ชื่อเสียงของ "สุธีร์ รัตนนาคินทร์" เป็นที่รู้จักกันดีของวงการตลาด
สุธีร์ไม่ได้เป็นนักการตลาดโดยตรงเหมือนเช่นนักการเมืองชื่อดังคนอื่น ๆ ก็จริง
แต่สิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้สุธีร์โด่งดังในวงการธุรกิจต่าง ๆ ได้ก็คือ การเป็นนักล็อบบี้ยีสต์ตัวยง
จะว่าไปแล้วเมื่อ 6 ปีก่อน สุธีร์ได้โชว์ความสามารถให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นนักล็อบบี้ยีสต์
คือ การวิ่งเต้นเข้านอกออกในจับเส้นจับสายผู้ใหญ่บางคนไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง
หรือผู้บริหารในองค์การโทรศัพท์
ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ถือว่าเป็นความถูกต้องและยุติธรรมของธุรกิจคือ
เรื่องของการต่ออายุสัญญาสัมปทานการพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ ที่จีทีอีได้เป็นผู้ผูกขาดสัมปทานนี้มาตลอดถึง
17 ปีเต็ม แต่ต้องมีอันเป็นไปเมื่อมีคู่แข่งหน้าใหม่มาแรงแน่นหนาไปด้วยสายสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ถึงกับทำให้จีทีอีสั่นคลอนกลายเป็นผู้แพ้ไปในที่สุด
แต่กว่าจะเป็นผู้แพ้ตัวจริงสุธีร์ก้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถพิเศษของตนได้อย่างแจ่มชัด
ที่สามารถจัดพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ต่อได้ในขณะที่ผู้ชนะประมูล ได้สัมปทานคือเอทีแอนด์ทีก็ทำของตนเองไปจนกลายเป็นการแข่งขันซึ่งกันและกัน
การวิ่งเต้นในครั้งนั้นได้สร้างชื่อเสียงของสุธีร์ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างทั่วหน้า
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล วงการธุรกิจ สื่อมวลชนหรือใครก็ตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวต่างถูกจับตามองและติดตามกระแสข่าวกันไม่ห่าง
วันนี้จีทีอีจะแพ้หรือยัง !!! กลายเป็นปุจฉาช่วงนั้นนอกจากจะเป็นนักล็อบบี้ยีสต์แล้ว
ยังเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่เก่งกาจอีกด้วยเพราะต้องออกมาให้ข่าวแสดงทั้งสปิริต
แสพงถึงความถูกต้อง และแสดงถึงความมั่นคงของบริษัทเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจของพนักงานให้กลับคืนมา
รวมทั้งต้องหาทางแก้ปัญหาปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อไม่ให้บริษัทล้มไปเพื่อการแพ้ประมูล
"ธุรกิจที่เดินอยู่บนเส้นด้ายของความเสี่ยงสูง แต่ก็เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้งดงามตามความเสี่ยงนั้น
ๆ คือ ธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการได้สัมปทานไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม แต่การที่จะให้ได้มาซึ่งชัยชนะในแต่ละครั้งของการประมูลหัวใจสำคัญต้องอยู่ที่การมีสายสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับผู้ใหญ่ในสายนั้น
ๆ ด้วยเช่นกัน" เป็นคำกล่าวที่สุธีร์ รัตนนาคินทร์กรรมการผู้จัดการบริษัทบีไอจี
อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัทใหม่ที่ต้องขึ้นหลังจากยุบจีทีอีเคยกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
ขณะเดียวกันความยุ่งยากวุ่นวายของการทำธุรกิจที่เข้าไปเกี่ยวพันธ์กับหน่วยงานราชการก็มักสร้างปัญหาตามหลังให้ต้องสะสางแก้ไขก็มีมากมายพอ
ๆ กับ ผลประโยชน์ที่ได้รับเช่นกัน เป็นคำบอกเล่าจากประสบการณ์ที่สุธีร์เคยได้รับมาตลอด
ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ย่อมเป็นที่รู้ในวงกว้างของผู้ที่ทำธุรกิจในเมืองไทย
สุธีร์เริ่มต้นชีวิตการทำงานมาจากสายงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ซึ่งหลังจากจบการศึกษานิเทศศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และปริญญาโทด้านการตลาดจากชิคาโก้ในอเมริกาเมื่อกลับเมืองไทยก็ได้ทำหน้าที่เป็นเรือจ้างในสายการตลาดและโฆษณาที่จุฬาฯ
ได้ 2 ปีจึงหันเหอาชีพนี้มาตลอดตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมาแต่ก็ยังไม่พ้นการใช้คำพูดเพื่อความเชื่อถือคล้ายงานสอนหนังสือเช่นกัน
โดยการเริ่มต้นงานประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายที่บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยได้
