|
การกลับมาของสหรัฐฯ
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มิถุนายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
สหรัฐฯ สามารถดึงตัวเองออกมาจากปากเหวและยังคงมุ่งหน้ากลับคืนสู่การเป็นผู้นำ
หลังจากสหรัฐฯ เผชิญวิกฤติการเงินในปี 2008 ตามด้วยการถดถอยทางเศรษฐกิจที่ลึกและยาวนาน นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ที่รวมถึง Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยุคแห่งความตกต่ำของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่อย่างสหรัฐฯ ได้มาถึงแล้ว ด้วยภาระหนี้สินมหาศาลและการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย นักเศรษฐศาสตร์บางคนบอกว่า สหรัฐฯ จะเป็นกรีซรายต่อไป หรือต้องตกอยู่ในสภาพเหมือนญี่ปุ่น ที่ต้องเผชิญเศรษฐกิจตกต่ำยาวนาน จนราวกับทำเวลาหายไปถึง 10 ปี แม้แต่ ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy แห่งฝรั่งเศส ก็ยังถือโอกาสกล่าวโจมตีโมเดลทุนนิยมแบบอเมริกัน
หลังจากการล้มของ Lehman Brothers ในเดือนกันยายน 2008 ทุกอย่างในสหรัฐฯ ก็ดูเหมือนจะถูกตัดลงครึ่งหนึ่ง รวมถึงความภาคภูมิใจในตัวเองด้วย ระหว่างปี 2007-2009 ความมั่งคั่งของสหรัฐฯ หายไปถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์ แต่การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะตกต่ำอย่างยาวนาน อาจเป็นการคาดการณ์ที่เกินจริง และสหรัฐฯ อาจกลับมาผงาดได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม ดีกว่าเดิม และเร็วกว่าที่ทุกคนลงความเห็น รวมทั้งดีกว่าประเทศคู่แข่งทั้งหลายด้วย ดัชนี Dow Jones พุ่งขึ้นใกล้ 11,000 จุด หรือเพิ่มขึ้น 70% ในช่วง 13 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ ของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 16% จากปีที่แล้ว สามารถสร้างงานใหม่ได้ 162,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคมเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ค่าเงินดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาเติบโตมากกว่ายุโรปและญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยในบรรดา ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ด้วยกันนั้น มีเพียงจีน อินเดียและบราซิลเท่านั้นที่เติบโตเร็วกว่าสหรัฐฯ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโต 3.6% ในปีนี้ อย่างที่มีบางคนคาดไว้จะสามารถสร้างกิจกรรมใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจได้ถึง 513,000 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ GDP ของอินโดนีเซียเลยทีเดียว
แม้ว่าตลาดบ้านและการขาดดุลงบประมาณมหาศาลจะยังคงเป็นปัญหาใหญ่มากของสหรัฐฯ แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ มองข้ามไปคือ ความได้เปรียบในการแข่งขันที่แท้จริงของสหรัฐฯ การที่สหรัฐฯ สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับมาได้ทุกครั้ง เป็นเพราะการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว การไม่ลังเลที่จะตัดหนี้เสียและปรับโครงสร้างหนี้ ที่สำคัญที่สุดคือ การเน้นในเรื่องการปรับปรุง ประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้เป็นความสามารถพิเศษของสหรัฐฯ ที่ยังคงความเป็นเลิศ และสหรัฐฯ จะยังคงเป็นผู้นำโลกในการจัดการกับความล้มเหลว คิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะสร้างผลกำไรให้กลับคืนมาสู่สหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว
Richard Florida นักสังคมวิทยาและผู้แต่งหนังสือ The Great Reset ชี้ว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปรับตัวได้ดีที่สุด และมีความเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นมากที่สุด และได้พิสูจน์มาแล้วว่า เป็นประเทศที่สามารถล้มแล้วลุก จึงไม่ใช่เรื่องยาก หากสหรัฐฯ จะยังคงดำรงความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ต่อไปในศตวรรษนี้
