การที่ค่ายทีพีไอ ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก และกล้าชนกับปูนใหญ่ด้วยการฝ่ายด่านลงสู่ธุรกิจปูน
แล้วยังแตกหน่อบริษัทออกไปมากมายในวันนี้พูดได้ว่า อาศัย 3 กลยุทธ์หลัก คือ
กล้า..ใหญ่..ลึก..และอีกปัจจัยเสริม ด้านเทคโนโลยี โดยมีประชัย พี่ใหญ่ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์เป็นคนชูธงรบ..!
"กร้าว" ได้กลายเป็นภาพลักษณ์ของกลุ่มธุรกิจเครือทีพีไอ และเป็นหัวใจสำคัญที่นำพาวาทีพีไอสู่ความใหญ่ในวันนี้
ด้วยการนำของสามพี่น้องตระกูลเลี่ยวไพรัตน์
นามสกุล "เลี่ยวไพรัตน์" นั้นเป็นที่รู้จักดีตั้งแต่ ยุคธนาพรชัยค้าข้าว
เมื่อหลายสิบปีก่อนให้ทายาทสืบสานต่อมาด้วยกลยุทธ์เดียวกัน
นั่นก็คือ กล้า..ใหญ่..ลึก..และตามด้วยเทคโนโลยี
เริ่มตั้งแต่ยุคของพร เลี่ยวไพรัตน์ ผู้หักเหชีวิตเพราะไม่ได้เรียนต่อ
แต่กลับมารับโอนกิจการมาดูแลแทนพ่อ พ่อค้าใหญ่สระบุรีที่มีทั้งโรงสี โรงฆ่าสัตว์
โรงเหล้า ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่กำลังเกิดวิกฤติข้าวเนื่องจากกิจการค้าข้าวส่วนใหญ่อยู่ในมือต่างชาติและราคาข้าวตกต่ำมาก
จนกระทรวงเศรษฐการต้องตั้งบริษัท สีข้าวไทย จำกัดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา
บริษัทข้าวไทยมีโรงสีใหญ่ในกรุงเทพฯ 7 แห่งซึ่งตอนนั้นมีบทบาทสูงกว่าพ่อค้าข้าวเป็นฐานสนับสนุน
ตรงนี้เองที่เป็นจุดเกิดของ "เลี่ยวไพรัตน์"
แม้ว่าโรงสีไฟปากเพรียวของ "เลี่ยวไพรัตน์" จะไม่ได้ร่วมขบวนด้วยอย่างจริงจังนัก
แต่ด้วยสายตาอันยาวไกลที่เห็นประโยชน์จากบริษัทข้าวไทย เขาตัดสินใจขยายกิจการผลิตของโรงสีสูงถึง
40 เกวียน ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในขณะนั้น
จนเป็นที่รู้กันว่า โรงสีปากเพรียวเป็นคนป้อนข้าวเปลือกจำนวนมากให้กับโรงสีทั้ง
7 แห่ง เพื่อขายผ่านไปยังบริษัทข้าวไทย หรืออยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการแก้ปัญหาคราวนั้น
"เลี่ยวไพรัตน์" เริ่มก่อรูปแล้วเพราะพรไม่เพียงแต่ทำโรงสีข้าวเท่านั้น
แต่ยังเป็นเจ้าของพืชไร่ขนาดใหญ่รายหนึ่งของไทย โดยเฉพาะปอ มัน ข้าวโพดที่จังหวัดสระบุรพื้นที่เพาะปลูกกึ่งกลางระหว่างนครราชสีมากับลพบุรี
ที่สำคัญ เขายังมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปเป็นนักธุรกิจระดับชาติให้ได้
ตั้งแต่เมื่อคราวเรียนหนังสือที่เซี่ยงไฮ้ไม่ใช่จะเป็นแค่พ่อค้าภูธรในสังคมเล็ก
ๆ จึงได้ขยายฐานเข้ากรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา
จุดเริ่มต้นธุรกิจของพร ก็ไม่ต่างจากเถ้าแก่เสื่อผืนหมอนใบรายอื่นที่สร้างฐานมาจากเครือข่ายความสัมพันธ์ของญาติมิตรเป็นทุนเดิมโดยมีตระกูล
