ทุกข์ของเจ้าของภาษาอังกฤษ…ใครจะเชื่อ?!


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

แปลกแต่จริง คนอังกฤษไม่พอใจกับการรู้ภาษาแม่ของตน ...

ก่อนเข้าเรื่อง ต้องเกริ่นก่อนว่าชาวอเมริกัน และชาวยุโรป มักจะนินทาคนอังกฤษว่าเป็นชนชาติที่คิดมาก ชอบคุ้ยอดีต และคบยาก

คนอังกฤษเองก็เห็นด้วย ซ้ำยังเพิ่มคุณ ลักษณะอีกอย่างของพวกตนอีกด้วย นั่นคือ ช่างอมทุกข์

ซึ่งทุกข์ระยะหลังของคนอังกฤษนั้น สะกิดใจผู้เขียนเป็นพิเศษ เพราะเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลายทั่วโลก และผลกระทบต่อคนอังกฤษล่าสุดเมื่อต้นเดือนมกราคม คอลัมนิสต์มือฉกาจประจำหนังสือพิมพ์ไฟแนน เชียลไทมส์ร่ายยาวทุกข์ในใจเรื่องนี้ พร้อมทั้งสรุปว่า ในยุคแห่งการแข่งขันที่แท้จริง และโลกอนาคต

การรู้เฉพาะภาษาอังกฤษคือ ความเสียเปรียบของการเป็นเจ้าของภาษาที่มีคนใช้เป็นภาษากลางมากที่สุดในโลก

ลองมาฟังเหตุและผลของพวกคิดมากดูว่า มีประเด็นจริงไหม

สุข คือ ชัยชนะของภาษาอังกฤษ ใช่ไหม?

แม้จะเขม่นและหมั่นไส้ชาวอเมริกัน แต่คนอังกฤษโดยทั่วไปยอมรับว่าเพราะพวกแยงกี้แท้ๆ ที่ครองโลกด้านการค้า เทคโนโลยี วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษจึงมีชัยชนะ เหนือภาษาอื่นๆ ในแวดวงเหล่านี้

ข้อดีของการแชร์ภาษาแม่ภาษาเดียวกันกับชาวอเมริกันย่อมมีแน่ ที่สำคัญ เช่น....

เหนือสิ่งอื่นใด คนอังกฤษชอบใจมากที่พวกเขาไม่ต้องรันทดดั้นด้นเรียนภาษาต่างชาติ

เมื่อต้องการฟังข่าวล่า แน่นอนเลย.... ภาษาอังกฤษครองโลกสื่อมวลชนอยู่แล้วเพียงหมุนไปช่องซีเอ็นเอ็น บีบีซี หรือแม้กระทั่งช่องข่าว ของชาวเยอรมันทางเคเบิล ก็ยังอุตส่าห์ฟุตฟิตฟอไฟเช่นกัน

ความสะดวกในการใช้คอมพิวเตอร์ เพราะภาษาอังกฤษคือ ภาษาแรกของวงการนี้

ตามมาล่าสุด คือ ความง่ายดายในการท่องเว็บ แวดวงอินเทอร์เน็ตไปได้ไกลถึงปานนี้ ก็ต้องขอบคุณภาษาอังกฤษอีกนั่นแหละ

เฉกเช่นเดียวกับวงการเงิน วงการทูต วงการบันเทิง แวดวงการศึกษา...เหลืออะไรที่สำคัญในชีวิตเราอีกไหม

อาจจะไม่เหลือ สำหรับชาวโลกที่ไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรป แต่สำหรับคนอังกฤษแล้ว สหภาพยุโรป คือ ด่านสุดท้ายที่บ่งบอกถึงชัยชนะ ของภาษาอังกฤษ จากที่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ภาษาฝรั่งเศสเคยเป็นภาษากลางที่ข้าราชการระดับสูงในสหภาพยุโรป นิยมใช้อย่างแพร่หลายปัจจุบันภาษาฝรั่งเศสคืออดีต เพราะเอกสารการประชุมตลอดจนสรุปข่าวทุกวันนี้ เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งคนอังกฤษเองก็แปลกใจไม่แพ้ชาวฝรั่งเศส ด้วยไม่ได้ผลักดันภาษาแม่ของตนให้เป็นใหญ่ ส่วนพวกที่ออกแรงกลับเป็นชาวสแกนดิเนเวียนั่นเอง

ทุกข์ที่วัดได้... ความไม่สนภาษาต่างชาต

แทนที่จะสุข ใจ คนอังกฤษกลับหนักอก และคอยตามเก็บวัดความทุกข์ โดยแจกแจงเป็นสถิติได้อย่างน่าทึ่ง

* การลงทะเบียนเรียนภาษายุโรป เช่น เยอรมัน และฝรั่งเศส ในระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยลดดิ่งลงมามาก จนกระทั่งมหาวิทยา ลัยหลายแห่งถึงกับขู่ว่าจะปิดคณะภาษาศาสตร์ลงให้สิ้นเรื่อง

* สถิติของยูโรสแตท์ฟ้องว่าคนอังกฤษติดอันดับโหล่สุดในสหภาพยุโรป ด้านทักษะภาษา ต่างชาติ

