นักบุกเบิกแหล่งพลังงานระดับโลก “ก้าวต่อไป” ของ ปตท.สผ.

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

อนนต์ สิริแสงทักษิณ หัวเรือใหญ่แห่ง ปตท.สผ. ซึ่งเป็น “หัวขบวน” ของธุรกิจกลุ่ม ปตท. เขาตระหนักดีว่าไม่เพียงเพื่อสร้างความมั่งคั่งของ ปตท. อีกหน้าที่สำคัญของเขาคือสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย

แม้จะยังไม่รู้ว่าเป็นโฆษณาอะไร แต่ภาพธงไทยที่โบกสะบัดท่ามกลางพายุหิมะอันหนาวเหน็บของขั้วโลก ตามมาด้วย ภาพหนุ่มสาวคนไทยกำลังบุกป่า ฝ่าทะเลทราย เสี่ยงตายปีนหน้าผา ท้าพายุหิมะหนาวเหน็บ ดำดิ่งสู่ท้องมหาสมุทรที่มืดมน ต่อสู้กับกระแสน้ำที่บ้าคลั่ง ก็ทำให้คนไทยหลายคนสนใจและแอบรู้สึกภูมิใจอยู่ลึกๆ

กระทั่งภาพช่วงท้ายที่มีหยดน้ำมันสีดำ (crude) ออกมาจากหัวจ่าย พร้อมเสียงสปอตโฆษณาที่ดังเข้าหู...

“เราคือนักบุกเบิก เราใช้ศรัทธาเป็น แรงขับเคลื่อน เราขุดเจาะทุกอุปสรรค เรา ไม่ยอมแพ้ข้อจำกัดใดๆ เราเอาความหวังของคนไทยเป็นแรงผลักดัน เรามีความรุ่งโรจน์ของประเทศเป็นจุดหมาย เราบุกเบิกขยายแหล่งพลังงานของไทยไปทั่วโลก เพื่อคนไทยมีพลังงานใช้ไม่รู้จบ 25 ปี ปตท.สผ นักบุกเบิกแหล่งพลังงานระดับโลกของไทย”

โฆษณาตัวนี้เป็นโฆษณาตัวใหม่ของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ “ปตท.สผ.” ที่ปล่อยออกมาในโอกาสครบรอบ 25 ปีของบริษัท เพื่อตอกย้ำให้คนไทยรับรู้ ถึงบทบาทขององค์กรทางพลังงานแห่งนี้ ทั้งยังแฝงถึงความมุ่งมั่นและความยากลำบากกว่าจะได้น้ำมันจากทั่วโลกมาให้คนไทยได้เผาผลาญเป็นพลังงาน

ปตท.สผ.เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแห่งแรกและแห่งเดียวของคนไทย ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2528 เพื่อทำหน้าที่สำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ รวมทั้งลงทุนในธุรกิจต่อเนื่องที่มีความสำคัญ เพื่อตอบสนองความต้อง การพลังงานของประเทศ และเพื่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย

“...ตอนที่ตั้ง ปตท.สผ.ขึ้นมาไม่ใช่เพื่อต้องการกำไร ในตอนแรกต้องการให้เป็นบริษัทน้ำมันที่ต้องทำ upstream ให้ได้ แล้วจึงถ่ายโอนเทคโนโลยีมาให้สามารถยกระดับ ตัวเองได้ เพื่อเป็นตัวผลักดันบริษัทน้ำมันแห่งชาติ และเพื่อเข้าไปจัดการกับการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะแทนที่จะให้ฝรั่งทำทั้งหมด เราก็เข้าไปทำเองบ้าง...” วิเศษ จูภิบาล กล่าวไว้ตั้งแต่สมัยเป็นผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2542-2544

แม้จะไม่ได้หวังกำไรในตอนต้น แต่ปีที่ผ่านมา ปตท.สผ.ก็มีกำไรสูงกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท นับเป็นอันดับ 3 ของบริษัทในตลาดหลักหลักทรัพย์ฯ และมี Market Cap.สูงเป็นอันดับ 2 รองจากบริษัทแม่ โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่กว่า 4.8 แสน ล้านบาท