"แต้ไพสิฎพงศ์" เพื่อเก่าแก่เมื่อครั้งรุ่นเปี๊ยะยู้ (เจ้าของโรงงานอาหารสัตว์
เซนทาโก) ซึ่งสนิทสนมกันเป็นพิเศษเป็นเพื่อร่วมทางธุรกิจมาแต่แรก เข้าลักษณะที่ว่า
คนหนึ่งทำธุรกิจอะไรอีกคนหนึ่งก็จะต้องเข้าร่วมลงทุนด้วย
แล้วพรก็เปิดเอเย่นต์ค้าผ้ารายใหญ่รายหนึ่งของประเทศช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่
2 "ฮ่งเยี่ยะเซ้ง" เป็นร้านค้าแห่งแรกของเขาในกรุงเทพฯ ขนาดที่ประชัย
เลี่ยวไพรัตน์ลูกชายคนโตของพรถึงกับเคยกล่าวว่า "ร้านของเราใหญ่ไม่แพ้ร้านของคุณสุกรี"
(สุกรี โพธิรัตนังกูร)
หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการค้าผ้า พรจึงหันไปสร้างโรงงานลักกี้ เท็กช์
โรงงานสิ่งทอใหญ่รายหนึ่งในช่วงปี 2500 จากนั้นก็ร่วมทุนกับสมาน โอภาสวงศ์
แห่งกลุ่มฮ่วยชวนค้าข้าว พ่อค้าข้าวที่โตจากบริษัทข้าวไทยแล้วมาตั้งโรงงานไทยเกรียงปั่นทอขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง
สมานคนนี้นี่เองที่เป็นส่วนผลักดันสำคัญให้พรเข้าสู่วงการค้าข้าวส่งออกอย่างเต็มรูปแบบในระยะไล่เลี่ยกันกับการตั้งโรงงานไทยเกรียง
เมื่อตั้งบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (ทีพีไอ) สมานก็เป็นหุ้นส่วนหลักของ
"เลี่ยวไพรัตน์" จนพูดได้ว่า "พรกับสมานตัดกันไม่ขาด"
อย่างไรก็ตาม ความที่พรมีโรงสีใหญ่เป็นฐานการผลิตราคาถูก จึงทำให้เขาได้เปรียบในการประมูลแข่งขายข้าวแทบทุกครั้ง
เพียงไม่กี่ปี "ธนาพรชัย" ก็พุ่งสู่หนึ่งในห้าผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อย่างไม่ลำบากนัก
ช่วงที่ธนาพรชัยรุ่งเรืองที่สุดสำหรับกิจการค้าข้าวนับตั้งแต่ช่วงปี 2520
เป็นต้นมาที่ประมูลขายข้าวในล็อตใหญ่ ๆ ได้ติดต่อกันหลายปี บางปีส่งออกได้ถึง
5 แสนตันซึ่งเป็นตัวเลขที่เรียกว่าทำกันได้ไม่ง่ายเลย
ตลาดหลักที่ทำให้ธนาพรชัยโดดเด่นขึ้นมา ก็คือตลาดอัฟริกาและตะวันออกกลาง
ที่เขาเสี่ยงเข้าไปจนได้ผลดีมีกำไรมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะข้าวนึ่งที่ส่งครองตลาดตะวันออกกลางปีละหลายแสนตัน
ยิ่งในปี 2530 ด้วยแล้ว การที่ธนาพรชัยสต๊อกข้าวราคาถูกช่วงต้นปีไว้ถึง
2 แสนตัน จากราคาแค่ตันละ 5,000 บาท แต่ขายออกไปได้ช่วงกลางฤดูการผลิตถึงราคาตันละ
6,000 บาท ทั้งที่ตอนนั้นมีแนวโน้มว่าพ่อค้ารายอื่นจะเจ็บตัวกันทั่วหน้าทว่า..ที่สร้างผลตอบแทนอันงดงาม
จนเป็นที่ฮือฮาทั่วยุทธจักรค้าข้าว เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ไม่มีใครกล้าทำจนทุกวันนี้ธนาพรชัยก็ยังเป็นที่ยำเกรงพอ
ๆ กับกลุ่มสุ่นฮั่วเซ้งในวงการค้าข้าว
พูดได้ว่า การที่พรทำให้ธนาพรชัยประสบความสำเร็จอย่างสวยหรูนั้น เพราะกล้าที่จะเสี่ยงและพลิกแพลงตลาด