* เพื่อไม่ให้ชาวแยงกี้ดูดีกว่าตน พวกคิด มากก็ไปตามเก็บสถิติของอเมริกันด้วย และก็ได้สะใจจริง เพราะการลงทะเบียนเรียนภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ร่วงลงมาถ้วนหน้า ที่ดูจะทำให้มีอิมเมจอินเตอร์กว่าคนอังกฤษ เห็น จะเป็นการเรียนภาษาจีนที่ได้รับความนิยมมากขึ้น

ยิ่งเทียบเปรียบ..ยิ่งทุกข์

ลำพังสถิติที่วัดความไม่สนภาษาต่างชาติของชนเจ้าของภาษาอังกฤษด้วยกันคงไม่ทำให้คนอังกฤษเป็นกังวลนัก แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาเริ่ม รู้สึกเดือดร้อน คือ

พวกเพื่อนบ้านร่วมสหภาพยุโรปของเขานั้น เก่งด้านทักษะภาษาต่างด้าวกว่าตนเองมาก ตามสถิติของยูโรสแตท์ ชนสี่ชาติที่ครองอันดับต้นๆ ในความรู้ภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ชาวลักเซมเบิร์ก เดนมาร์ก สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ ชาวยุโรปเหล่านี้และชนชาติอื่นในสหภาพยุโรปยังคงพยายามทุกวิถีทางที่จะรักษา และส่งเสริมทั้งภาษากลาง และภาษาท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศตน

เจาะลึกคุณของการรู้ภาษาต่างชาต

เพราะนิสัยช่างคิด และชอบค้นหาคำตอบคนอังกฤษจึงได้วิเคราะห์เจาะลึกถึงคุณของการรู้ภาษาต่างชาติ โดยสรุปว่า ภาษาแต่ละภาษามีความสมบูรณ์และสลับซับซ้อนไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จนอาจกล่าวได้ว่า นี่คือ ความสำเร็จสูงสุดของมนุษย์ในการสื่อสารกัน ภาษาทำให้เรามีรูปแบบการคิด และแนวความคิดที่สืบทอดต่อกันได้ ถ้าเราไม่รู้ภาษาที่ต่างจากภาษาแม่ของเราไม่พยายามทำความเข้าใจแนวคิดของคนต่างภาษา และเข้าให้ถึงความแตกต่างระหว่างภาษาเราและภาษาเขาเราเอง ก็จะไม่สามารถเข้าใจเขา ซึ่งเป็นชาวต่างชาติได้อย่างแท้จริง

สอนผิดผิด...คิดจนทุกข์ใจ

และแล้ว คนช่างคิดก็คุ้ยค้นหาสาเหตุหลัก ที่ทำให้การเรียนภาษาต่างประเทศในอังกฤษตก ต่ำลง นั่นคือ แนวการสอนซึ่งเน้นหนักทักษะที่จะช่วยให้ค้าขายกับต่างชาติและส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศเท่านั้น ไม่ได้เน้นทำความเข้าใจด้านแนวความคิดเท่าที่ควร และในเมื่อชนชาติต่างภาษาทั้งหลาย พร้อมใจกันใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อซึ่งกันและกัน เจ้าของภาษาเองจึงไม่มีความจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาต่างประเทศเลย เมื่อไม่เรียน จึงไม่รู้ว่าภาษา (อังกฤษ) ของตนนั้น ต่างจากภาษาอื่นอย่างไรบ้าง ทำไมไวยากรณ์ โครงสร้างและคำศัพท์ของภาษาตน จึง มีความคล่องตัวสูงจนกลายเป็นที่นิยมของชนหมู่มาก

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ เมื่อไม่รู้ภาษาของชนชาติอื่น ก็ไม่รู้จักวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ความเป็นอยู่ตลอดจนวิถีความคิดของเขาเหล่านั้น เว้นเสียแต่ว่าเขาจะพูดกับตนด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้น

คิดเขา...คิดเรา

คิดมากนะคนอังกฤษเนี่ย .....

แต่ก็อดคิดตามไม่ได้ โดยย้อนกลับมาดูเราคนไทยกันเอง ไม่ใช่ในประเด็นที่จะต้องวิ่งเรียน ภาษาอังกฤษ เพื่อค้าขายและส่งเสริมรายได้จากการท่องเที่ยวหรอกนะ อันนี้พอจะเข้าใจ ว่าต้องทำเพื่อความอยู่รอด

ที่อดคิดตามด้วยความน่าเป็นห่วง คือ ความพอดีอยู่ตรงไหนระหว่างการรู้ภาษาเขา และการรู้ภาษาเรา เพราะก่อนที่เราจะไปเรียนรู้ภาษาของเขา เราควรจะเรียนรู้ภาษาของเราให้แตกฉาน มิฉะนั้นแล้ว เราเองก็จะงูงูปลาปลา ทั้งสองภาษา.....

....แล้วก็จะกลายเป็นเรื่องน่าเสียดายว่าไม่รู้จริงแม้กระทั่งภาษาแม่ของตน.....



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.