ถึงแม้ว่าด้วยฐานะบริษัทมหาชน ตัวเลขเหล่านี้จะมีความสำคัญต่อหุ้น PTTEP ในการดึงดูดนักลงทุน แต่ก็หาใช่ตัวเลขสุดท้ายที่ “อนนต์ สิริแสงทักษิณ” ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ อยากให้ทุกคนสนใจ เพราะยังมีอีกตัวเลขหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญมากไม่แพ้กัน

“ถ้ามอง ปตท.สผ.ต้องมองว่า ขุมทรัพย์ใต้ดินของเรามีเท่าไร ตอนนี้ที่พบและพิสูจน์ แล้วมีอยู่ 1,099 ล้านบาร์เรล วันๆ หนึ่ง เราผลิตและจำหน่ายไปเกือบ 100 ล้านบาร์เรลต่อปี นับไป 11 ปีก็จะหมดถ้าไม่หาอะไรมาเติม แต่หน้าที่เราคือต้องเติมไม่ให้พร่อง ขีดความสามารถของบริษัทสำรวจและผลิตฯ จะวัดกันได้ตรงที่ขนาดขุมทรัพย์มีเท่าไร และหามาเติมได้มากว่าที่ใช้ไปหรือเปล่า”

จากเกณฑ์ดังกล่าว อนนต์มองว่า ณ วันนี้ ปตท.สผ.ยังถือว่ายืนอยู่แถวหน้าของรุ่นเล็ก ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบริษัทสำรวจอิสระซึ่งทั่วโลกมีจำนวนเยอะมาก แต่ถึงจะเป็นรุ่นเล็ก เขาก็เชื่อว่า น่าจะติด 1 ใน 10 ของเอเชีย

ทว่า ภายใน 10 ปีนี้ ปตท.สผ.ตั้งเป้าจะก้าวเข้าไปสู่รุ่นกลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศต่างๆ ไม่เพียงเท่านั้น อนนต์ยังหวังว่า บริษัทจะขยับขึ้นไปยืนแถวหน้าของรุ่นกลาง หรือก็คือก้าวสู่อันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย นั่นหมายความว่าต้องรับมือกับยักษ์ใหญ่แห่งภูมิภาคนี้ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น และจีนให้ได้

“ผมว่าคนไทยทำได้ ถ้าใจกล้าและเปลี่ยนความคิด แต่อาจจะเดินยากสักหน่อย เส้นทางก็ขรุขระ ต้องใช้ความอดทนมากๆ” ดูเหมือนสิ่งที่อนนต์พูดจะปรากฏอยู่ในโฆษณาตัวใหม่แทบทั้งหมด

ก้าวสำคัญที่นับเป็นประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทยเกิดขึ้นในปี 2545 เมื่อ ปตท.สผ. ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเข้าเป็นผู้ดำเนินการในแปลง 44 ประเทศ โอมาน ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของ ปตท.สผ. ในบทบาทผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตฯ ของคนไทยในต่างแดน

ปัจจุบัน ปตท.สผ.ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตฯ รวมทั้งสิ้น 40 โครงการ เป็นโครงการในประเทศไทย 18 โครงการ และอีก 22 โครงการ อยู่ในต่างประเทศ 12 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา โอมาน อิหร่าน บาห์เรน แอลจีเรีย อียิปต์ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

ทั้งหมด 40 โครงการ แบ่งเป็นโครงการระหว่างการผลิต 17 โครงการ ระหว่างพัฒนา 5 โครงการ และระหว่างสำรวจ 18 โครงการ เมื่อพิจารณาจาก “ขุมทรัพย์พลังงาน” หรือปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วของ ปตท.สผ. ซึ่งมีขนาด 1,099 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ อยู่ในประเทศไทย 60% ต่างประเทศ 40% โดยแบ่งเป็นแหล่งก๊าซ 80% แหล่ง น้ำมัน 20%