แม้ว่าบางครั้งอาจจะเจ็บตัวบ้างจากการขยายตลาดอย่างฮึกเหิม แต่ผลตอบแทนที่ได้จากการเก็งกำไรก็คุ้มกว่าหลายเท่านัก
"ความกล้าในการตัดสินใจที่ว่านี้รวมถึงความฉับไวต่อสถานการณ์ และการมองโลกที่ทอดยาวไปข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ
ยิ่งกว่านั้น เมื่อจะลงทุนแล้ว ก็ทำขนาดใหญ่ เพราะมีโอกาสโตเร็วกว่าและทำให้คนเกิดทีหลังตามทันยาก
เรียกว่าต้องทิ้งห่างคนอื่นไปเลย" แหล่งข่าวเครือทีพีไอวิเคราะห์ถึงการเริ่มต้นยุทธศาสตร์การค้าของ
"เลี่ยวไพรัตน์"
เมื่อธุรกิจค้าข้าวไปได้ดี พรไม่หยุดแค่นั้นแต่กลับรวบรวมพ่อค้าข้าวไปตั้งโรงงานทอกระสอบที่
จ.สระบุรี เพื่อเป็นฐานสนับสนุนการค้าข้าวอีกต่อหนึ่งเพียงไม่กี่ปี "เลี่ยวไพรัตน์"
ก็เกือบผูกขาดโรงงานแห่งนี้แต่ผู้เดียว จนกลายเป็นเสือนอนกินเก็บเกี่ยวกำไรจากพ่อค้าข้าวได้อย่างอิ่มใจ
ขณะที่ชื่อเสียง "เลี่ยวไพรัตน์" กำลังแพร่สะพัดพรได้ขยายไปสู่ธุรกิจอื่นหลังจากที่มีฐานการเงินจากการค้าข้าวมากพอแล้ว
โดยไปตั้งบริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด บงล.คาเธ่ย์ไฟแนนซ์ ซึ่งร่วมทุนกับเพื่อเก่าตระกูลแต้ไพสิฏพงศ์ตั้งโรงงานอาหารสัตว์เบทาโก-เซนทา-โก
ราวปี 2516
ตอนนั้น โรงงานใหญ่ไม่แพ้โรงงานของกลุ่มซีพี "ถ้ายังอยู่ ก็คงแข่งกันสะบั้นหั่นแหลก"
ที่ต้องขายทิ้งไปทั้งที่กำลังไปได้ดี ธุรกิจอาหารสัตว์อยู่ในภาวะขยายตัวเพราะคุณแม่ของพรขอร้องให้เลิก
ด้วยเหตุว่าถ้ายิ่งขยายก็ต้องฆ่าสัตว์มากขึ้น และยิ่งจะเป็นเจ้ายุทธจักรอาหารสัตว์ในปัจจุบันได้อย่างลอยตัว
แหล่งข่าวเครือทีพีไอ กล่าวถึงที่มาในการขายหุ้นทิ้งเพราะถ้าจะทำต่อ นั่นหมายถึง
"เลี่ยวไพรัตน์" จะต้องเป็นหนึ่ง
การตัดสินใจตรงนี้ได้กลายเป็นช่วงโค้งสำคัญต่อทิศทางธุรกิจของ "เลี่ยวไพรัตน์…"
ปี 2521 ที่พรขายหุ้นโรงงานอาหารสัตว์ทิ้ง ประจวบเหมาะกับประมวล น้องชายรองจากประชัย
และประทีปคว้าเอาปริญญาเอกด้านปิโตรเคมีจากเอ็มไอที สหรัฐฯ กลับมา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นมิติใหญ่ทางธุรกิจของตระกูล
ประมวล จบมัธยมปลายที่อัสสัมชัญ บางรัก แล้วเรียนต่อคณะวิศวะ จุฬาฯ สอบทุนโคลัมโบได้ที่
1 แต่บังเอิญตกสัมภาษณ์จึงเบนไปเรียนปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเบอร์กเลย์ ด้วยความที่สนใจงานปิโตรเคมีอย่างมาก
เลยเรียนต่อปริญญาโทจนได้ดอกเตอร์ในที่สุด ขนาดที่ประชัยกล้าประกศแทนน้องชายว่า
"เขาเป็นคนแรกที่เรียนด้านนี้"
แล้วความเป็นหนึ่งและความเป็นคนแรกของประมวลได้ทำให้เลี่ยวไพรัตน์กลายเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ในขณะที่ยังไม่มีนักลงทุนรายใดกล้าที่จะเอาจริงกับมัน
มีวิชาอยู่กับตัวกลัวอะไร..!
