การฟื้นตัวของสหรัฐฯ


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

4 นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำคาดการณ์ลักษณะการฟื้นตัวของสหรัฐฯ

N o u r i e l R o u b i n i
ศาสตราจารย์แห่ง New York University

เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวและเติบโตได้ตามศักยภาพหรือต่ำกว่าศักยภาพไปประมาณ 10 ปี แต่การฟื้นตัวจะเป็นรูปตัว U มากกว่าตัว V ความต้องการบริโภคในภาคเอกชนและการสร้างรายได้จะยังคงอ่อนแอ ทรัพย์สินสำคัญ เช่น บ้านจะยังคงลดมูลค่าลงตลอดปีนี้ ครัวเรือนจะประหยัดมากขึ้นและใช้จ่ายน้อยลงอีกนานหลายปี รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการลดการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในความควบคุมให้ได้ ซึ่งหมายถึงการขึ้นภาษีและลดการใช้จ่ายของรัฐ อันจะส่งผลสกัดกั้นการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไปอีกนานหลายปี

J e r e m y S i e g e l
ศาสตราจารย์ด้านการเงิน Wharton School แห่ง University of Pennsylvania

ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่คาดการณ์ว่า สหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะงักยาวนาน แต่กลับเชื่อว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถกลับมาเติบโตได้มากกว่า 3.2% โดยเฉลี่ยตามเดิม เหมือนกับที่สหรัฐฯ เคยทำได้ตลอดช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่แล้ว เพราะว่าในระยะยาวแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของประสิทธิภาพการผลิต และประสิทธิภาพการผลิตก็ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวและนวัตกรรม การปฏิวัติการสื่อสาร ทำให้เกิดนักวิจัยและผู้ประกอบการรุ่นใหม่มากมายทั่วโลก และพวกเขากำลังคิดหาวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาในด้านพลังงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการคิดค้นยาใหม่ๆ และยังสามารถจะค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อีกมาก

L a u r a T y s o n
ศาสตราจารย์แห่ง Haas School of Business แห่ง University of California

ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่มองในแง่ดีเกินไปว่า สหรัฐฯ จะเติบโตเฉลี่ย 3.5% ตลอด 5 ปีข้างหน้า และค่อนข้างเห็นด้วยการคาดการณ์ในแง่ร้ายกว่านั้น คือสหรัฐฯ จะเติบโตเพียงประมาณ 2.5-2.8% เท่านั้น แม้แต่พวกที่มองในแง่ดีก็ยังคาดการณ์อัตราว่างงานของสหรัฐฯ ไว้สูงถึง 5% ไปจนถึงปี 2015 ซึ่งก็หมายความว่า การฟื้นตัวครั้งนี้จะมีลักษณะเป็นการฟื้นตัวแบบมีการว่างงาน เหมือนกับการฟื้นตัวที่ผ่านมา 2 ครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ

M o h a m e d E l - E r i a n
CEO Pimco

หลังจากฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ คาดว่าสหรัฐฯ จะเติบโต 2% โดยเฉลี่ยตลอด 4 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายความว่า การว่างงานจะลดลงแต่ช้ามาก การขาดดุลงบประมาณจะยังคงอยู่ต่อไป และระบบสวัสดิการสังคมจะถูกกดดัน สหรัฐฯ ในยุคหลังวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว จะมีลักษณะหลักๆ 3 ประการคือ หนึ่งการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ขณะนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากที่รัฐทุ่มงบประมาณมหาศาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องเผชิญกับสภาพที่ประเทศมีหนี้สินมาก ต้องมีการทบทวนกฎเกณฑ์ใหม่ จะมีความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศ สองการเติบโตและความมั่งคั่งจะย้ายจากสหรัฐฯ และประเทศที่พึ่งพิงอุตสาหกรรมการเงิน เป็นตัวผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากเกินไป ไปยังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ สุดท้าย ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน จะยิ่งจำกัดความเร็วของการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ลงอีก

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.