|
Kawagoe: the authentic Little Edo
โดย
ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ประจักษ์พยานแห่งร่องรอยความจำเริญของบ้านเมืองในสมัยเอโดะ (ค.ศ.1603-1868) ที่ถูกขนานนามว่า Little Edo ซึ่งยังปรากฏอยู่จวบจนปัจจุบันนี้อาจพบเห็นได้หลายแห่งรายรอบเอโดะ (ชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนเป็นโตเกียว) แต่คงไม่มีแห่งใดที่ถูกกล่าวขานถึงบ่อยครั้งเท่า Little Edo ในเมือง Kawagoe
Little Edo เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ในภาษาญี่ปุ่นว่า Ko-Edo ซึ่งหมายความถึงเมืองในสมัยเอโดะ ที่วางผังโดยมีปราสาทเป็นศูนย์กลางชุมชนรวมถึงมีความเจริญรุ่งเรืองตามแบบอย่างของเอโดะ อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเมืองที่เข้าข่าย Ko-Edo นั้นเป็นตรรกะที่บ่งบอกถึงความจงรักภักดีของไดเมียว ผู้ครองเมืองที่ขึ้นตรงต่อโชกุนซึ่งปกครองประเทศอยู่ในปราสาทเอโดะ
ความเป็นมาของการก่อร่างสร้างเมือง Kawagoe เริ่มตั้งแต่ก่อนสมัยเอโดะโดยเฉพาะวัดเก่าแก่หลายแห่งซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญสืบเนื่องจากความศรัทธาในพุทธศาสนาลัทธิหินยานของเจ้าเมือง Kawagoe ในอดีต ยกตัวอย่างวัด Kitain ซึ่งต่อมากลายเป็นหนึ่งในอารามหลวงในสมัยเอโดะ
หลังจากที่โชกุน Ieyasu Tokugawa สามารถรวมศูนย์อำนาจได้สำเร็จและสถาปนาเอโดะขึ้นเป็นศูนย์บัญชาการปกครองประเทศในขณะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงประทับที่วังในเมืองเกียวโตนั้น Kawagoe เริ่มทวีบทบาทสำคัญเป็น Castle Town ที่ดำเนินความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นในฐานะเมืองลูกหลวงของเอโดะ
ปราสาท Kawagoe สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1457 โดยซามูไรตระกูล Hojo เป็นปราสาทแบบญี่ปุ่นที่ปลูก สร้างบนฐานแบนราบซึ่งมีรูปลักษณ์ภายนอกแตกต่างไปจากปราสาทส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.1870 ปราสาทหลังนี้ได้รับการบูรณะใหม่ตามคำสั่งของโชกุนเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการเมืองและปกครองของ Kawagoe
จุดเปลี่ยนนี้ส่งผลให้ Kawagoe กลายเป็น Castle Town ที่อยู่ใกล้ เอโดะมากที่สุดซึ่งเชื่อมต่อกันโดยแม่น้ำ Shingashi และเส้นทางเดินเท้า Kawagoe kaido ที่มีระยะทางเพียง 43 กิโลเมตรจากจุดเริ่มต้นที่ Nihonbashi ใจกลางกรุงโตเกียว (ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็นทางหลวงหมายเลข 254) จึงอำนวยให้ยุทธศาสตร์การพัฒนา, วิทยาการความรู้, การจัดระเบียบสังคม รวมถึงวัฒนธรรมต้นแบบทั้งหมดจากเอโดะถูกส่งผ่านเข้าสู่ Kawagoe อย่างง่ายดายในลักษณะย่อส่วนให้เล็กลงเท่านั้น
ผลพวงของความเจริญรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้นนี้เป็นประดุจแรงดึงดูดให้ประชากรของ Kawagoe เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเปลี่ยนสภาพไปเป็นชุมชนที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่สอดคล้องควบคู่ไปกับความมั่งคั่งของเอโดะ