เมื่อประมวลมีความรู้เรื่องปิโตรเคมีท่วมท้น จึงชวยประชัยและประทีปร่วมกันศึกษาโครงการซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นตอของพลาสติกนานาชนิด
และมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนเราอยู่มากทั้งยังมีแนวโน้มโตได้อีกเยอะ
สามพี่น้องเลี่ยวไพรัตน์จึงไม่รอช้า ได้ตั้งบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
จำกัด (ทีพีไอ) เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกประเภทพีอีวัตถุดิบที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์พลาสติกมากที่สุด
ด้วยความเชื่อมั่นว่าอย่างไรเสียโครงการปิโตรเคมีก็ต้องเกิด
แน่ละ..โครงการปิโตรเคมีจะมีเกิดได้ ก็ต้องมีโรงงานขึ้นปลายอย่างโรงงานเม็ดพลาสติกเกิดขึ้น
เพื่อเป็นตลาดรองรับวัตถุดิบเพราะโดยระบบการผลิต หากยังไม่มีโรงงานปิโตรเคมีผลิตเอทธีลีน
ก็นำเข้ามาใช้ก่อนได้ โดยเฉพาะเมื่อไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมากพ่อที่จะใช้ในโครงการได้เขาจึงพากันสู้ถึงที่สุด
ชื่อ "ทีพีไอ" เจ้าตลาดเม็ดพลาสติกจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา..!
แม้ประชัยจะจบวิศวะ แต่เขามีพรสวรรค์ในเรื่องการตลาดอย่างดี กรณีบุกเบิกตลาดข้าวอัฟริกาและตะวันออกกลางที่ใครต่อใครในวงการมองว่า
เสี่ยงเข้าไปอย่างบุ่มบ่ามได้อย่างไร ก็มาจากความคิดคิดของเขา ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องสร้างทีพีไอ
ด้วยการชูธงนำตลาดอย่างอาจหาญตามบุคลิกที่เขารับมาจากพ่อ
ขณะเดียวกัน ก็มีประทีปซึ่งจบวิศวะ จุฬาฯ แล้วเรียนต่อปริญญาโทวิศวะ-อุตสาหกรรมที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด
แล้วมารับผิดชอบโรงงานอาหารสัตว์เบทาโก-เซนทาโก ก่อนที่จะรับผิดชอบการตลาดของทีพีไอภายใต้ธงรบของประชัย
ก้าวแรกของทีพีไอจึงไปได้สวย โดยมีประชัยเป็นโต้โผใหญ่ แล้วแยกให้ประทีปดูด้านตลาด
ส่วนประมวลรับผิดชอบสายการผลิตทั้งหมด
ส่วนบริษัทในเครือแห่งอื่นไม่ว่าจะเป็นบริษัท บางกอกสหประกันภัย บงล.คาเธ่ไฟแนนซืนั้นมีมาลินี
ลูกคนแรกของพรคอยบริหารอยู่
มาลินีถือเป็นคนเก่งคนหนึ่ง หลังจากจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์ฯ จุฬาฯ
แล้วก็เข้ารับราชการที่สำนักงานประกันภัย จนได้ทุนเรียนต่อด้านนี้ที่มหาวิทยาลัยจอร์เจีย
สหรัฐ แล้วกลับมารับราชการอีกครั้งจนถึงปี 2516 จากนั้นก็ลาออกมาดูแลธุรกิจครอบครัว
โดยเป็นกรรมการผู้จัดการที่บริษัท บางกอกสหประกันภัย และต่อมาก็ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมประกันวินาศภัยหญิงคนแรกของไทย
เมื่อกระจายงานกันรับผิดชอบกันได้อย่างนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง..!
