|
อุตฯรถยนต์เฟื่องโควต้าเหล็กหมดต้นทุนพุ่ง10%
ASTVผู้จัดการรายวัน(31 พฤษภาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
อุตสาหกรรมยานยนต์พุ่งแรง ฟื้นเป็นรูปตัววี (V) ทำให้ผู้ประกอบการมองข้ามตัวเลขการผลิต ที่เคยประมาณการณ์ไว้เมื่อต้นปี 1.4 ล้านคัน ทะลุไปเป็น 1.5-1.6 ล้านคัน ส่งผลให้ประเมินปริมาณการใช้วัตถุดิบผิดพลาด โควต้าเหล็กที่ได้รับอนุมัตินำเข้าจากญี่ปุ่น 4.7 แสนตัน ภายใต้ข้อตกลง JTEPA อาจจะหมดในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จนต้องหันมานำเข้าเหล็กนอกโควต้าแทน ส่งผลต้นทุนพุ่ง 5-10%
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.- เม.ย.) มีอัตราการเติบโตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ ทำให้มีแนวโน้มว่าการผลิตรถยนต์ในไทยปีนี้ มีโอกาสจะปรับเพิ่มมากกว่าประมาณการณ์ไว้เมื่อต้นปีที่ 1.4 ล้านคันได้
“ในการประชุมครั้งล่าสุดของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้หารือกันถึงเรื่องนี้และเห็นว่า โอกาสเป็นไปได้สูงที่การผลิตรถยนต์ในไทยปีนี้ จะปรับเพิ่มกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ โดยได้มีการมองไปถึงตัวเลขการผลิต 1.5-1.6 ล้านคัน เหตุนี้ทางกลุ่มฯ จึงได้ให้สมาชิกจากแต่ละบริษัทรถ กลับไปประเมินตัวเลขการผลิตใหม่ ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนในเดือนมิถุนายนนี้”
ทั้งนี้การประเมินตัวเลขที่น่าจะปรับเพิ่มขึ้น มาจากตลาดในประเทศที่เดิมคาดการณ์ไว้ประมาณ 6 แสนคัน ขณะนี้ได้มีการมองยอดขายเพิ่มไปเป็น 6.5 แสนคัน และการส่งออกรถไปต่างประเทศตลาดหลักๆ ของไทย ล้วนมีอัตราการขยายตัวเป็นอย่างมาก จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดว่าการผลิตเพื่อส่งออกจะปรับเพิ่มเป็นกว่า 9 แสนคัน จากเดิมประมาณการณ์ไว้ที่ 8 แสนคัน
นายศุภรัตน์กล่าวว่า ปริมาณการผลิต 1.4 ล้านคัน หรือประมาณกว่า 70% ของกำลังการผลิตรถยนต์ที่มีในไทยทั้งหมดกว่า 1.8 ล้านคัน ถือเป็นสัดส่วนที่ตามหลักการณ์แล้ว จำเป็นจะต้องมีการเตรียมปรับปรุงไลน์ผลิตใหม่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเมื่อปี 2551 แต่ต้องชะลอไปเมื่อประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ในช่วงปลายปีดังกล่าวและต่อเนื่องมาจนถึงปี 2552 แต่เมื่อตัวเลขการผลิตกลับมาฟื้นตัวเป็นรูปตัววี(V) เช่นนี้ ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการเริ่มเตรียมปรับไลน์ผลิตใหม่บ้างแล้ว
“เบื้องต้นสิ่งที่ดำเนินการปรับการผลิต ได้แก่ เรื่องของแรงงาน เพิ่มกะทำงาน และขยายไลน์เพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งในส่วนของแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่มีปัญหา แต่การเพิ่มกะทำงานปัจจุบันเต็มที่ 2 กะแล้ว และเป็นเรื่องลำบากที่จะเพิ่มมากกว่านั้น ทำได้เพียงเพิ่มการทำงานเป็นโอทีเท่านั้น สิ่งที่ผู้ผลิตกำลังเตรียมในขณะนี้จึงเป็นการขยายไลน์การผลิต โดยเฉพาะในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วน แต่จะเป็นมูลค่าเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับปริมาณและเป้าหมายของโรงงานนั้นๆ จึงไม่สามารถสรุปได้”
นายศุภรัตน์เปิดเผยว่า การขยายตัวของตลาดรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศ จนต้องปรับเพิ่มกำลังการผลิตตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเรื่องของวัตถุดิบบางอย่าง ที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะโควต้านำเข้าเหล็กจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปีนี้ได้รับอนุมัติโควต้าเหล็กนำเข้าเพื่อผลิตรถยนต์ ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น หรือ JTEPA โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าอยู่ที่ 4.7 แสนตัน จากการประเมินกำลังการผลิตที่ 1.4 ล้านคัน
“ในการเจรจาเรื่องโควต้าการนำข้าเหล็ก เรามีการร้องขอโควต้าไปมากกว่านี้ แต่ทางที่ประชุมคณะกรรมการอนุมัติให้แค่นี้ เพราะไม่เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยน์ไทย จะกลับมาพลิกฟื้นได้เร็วอย่างที่เห็นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามแม้จะมีปัญหาโควต้าเหล็กนำเข้าหมด ทางผู้ผลิตจำเป็นต้องนำเข้าเหล็กนอกโควต้ามาทำการผลิตทดแทน ถึงจะต้องรับภาระต้นทุนภาษีนำเข้านอกโควต้าอยู่ที่ 5-10% ตามประเภทเหล็ก เพื่อผลิตรถให้ได้ตามความต้องการตลาด”
ทั้งนี้หลังกลางปีเป็นต้นไปจะเริ่มเห็นผลกระทบจากปัญหาเหล็ก ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าคงไม่มีการขึ้นราคาสินค้า เพื่อผลักภาระให้กับผู้บริโภค เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด โดยผู้ประกอบการคงจะใช้วิธีบริหารจัดการมาช่วยลดต้นทุนแทน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|