ครอสบี้ฯจับมือกับพรีเมียร์เสริมฐานธุรกิจค้าหลักทรัพย์


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่เพิ่งพ้นอ้อมอกโครงการทรัสต์ 4 เมษาฯ ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ส่วนมากต่างได้ดิบได้ดีเป็นที่พึงพอใจของเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง มันเป็นการพิสูจน์ด้วยว่าคณะผู้บริหารที่ธนาคารฯ คัดเลือกเข้ามารับช่วงดำเนินงานเป็นผู้มีคุณภาพและตั้งใจพัฒนาบริษัทที่ครั้งหนึ่งมีอดีต "เน่า ๆ " เหล่านี้

การจับมือเซ็นสัญญาร่วมบริหารของบงล.พรีเมียร์ ซึ่งเมื่อก่อนคือ บงล.นครหลวงอินเวสเม้นท์ จก. กับบ.ครอสบี้ ซีเคียวริตี้ส์ (ฮ่องกง) จก. เป็นแนวโน้มที่ดีอย่างมาก ๆ สำหรับ บงล.แห่งนี้ แม้ว่าไม่มีการร่วมลงทุนด้วยก็ตาม

สัญญาร่วมบริหาร (MANAGEMENT AGREEMENT) แบบปีต่อปีเป็นข้อเสนอจากทางฝ่ายแบงก์ชาติ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการร่วมบริหารวิเคราะห์ข้อมูลและการถ่ายทอดโนว์ฮาวต่าง ๆ

ชูศรี แดงประไพ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินกล่าวถึงสัญญาที่แบงก์ชาติอนุมัติมาตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคมว่า "ที่แบงก์ชาติให้ทำสัญญาแค่ปีเดียวนี่ไม่ใช่ว่าเป็นเงื่อนไขพิเศษเพราะเคยเป็นทรัพสต์ในโครงการ 4 เมษาฯ แต่เป็นระเบียบที่แบงก์ชาติปฏิบัติอยู่เป็นปกติ อย่างสัญญาของบงล.เอกชาติ กับเจมส์ เคเพิลก็เป็นแบบนี้"

JUSTIN M.G.KENDRICK กรรมการผู้จัดการครอสบี้ ซีเคียวริตี้ส์ (ฮ่องกง) กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "สัญญาร่วมบริหารครั้งนี้ ทางครอสบี้ฯ จะส่งคนเข้ามาร่วมในพีเมียร์ 3 คน เพื่อเข้ามาช่วยวางระบบต่าง ๆ ในด้านงานวิจัย ซื้อขายหลักทรัพย์ มาร์เก็ตติ้ง การชำระราคาและส่งมอบใบหุ้น ซึ่งจะต้องมีการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการดำเนินงานจัดระบบต่าง ๆ"

ในสัญญาร่วมบริหารนี้ครอสบี้ฯ จะได้รับค่าตอบแทนโดยคิดเป็นค่าธรรมเนียมการบริหารและการแบ่งปันผลกำไร

จงรักษ์ ศรีพันธ์พร ผู้จัดการร่วมฝ่ายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นคนของครอสบี้ที่เข้ามาร่วมดำเนินงานในพรีเมียร์กล่าวว่า "ครอสบี้มีการส่งออกออเดอร์ผ่านพรีเมียร์มาเป็นเวลานานกว่าที่จะได้ตกลงปลงใจร่วมมือกันได้การเจรจาครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในส่วนของครอสบี้ฯ นั้นเป็นโบรกเกอร์เฮ้าส์ต่างชาติรายแรกที่เข้ามาตั้งออฟฟิคในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อปี 2530

KENDRICK ยืนยันว่า "ครอสบี้ฯ เป็นหนึ่งในรีเสิร์ช เฮ้าส์ รายใหญ่ที่สุดที่มีเครือข่ายงานในย่าน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

แต่เขาก็ไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขมูลค่าการลงทุน ทั้งหมดบอกแต่เพียง ว่าปัจจุบันมีปริมาณการลงทุนในตลาดหุ้นไทยคิดเป็น 10 % ของปริมาณการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย ส่วนจงรักษ์ซึ่งทำงานกับครอสบี้ฯ ตั้งแต่อยู่ที่ฮ่องกงมาเป็นเวลา 5 ปี แล้วเปิดเผยว่าในจำนวน 10 % นี้เป็นนักลงทุนจากยุโรป ซึ่งส่วนมากเป็นอังกฤษประมาณ 50 % จากเอเชีย 30 % และจากอเมริกา 20 %

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของครอสบี้เป็นพนักงานของบริษัท ในระดับ SENIOR MANAGEMENT ประมาณ 65-70 % ที่เหลือเป็นบริษัทข้ามชาติหลายแห่งเช่น บริษัท PINESTREET INVESTMENT ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มเอไอเอประมาณ 7 % เป็นต้น

ครอสบี้ฯ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2527 ถือเป็นบริษัทค้าหลักทรัพย์ ที่เป็นอิสระรายใหญ่สุดในย่านนี้ หมายความว่าไม่มีบริษัทใหญ่ ๆ หรือธนาคารเข้ามาถือหุ้นเกินกว่า 50 %

จงรักษ์เปิดเผยว่า "จุดเด่นของครอสบี้ฯ คือเรื่อง DEALING หรือ ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ คือเราสามารถซื้อหุ้นได้ ในราคาที่ดีกว่าถูกกว่ารายอื่น ๆ แต่ผู้จัดการกองทุนต่าง ๆ มักกล่าวว่าครอสบี้ฯ เด่นในเรื่องงานวิเคราะห์หลักทรัพย์"