ประชัยมั่นใจมากในการลงเสาเข็มสร้างโรงงานเม็ดพลาสติกแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
ด้วยกำลังการผลิต 65,000 ตันต่อปี ซึ่งเริ่มผลิตเม็ดแรกได้ในปี 2525 ด้วยเทคโนโลยีของ
IMHAUSEN แห่งเยอรมัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยกู้จาก KFW บริษัทเงินทุนเพื่อการพัฒนาของรัฐบาลเยอรมันตะวันตก
ทีพีไอเริ่มก้าวอย่างหนักแน่น ดังที่ประชัยเชื่อมั่นว่า มีตลาดใหญ่คอยรองรับเม็ดพลาสติกพีอี
ซึ่งเดิมไทยต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นเป็นหลัก
"ตลาดจะยอมรับเรามากแค่ไหน อยู่ที่ฝีมือ (ทั้งการผลิตและการตลาด)
มากว่าแหล่งข่าวที่รู้จักทีพีไอดีกล่าว "ที่ผ่านมาประชัยเชื่อว่าตัวเองคาดการณ์ไม่ผิด
และผ่านขวากหนามในเวทีธุรกิจมาพอตัว"
ตังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากกรณีการประมูลขายข้าวลอตใหญ่ได้ติติ่กันหลายปี
หรือเป็นคนต้นคิดเสี่ยงขายข้าวในแถบประเทศตะวันออกกลางตั้งแต่ช่วงปี 2522
จนเข้ามาบริหารธนาพรชัยอย่างเต็มที่ หรือแม้แต่การกู้เงินแบงก์ในการสร้างโรงงานเม็ดพลาสติกแล้วถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย
จนต้องร่อนจดหมายไปทั่วโลกกว่า 60 ฉบับ กระทั่งได้รับแรงหนุนจาก KFW เพราะเขาเชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้มีอนาคต
ขณะที่ตนก็ต้องการขายเทคโนโลยี จนตอนหลังทีพีไอได้กลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่เครดิตดีของ
KFW เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่าโครงการไปได้ดี
โดยเฉพาะการที่ทีพีไอเป็นรายแรกและรายเดียวที่ผลิตเมล็ดพลสติกพีอีในขณะนั้น
ภาพของการ "ผูกขาด" จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ติดตัวทีพีไอไปด้วย
ที่ประชัยแน่ใจยิ่งกว่านั้น คือ "เมื่อกล้า แล้วยังลงทุนขนาดใหญ่
และไม่มีนโยบายแข่งกับลูกค้าโดยทีพีไอเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐาน หรือลงลึกในธุรกิจนั้น
จะเห็นว่าทีพีไอจะไม่ผลิตสินค้าพลาสติกแข่งกับลูกค้า จะผลิตแต่เม็ดพลาสติกเป็นวัตถุดิบให้ลูกค้าเท่านั้น
มิฉะนั้นก็จะสร้างความเหลื่อมล้ำในการซื้อขาย" แหล่งข่าวใกล้ชิดทีพีไอยืนยันถึงจุดยืนทางธุรกิจที่คงมาถึงทุกวันนี้
เฉกเช่นการค้าข้าวที่เป็นสินค้าเกษตรขั้นต้นสำคัญในรุ่นแรก ยุคแรกของ "เลี่ยวไพรัตน์"
สำหรับทีพีไอถือเป็นธุรกิจรุ่นที่ 2 คือจากพ่อมาสู่ลูกคือประชัย และเป็นยุคที่
2 ของธุรกิจภายใต้ชื่อทีพีไอ เจ้าเม็ดพลาสติกที่โด่งดังไปทั่วทุกสารทิศ
จะต่างกันก็แต่ธุรกิจยุคทีพีไอมีปัจจัยของเทคโนโลยีเข้าเสริมให้กลยุทธ์กล้า-ใหญ่-ลึกแข็งแกร่งยิ่งขึ้นตามความจำเป็นของอุตสาหกรรม..!
ที่ว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยเสริม เพราะสมัยก่อนโรงงานพลาสติกของไทยส่วนใหญ่เป็นโรงงานเล็กเก่า
การพัฒนาอุตสาหกรรมไม่ใช่ว่ามีเทคโนโลยีดีแล้วจะไปได้ดีในตลาดนี้ทันที ในขณะที่ลูกค้ายังใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีอายุการใช้นาน
ๆ ขนาดที่ปั๊มแม่พิมพ์แล้วมีเสียงเอี๊ยดอ๊าด เม็ดพลาสติกที่ผลิตออกมาก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับเครื่องมือที่ลูกค้าใช้อยู่
