|
อวสานยูโร?
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
วิกฤติหนี้สินของกรีซกำลังคุกคามเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว และยังคุกคามสกุลเงินใหญ่อันดับ 2 ของโลก เงินยูโร
เมื่อ 10 ปีก่อน การรวมเงินสกุลเดียวของยุโรป ดูเหมือนเป็นความคิดที่ยอดเยี่ยม ในตอนนั้น ยุโรปประสบความสำเร็จอย่าง สูงในการรวมตัวกันเป็นกลุ่มการค้า โดยไม่ต้องรวมกันทางการเมือง การรวมตัวกันเป็นสหภาพการเงิน และเปลี่ยนมาใช้เงินยูโรสกุลเดียว มีผลดีมากมาย ทั้งกับอัตราแลกเปลี่ยน การค้า และภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลเดียวร่วมกัน สามารถแก้ปัญหาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกัดกินยุโรปมายาว นานตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ลงได้อย่างถาวร นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจในยุโรป ไม่ต้องรำคาญและสิ้นเปลืองกับการแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลต่างๆ ในยุโรป และความโปร่งใสของ ราคาสินค้า ช่วยให้การค้าระหว่างประเทศภายในยุโรปด้วยกัน คล่องตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ ประเทศยุโรปที่มีปัญหาหนี้สาธารณะสูง สามารถดูเยอรมนีเป็นแบบอย่าง ในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ และที่สำคัญที่สุด การสร้างเงินยูโรขึ้น เท่ากับเป็นการสร้างสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศสกุลใหม่ ที่สามารถเป็นทางเลือกและท้าทายอำนาจของเงินดอลลาร์สหรัฐได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อ Jacques Delors ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European Commission) ในขณะนั้น เสนอ แนวคิดให้ยุโรปรวมตัวกันเป็นสหภาพการเงิน (EMU) และใช้เงินสกุลเดียวกันเป็นครั้งแรกนั้นมันดูเป็นแนวคิดที่บ้าระห่ำ แม้กระทั่งเมื่อแนวคิดนี้ ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่า เป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งในการก่อตั้ง “สหภาพยุโรป” (EU) ตามสนธิสัญญา Maastricht Treaty เมื่อปี 1992 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ให้กำเนิดสหภาพยุโรปก็ตาม
แต่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากก็ยังคงคลางแคลงต่อแนวคิดดังกล่าว เพราะไม่มีความชัดเจนเลยว่า 11 ประเทศแรก ที่ประกาศเข้าร่วมการใช้เงินสกุลเดียวในตอนนั้น (ขณะนี้เพิ่มเป็น 16 ชาติ) คือกลุ่มประเทศยุโรปที่ “ดีที่สุด” ที่สามารถจะใช้เงินสกุลเดียวกันได้ และการเปลี่ยนมาใช้เงิน สกุลเดียวกัน อาจกลายเป็นการยิ่งเพิ่มความแตกต่าง ระหว่างประเทศ ที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูงอย่างเยอรมนีกับประเทศอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม ข้อบกพร่องที่สำคัญที่สุดของแนวคิดการรวมยุโรปและใช้เงินสกุลเดียวกันคือ เป็นการรวมเงินสกุลเดียวที่ปราศจากการรวมนโยบายการคลังโดยสิ้นเชิง แม้จะมีการตั้งบรรทัดฐานร่วมกันว่า ประเทศยุโรปที่สามารถจะเข้าร่วมการใช้เงินสกุลเดียวได้นั้น จะต้องมียอดขาดดุลงบประมาณที่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ของ GDP และหนี้สาธารณะจะต้องน้อยกว่าร้อยละ 60 เท่านั้นก็ตาม แต่ก็ปราศจากกลไกที่ชัดเจน ในการควบคุมประเทศต่างๆ ให้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานดังกล่าวได้ และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อังกฤษตัดสินใจไม่ยอมเข้าร่วมใช้เงิน ยูโรสกุลเดียว ธนาคารกลางอังกฤษเตือนไว้ในปี 1998 ว่า หากมีประเทศหนึ่งประเทศใดที่ร่วมใช้เงินยูโร มียอดขาดดุลงบประมาณ เกินกว่าที่ได้รับอนุญาต จะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างมหาศาล