การฟื้นตัวของสหรัฐฯ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากเศรษฐกิจติดลบถึง 6.4% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2009 แต่ในไตรมาสที่ 4 ของปีเดียวกัน ก็สามารถกลับมาเติบโตถึง 5.9% เท่ากับเติบโตถึง 12.3% ภายในเวลา เพียง 9 เดือน สาเหตุก็เพราะทั้งภาค รัฐและเอกชนอเมริกันแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ในช่วงทศวรรษ 1990 ญี่ปุ่นลังเลอยู่นาน ก่อนที่จะยอมใช้มาตรการลดดอกเบี้ย กระตุ้นเศรษฐกิจ ขยายการรับประกันธนาคาร และยึดสถาบันการเงินที่ล้ม แต่ในปี 2008-2009 สหรัฐฯ ใช้เวลา เพียง 18 เดือน ในการใช้มาตรการทั้งการเงินและการคลัง ในขณะที่ญี่ปุ่นคอยนานถึง 12 ปี กว่าจะยอม ใช้มาตรการเหล่านั้น
ที่สำคัญ “คนไข้” ตอบสนอง ต่อการรักษาแบบ shock therapy เป็นอย่างดี ตลาดสินเชื่อและภาคการเงินของสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้นทันที และนับตั้งแต่ที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศผลตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของสถาบันการเงินอเมริกันในเดือนพฤษภาคม 2009 ธนาคารในสหรัฐฯ ก็สามารถระดมทุนใหม่ได้มากกว่า 140,000 ล้านดอลลาร์ Bank of America, Citi และ Wells Fargo สามารถจ่ายคืนหนี้ 100,000 ล้านดอลลาร์ ที่กู้มาจากรัฐบาลได้ภายใน 4 เดือน อย่างเหนือความคาดหมาย
การปรับโครงสร้างหนี้และการล้มละลาย เป็นสิ่งที่ยอมรับ ได้ในสหรัฐฯ ซึ่งแตกต่างจากในประเทศอื่นๆ และในช่วงที่ความต้องการบริโภคตกต่ำ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะยังคงช่วยให้ธุรกิจรักษาผลกำไรอยู่ได้ คือความสามารถในการทำงานได้มากขึ้น ด้วย กำลังคนที่น้อยลง และนี่คืออีกสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความได้เปรียบ ในการแข่งขัน ที่ฝังอยู่ในสายเลือดคนอเมริกัน การเน้นในเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพเป็นดั่งเอกลักษณ์ประจำตัวของคนอเมริกัน และในวิกฤติครั้งนี้ บริษัทอเมริกันต่างพากันลดรายจ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2008 ถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2009 ประสิทธิภาพการผลิตในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 5.8% จากปี 2007 และ 2008 ที่ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นเพียง 1.7 และ 2.1% เท่านั้น
การส่งออกของสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างมาก หลังจากตกต่ำถึงขีดสุดในเดือนเมษายน 2009 จาก 121,700 ล้านดอลลาร์ในเดือนเมษายน 2009 พุ่งขึ้นเป็น 142,700 ล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคมปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นถึง 17.3% Boeing จะส่งมอบเครื่องบินพาณิชย์ 460 ลำในปี 2010 เพิ่มขึ้น จาก 375 ลำในปี 2008 โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นต่างประเทศ
เพื่อฟื้นตำแหน่งงาน 8.2 ล้านตำแหน่งที่หายไป นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2007 สหรัฐฯ สามารถใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสร้างงานที่ทรงพลัง เพราะอินเทอร์เน็ตสร้างธุรกิจใหม่ๆ ได้ทุกชนิด รวมถึงวิธีการทำธุรกิจใหม่ๆ ได้อีกมากมาย และการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ทั้งหมด ก็เป็นอีกงานถนัดของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเลิศในการสร้างนวัตกรรมด้านระบบ นอกเหนือไปจากการสร้างคนที่มีความคิดสร้าง สรรค์ เหมือนอย่างที่ Thomas Edison เคยประดิษฐ์ระบบกระแสไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดสู่โมเดลใหม่ๆ ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการบริโภคในรูปแบบใหม่ๆ