แล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนกันไป
"ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีสูง ๆ มุ่งคุณภาพดีเลิศแล้วจะใช้ได้ บางครั้งทำเอาเครื่องจักรพังก็มีเนื่องจากพลาสติกเป็นสินค้าที่ไวในเรื่องคุณภาพมาก
เครื่องจักรที่คุ้นเคยกับเม็ดพลาสติกคุณภาพใด ถ้าเพี้ยนไปเพียงนิดเดียว ก็ใช้ไม่ได้แล้ว"
แหล่งข่าวระดับสูงเครือทีพีไอกล่าวถึงเหตุผลที่ให้เทคโนโลยีเป็นแค่ปัจจัยเสริม
"เทคโนโลยีซื้อได้ แต่ไม่ใช่เอาเข้ามาแล้วจะใช้ได้ทันที ปรับโน่นปรับนี่กันเยอะกว่าจะลงตัวจนทำให้ลูกค้าพากันบ่นอุบในตอนแรกว่า
คุณภาพไม่ดีบ้าง สู้ของญี่ปุ่นไม่ได้บ้าง หรือสินค้าดี แต่ใช้กับเครื่องจักรที่มีอยู่ไม่ได้"
ว่าไปแล้ว การเกิดของทีพีไอ ด้านหนึ่งก็เป็นแรงผลักดันสำคัญให้อุตสาหกรรมพลาสติกต้องเร่งพัฒนาตัวเองมากขึ้น
แม้อีกด้านหนึ่งจะถูกมองว่าผูกขาด เห็นแก่ได้ มุ่งแต่กำไรก็ตามที
นอกจากสามพี่น้อง "เลี่ยวไพรัตน์" แล้ว ยังมีแกนหลักสำคัญอย่างมังกร
เกรียงวัฒนา มือโปรดูแลการเงินของทีพีไอ
เนื่องจาก "เกรียงวัฒนา" ถือเป็นเพื่อนเก่าแก่ประจำตระกูลอีกคนหนึ่ง
เขาจึงเป็นคนใกล้ชิดที่ประชัยเชื่อใจ
จะเห็นว่า เมื่อมังกรจบจากอัสสัมชัญ ได้ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์บัณฑิต และการบริการการเงินจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์
สหรัฐฯ แล้วก็เข้าทำงานตั้งแต่ช่วงก่อตั้งทีพีไอในปี 2521 จนปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งกรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้วยวัยเพียง
40 ปี
ลูกหม้อเก่าอีกคนหนึ่งที่ร่วมลุยตลาดตั้งแต่แรก ๆ คือ ประสิทธิ์ ชาญสิทธิโชค
ซึ่งมีภรรยาเป็นลูกพี่ลูกน้องกับประชัย คอยดูแลการปฏิบัติงานด้านตลาดทั้งหมดในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด
คณะทำงานที่เป็นแกนหลักของทีพีไอจึงล้วนแล้วแต่มาจากสายสัมพันธ์ญาติมิตร
"เลี่ยวไพรัตน์" เพราะถือว่าจะเชื่อใจกันได้มากกว่าตามสไตล์การบริหารสมัยก่อน
แหล่งข่าวระดับสูงเครือทีพีไอชี้ถึงคนที่เป็นกลไกสำคัญของที่นี่ โดยมีประชัยเป็นประธานผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่จะตัดสินใจทุกอย่าง
ภาพลักษณ์ธุรกิจของทีพีไอในวันนี้จึงมาจากมันสมองของประชัยทั้งสิ้น..!
ไม่ว่าจะด้วยสไตล์ที่ดูกร้าว โผงผาง หรือคิดแล้วทำทันที จนบางครั้งผู้ร่วมงานตามแทบจะไม่ทันก็คือตัวแทนของประชัยนั่นเอง
ดังที่มักกล่าวกันว่าจะดูบุคลิกองค์กรก็ให้ดูที่ผู้นำตัวจริงขององค์กรนั้น
โดยเฉพาะอาณาจักรเม็ดพลาสติกประเภทพีอีนั้น เรียกว่าอยู่ในกำมือทีพีไอ
ที่ประชัยสู้ผ่านขวากหนามสร้างขึ้นมาอย่างยากลำบาก กระทั่งช่วงที่จะสร้างโรงงาน
ก็ยังถูกขู่เผาโรงงานทิ้ง เพราะภาพโรงงานเม็ดพลาสติกในตอนนั้น คือ อุตสาหกรรมนอกคอกที่ดูน่ากลัวจนแทบไม่มีใครสนใจ
สุดท้ายทีพีไอก็เป็นผู้ชนะ
แต่จู่ ๆ ทีพีไอก็เล่นเอาอาณาจักรทีพีไอสั่นสะเทือน…!
ทีพีไอ..ชื่อย่อที่ละม้ายคล้ายกับทีพีไอ ซึ่งมีชื่อเต็มว่า บริษัท ไทยโพลิเอททีลิน
จำกัด จะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าบริษัทแม่ไม่ใช่ปูนใหญ่..!
