|
เด็กขาดสารอาหาร ความลักลั่นของการพัฒนา
โดย
จาวาฮาร์ลัล เนห์รู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของอินเดีย ประเมินว่า ผู้หญิงร้อยละ 75 อ้วนเกินน้ำหนักมาตรฐาน ส่วนผู้ชาย อยู่ที่ร้อยละ 58 ขณะเดียวกันในแต่ละปีมีเด็กเกือบ 2 ล้านคนเสียชีวิตตั้งแต่อายุไม่ถึง 5 ขวบ ในจำนวนนี้ กว่าล้านคนมีสาเหตุจากภาวะขาดสารอาหารและความหิวโหย ปัญหานี้เร่งด่วนและรุนแรงจนนายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์ ถือว่าเป็น 'ความอับอายของชาติ'
เรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนอย่างดีถึงความเหลื่อมล้ำ ลักลั่นทางเศรษฐกิจและสังคมในอินเดีย ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีรัฐมหาราษฏระและหรยาณา โดยที่มหาราษฏระถือเป็นหนึ่งในรัฐที่เศรษฐกิจมั่งคั่งเฟื่องฟูที่สุดของอินเดีย ด้วยเมืองหลวงของรัฐคือมุมไบ เป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจการเงินและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือ Bollywood แต่กลับมีตัวเลข เด็กที่เสียชีวิตเนื่องจากภาวะขาดอาหารถึงราว 45,000 คนต่อปี ส่วนหรยาณานั้นภาคภูมิใจกับอัตรารายได้เฉลี่ย ต่อจำนวนประชากรที่สูงอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งมีอัตราการเติบโตของภาคเกษตรกรรมที่รวดเร็ว เป็นศูนย์กลางการปฏิวัติเขียว และมีปริมาณธัญญาหารต่อจำนวนประชากรสูง แต่กลับพบว่าเด็กอายุระหว่าง 6-35 เดือน ร้อยละ 82.3 เป็นโรคโลหิตจาง
สำหรับรัฐที่สถานการณ์รุนแรงที่สุดเห็นจะได้แก่รัฐมัธยประเทศ ซึ่งภาวะเด็กขาดอาหารแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงห้าปีที่ผ่านมา พบว่ามีเด็ก เป็นโรคโลหิตจางมากกว่าร้อยละ 82 โดยเฉพาะในหมู่ชนเผ่าพื้นเมือง อัตราเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิต สูงถึง 140.4 ต่อพันคน และในช่วงปีที่ผ่านมา หมู่บ้านหลายพื้นที่ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองมีอัตราเด็กขาดสารอาหาร สูงขึ้นกว่าเท่าตัว
ส่วนรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Seven Sisters States อัสสัม เผชิญปัญหารุนแรงที่สุด โดยเฉพาะเด็กในครอบครัว แรงงานไร่ชา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำและ ประสบปัญหาตลิ่งทรุด รวมถึงชุมชนในเขตพื้นที่สีแดง ที่ต้องอพยพหนีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธ องค์การยูนิเซฟอินเดีย เปิดเผยว่าอัสสัมมีอัตราเด็กทารกเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ และมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตวันละ 169 คน
ต้นตอของสถานการณ์นี้โยงใยด้วยปัญหาหลายแง่มุม แน่นอนว่าความยากจนคือปัจจัยสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการตีโจทย์ให้กระจ่างว่าภาวะความยากจนเองก็เป็น ผล’ โดยมีเหตุแห่งความด้อยโอกาสเป็นปัจจัย นับจากความด้อยโอกาสในการศึกษา การมีงานทำ มีที่ดินทำกิน การเข้าถึงทรัพยากร จนถึงแหล่งอาหาร เป็นต้น ตัวอย่างในเรื่องนี้เห็นภาพได้ชัดจากสภาพการณ์ของปัญหาเด็ก ขาดสารอาหารที่เกี่ยวโยงโดยตรงกับความเป็นอยู่ของผู้หญิงหรือผู้เป็นแม่ ดังพบว่าภาวะการขาดสารอาหารในเด็กที่แม่ไม่ได้รับการศึกษา สูงเป็นสามเท่า ของเด็กที่แม่จบการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี
ทั้งนี้ เนื่องจากแม่ที่มีการศึกษานอกจากจะมีโอกาสมีงานทำมีรายได้เป็นของตน ยังเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขอนามัยได้มากกว่า และมีแนวโน้มที่จะยึดติดกับความเชื่อเก่าๆ น้อยกว่าแม่ที่ไม่ได้รับการศึกษา อาทิ การเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองเพียงอย่างเดียวตลอดช่วงหกเดือนแรก ซึ่งผ่านการวิจัยศึกษาและแนะนำโดยองค์การอนามัยโลก แต่กุมารแพทย์ ของอินเดียพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะชักจูงให้บรรดาแม่ๆ เชื่อและปฏิบัติตาม ผู้หญิงจำนวนมากยังเลี้ยงลูกตามความเชื่อเก่าๆ เช่น เริ่มให้ลูกกินกล้วยหรือน้ำ ตั้งแต่อายุเพียง 1-2 เดือน
ตัวอย่างในเรื่องนี้ได้แก่กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างสภาพการณ์ในสิกขิมและมัธยประเทศ ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของประชากรในรัฐทั้งสองไม่ต่างกันนัก และมีประชากรยากจนเป็นร้อยละ 37 เท่ากัน แต่อัตราการรู้หนังสือของผู้หญิงสิกขิมเป็นร้อยละ 62 ส่วนมัธยประเทศอยู่ที่ร้อยละ 50 นอกจากนี้สิกขิมยังมีอัตราส่วน ผู้หญิงที่มีงานทำ มีรายได้ของตนเอง มีอิสระในการใช้ชีวิตมากกว่าผู้หญิงในมัธยประเทศ
จากการสำรวจในเรื่องการเลี้ยงดูบุตร พบว่า ทารกในสิกขิมร้อยละ 43 ได้รับนมแม่ภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด ส่วนมัธยประเทศได้รับเพียงร้อยละ 15 ส่วนการเลี้ยงดูในช่วง 6-23 เดือน ซึ่งเด็กควรได้รับอาหารเสริมที่เหมาะสม พบว่าเด็กในสิกขิมร้อยละ 49 ได้รับตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่มัธยประเทศมีเพียง 18 เปอร์เซ็นต์
ความรุนแรงของความอดอยากในหลายพื้นที่ คุกคามชีวิตทั้งพ่อแม่และเด็ก ประชากรในหลายหมู่บ้านในรัฐฌาร์ขัณฑ์และมัธยประเทศที่ประสบภาวะขาดอาหารต่อเนื่อง มีร่างกายซูบผอมและแก่ก่อนวัย บางครอบครัวเด็กๆ ยังชีพอยู่ด้วยโรตีแผ่นบางเพียงวันละแผ่น ซึ่งแม่บางคนใช้วิธีทาด้วยพริกตำ เพื่อให้เด็กกินน้ำตามมากๆ จนรู้สึกอิ่ม ทั้งมีรายงาน ว่าเด็กเสียชีวิตเนื่องจากพ่อแม่ต้มใบไม้ที่เก็บจากราวป่าให้กินประทังหิว โดยที่ไม่รู้ว่าใบไม้นั้นมีพิษ
ในรัฐมัธยประเทศ ชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่มประสบภาวะอดอยากเนื่องจากต้องย้ายออกจากถิ่นที่อยู่ ซึ่งถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การเพาะปลูกในที่ทำกินใหม่มักได้ผลไม่พอเพียงจากปัญหาดินและแหล่งน้ำ
ขณะเดียวกันก็ถูกตัดขาดจากวิถีดั้งเดิม ซึ่งเคยมีพืชผักจากราวป่าเป็นที่พึ่ง ชาวบ้านจำนวนมากต้อง กลายเป็นแรงงานเร่ร่อน ลูกหลานมักต้องอดมื้อกินมื้อ หนำซ้ำต้องเผชิญกับโรคนานาชนิดระหว่างรอนแรม ไปกับพ่อแม่ อาทิ มาเลเรีย ท้องร่วง บิด ปอดบวม ฯลฯ ทำให้เด็กที่สุขภาพอ่อนแอเนื่องจากขาดสารอาหารเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างคลาสสิกคือกรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคูโน่ ที่สั่งโยกย้ายชาวบ้านจำนวน 26 หมู่บ้านออกจากป่า ในปี 1995 เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับสิงโตพันธุ์หายากที่คาดว่าจะย้าย มาจากรัฐคุชราต แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการย้ายสิงโตมาแต่อย่างใด ขณะที่ครอบครัวจำนวนมากได้กลายเป็นผู้พลัดถิ่นและแรงงานเร่ร่อน