ทั้งนี้ก็เพราะธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) ถูกห้ามไม่ให้เข้าอุ้มประเทศที่มียอดขาดดุลงบประมาณสูงเกินไป ด้วยการปล่อยกู้โดยตรงแก่รัฐบาลของประเทศนั้น แต่ขณะเดียวกัน กลับไม่มีกลไกใดๆ ที่จะยอมให้ประเทศที่ประสบปัญหานั้น สามารถถอนตัวออกจากการใช้เงินสกุลเดียวได้ ข้อบกพร่องตรงนี้ทำให้ Martin Feldstein นักเศรษฐศาสตร์จาก Harvard คาดการณ์ไว้ว่า การใช้เงินสกุลเดียว นอกจากจะไม่ทำให้เกิดการสมัครสมานในยุโรปแล้ว ยังอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งและมันก็เกิดขึ้นแล้วจริงๆ
กรีซเข้าร่วมเป็นสมาชิก EMU เป็นชาติที่ 12 มานานเกือบ 9 ปีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2001 ในช่วงที่เงินยูโรกำลังเป็นชัยชนะที่งดงาม อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในเขตยูโรโซน ซึ่งหมายถึงกลุ่มชาติที่ใช้เงินยูโรสกุลเดียว เริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางเดียว กัน แม้ว่าจะเป็นไปตามที่วิตกกันว่ากฎเกณฑ์ที่ควบคุมการขาดดุลงบประมาณไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดก็ตาม ไม่มีชาติใดเลยที่สามารถทำได้ตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว เมื่อเงินยูโรเริ่มออกใช้ครั้งแรกในปี 1999
อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นอนาคตของยูโรดูสดใส ยอดขาดดุล หดตัวลง ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจจะยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างที่หวังไว้นัก แต่ก็ดูไม่มีอะไรน่าวิตก ไม่เพียงแต่ชาติยุโรปด้วยกันเองเท่านั้น ที่ยินดีต้อนรับเงินยูโร แต่โลกก็อ้าแขนรับเงินยูโรด้วยเช่นกัน ธนาคารข้ามชาติต่างออกตราสารที่ตั้งราคาเป็นยูโรมากกว่าดอลลาร์ ในช่วงปี 1999-2003 ชาติยุโรปที่ยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมเงินยูโร เริ่ม หวนนึกเสียดายว่า ได้ตัดสินใจผิดพลาดไปแล้ว
แต่แล้วจู่ๆ ในเดือนตุลาคม 2009 รัฐบาลใหม่ของกรีซได้ออกมาสารภาพว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของกรีซสูงถึงร้อยละ 12.7 ของ GDP ไม่ใช่เพียงร้อยละ 6 อย่างที่รัฐบาลชุดเก่าเคยระบุไว้ และยังให้สัญญาลมๆ แล้งๆ ว่า จะควบคุมยอดขาดดุลให้ เหลือร้อยละ 3.7 ในปี 2009 ไม่เพียงเท่านั้น ยังเพิ่งมีการเปิดเผย ว่า ธนาคารกลางยุโรปได้แอบปล่อยกู้ให้แก่รัฐบาลกรีซโดยทางอ้อม ถึง 1 ใน 3 ของหนี้สินต่างประเทศของกรีซ โดยผ่านการปล่อยกู้ฉุกเฉินให้แก่ธนาคารต่างๆ ในกรีซ อันแสดงว่า ECB เองก็ไม่ได้ทำตามกฎเกณฑ์การห้ามอุ้มชาติที่มีปัญหาหนี้สาธารณะ วิกฤติของกรีซและปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นตามมา แทบไม่ต่างไปจากที่ เหล่าบรรดาผู้ไม่เชื่อในการรวมยุโรป ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเลย
ตามปกติพันธบัตรที่ออกโดยกรีซ ก็ถูกคิดดอกเบี้ยสูงกว่าพันธบัตรที่ออกโดยประเทศอย่างเยอรมนีอยู่แล้ว แม้กระทั่งในช่วงปีทองของเงินยูโรก็ตาม แต่เมื่อวิกฤติของกรีซถูกเปิดเผยออกมา ส่วนต่างดอกเบี้ยนี้ก็ยิ่งถ่างกว้างขึ้นอีก จากเพียงร้อยละ 1 เป็นมากกว่าร้อยละ 5 และสูงถึงร้อยละ 10 ทำให้วิกฤติการคลังของกรีซ ยิ่งถูกซ้ำเติมหนัก เพราะต้องแบกภาระดอกเบี้ยหนักขึ้น ทำให้ ยอดขาดดุลของกรีซเพิ่มสูงขึ้นอีก กรีซต้องบากหน้าขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านในยุโรป หากกรีซได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่เดือน มกราคม เงินที่จะต้องใช้อัด ฉีดเข้าอุ้มกรีซ คงจะไม่สูงเหมือนกับในตอนนี้ แต่รัฐบาลเยอรมันกลับลังเล เพราะวิกฤติการเงินโลกและ ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในเยอรมนีเอง ในขณะที่การเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามา ทำให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในเยอรมนีไม่มีอารมณ์ที่จะไปโอบอุ้มคนชาติอื่น แต่ยิ่งลังเลนานเท่าใด เงินที่จะต้องทุ่มไปกับการอุ้มกรีซก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น