นี่จึงกลายเป็นศึกใหญ่สำหรับทีพีไอ เมื่อปูนใหญ่เจ้าของปูนตราช้างที่เมื่อย่างเข้าสู่ธุรกิจใดก็เล่นเอาธุรกิจนั้นมีอันต้องผวา
ได้ประกาศสร้างโรงงานเม็ดพลาสติกพีอี คือ เอชดี และแอลแอลดีพีอี อันเป็นโครงการต่อเนื่องจากวัตถุดิบ
คือ เอทธีลีนจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด
ในปริมาณ 137,000 ตันต่อปี
"อยู่ ๆ ปูนใหญ่คิดมาลงทุนเม็ดพลาสติกได้อย่างไร" ประชัยถึงกับให้สัมภาษณ์โพล่งออกมาอย่างไม่เข้าใจ
เพราะโดยภาพของปูนใหญ่นั้นมีความได้เปรียบทุกด้าน เมื่อลงทุนก็ทำครบวงจร
จะเห็นว่าทำโรงปูนแล้วยังทำวัสดุก่อสร้าง ซึ่งต่างกับทีพีไอที่มองว่าการทำครบวงจรคือการแข่งกับลูกค้าโดยตรง
งานนี้เท่ากับเป็นการลูบคมทีพีไอ และเล่นเอาประชัยต้องคิดหนักเหมือนกันว่า
ปูนใหญ่จะเอายังไงแน่ ก็เมื่อปูนใหญ่เคยศึกษาโครงการนี้อย่างละเอียดแล้ว
พบว่าต้องลงทุนหลายพันบาท และเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่แต่เห็นว่าไม่คุ้มจึงยกเลิกไป
ขณะที่ทีพีไออุตส่าห์ฝ่าฟันทุกรูปแบบให้โครงการนี้เกิดขึ้นมาจนเป็นผู้นำการผลิตเม็ดพลาสติกพีอีแต่ผู้เดียว
ขณะที่ปูนใหญ่ก็เป็นผู้นำการผลิตปูนและแน่นอนว่า ต่างก็ย่อมหวงแหนอาณาจักรที่ตนบุกเบิกมาอย่างลำบาก
ที่สำคัญ คนอย่างประชัยจะไม่ปล่อยให้ใครมาเหยียบย่ำน้ำใจแน่..!
พูดกันตรง ๆ ทีพีไอไม่เคยคิดลงทุนโรงปูนจนเมื่อปูนใหญ่มาลงทุนเม็ดพลาสติกนี่แหละ
เลยกลายเป็นพฤติกรรมที่คนนอกไม่เข้าใจมัน อาจจะเป็นจุดปรับของทีพีไอ แต่ไม่ถึงกับเป็นจุดเปลี่ยนอะไรใหญ่โต"
แหล่งข่าวระดับสูงเครือทีพีไอกล่าวถึงเบื้องหลัง "ตอนนี้ ยังคงเป็นรุ่นที่
2 แต่เป็นยุคธุรกิจยุคที่ 3 ของเลี่ยวไพรัตน์ ที่ประชัยจะทุ่มเททุกอย่างไปที่โรงปูน"
หลังจากที่ได้แตกหน่อออกไปหลายบริษัท ทั้งที่เป็นบริษัทในเครือทีพีไอและเลี่ยวไพรัตน์ถือหุ้นมากกว่า
50 % และที่ร่วมลงทุนบางส่วน (โปรดดูตาราง "บริษัทเครือทีพีและร่วมลงทุน")
เป็นที่รู้กันว่า เกมนี้เล่นเอาประชัยเหนื่อยสาหัสหากรรจ์ทีเดียว…!