“เราก็ยังไม่พอใจกับพอร์ต (portfolio) ตรงนี้ เพราะส่วนผลิต 17 โครงการก็จะร่อยหรอทุกวัน โครงการระหว่างพัฒนาก็ต้องเอามาเติมส่วนที่ร่อยหรอ ส่วนระยะสำรวจก็ต้องหาให้เจอ ปกติโครงการระยะสำรวจต้องมีเยอะๆ เพราะงานสำรวจโอกาสสำเร็จมีแค่ 1 ใน 5 ฉะนั้นต้องหาเป็นร้อยแหล่ง เพื่อรองรับการเติบโต”

ด้วยอายุองค์กรเพียง 25 ปี ที่ต้องเริ่มต้นเรียนรู้ตั้งแต่ศูนย์ ซ้ำยังไม่ได้มีทุนหนาเฉก เช่นบริษัทสำรวจและผลิตฯ ระดับโลก และก็หาได้มีแรงสนับสนุนเต็มที่จากรัฐบาลเทียบเคียงได้กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศอื่นที่เขาทำกัน แต่อย่างน้อย ปตท.สผ.สามารถ ทำให้ประเทศไทยพึ่งพาตัวเองได้ถึง 20% ของความต้องการใช้พลังงานทั้งประเทศ

การพึ่งพาตัวเองในที่นี้ อนนต์ย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นการหาและนำพลังงานกลับ เข้ามาในประเทศ แต่อาจเป็นการมีรายได้จากพลังงานที่ต่างประเทศแล้วนำรายได้ตรงนี้ไปซื้อพลังงานกลับเข้ามา เหมือนที่ผู้ว่า ปตท.รุ่นพี่ๆ เคยบอกกับรุ่นน้องๆ ว่า “ออกไปซับ กำไรกลับคืนมาเข้าประเทศเรา”

หากไม่นับในประเทศไทย แหล่งพลังงานที่มีศักยภาพมากที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า โดยอนนต์ยก ให้เป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของ ปตท.สผ. เพราะ ไม่เพียงจะมีแหล่งก๊าซใหญ่ถึง 2 แปลง ได้แก่ ยาดานา และเยตากุน ยังมีแหล่ง M9 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซแบบไฮโดรคาร์บอนล้วนขนาดใหญ่

พม่านับเป็นแหล่งขุมสมบัติต่างประเทศชั้นดีของ ปตท.สผ. เพราะนอกจากทรัพยากรธรรมชาติเยอะ บริษัทยังมีประสบ การณ์และคุ้นเคยกับพื้นที่เป็นอย่างดี มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนนหนทางและท่อก๊าซพร้อม และความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท.สผ.กับรัฐบาลพม่าก็เป็นไปด้วยดี ที่สำคัญยังมีตลาดไทยรองรับ นั่นหมาย ความว่า โอกาสขยายการลงทุนในประเทศ พม่าจึงยังมีอีกเยอะ

ไม่เพียงพม่า ขุมทรัพย์ต่างประเทศ ที่ถือว่าเป็น “แถว 1” ของ ปตท.สผ.ยังมีเวียดนาม อินโดนีเซีย พื้นที่ร่วมไทย-มาเลเซีย และออสเตรเลีย

อนนต์ให้นิยาม “แถว 1” ว่าเป็นประเทศที่เป็นพื้นที่เป้าหมายหลักที่บริษัทพร้อมปักธงลุย เพราะมีความได้เปรียบที่จะเข้าไป รู้ช่องทางเจาะสำรวจและผลิต กฎกติกาและบรรยากาศของประเทศเอื้อต่อการลงทุน ผลตอบแทนสมน้ำสมเนื้อ และมองเห็นโอกาสเติบโตชัดเจน