ในที่สุด กว่าจะบรรลุข้อตกลงช่วยกรีซได้ ก็ต้องรอถึงสิ้นเดือนเมษายน และต้องใช้เงินถึง 110,000 ล้านยูโร สำหรับการปล่อยกู้ฉุกเฉินให้แก่กรีซ โดย IMF จะช่วยออก 30,000 ล้านยูโร ที่เหลือเป็นหน้าที่ของชาติยุโรปอื่นๆ แลกกับการที่กรีซสัญญาจะรักษาวินัยการคลังอย่างเข้มงวด และลดการขาดดุลให้เหลือร้อยละ 3 ภายในปี 2014 ด้วยการรัดเข็มขัดและขึ้นภาษี
แต่ก็ยังไม่แน่ว่าปัญหาจะยุติ โศกนาฏกรรมละครกรีกเรื่องนี้ ยังไม่จบง่ายๆ กรีซยังอาจล้มละลายได้ เพราะดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากที่กรีซจะสามารถใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวด ในขณะที่กำลังเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจยังคงร่อแร่ เกิดการประท้วงนัดหยุดงานทั่วประเทศแล้วหลายครั้ง ในที่สุดรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี George Papandreou อาจต้องล้ม และรัฐบาลใหม่ของกรีซอาจทำ “แฮร์คัต” ลดมูลค่าพันธบัตรที่ถืออยู่ในมือของเจ้าหนี้ลงถึงร้อยละ 30
แต่สิ่งที่ทำให้วิกฤติหนี้สินของกรีซ ซึ่งเป็นเพียงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก เป็นปัญหาที่น่าวิตกอย่างแท้จริง คือโอกาสที่วิกฤติของกรีซจะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วยุโรป ข้อมูลบ่งชี้ว่า อีก 2 ประเทศในเขตยูโรโซนซึ่งใช้เงินยูโรสกุลเดียวเช่นเดียวกับกรีซ ก็กำลังมีปัญหาหนี้สาธารณะ คืออิตาลีและเบลเยียม และ มีอีก 2 ประเทศที่พึ่งพาการกู้หนี้ต่างประเทศมากเกินไปเหมือนกับกรีซ คือโปรตุเกสและสเปน โดยเฉพาะสเปน ซึ่งต้นทุนการกู้ยืม เริ่มสูงขึ้น ถูกลือว่าอาจเป็นรายต่อไป ที่จะต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหญ่ ที่มาก กว่าที่ใช้ในการอุ้มกรีซเสียอีก
นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านในยุโรปอย่างบัลแกเรียและโรมาเนีย ยังอาจได้รับผลกระทบจากกรีซ เนื่องจาก 2 ประเทศนี้พึ่งพา การกู้เงินจากธนาคารต่างๆ ในกรีซ หากเกิดอะไรขึ้นกับกรีซ ก็อาจส่งผลให้เกิดวิกฤติสินเชื่อในประเทศทั้งสองได้ แต่ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้นคือ ธนาคารในยุโรปหลายแห่งถือพันธบัตรของกรีซรวมกันเป็นมูลค่าถึง 193,000 ล้านดอลลาร์
ดังนั้น หากวิกฤติที่เกิดกับกรีซลุกลามไปเกิดซ้ำที่โปรตุเกส และสเปน อย่างที่วิตกกัน ไม่ต้องสงสัยว่า นั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการธนาคารทั่วยุโรป และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ค่าเงิน ยูโรก็จะมีแต่ต่ำเตี้ยลงเท่านั้น
และในอีกประมาณ 1 ปีต่อจากนี้ นักลงทุนอาจจะต้องตื่นมาพบกับความจริงที่ว่า วิกฤติการคลังในสหรัฐฯ อาจเลวร้ายยิ่งกว่าวิกฤติการคลังที่เกิดขึ้นกับยูโรโซนในขณะนี้เสียอีก
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่สำคัญก็คือ สหรัฐฯ เป็นประเทศเดียว ในขณะที่ยูโรโซนไม่ใช่ ในสหรัฐฯ หากเกิดปัญหาในรัฐใดรัฐหนึ่ง รัฐอื่นๆ จะเข้าช่วยอุ้มรัฐที่เกิดปัญหาโดยอัตโนมัติ โดยผ่านการกระจายรายได้และภาษีบริษัท
วิกฤติของกรีซครั้งนี้จึงได้ช่วยเผยให้เห็น แม้ว่าจะสายเกินไปว่า การรวมศูนย์อำนาจด้านการคลัง เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นตามหลังการรวมตัวกันเป็นสหภาพการเงินยุโรปในขณะนี้จึงกำลังเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากยิ่งไปกว่าการตัดสินใจเข้าอุ้มกรีซ นั่นคือการที่จะต้องเลือกระหว่างการรวมตัวกันเป็นประเทศเดียวกันอย่างเต็มรูปแบบ กลายเป็น “สหรัฐฯ แห่ง ยุโรป” หรือจะยังคงรวมตัวกันหลวมๆ แบบเดิมต่อไป และรอวันที่จะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ไม่ช้าก็เร็ว
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|