|
ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางพลังงานในมือ “ปตท.”
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
เป็นเวลาหลายปีที่ บมจ.ปตท. (PTT) ติดอันดับ 1 ในบรรดา 100 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ทำรายได้มาก ที่สุด (อันดับ Manager 100) ไม่ว่าจะมองในแง่รายได้ กำไร หรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด
สำหรับปี 2552 “ปตท.” มีรายได้กว่า 1.6 ล้านล้านบาท กำไรเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ Market Cap. มีขนาดใหญ่เกือบ 7 แสนล้านบาท ถือเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็น 11.87% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามราคาตลาด
หากรวมบริษัทในกลุ่ม ปตท.ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วจะมีมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท เป็นร้อยละ 26.74 หรือกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามราคาตลาด
หลังจากปรากฏตัวย่อ “PTT” บนกระดานหุ้นครั้งแรกในปี 2544 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เริ่มดูคึกคักมากเป็นพิเศษนับแต่นั้น กระทั่งมีการแยกหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคออกมาจากหมวดเหมืองแร่
ผลการดำเนินงานของ บมจ.ปตท. และบริษัทในเครือทั้ง 6 แห่งที่ลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะกำไร ถือเป็นตัวกระตุ้นความน่าสนใจของหุ้น PTT ได้ดี โดยไตรมาส 1 ปี 2553 ปตท.มีกำไรสุทธิจำนวน 23,021 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปีที่แล้ว จำนวน 15,572 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 209%
แม้ ปตท.จะถือเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ภายหลังแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน กำไรสูงสุดก็กลายเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ใช้วัดมาตรฐานความเป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศของ ปตท. และบริษัทในเครือที่เข้าตลาดฯ
ขณะเดียวกันคาดการณ์ราคาน้ำมัน ที่นักวิเคราะห์มองว่า ราคาพลังงานจะเดินหน้าแพงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจไม่มีวันเห็นน้ำมันดิบในราคาที่ต่ำกว่าบาร์เรลละ 70 ดอลลาร์ (โดยเฉลี่ย) รวมถึงคาดการณ์ราคา และความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ก็ถือเป็นข่าวดีที่ช่วยกระตุ้นความน่าซื้อให้กับ PTT
อีกทั้งข่าวความเคลื่อนไหวที่เป็นก้าวสำคัญในอนาคตของเครือ ปตท. โดยเฉพาะข่าวการควบรวมกิจการบริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ซึ่งน่าจะประกาศได้ราวเดือนมิถุนายน และข่าวการอนุมัติแผนกู้เงินร่วม 8 หมื่นล้านบาท ภายในช่วง 5 ปีและข่าวแผนการลงทุน 5 ปี (2553-2557) ที่มีวงเงินรวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท น่าจะสร้างความเย้ายวนให้หุ้น PTT ได้เป็นอย่างดี
ด้วยขนาดของกลุ่มและเม็ดเงินลงทุนก้อนโตของเครือ ปตท. ตลาดหุ้นไทยจึงมักมีสีสันทุกครั้งที่มีการขยับจนถึงกับมีวลีเด็ดในตลาดหุ้นไทยที่ว่า “ปตท.ขยับ เศรษฐกิจเขยิบ”
ย้อนกลับไปปี 2521 “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” หรือ “ปตท.” ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์และลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนพลังงานในช่วงวิกฤติน้ำมันโลก ครั้งที่ 2 ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ ตลอดจนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับบริษัทน้ำมันต่างชาติในเวลานั้น
ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติบนปณิธานในการเป็นพลังงานที่ยั่งยืน สมกับสโลแกน “ปตท. พลังไทย เพื่อไทย” โดยมีพันธกิจหลักต่อประเทศ ในการสร้างความมั่นคง ด้านพลังงานในระยะยาว ด้วยการจัดหาปริมาณพลังงานที่เพียงพอ มีคุณภาพได้มาตรฐาน และราคาเป็นธรรม
ยิ่งมีวิกฤติราคาน้ำมันที่ทำให้เชื้อเพลิงมีราคาสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2551 ทำให้ ประเทศนำเข้าน้ำมันต้องตระหนักถึงความผันผวนของราคาพลังงานที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน
ประเทศไทยพึ่งพาพลังงานนำเข้าร่วม 90% ของความต้องการใช้พลังงานทั้งประเทศ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย อาจเหลือไม่ถึง 30 ปี ขณะที่ปริมาณน้ำมันของโลกอาจมีให้ใช้ได้อีกเพียง 40 ปี ส่วนก๊าซธรรมชาติเหลืออีกแค่ 70 ปี และปริมาณถ่านหินทั่วโลกอาจเหลือให้ใช้ราว 100 ปี
กิจการทางยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศอย่าง ปตท. จึงเป็นเสมือนแขนขาของรัฐบาลในการจัดหาพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ได้ระดับหนึ่ง เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงต่อการเติบโตของประเทศ
ขณะที่การสรรหาและพัฒนาพลังงานทดแทนขึ้นมาใช้ นอกจากจะเป็นยุทธศาสตร์ในการลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นอีกมาตรการในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ แนวทางนี้ยังถือเป็นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน อันเป็นพันธกิจหนึ่งของ ปตท.
ในฐานะบริษัทมหาชน ปตท.ยังต้องมีพันธกิจต่อผู้ถือหุ้น ในการสร้างกำไรเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีและให้มีการเจริญเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ปตท.ถือเป็นองค์กรทางธุรกิจที่จำต้องมีภารกิจในการพัฒนาตัวเองให้สามารถแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ได้ทั้งในเวทีประเทศไทยและสังเวียนโลก โดยวิสัยทัศน์ของ ปตท. คือการเป็นบริษัทพลังงานข้ามชาติชั้นนำ ที่มีเกณฑ์ในการวัดความสำเร็จ ด้วยการก้าวขึ้นสู่อันดับ TOP 100 ของนิตยสารฟอร์จูน จากปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 118 บวกกับ เป้าหมายที่ไกลกว่านั้นคือ การก้าวเข้าไประดมทุนระดับนานาชาติในตลาดดาวโจนส์
นั่นหมายถึงว่า ปตท.และบริษัทในเครือต้องดำเนินการในหลายด้าน แต่ด้วยลักษณะของ ปตท.ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นองค์กรพลังงานแห่งชาติ ความคล่องตัวและความเป็นมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทลูกจึงมีความจำเป็น โดยที่บริษัทแม่เป็นผู้ควบคุมเฉพาะเป้าหมายและนโยบายสำคัญ เพื่อลดความเสียเปรียบทางการแข่งขันบนเวทีโลก
บนเส้นทางที่ดูเหมือนผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ปตท.และบริษัทในเครือ ย่อมต้องมีหน้าที่รักษาสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงานของชาติกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทลูกของ ปตท.ทั้ง 6 แห่ง ต่างก็มีอิสระในการบริหารธุรกิจเพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวเอง ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่เชื่อมโยงประโยชน์ระหว่างกัน เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ของบริษัทแม่ และแต่ละแห่งต่างก็มีมูลค่าหลักทรัพย์ทางการตลาดขนาดใหญ่
ดังนั้น ทิศทางทางธุรกิจและก้าวย่างสำคัญของบริษัทเหล่านี้จึงน่าสนใจและมีความสำคัญทั้งทางเศรษฐศาสตร์และต่อยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศ ไม่แพ้บริษัทแม่เช่นกัน ดังจะเห็นและพิสูจน์ได้จากทั้ง 3 บริษัทที่ผู้จัดการ 360° หยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|