรกิจ
แม้ว่า กฟผ.จะเป็นเหมือนแม่ของบริษัทราชบุรีโฮลดิ้งก็ตาม แต่ขั้นตอนระบบการทำงานของทั้งสองฝ่ายก็รักษาผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก เหมือนดังเช่นการเจรจาซื้อไฟ จะต้องได้ผลคุ้มค่าทั้งสองฝ่าย
“ค่า adder เวลาเจรจากับอีแกท เขาไม่คิดว่าเราเป็นลูก Chinese Wall ว่าสูง นี่เป็น Everest Wall คิดเป็นเศษสตางค์แบ่งกันชัดเจน เราต้องเข้มแข็งและแกร่งพอให้สามารถไปข้างนอกได้” นพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวกับผู้จัดการ 360° ระหว่างให้สัมภาษณ์
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมารายได้หลักของราชบุรีโฮลดิ้ง มาจากการตั้งโรงงาน ผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตลาดแข่งขันเริ่มแคบลง เหตุเนื่องด้วย “วัตถุดิบ” มีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นถ่านหินลิกไนต์หรือก๊าซธรรมชาติที่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า จะหมดประมาณ 20 ปีข้างหน้า
บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งได้เห็นสัญญาณนี้มาระยะหนึ่งแล้ว จึงเริ่มก้าวไปยังต่างประเทศ แสวงหาธุรกิจใหม่ๆ ให้กับบริษัทเพื่อสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ
การมองหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ไม่ได้มีเป้าประสงค์เพื่อป้อนไฟฟ้าขายให้กับอีแกท เพียงอย่างเดียว แต่การขยายธุรกิจไปสู่พื้นที่นอกประเทศเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับในประเทศที่เข้าไปลงทุนเป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่มรายได้กลับมาสู่บริษัทในอนาคต
นพพลในฐานะแม่ทัพใหญ่ เขาบอกผู้บริหารและพนักงานอยู่เสมอว่า วัฒนธรรมการทำงานในองค์กรต้องคิดใหม่ คิดนอกกรอบและย้ำเตือนถึงวิธีการทำงานจะต้องเป็นไปในรูปแบบที่เรียกว่า First Move and Fast Action
ระบบการทำงานดังกล่าวจะสอด คล้องไปกับวิสัยทัศน์ของบริษัทได้กำหนดไว้ว่า ต้องการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำ ในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 7,800 เมกะวัตต์ และเพิ่มการลงทุนในพลังงานทางเลือกให้ได้ 100 เมกะวัตต์ ในปี 2559
และถ้าหากเป็นไปตามแผนธุรกิจ บริษัทจะต้องใช้เงินทุนประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทในอีก 7 ปีข้างหน้า
จากนโยบายการขยายธุรกิจไปยังภูมิภาค บริษัทจึงได้ก่อตั้งบริษัทลูกเพื่อทำหน้าที่ลงทุนในต่างประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2552 ภายใต้ชื่อ บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท
แผนธุรกิจเข้าไปลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างชัดเจน เพราะได้กำหนดพื้นที่ลงทุนไว้แล้ว คือ ในเวียดนาม ลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ส่วนฟิลิปปินส์ ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ อินโดนีเซีย ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่และธุรกิจเหมืองถ่านหิน รวมไปถึงก้าวกระโดดไปลงทุนในออสเตรเลีย ในธุรกิจเหมืองถ่านหิน
โครงการใน 4 ประเทศไม่ได้เห็นในหนึ่งปีข้างหน้า แต่เป็นแผนระยะยาวที่บริษัทมองหาโอกาส โดยเฉพาะธุรกิจในออสเตรเลียอยู่ในช่วงเริ่มต้นศึกษาเท่านั้น
การขยายธุรกิจไปต่างประเทศในปัจจุบัน บริษัทราชบุรีโฮลดิ้งจะเริ่มต้นจาก เพื่อนบ้านก่อนเพราะเป้าหมายเพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับ กฟผ. เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้า ในประเทศไทย
ในขณะเดียวกันการยึดภูมิศาสตร์ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ระบบการจัดการบริหารเป็นไปได้ง่ายกว่าประเทศ ที่อยู่ห่างไกลออกไป เพราะความคล้ายคลึง ทางด้านวัฒนธรรม และมีความรู้ประสบ การณ์มีแนวทางใกล้เคียงกับผู้บริหารคนไทย
เหมือนดังในช่วงเริ่มต้นธุรกิจได้สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าราชบุรี โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่าส่งผ่านทางท่อเข้ามาในประเทศไทย มีกำลังการผลิต 3,645 เมกะวัตต์ เมื่อปี 2543 โรงงานไฟฟ้าราชบุรี เป็นโรงงานที่มียอดการ ผลิตที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
นอกเหนือจากลงทุนในพม่าแล้ว บริษัทเข้าไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 4 แห่งในประเทศ ลาว คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 แขวงเวียงจันทน์ ให้บริการ ปลายปี 2553 โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสา แขวงไชยะบุรี ให้บริการปี 2558 โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 3 แขวงเวียงจันทน์ ให้บริการปี 2560 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย แขวงจำปาศักดิ์และอัตตะปือ ให้บริการปี 2560
ส่วนโรงงานน้ำงึม 2 จะสร้างเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ 3 เครื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งโรงงานจะผลิตไฟฟ้า ให้กับประเทศไทยร้อยละ 90
จะเห็นได้ว่าบริษัทพึ่งพิงวัตถุดิบหลักจาก 2 แห่งคือ ก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่า และใช้ถ่านหิน น้ำ จากประเทศลาว
หากพิจารณาศักยภาพของบริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง แม้จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ใน ประเทศ มีสินทรัพย์ 69,341.82 ล้านบาท มีรายได้ในปี 2552 รวม 37,653.83 ล้านบาทก็ตาม แต่การก้าวออกไปเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาคก็มีความเสี่ยงไม่น้อย