Apple เปิดร้านบนอินเทอร์เน็ตคือ iTunes Music Store ในเดือนเมษายน 2003 โดยมีสินค้าเพียงอย่างเดียวและขายราคา เดียวคือ เพลงที่ขายในราคาเพลงละ 99 เซ็นต์ 7 ปีต่อมา iTunes กลายเป็นธุรกิจที่ขยายตัวอย่างมาก โดยขายทั้งฮาร์ดแวร์อย่าง iPhone, iPod Touch และ iPad หนังสือเสียง ภาพยนตร์ เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์ ซอฟต์แวร์ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นผลดีต่อผู้ค้าปลีกทั้งหลาย สตูดิโอที่สร้างภาพยนตร์ โปรแกรมเมอร์อิสระ บริษัทวิเคราะห์ และผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น ซองสำหรับใส่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Apple และหูฟังที่ใช้กับอุปกรณ์ตระกูล i ของ Apple ตลาดอุปกรณ์เสริมนี้มีมูลค่าตลาดถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี เมื่อเดือนมีนาคม บริษัท Kleiner Perkins Caufield & Byers ตัดสินใจเพิ่มเงินลงในกองทุน iFund อีกเท่าตัวเป็น 200 ล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนในตลาดอุปกรณ์เสริมที่ใช้กับ ผลิตภัณฑ์ของ Apple โดยเฉพาะ กองทุนนี้ตั้งมา 2 ปีแล้ว
แม้ว่าการที่สหรัฐฯ ประกาศจะสร้างงานใหม่ในภาคธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลายล้านตำแหน่ง อาจไม่สามารถเป็นจริงได้ในชั่วข้ามคืน แต่เริ่มมีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้ว Vestas ผู้ผลิตกังหันลมจากเดนมาร์ก ได้ลงทุนไปแล้วเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ ในโรงงานผลิตกังหันลมในโคโลราโด ซึ่งช่วยสร้างงาน 2,500 ตำแหน่ง ในเดือนมีนาคม รัฐโคโลราโดประกาศว่า ภายในปี 2020 ร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมดที่ผลิตในรัฐนี้ จะผลิตจากแหล่งพลังงานที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
ในอุตสาหกรรมรถยนต์ สหรัฐฯ ประกาศนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงของรถยนต์ เพิ่มขึ้นเป็น 35.5 ไมล์โดยเฉลี่ยต่อน้ำมัน 1 แกลลอน ภายในปี 2016 จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 20.5 ไมล์ และกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ปล่อยกู้ให้แก่บริษัท รถยนต์ ทั้งขนาดใหญ่อย่าง Ford และบริษัทหน้าใหม่อย่าง Fisker Automotive เพื่อนำไปพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง ในรถ Fisker เป็นบริษัทรถยนต์ใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งในปี 2007 เพื่อผลิตรถไฮบริดซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าได้ การได้รับเงินกู้จากรัฐบาล ทำให้ Fisker วางแผนจะลงทุนกว่า 150 ล้านดอลลาร์ในการปรับปรุงโรงงาน และมีแผนจะส่งรถรุ่นแรก Karma (ราคาคันละ 87,000 ดอลลาร์) ให้แก่ตัวแทนจำหน่ายได้ภายในสิ้นปีนี้
การพัฒนารถยนต์ไฮบริดยังจะทำให้เกิดธุรกิจสนับสนุนอื่นๆ อีกมาก เช่น ตัวแทนจำหน่าย สถานีเติมพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เสริมต่างๆ สำหรับรถไฮบริดโดยเฉพาะ
ธุรกิจไฮเทคเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญมากของสหรัฐฯ Google และ Apple กลายเป็นบริษัทใหญ่อันดับ 3 และ 9 ของประเทศ มีมูลค่าตลาดรวมกันถึง 398,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมหาศาล จากเมื่อปี 2002 ที่ทั้ง 2 บริษัทมีมูลค่ารวมกันเพียงไม่กี่พันล้านดอลลาร์ ขณะนี้บริษัททั้งสองเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของสหรัฐฯ กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้ง Google และ Apple ขณะนี้กลายเป็นตัวแทนของอเมริกา เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่ง McDonald’s และ Chevrolet เคยเป็น
การฟื้นตัว 2 ครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ กินเวลานานถึง 120 เดือนและ 92 เดือนตามลำดับ และหากสหรัฐฯ ยังคงสามารถปรับตัวได้อย่างดีเหมือนกับในอดีต และยังคงสามารถสร้าง “ผู้เปลี่ยนเกม” อย่าง Google และ Apple ให้เกิดขึ้นมาได้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่การขยายตัวของสหรัฐฯ ครั้งนี้ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2009 เป็นต้นมา จะไม่สามารถคงอยู่ได้อย่างยาวนานด้วยเช่นเดียวกัน
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|