สำหรับกรณีภาวะโลหิตจางในเด็กที่มีสถิติน่าตกใจในรัฐหรยาณา เป็นผลจากการ 'พัฒนา' ทางการเกษตร ที่เปลี่ยนจากไร่นาผสมผสานแบบดั้งเดิม มาเน้นพืชไร่เชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ อย่าง ข้าว ข้าวสาลี ฝ้าย และพืชสำหรับผลิตน้ำมัน ทำให้ การเพาะปลูกพืชหลายชนิดลดลง เช่น อ้อย และถั่วบางชนิด สภาพการณ์นี้เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยภาวะที่ราคาพืชผักถีบตัวขึ้นสูงเช่นในปัจจุบัน ทำให้อาหาร พื้นถิ่นหลายชนิดที่เคยมีอยู่เหลือเฟือกลายเป็นสินค้า ราคาแพง เช่น น้ำตาลอ้อย ซึ่งเป็นแหล่งแร่เหล็กชั้นดี ถั่วชานาแหล่งโปรตีนสำหรับคนจน จากที่เคยกิโลกรัมละ 3-4 รูปี ทุกวันนี้ราคา 30 รูปี ส่วนน้ำที่เหลือจากการทำเนยแข็งพื้นบ้าน ซึ่งเคยแจกจ่าย ให้กันฟรีๆ หรือเอาไว้เลี้ยงสัตว์ ทุกวันนี้ก็กลายเป็นสินค้าสำหรับซื้อขาย โดยภาพรวมเด็กจำนวนมากแม้อาจไม่อดอยากถึงขั้นเสียชีวิต แต่กลับมีภาวะโลหิตจางเนื่องจากขาดอาหารจำพวกโปรตีนและแร่ธาตุที่สำคัญต่อสุขภาพ
รัฐบาลอินเดียได้พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้มาตลอดหลายทศวรรษ ด้วยโครงการรูปแบบต่างๆ อาทิ เปิดศูนย์แม่และเด็กในชุมชนทั่วประเทศ มีระบบ Ration Shop ที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในราคาถูกกว่าท้องตลาด แก่ครอบครัวที่ได้รับการประเมินแล้วว่ายากจน การแจกธัญพืชเพื่อการบริโภค แก่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน เป็นจำนวน 35 กิโลกรัมต่อเดือน โครงการอาหารกลางวันฟรีในโรงเรียนประถมทั่วประเทศ โครงการประกันการจ้างงานในชนบท ฯลฯ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะทำให้สภาพการณ์ดีขึ้น ทั้งด้วยปัญหาคอร์รัปชั่น การขาดแคลนเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ และงบประมาณ ไปจนถึงปัญหาการทำสำมะโนประชากร ที่ทำให้ตัวเลขพื้นฐานสำหรับกำหนดนโยบายและงบประมาณทุกอย่างคลาดเคลื่อนจากสภาพความเป็นจริง
ล่าสุด รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคคองเกรสกำลังเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร ที่คาดว่าจะแก้ปัญหา ภาวะขาดแคลนอาหารแก่ประชากรทั่วประเทศ แต่หลายฝ่ายมีความเห็นพ้องกันว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ยังเต็ม ไปด้วยปัญหาและไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ เช่น แทนที่จะประกันความหิวโหยของประชากรแบบถ้วนหน้า กลับถอยหลังเข้าคลองไปใช้มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม หนำซ้ำระบุว่าไม่ครอบคลุมประชากรในพื้นที่สีแดง ทั้งที่ในความเป็นจริงชาวบ้านเหล่านั้น เป็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
หากรัฐบาลอินเดียหนักแน่นและจริงใจในการยอมรับว่าสภาพการณ์เด็กขาดสารอาหารเป็นความอับอายของชาติ อย่างน้อยในสมัยรัฐบาลของมานโมฮัน ซิงห์ เราอาจได้เห็นการแก้ปัญหาแบบตรงจุด เป็นรูปธรรม และมีวิสัยทัศน์ระยะยาวมากขึ้น ซึ่งประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ คือการวิเคราะห์โจทย์ให้เห็นถึงต้นตอที่โยงใย และตระหนักอย่างลึกซึ้งว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการศึกษาที่พอเพียง ใช่แต่เพียงรอดชีวิตจากภาวะความหิวโหยเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|