แต่นพพลได้ชี้ให้เห็นจุดแข็งของบริษัทคือประสบการณ์ของบุคลากรมีรอบด้านเกี่ยวกับพลังงาน เช่น ไฟฟ้า ถ่านหิน น้ำมัน แม้กระทั่งพลังงานทดแทน และการมี กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้อีกในระดับหนึ่ง
รวมไปถึงความร่วมมือกับพันธมิตรไทยเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ได้ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท P.T. Construction & Irrigation บริษัท Shalapak Development Company บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด
วิธีการทำงานของราชบุรีโฮลดิ้งคือการอ้างอิงประสบการณ์ เงินทุนและการทำงาน ควบคู่ไปกับพาร์ตเนอร์ เพราะกรรมการผู้จัดการใหญ่มองว่าบริษัทไม่ต้องการแข่งขันกับคู่แข่ง แต่สิ่งที่บริษัทบริหารงานอยู่ในปัจจุบันคือการแข่งขันกับตัวเอง
แผนธุรกิจของราชบุรีโฮลดิ้งในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ แม้นพพล จะบอกว่าแผนส่วนหนึ่งต้องผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์การใช้ไฟฟ้าของชาติ เพราะปัจจุบันประเทศไทยใช้ไฟฟ้าโดยรวม 24,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้ามีกำลังการผลิต 30,000 เมกะวัตต์ โดยครึ่งหนึ่ง กฟผ.เป็นผู้ผลิต ส่วนที่เหลือเป็นบริษัทเอกชน
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยุทธศาสตร์ของประเทศไทยยังไม่มีนโยบายชัดเจนในการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับในอนาคต โดยเฉพาะแผนการจัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Independent Power Producer: IPP) มีแต่นโยบายสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer: SPP & Very Small Power Producer: VSPP) และพลังงานทดแทน
แผนธุรกิจที่ต้องสอดคล้องไปกับนโยบายเป็นส่วนหนึ่งที่บริษัทไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะว่าอีแกทบริษัทแม่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่ต้องสร้างความมั่นคงให้กับรัฐบาลด้านพลังงาน
ในอีกด้านหนึ่งแผนการลงทุนของบริษัทก็ไม่สามารถละเลยสร้างผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้น เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจเช่นเดียวกัน
แผนการสร้างโรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กและพลังงานทดแทนของรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่ง ที่สอดคล้องกับแผนธุรกิจของราชบุรีโฮลดิ้งเช่นเดียวกัน เพราะได้กำหนดไว้ว่าภายในปี 2559 บริษัทเตรียมลงทุนพลังงานทางเลือกไว้ 100 เมกะวัตต์
บริษัทได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ กำหนดเป้าหมายไว้ว่า จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 60 เมกะวัตต์ และการลงทุนในครั้งนี้เป็นการลงทุนพลังงานทางเลือกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
บริษัทได้ลงทุนซื้อที่ดินหนึ่งพันไร่เพื่อติดตั้งเสาประมาณ 20 ต้น แต่ละเสาลงทุนเสาๆ ละ 2.3 ล้านยูโร และเริ่มให้บริการได้ในปี 2554
ส่วนพลังงานทดแทนด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นโครงการไฟฟ้าพลังงานร่วม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล อยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกพันธมิตรและร่วมมือกับชุมชน โดยใช้มันสำปะหลัง ข้าวโพด เศษไม้สักหรือเหง้ามัน ใช้เป็นวัตถุดิบคาดว่าจะอยู่ในภาคอีสาน
ในทัศนคติเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก นพพลมองว่าเป็นพลังงานที่เข้ามาช่วยเสริม พลังงานหลัก เพราะไม่สามารถรองรับการใช้พลังงานได้ทั้งหมด เขายังเชื่อว่าการผลิตไฟฟ้ายังต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เนื่องจากพลังงานทดแทนยังต้องพึ่งพาธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นลม หรือแดด มีข้อจำกัดด้านเวลา จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในเวลากลางวัน หรือพลังงานลม ก็ต้องอาศัยความเร็วของลมต้องอยู่ในระดับ 5-6 เมตรต่อวินาที
แผนลงทุนในพลังงานทางเลือกส่วนหนึ่งเป็นแนวคิดของนพพล ที่เขามองว่าจำเป็น ต้องมี และบริษัทจะต้องเริ่มเตรียมความพร้อม เพราะกฎระเบียบใหม่ๆ เช่น มาตรฐานไอเอสโอ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ จะเป็นเงื่อนไขทางการค้าในอนาคตอันใกล้
ประสบการณ์ทำงานในองค์กรผู้ผลิตไฟฟ้าของนพพลที่เริ่มทำงานให้กับอีแกท จนกระทั่งมาถึงราชบุรีโฮลดิ้งร่วม 30 ปี ทำให้เขาคาดการณ์ว่ากฎเงื่อนไขทางการค้า จะอ้างอิงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างแน่นอน
แผนธุรกิจของบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งจะเดินเร็วกว่าแผนพลังงานแห่งชาติของรัฐบาล แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรเอกชนไม่สามารถหยุดนิ่งได้ แม้ว่าสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจ การเมืองจะอยู่ในสภาวะใดก็ตาม เพราะบริษัทต้องคำนึงถึงพนักงาน ผู้ถือหุ้น ความมั่นคงของธุรกิจ สิ่งสำคัญต้องสร้างความเติบโต
เหมือนดังที่นพพลพูดประโยคนี้ถึง 2 ครั้งระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการ 360° ว่า “อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|