6 ปี และขยับขยายมาสู่วงการโฆษณาที่บริษัทเอเมกซืแอดเวอร์ไทซิ่งซึ่งสมัยนั้นยังเป็นเอเม๊กซ์แอนด์เกรย์อยู่เมื่อ
7 ปีที่ผ่านมาก่อนที่จะสร้างชื่อเสียงโด่งดังเพราะงานประมูลสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ระหว่างจีทีอีที่สุธีร์
ตัดสินใจลาออกมาจากเอเม๊กซ์ และเข้าไปเป็นผู้บริหารให้ในปีแรกของการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับองค์การโทรศัพท์พอดี
คือ พ.ศ. 2529 กับเอทีแอนด์ที ซึ่งมีกลุ่มศรีกรุงวัฒนาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ในองค์การโทรศัพท์จนได้ไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ สุธีร์เองก็ยังไม่ได้ละทิ้งหน้าที่เรือจ้างเสียทีเดียวยังคงวนเวียนอยู่กับงานสอนหนังสือที่มีใจรักมาแต่แรก
หรือแม้แต่จะเป็นนักธุรกิจและเจ้าของกิจการอย่างเต็มตัวแล้วก็ตาม คือบริษัทบีไอจี
อินเตอร์เนชั่นแนลและมีบริษัทในเครืออีกหลายบริษัท รวมทั้งฟาสต์ฟูดที่นำแฟรนไชส์
"อาร์บี้ส์" จากอเมริกาเข้ามา แต่สุธีร์ยังคงทำหน้าที่ของเรือจ้างไปในตัวด้วยตลอดเวลา
คือการสอนงานให้กับพนักงานได้เรียนรู้มากขึ้นกว่าการทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพไปวัน
ๆ เท่านั้น
"ถ้าสังเกตให้ดี คนที่เป็นประชาสัมพันธ์โดยสายเลือด เมื่อคิดจะพูดหรือทำอะไรก็มักจะเอนเอียงเข้าหาการประชาสัมพันธ์ตลอดเวลา"
คนในวงการที่ใกล้ชิดกับสุธีร์อธิบายให้ฟังถึงลักษณะของสุธีร์ที่มักจะไม่ทิ้งการเป็นนักประชาสัมพันธ์ของเขา
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าธุรกิจที่สุธีร์ทำมักจะหนี้ไม่พ้นงานที่ต้องใช้การพูดโน้มน้าวเป็นหลัก
หากแม้ไม่ใช้โดยตรงก็เฉียด ๆ
เช่นธุรกิจใหม่ล่าสุดที่สุธีร์เปิดดำเนินการโดยตัดสินใจเข้าร่วมกับคนต่างชาติคือธุรกิจการพัฒนาธุรกิจ
(BUSINESS DEVELOPMENT) ซึ่งบริษัทที่เปิดใหม่นี้ตั้งอยู่ที่ มินีอาโปลิส
รัฐมินิโซต้าโดยการร่วมทุนกับ มร.เรย์มอน จอห์นสันภายใต้ชื่อบริษัท INTREGRATED
PARNNERSHIP จำกัด บริษัทใหม่นี้ทำหน้าที่ในการพัฒนาธุรกิจหากกกลยุทธ์ วางแผน
สำรวจเจรจาต่อรองและเป็นตัวเชื่อมที่จะหาคนท้องถิ่นในประเทศที่เป็นเป้าหมายเข้าร่วมทุนลงทุนทำธุรกิจที่เหมาะสมในประเทศนั้น
ๆ
สุธีร์กล่าวว่าขณะนี้ประเทศที่อเมริกาสนใจมากที่สุดคือ ประเทศทางแถบอินโดจีน
ซึ่งประเทศเหล่านี้ยังคงเป็นประเทศที่มีความบริสุทธิ์ทางการค้าเหมาะแก่การลงทุนอย่างยิ่ง
ถึงแม้ว่าจะยังคงติดปัญหาเรื่อง EMBARGO อยู่ก็ตาม แต่ที่คาดหวังกันว่าในอนาคตอันใกล้นี้อเมริกาจะยุติและยกเลิกข้อตกลงการกีดกั้นทางการค้านี้ไปในที่สุด
หลังจากเปิดบริษัทใหม่ได้ 2 เดือนที่ผ่านมานี้ สุธีร์เล่าว่ามีประเทศที่ให้ความสนใจและกำลังอยู่ในระหว่างการทำการศึกษาความเป็นไปได้คือในเมืองไทย
5 ราย เวียดนาม 3 ราย อินโดนีเซีย 2 ราย ซึ่งประเทศเหล่านี้ (ยกเว้นประเทศไทย)
จะต้องหาข้อมูลมาสนับสนุนการลงทุนให้ได้อย่างแจ่มชัดเพื่อป้องกันการตัดสินใจผิดพลาด
จะว่าไปแล้วในการหาข้อมูลเพื่อสนับสนุนการลงทุนนี้จะใช้สายสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิมทางการค้าเป็นผู้ที่ค้นหาข้อมูลที่แท้จริง
ให้ซึ่งจะเป็นการขอความช่วยจากท้องถิ่น มากกว่าที่จะได้ข้อมูลมากจากรัฐบาลของประเทศต่าง
ๆ เหล่านั้น เพราะข้อมูลดังกล่าวจะมีความแตกต่างซึ่งกันและกัน
กล่าวคือ ข้อมูลที่ได้มาจากสายสัมพันธ์ทางการค้าจะเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการปฏิบัติจริง
แต่ข้อมูลที่ได้มาจากรัฐบาลจะเป็นข้อมูลที่ใช้เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาประเทศสิ่งที่ได้จะสวยหรูและแต่งเติมมาอย่างดีซึ่งอาจทำให้การสำรวจผิดพลาดได้
"เรามีการติดต่อทางการค้าในเวียดนามอยู่บ้างแล้ว จากจุดนี้ทำให้งานของเราง่ายขึ้น"
สุธีร์กล่าว
จากจุดนี้แม้จะไม่ใช่จุดเริ่มต้นทางการค้าของสุธีร์แต่ก็ไม่ใช่จุดสุดท้ายที่สุธีร์หนุ่มวัย
42 ปีจะหยุดอยู่ที่ตรงนี้ เป้าหมายในชีวิตของนักประชาสัมพันธ์ก็ยังคงทำหน้าที่ของคนเป็นประชาสัมพันธ์
โดยสายเลือดต่อไป สุธีร์กล่าวว่า เป้าหมายในอนาคตของเขาคือการได้หันกลับมาเป็นผู้รับสัมปทานการจัดพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ใหม่อีกครั้งในเร็ว
ๆ นี้