ประเทศที่มีความน่าสนใจรองลงมาจะถูกจัดอยู่ใน “แถว 2” หมายถึงประเทศที่ ปตท.สผ.ได้เข้าไปลงทุนและมีกิจกรรมสำรวจอยู่บ้าง แต่ก็ยังต้องศึกษาว่ามีช่องทางในการเติบโตและมีโอกาสจะเลี้ยงตัวเองได้หรือไม่ หากไม่มีหรือมีน้อยก็พร้อมจะพับเสื่อกลับบ้าน

ส่วน “แถว 3” ได้แก่กลุ่มประเทศ ที่มีแหล่งพลังงานอยู่มาก แต่ ปตท.สผ.ยัง หาช่องทางในการสำรวจและผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่ไม่ได้ หรือมีค่าใช้จ่ายในการขุด เจาะสำรวจสูงยังไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนในเวลา นี้ แต่ถึงกระนั้นก็ต้องเก็บไว้ในสต็อกพร้อม ศึกษาข้อมูลเอาไว้ล่วงหน้า เช่น แหล่ง น้ำมันหนัก (heavy oil) ในแคนาดาที่มีน้ำมันปนมากับทราย การผลิตจึงมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เมื่อไรที่น้ำมันขาดแคลนและราคาน้ำมันสูงพอ แหล่งนี้จะมีศักยภาพทันที

หรือถ้า ณ เวลานั้น บริษัทมีโครง การในมือมากจนรับไม่ไหว พื้นที่เป้าหมาย นั้นก็อาจถูกเก็บในตะกร้ารอจนมีความพร้อมมากพอ จึงกลับเข้าไปดูและลงทุน

“วิธีทำงานของเรา แถว 2 ถ้าเข้าไปแล้วไม่สำเร็จก็ต้องรีบมองทางถอย แล้วดูพื้นที่เป้าหมายใหม่อาจจะไกลออกไป แถวอเมริกาใต้ เอเชียกลาง หรือมองขึ้นข้างบน เราต้องหูตาไวและขยับไว ต้องรู้ว่าเติมที่ไหน เพราะถ้าขืนมัวแต่ช้า มีหวังไม่ทันคนอื่นไม่เสร็จจีนก็คนอื่นคว้าไป”

ดูเหมือนในธุรกิจนี้ สำนวนที่ว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” อาจจะต้องถูกเปลี่ยนเป็น “ปลาเร็วกินปลาช้า” แทน

เพื่อตอบสนองต่อการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ โลก และความต้องการใช้พลังงานของเมืองไทย ระยะหลัง ปตท.สผ.จึงหันมาใช้ยุทธศาสตร์ ควบรวมและซื้อกิจการแหล่งสำรวจและผลิตฯ รายย่อยและเข้าซื้อพลังงานสำเร็จรูป แทนการจัดหาและสำรวจเอง

แม้ว่าตลอด 25 ปี ปตท.สผ.จะสามารถยกระดับองค์กร จนทำให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่และประเทศเจ้าของแหล่งพลังงานหลายแห่งยอมรับใน “ฝีมือ” ในการสำรวจและผลิตฯ แต่เนื่องจากธุรกิจนี้ต้องใช้เงินลงทุนสูง ทว่า “หน้าตัก” ที่ ปตท.สผ.มีอยู่ก็มีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับบริษัทสำรวจและผลิตฯ ข้ามชาติ โอกาสที่จะลงแข่งขันในแหล่งขนาดใหญ่ที่เป็นเสมือนสนามชนยักษ์จึงกลายเป็นเรื่องยากของบริษัทเล็กๆ อย่าง ปตท.สผ.

