เศรษฐกิจโลกยังไม่พ้นขีดอันตราย


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

วิกฤติหนี้สินของกรีซอาจทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่ในปีนี้

ทั่วโลกเชื่อกันว่า เราสามารถรอดพ้นจากเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุด ที่เรียกว่า Great Depression เป็นครั้งที่ 2 ไปได้แล้ว เป็นเพราะประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้บทเรียนจากเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ครั้งแรก ในช่วงทศวรรษ 1930 ทำให้เมื่อเกิดวิกฤติการเงินในช่วงปลายปี 2008 การรับมือจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางของประเทศใหญ่ๆ อย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมใจกันลดดอกเบี้ยทันที และปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินเพื่ออุ้ม สถาบันการเงินที่ใกล้ล้มอย่างไม่จำกัด สหรัฐฯ หลายๆ ประเทศเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่าย ทำให้ความตื่นตระหนกยุติลงอย่างรวดเร็ว สามารถช่วยยับยั้งการลดการใช้จ่ายของภาคเอกชน และอัตราการว่างงานที่กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างได้ผล แม้ว่าการถดถอยของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามมานั้นยังคงส่งผลที่เลวร้าย แต่อย่างน้อยก็ไม่หนักถึงขั้น Great Depression เมื่อทศวรรษ 1930 ขณะนี้ทุกคนเชื่อว่า โลกได้รอดพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว

แต่จริงล่ะหรือ วิกฤติใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในกรีซขณะนี้กำลังท้าทายความเชื่อนั้น ชี้ให้เห็นว่า เราด่วนฉลองกันเร็วเกินไป หรือไม่ วิกฤติเศรษฐกิจโลกนอกจากจะยังไม่ยุติลงแล้ว ยังกลับเคลื่อนสูงขึ้นไปอีกขั้น จากวิกฤติการเงินโลกไปสู่วิกฤติหนี้สินในประเทศพัฒนาแล้ว เช่นเดียวกับหลังจากเกิด Great Depression เมื่อ 80 ปีก่อนก็คือ เรายังคงไม่รู้เลยว่า วิกฤติใหม่ที่เกิดขึ้นในกรีซ ครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของโลกอย่างไรบ้าง

สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ทำลายระเบียบเศรษฐกิจโลกในยุคนั้นลงอย่างสิ้นเชิง ในยุคนั้น อังกฤษครองความเป็นเจ้าเศรษฐกิจ โลก เป็นผู้สนับสนุนการค้า และพึ่งพิงระบบมาตรฐานทองคำ (ระบบมาตรฐานทองคำหมายถึง การเงินกระดาษสามารถแลกเปลี่ยนกลับเป็นทองคำได้) สงครามโลกยังทำให้เกิดหนี้สินระหว่างประเทศจำนวนมหาศาล เนื่องจากการบูรณะปฏิสังขรณ์เยอรมนีหลังสงคราม และการที่สหรัฐฯ ปล่อยกู้อย่างมหาศาลให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส

หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง เป็นไปไม่ได้แล้วที่จะฟื้นระเบียบเศรษฐกิจโลกก่อนสงครามขึ้นมาใหม่ เพราะอังกฤษที่เคยครองความเป็นใหญ่อยู่ในสภาพอ่อนแอเกินไป ระบบมาตรฐานทองคำดูเหมือนจะคับแคบเกินไป และหนี้สินมีมากเกินไป แต่ประเทศต่างๆ ในขณะนั้นก็ยังพยายามที่จะฟื้นระเบียบเศรษฐกิจโลกในช่วงก่อนสงครามขึ้นมาใหม่ เพราะเป็นระบบที่เคยสร้างความมั่งคั่ง ให้แก่โลกแต่ความพยายามที่ไร้ประโยชน์นี้ รวมทั้งความไม่สามารถมองเห็นและปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในช่วงทศวรรษ 1920 กลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่หรือ Great Depression ครั้งแรกในทศวรรษ 1930 และต้อง รอให้ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจพุ่งขึ้นถึงขีดสุด จนเหลือจะทนทานไหวเท่านั้น จึงสามารถทำให้ทุกคนจำต้องยอมรับว่า การพยายามจะฝืนการเปลี่ยนแปลงและฟื้นระเบียบเศรษฐกิจโลกแบบเก่าขึ้นมานั้น (การฟื้นมาตรฐานทองคำและการจ่ายคืนหนี้มหาศาล) เป็นเป้าหมายที่ไม่มีทางเป็นไปได้

สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกในตอนนี้ มีส่วนคล้ายกับ Great Depression ครั้งแรก ระบบรัฐสวัสดิการในปัจจุบัน อาจเปรียบได้กับระบบมาตรฐานทองคำในอดีต ในขณะที่สังคมเริ่มมีแต่คนชรามากขึ้น แต่ประเทศพัฒนาแล้วกลับให้สัญญาเรื่องการให้สวัสดิการแก่สังคม มากเกินกว่าที่ฐานรายได้จากภาษีจะรับไหว ผลก็คือ ทำให้รัฐบาลต้องก่อหนี้มหาศาล แต่นักการเมืองมักต่อต้าน การลดสวัสดิการสังคม เว้นเสียแต่ว่าจะถูกกดดันขนาดหนักเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดวิกฤติหนี้สินในประเทศพัฒนาแล้ว

ส่วนอำนาจอิทธิพลของประเทศที่ครองความเป็นเจ้าโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา คือสหรัฐฯ ก็กำลังเสื่อมถอยลง ตั้งแต่ก่อนที่จีนจะเริ่มผงาดขึ้นมา ขณะนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดสุญญากาศทางอำนาจ การเข้าอุ้มกรีซที่ล่าช้า เป็นเพราะไม่มี ประเทศใดที่ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ทั้งๆ ที่วิกฤติของกรีซทำให้ตลาดหุ้นร่วงลงทั่วโลก

แม้ว่ากลไกปกติของวัฏจักรธุรกิจในขณะนี้ จะส่งสัญญาณการฟื้นตัว ทว่าความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่ฝังอยู่ข้างในลึกๆ กลับกำลังคุกคามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 3 ปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกอยู่คือ หนึ่งภาระของการเป็นรัฐสวัสดิการและการที่สังคมเริ่มมีประชากรสูงวัย มากกว่าประชากรอายุน้อย สองภาระหนี้สินมหาศาล (เงินกู้ซื้อบ้านและเงินกู้ภาคครัวเรือนในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ) และสุดท้าย ความไม่สมดุลในการค้าโลก ซึ่งเกิดจากการที่บางประเทศโดยเฉพาะจีน เกินดุลการค้ามหาศาลกับประเทศอื่นๆ และทำให้ประเทศอย่างสหรัฐฯ ต้องขาดดุลการค้ามหาศาล ปัญหาเศรษฐกิจทั้งสามนี้ ล้วนคุกคามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอาจฉุดให้เศรษฐกิจโลกกลับไปตกต่ำอย่างยาวนานได้

ในปี 2009 ยอดขาดดุลงบประมาณของกรีซพุ่งสูงเกือบ 14% ของ GDP ส่วนหนี้สาธารณะสะสมสูงถึง 115% ของ GDP แต่กรีซไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณมหาศาล อิตาลี ขาดดุลงบประมาณ 5% ของ GDP หนี้สะสม 116% ของ GDP สเปนขาดดุล 11% ของ GDP หนี้สะสม 53% เยอรมนีขาดดุล 3% หนี้สะสม 73% ส่วนสหรัฐฯ ขาดดุล 9.9% หนี้สะสม 53% ของ GDP

หนี้ภาคครัวเรือนของประชาชนในประเทศพัฒนาแล้ว ก็อยู่ในสภาพแทบไม่ต่างกับปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาล หนี้ภาคครัวเรือนในสหรัฐฯ สูงถึง 138% ของรายได้สุทธิในปี 2007 ส่วนในแคนาดา หนี้ครัวเรือนสูงถึง 138% ญี่ปุ่น 128% อังกฤษ 186% และเยอรมนี 102%