บนสองฟากถนน Ichiban Gai ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญใจกลาง Little Edo เรียงรายด้วยร้านค้าภายในอาคารแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า Kurazukuri ซึ่งอาจดูละม้ายคล้ายกันไปหมด แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่าสถาปัตยกรรมของอาคารแต่ละหลังได้รับการออกแบบอย่างประณีตให้สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำกันหรือกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในแง่ที่ว่าเป็นอาคารซึ่งมีเพียงหลังเดียวในโลก
ยิ่งไปกว่านั้นกระเบื้องที่ห่อหุ้มตัวอาคาร Kurazukuri ยังโดดเด่นตรงที่มีความทนทานต่อการเผาไหม้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีการผลิตกระเบื้องทนไฟที่นำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการสร้างบ้านในปัจจุบัน
นอกจากนี้อาคาร Kurazukuri ที่เคยมีอยู่ดาษดื่นในเอโดะได้สูญสลายไป เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ Great Kanto Earthquake ในปี ค.ศ.1923 และอีกส่วนถูกทำลายไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ Kurazukuri ที่เรียงรายอยู่ใน Little Edo เป็นสมบัติแผ่นดินอันล้ำค่าที่หาดูได้ไม่ง่ายนัก
กระนั้นก็ดีสิ่งปลูกสร้างที่ถือว่าเป็น Landmark สำคัญคือหอนาฬิกา Toki No Kane ที่ยังตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของ Little Edo ซึ่งพบหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรบันทึกประวัติการสร้างในช่วงปี 1627-1634 ตามประสงค์ของไดเมียว Tadakatsu Sakai แต่เนื่องจากถูกไฟไหม้หลายครั้ง หอนาฬิกาที่เห็นในปัจจุบันมีความสูง 16 เมตรได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ภายหลังไฟไหม้ Kawagoe ครั้งใหญ่ใน ปี 1893
หลังจากการเปิดประเทศรับวิทยาการสมัยใหม่และวัฒนธรรมตะวันตกในสมัยปฏิรูปเมจิ* (ค.ศ.1686-1911) Kawagoe ก้าวไปสู่บทบาทใหม่ในฐานะหนึ่งใน Bed Town of Tokyo ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นเขตโรงงานอุตสาหกรรมที่มีทำเลตั้งอยู่ใกล้กรุงโตเกียว
ย่าน Kashiya Yokocho ใน Little Edo ได้กลายเป็น outlet สำหรับโรงงานผลิตขนมในละแวกนั้น ซึ่งปัจจุบันมีร้านขายขนมที่ยังคงรูปแบบและขนมดั้งเดิมหลากหลายชนิดตั้งแต่สมัยคุณตาคุณยายยังเด็กวางเรียงรายอยู่กว่า 20 ร้านในราคาย่อมเยา
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1873 เป็นต้นมา Kawagoe รวมเข้าเป็นเมืองหนึ่งในจังหวัด Saitama ตั้งอยู่ติดกับมหานครโตเกียวทางทิศเหนือซึ่งก่อนหน้านั้นถูกจัดอยู่ในเขตปกครองของจังหวัด Kawagoe จนถึงปี 1871 และเปลี่ยนชื่อ เป็นจังหวัด Iruma ในช่วงปี ค.ศ.1871-1873
พื้นที่รอบนอกของเมือง Kawagoe คือเขตเกษตรกรรมที่เพาะปลูกมันเทศมากเป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าพื้นเมืองที่แปรรูปจากมันเทศ เช่น กาแฟมันเทศ, ขนมญี่ปุ่น, เบียร์ Ko-Edo เป็นอีกแหล่งรายได้อีก ทั้งยังช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงงานเทศกาลตามฤดูกาลต่างๆ นอกจากนี้ยังมีชาเขียว Sayama และผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยเอโดะ
นับเป็นความโชคดีที่ Kawagoe ได้รับความเสียหายเล็กน้อยในระหว่างสงคราม โลกครั้งที่ 2 เท่ากับเป็นการรักษาสมุดบันทึก เล่มใหญ่ที่นำพาผู้คนย้อนกลับไปสู่เรื่องราวแห่งกาลเวลาซึ่งสามารถสัมผัสได้ภายใน Little Edo แห่งนี้
อ่านเพิ่มเติม
คอลัมน์ Japan Walker นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2552
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|