ครอสบี้ฯ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกงมี SELL OFFICE ที่ฮ่องกง สิงคโปร์ ลอนดอนและนิวยอร์ค มีสำนักงานตัวแทนในไทย มาเลเซีย ที่อินโดนีเซีย เป็นสาขา

ส่วนผู้ถือหุ้นพรีเมียร์เมื่อครั้งเทคโอเวอร์กิจการมาจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย คือ บ.พรีเมียร์ โกลเบิล คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) ขณะที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ก็ยังคงสัดส่วนหุ้นไว้ประมาณ 25.89% และกระทรวงการคลังในนามของธนาคารกรุงไทยอีก 13.39%

แบงก์ชาติกำหนดให้พรีเมียร์ตัดขาดทุนสะสมที่มีอยู่ประมาณ 200 กว่าล้านบาทให้หมดภายในปี 2538

มานพ นาคทัต กรรมการผู้จัดการบงล.พรีเมียร์จก. เปิดเผยว่า "ในสิ้นปี 2534 คาดว่าบริษัทฯ จะยังมีผลการดำเนินงานขาดทุนอยู่อีก 20 ล้านบาท เพราะภาระหนี้สินจากผู้บริหารเดิมจำนวน 228 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทฯ ยังต้องรับภาระดอกเบี้ยเดือนละประมาณ 3 ล้านบาทขณะที่ต้องตั้งสำรองหนี้สูญอีก 32 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม พรีเมียร์ฯ มีแผนที่จะเพิ่มทุนอีก 200 ล้านบาทเป็นทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 524 ล้านบาท โดยการเพิ่มในไตรมาสแรกของปี 2535

"การเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้ปลอดภาระการขาดทุนที่มีอยู่ได้ และคาดว่าจะสามารถทำกำไรได้บ้าง" มานพกล่าวอย่างมั่นใจ เพราะพรีเมียร์ฯ ก็มีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นกัน แต่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

พรีเมียร์ฯ ได้เจรจาขอซื้อหุ้นคืนจากส่วนของกระทรวงการคลังตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมีสิทธิซื้อคืนได้ในราคาพาร์หุ้นละ 5 บาท ตามสัญญาการซื้อคืนที่จะจบสิ้นลงในปีนี้

ในส่วนของเอไอจีฯ ถืออยู่เพดานของสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างประเทศคือ 49 % การที่ครอสบี้ฯ ไม่สามารถเข้ามาถือหุ้นด้วยได้นั้นเหตุหนึ่งก็เพราะเอไอจีฯ ไม่ยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นของ ฝ่ายเขาลงไป เพราะถ้าครอสบี้ฯ เข้ามาก็ต้องมาถือในส่วนนั้น"

ความจริงแล้วครอสบี้ฯ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาถือหุ้นพรีเมียร์ฯ เพราะเอไอจีฯ ซึ่งถือหุ้นในพรีเมียร์ฯ นั้นก็เป็นผู้ถือหุ้นครอสบี้ฯ ที่ฮ่องกง 7 % ดังที่กล่าวมาแล้ว

เอไอเอฯ นั้นอยากจะได้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มาไว้ในเครือนานแล้ว เพิ่งสบช่องก็ตอนนี้เอง เพราะธุรกิจประกันภัยนั้นหากฐานทางด้านเงินทุน รองรับก็จะเป็นการดี มานพเปิดเผยว่า "ในด้านเงินทุนนั้น พรีเมียร์ได้ร่วมมือกับเอไอเอฯ ในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งปีนี้ปล่อยไป 100 ล้านบาทแล้ว นอกจากนี้พรีเมียร์ฯ ยังให้ความคุ้มครองในทุกกรณีสำหรับกรมธรรม์มอร์เกจอินชัวรันส์ของเอไอเอฯ ด้วย"

ประโยชน์ที่เอไอเอฯ ได้รับจึงมาทั้งจากการเป็นผู้ถือหุ้นและการได้ธุรกิจร่วมกัน

ในส่วนของหลักทรัพย์ที่ครอสบี้ฯ เข้ามาร่วมบริหารนั้น จงรักษ์กล่าวว่า "ครอสบี้ฯ จะลงทนในตลาดไหนมากนี่แล้วแต่ สถานการณ์ในแต่ละประเทศพีอีเรโวและราคาหุ้นของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เมื่อปี 2531 ครอสบี้ฯ ลงทุนในตลาดไทยเยอะมาก แต่ต่อมาหันไปลงทุนในฮ่องกง คาดว่าปีหน้าจะหันกลับมาดูที่เมืองไทยอีกครั้ง"

จงรักษ์เปิดเผยด้วยว่า "ข้อเด่นในไทยของครอสบี้ฯ คือ เป็น 1 ใน 5 ของโบรกเกอร์ต่างชาติที่ทำ PLACEMENT และ SUB UNDERWRITING มากที่สุดในไทย ปีนี้ทำไปแล้วไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาทในตลาดไทย"

ในส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น แน่นอนว่าครอสบี้ฯ จะช่วยให้พรีเมียร์ เพิ่มปริมาณการซื้อขายได้มากกว่าปัจจุบันซึ่งมานพอ้างว่าพรีเมียร์ฯ มีส่วนแบ่ง 2 % ของตลาด จงรักษ์กล่าวว่า "ผมคิดว่าออร์เดอร์ เราควรจะได้มากกว่านี้"

มันเป็นภาระของจงรักษ์ในฐานะตัวแทนจากครอสบี้ที่จะต้องพิสูจน์กันต่อไป ส่วนมานพก็มีบทบาทที่จะต้องบริหารให้พรีเมียร์ฯ หมดสิ้นภาพพจน์การเป็นทรัสต์ ในโครงการ 4 เมษาฯ ด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.