ความเชื่อที่ว่าโลกเรารอดพ้นเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ไปได้ วางอยู่บนแนวคิดแคบๆ ว่าที่ว่า เศรษฐกิจตกต่ำเป็นสิ่งที่ ป้องกันได้ และความรู้ที่ก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจ จะทำให้เราป้องกันไม่ให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำได้ บทเรียนที่เราได้รับจาก Great Depression ในทศวรรษ 1930 คือ หากครั้งนั้นธนาคารกลางอย่างเช่น Fed ลงมือแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ประวัติศาสตร์คงจะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ครั้งนี้บรรดาธนาคารกลางจึงไม่ทำผิด ซ้ำเดิมอีก และรีบแทรกแซงด้วยการเข้าอุ้มสถาบันการเงิน และอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดสินเชื่อไม่อั้น จนสามารถหยุดยั้งการตกต่ำของเศรษฐกิจได้จริง

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงการซื้อเวลา และหลีกเลี่ยงการจัดการกับปัญหาที่แท้จริง ที่ฝังรากลึกอยู่ข้างใน และหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลทางการค้า ซึ่งเกิดจากประเทศ กำลังพัฒนาในเอเชีย สร้างการเติบโตด้วยการส่งออกเป็นหลัก จนสร้างปัญหาการขาดดุลการค้าให้แก่ประเทศอื่น รวมถึงปัญหา รัฐสวัสดิการในประเทศพัฒนาแล้ว ที่แบกภาระสวัสดิการสังคมมากเกินไป ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกไม่มีเสถียรภาพ ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นใดรออยู่ข้างหน้า

สิ่งหนึ่งที่ Great Depression เมื่อ 80 ปีก่อนได้แสดงให้เราเห็นก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่เจ็บปวดและคาดคิดไม่ถึงจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเราถูกกดดันอย่างหนัก ด้วยวิกฤตการณ์ที่หนักหนาสาหัสเท่านั้น สาเหตุที่ แท้จริงที่ทำให้บรรดาธนาคาร กลางเชื่องช้าในการแก้ปัญหา เศรษฐกิจตกต่ำเมื่อทศวรรษ 1930 คือการยึดติดกับระบบ มาตรฐานทองคำ โดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เพราะเกรง ว่าหากเร่งรีบผ่อนคลายนโยบายดอกเบี้ยเร็วเกินไป เพื่อช่วยอุ้มธนาคารที่ประสบ ปัญหา อาจทำให้ต้องสูญเสีย ทองคำมากเกินไป เพราะผู้คนจะรีบแห่กัน เอาเงินกระดาษมาแลกทอง ดังนั้น กว่าโลกจะสามารถเลิกใช้ระบบมาตรฐานทองคำได้ ก็ต่อเมื่อวิกฤติได้เกิดขึ้นจน ถึงขีดสุดที่จะทนทานไหวแล้ว

ปัญหาหนี้สินมหาศาลในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้ในที่สุดการจ่ายคืนหนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และอังกฤษก็ต้องสูญเสียตำแหน่งผู้นำโลกไปให้แก่สหรัฐฯ

บทเรียนจากอดีตดูเหมือนจะชี้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้แก้ไขในวันนี้ คือภาระการเป็นรัฐสวัสดิการ และการไม่มีผู้นำ ในเศรษฐกิจโลก กำลังเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะหากปัญหานี้ยังคงถูกปล่อยปละจนกลายเป็นวิกฤติใหญ่ เราก็จะถูกสถานการณ์ บีบบังคับอีกครั้งหนึ่ง ให้ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และอย่างเจ็บปวด ซึ่งยังคงไม่มีใครบอกได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นอะไร

แต่ความจริงข้อหนึ่งที่หลายคนอาจลืมเลือนไปแล้วก็คือ ความทุกข์ยากแสนสาหัสที่เกิดขึ้นจาก Great Depression ในทศวรรษ 1930 นั้น ทำให้การเมืองในหลายๆ ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้าย และนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.