"ท่านผอ. คนนี้แปลกกว่าท่านอื่น เพราะไม่ว่าจะมีการอบรม หรือสัมมนาอะไร
ท่านจะไปกับพวกเราด้วย และการวางโครงการอะไร ท่านก็จะมีส่วนรับรู้ให้คำแนะนำโดยตลอด"
อดีตพนักงานกองการพนักงานหรือสำนักบริหารงานบุคคลในปัจจุบันเล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง
มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จู่ ๆ จะทำการเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือความเคยชินของ
"คน" ที่คุ้นเคยกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นเวลานาน ซึ่งวิบูลย์ดูเหมือนจะเข้าใจเป็นอย่างดี
จึงได้แก้ไขอย่างจริงจัง
ระบบงานที่ไม่เป็นมาตรฐานสากล หรือภาพพจน์ที่ฝังใจว่า ตนเป็นพนักงานขององค์กรที่ทำหน้าที่หาเงินฝากเพียงอย่างเดียว
เป็นสถานการณ์ที่ "วิบูลย์" กำลังทำการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สอดคล้องกับการเบี่ยงเบนไปทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ของออมสิน
โดยเฉพาะด้านสินเชื่อ
ไม่เฉพาะโครงการการอบรมด้านสินเชื่อที่ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อกลางปี
2535 ที่ผ่านมาก การให้ความรู้ในด้านการบริหารงานโดยเฉพาะระดับผู้จัดการสาขาโดยความร่วมมือกับมสธ.ก็มีขึ้นในสมัยนั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาขากว่า 500 แห่งทั่วประเทศเปรียบเสมือนเป็นแขนเป็นขาของสำนักงานใหญ่
โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สาขาจังหวัดมีอำนาจปล่อยสินเชื่อได้เองแล้ว ผู้จัดการสาขาจะต้องมีความรับผิดชอบที่มากขึ้นอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ปัจจุบันออมสินมีพนักงานที่จบระดับปริญญาตรีเฉลี่ยเพียงร้อยละ 27 ภายใต้การเปลี่ยนแปลงในหลายด้านย่อมต้อง
มีลูกหม้อเก่าแก่ของแบงก์จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถปรับตัวได้โครงการเกษียณก่อนครบวาระจึงเกิดขึ้น
"ตอนนี้เรากำลังรอการอนุมัติจากคลังในโครงการเกษียณก่อนวาระ หรือ
EARLY ERTIREMENT โดยจะให้เงินบำเหน็จ 12 เท่าของเงินเดือนพร้อมทั้งบำนาญ
ซึ่งคนที่จะได้รับผลนี้จะต้อง มีอายุมากกว่า 55 ปี หรืออายุ 50 ปีขึ้นไป
แต่ต้องทำงานมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 20 ปี" วิบูลย์ชี้แจงถึงคุณสมบัติผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
ไม่เฉพาะผู้ที่สมัครใจเกษียณก่อนครบวาระเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ตำแหน่งที่ว่างลงก็เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือได้เร็วขึ้นเช่นกัน
หรือกล่าวได้ว่า ลูกหม้อเก่า ๆ ของออมสินจำนวนไม่น้อย กำลังถูกท้าทาย หรือต้องทำงานหนักกว่าเดิมหลายเท่า
เพราะมันเป็นอีกทางเดินหนึ่งที่เสนอให้ ดังคำกล่าวที่ว่า "แค่มองตาก็รู้ว่าต้องทำอะไร"