ทว่า เมื่อหันมาเทียบกับบริษัทสำรวจและผลิตฯ ที่เป็นองค์กรน้ำมันแห่งชาติเหมือนๆ กัน ที่มาจากประเทศอื่น พบว่า ปตท.สผ.ก็ยังเสียเปรียบในเรื่องแรงหนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งออกแรงน้อยกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ที่รัฐบาลมักจัด “แพ็กเกจ” เข้าไปประเทศเป้าหมาย ด้วยข้อเสนอเป็นถนน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ แลกกับสัมปทานแหล่งพลังงานที่ประเทศนั้นมี

“แนวทางที่เหลือที่ดีที่สุดสำหรับเรา ก็คือการหาเพื่อนแล้วเกาะเขาไปด้วย เพราะงานสำรวจและผลิตฯ ใช้เงินลงทุนสูงและความเสี่ยงสูง ฉะนั้นสมบัติที่มีอยู่ในกระเป๋าอาจจะไม่พอเลี้ยงธุรกิจได้ถ้าไม่ระวัง” อนนต์กล่าว

ทั้งนี้ สุรงค์ บูลกุล CEO แห่งไทยออยล์ เชื่อว่า ในอนาคต ปตท.น่าจะมีการเคลื่อน ย้ายทรัพยากรและเงินลงทุนมาใส่ในพอร์ตของ ปตท.สผ.มากขึ้น เพราะธุรกิจนี้เปรียบได้กับ “หัว” ของเครือ ปตท. ซึ่งถือเป็นแนวทางเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของโลก เช่น ExxonMobil ลงทุนในส่วนธุรกิจ “อัพสตรีม” สูงกว่า 60% ขณะที่ ปตท.ยังลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตฯ เพียง 20-30% เท่านั้นเอง

“พอร์ตการลงทุนของกลุ่ม ปตท.จะไปที่อัพสตรีมมากกว่านี้ เพราะเราตัวอ้วนแต่หัวเล็ก คาดว่าอนาคต ปตท.สผ.จะเป็นพี่ใหญ่ และจะมีบทบาทสำคัญต่อกลุ่มอย่างมาก” สุรงค์ให้ความเห็นในฐานะที่ทำงานกับ ปตท.มากว่า 20 ปี

แม้ว่า ปตท.สผ.จะก้าวออกไปลงทุนในต่างประเทศมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว แต่หากบริษัทยังทำธุรกิจด้วยกรอบความคิดเหมือนที่ผ่านมา อนนต์มองว่า สุดท้ายแล้ว ปตท.สผ. ก็คงยังต่ออยู่ท้ายแถวเหมือนเดิม แต่ถ้าต้องการก้าวขึ้นมายืนอยู่ในแถวหน้าของภูมิภาคนี้ ปตท.สผ. มีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาและสรรหาบุคลากร

ในธุรกิจนี้ นักธรณีวิทยา นักธรณีฟิสิกส์ และวิศวกรปิโตรเลียม เรียกได้ว่าเป็นหัวใจขององค์กร เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีหน้าที่บอกว่าน้ำมันกับแก๊สอยู่ตรงไหน ประเมินว่าขุมทรัพย์นี้มีพลังงานมากเท่าไร ฯลฯ ซึ่งถือเป็นงานที่สำคัญมาก เพราะนี่หมายถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการนั้น บริษัทน้ำมันจึงต้องทำเอง

ปัจจุบัน ปตท.สผ.มีพนักงานราว 3 พันคน อายุเฉลี่ยพนักงานคือ 25 ปี เมื่อนำประสบการณ์ของคนกลุ่มนี้มาเปรียบเทียบกับเป้าหมายการเป็นผู้นำระดับภูมิภาคของ ปตท.สผ. จึงนับเป็นความท้าทายใหญ่ของอนนต์ ในฐานะ CEO ของบริษัท ที่ต้องเร่งกระตุ้นและสร้างประสบการณ์ให้ขุนพลหนุ่มสาวเหล่านี้ได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นมา เพื่อรองรับกับจำนวนโครงการปัจจุบันและโครงการในอนาคต และทดแทนบุคลากรระดับบริหารที่เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ

“การแข่งขันในธุรกิจนี้ค่อนข้างสูง ถ้าเราอยากออกไปโตข้างนอก เราต้องกระตุ้นให้คนของเราคิดนอกกรอบแบบสิ้นเชิง เพราะสิ่งที่เรากำลังเผชิญเมื่อข้ามพรมแดนออกไปคือความท้าทายที่มากกว่าอยู่ในบ้านเรา และทุกประเทศในเอเชียก็มองเรื่องพลังงานเป็นหัวใจเหมือนเราหมด แต่เขาไปแรงกว่าเราเยอะเพราะมีแรงสนับสนุนดี ดังนั้น เราเองถ้าจะไปก็ต้องไปอย่างที่ดูแล้วสร้างความแตกต่าง” น้ำเสียงอนนต์หนักแน่น

สำหรับกลยุทธ์กระตุ้นความคิดนอกกรอบที่ถูกนำมาใช้ ได้แก่ การตั้งเป้าหมายระยะยาวในการเพิ่มปริมาณการผลิตจากปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 3 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เป็น 9 แสนบาร์เรล ในปี 2563

นอกจากเพื่อพัฒนาศักยภาพพนักงาน อนนต์มองว่าเป้าหมายสูงลิบลิ่วนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร เพราะหากยังคงทำงานกันแบบเดิม แค่เป้าหมาย 5 แสนบาร์เรลก็ดูจะริบหรี่เหลือเกินแล้ว

ความพยายามเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดของ ปตท.สผ. มีมาตั้งแต่อดีต เริ่มตั้งแต่ การเปลี่ยนมุมมองจากที่เคยมองว่าปริมาณสำรอง หรือ “ขุมทรัพย์พลังงาน” เมื่อใช้ไปก็ต้องร่อยหรอ มาสู่โจทย์ใหม่ที่ว่าทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้ “ขุมทรัพย์ฯ” นั้นถดถอย จนมาถึง โจทย์ล่าสุดที่ว่า “ขุมสมบัติ” ที่มีอยู่ต้องต่อยอดเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

เพราะเชื่อว่าโจทย์ที่ยากและท้าทายจะเป็นตัวกระตุ้นให้ชาว ปตท.สผ.ต้องทำการบ้านหนักขึ้น เพื่อค้นหาวิธีและเทคนิคใหม่ๆ อนนต์จึงกล้ารับประกันว่า อีก 10 ปีข้างหน้า บริษัทจะไปถึงเป้าหมาย “9 แสนบาร์เรล” พร้อมทั้งติดอันดับ 1 ใน 5 ของบริษัท สำรวจและผลิตฯ แถวหน้าในภูมิภาคเอเชีย

“จริงๆ แล้วความท้าทายไม่ได้อยู่ที่ “เก้าแสน” แต่อยู่ที่การก้าวข้ามกรอบทั้งหลายมากกว่า” อนนต์เล่นคำ

หากทำได้จริง ไม่เพียง ปตท.สผ.จะได้ประโยชน์ ประเทศไทยยังได้อานิสงส์ เป็นอัตราการพึ่งพาตัวเองที่จะเพิ่มไปถึง 30% หมายความว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้ อนนต์ ให้ตัวเลขคร่าวๆ ที่ระดับ 8 หมื่นล้าน-1 แสนล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นอัตราเติบโตจาก 7% ไปสู่เลขสองหลัก ซึ่งก็นับเป็นการตั้งโจทย์ยากอีกครั้ง แต่เขาก็ยืนยันว่ามีความจำเป็นที่ ปตท.สผ. จะต้องมุ่งหน้าสู่การเติบโต

“เพราะถ้าเรายังปล่อยให้เล็กอยู่อย่างนี้ตลอด โอกาสก็คงร่อยหรอเรื่อยๆ เราก็คงไม่เห็นความจำเป็นในการสร้างคน เราก็คงย่ำอยู่กับที่หรือก้าวออกไปช้า พอสักวันคิดขึ้นได้ก็อาจไม่มีที่อยู่ ไม่เหลือโอกาส ไม่เหลือแม้แต่บริษัท เพราะเราเอาแต่กินสมบัติเก่าจนหมด” อนนต์ทิ้งท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.