อันที่จริง ทีพีไอยอมรับว่าตอนแรกก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน เพราะไม่มีประสบการณ์
แต่ไม่สำคัญเท่าตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยในช่วงก่อนปี 2530 จนเมื่อเกิดภาวะปูนขาดแคลนอย่างชัดเจน
จนเมื่อปี 2532 บรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติให้ขยายโรงปูนประชัยใช้เวลาไม่ถึงอาทิตย์ก็ตัดสินใจทำโรงปูนชนกับปูนใหญ่
ด้วยการเสนอขอส่งเสริมจากบีโอไอสร้างโรงปูนขนาด 5 ล้านตันต่อปี ตามแบบฉบับของเลี่ยวไพรัตน์
เมื่อจะลงทุนก็ทำให้ใหญ่ จนถูกวิจารณ์กันเซ็งแซ่ บรรดาโรงปูนที่มีอยู่พากันคัดค้านรวมถึงบีโอไอที่ไม่ให้การส่งเสริม
เพราะเกรงว่าทีพีไอจะเอาไปเป็นข้ออ้างในการขยายกำลังการผลิตจากกระทรวงอุตสาหกรรม
ขณะที่เดิมทีพีไอประกาศขออนุมัติจากโรงงานอุตสาหกรรมแค่ 2 ล้านตันต่อปี
เมื่อบีโอไอไม่ให้ส่งเสริม ประชัยก็ไม่หยุดหากยอมลงทุน 7,000 ล้านบาท จาก
5,000 ล้านบาท (ถ้าได้บีโอไอ) สร้างโรงปูนขนาด 2 ล้านตัน ไม่แต่เท่านี้โรงปูนนี้จะต้องเสร็จในปี
2535 ก่อนที่โรงใหม่รายอื่นกำหนดเสร็จในปี 2536 เพื่อเบียดตลาด ขณะที่ประชัยเห็นว่าโรงปูนไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยาก
ดังที่ทวี บุตรสุนทรจากค่ายปูนใหญ่เคยกล่าวไว้ว่า โรงปูนไม่ใช่สินค้าไฮเทคโนโลยี
แต่อาศัยต้นทุนสูง ขนาดโรงงานจะต้องไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านตันต่อปีจึงคุ้มต่อการลงทุน
และใช้เงินไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท
เขาจึงเดินหน้าสร้างโรงปูนอย่างเด็ดเดี่ยวและฉับไว โดยเริ่มปรับข่ายการตลาดของทีพีไอ
ตั้งบริษัททีพีไอ โพลี จำกัด ขึ้นมารับซื้อสายการผลิตเม็ดพลาสติกแอลดีจากทีพีไอทั้งหมด
รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้จากบีโอไอด้วย
"การย้ายการผลิตแอลดีมาอยู่ที่ทีพีไอ โพลี เพราะแอลดีเป็นส่วนที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด
เมื่อเรารับอนุญาตให้ตั้งโรงปูน ก็รวมกิจการแอลดีกับทีพีไอ โพลีกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องควบกิจการที่เป็นคนละสายเข้าด้วยกัน
ทำให้ทีพีไอไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่อาศัยฐานกำไรจากการขายแอลดีมาเป็น
CASH COW ก่อนที่โรงปูนจะคุ้มทุนในอีก 5-6 ปีหลังจากที่เริ่มผลิต ขณะที่พีทีไอที่ดูแลสายการผลิตเอชดีก็ยังมีกำไร
แม้จะลดลงก็ตาม
จะเห็นว่า จากเดิมที่ทีพีไอเคยมีกำไรเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทตั้งแต่ปี
2528 เป็นต้นมา และบางปีสูงถึงร่วม 1,000 ล้านบาท เมื่อแยกสายการผลิตแอลดีไปอยู่กับทีพีไอ
โพลีนแล้ว ก็ยังคงมีกำไรปีละ 200-300 ล้านบาท
ขณะที่ทีพีไอ โพลีนเลือกเทคโนโลยี KRUPP POLYSIUS แห่งเยอรมนี เพราะมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อกันตั้งแต่สมัยสร้างโรงงานทีพีไอ
ทำให้สะดวกด้วยประการทั้งปวง
นี่เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและโครงสร้างการบริหารสำหรับโรงปูน
ขณะที่ประชัยต้องไล่กวดตามเวลาเพื่อสร้างโรงปูนชนิดหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้เสร็จเร็วที่สุด
พร้อมที่สุดที่จะเข้าช่วงชิงกันในตลาด ถึงขนาดที่ยอมให้โครงการผลิตเม็ดพลาสติกเอบีเอสในตอนนั้นล่าช้าออกไป
ทั้งที่ประชัยให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้ทีพีไอเป็นผู้น้ำเม็ดพลาสติกที่ใช้ทำชิ้นงานที่ต้องการคุณภาพสูงประเภทชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ ประชัยได้ให้โกศล เพื่อนที่รู้จักผ่านทางภรรยามารับผิดชอบทีพีไอ
โพลีน โกศลเคยเป็นอธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ เคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำตุรกี
เวียดนาม จีน เยอรมัน เคยเป็นรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยนายกชาติชายในปี
2532 กระทั่งมาลุยงานที่นี่เต็มที่เมื่อเกษียณในปี 2533
ขณะเดียวกัน ก็มีอมร จันทรวิมล ซึ่งประชัยรู้จักมานาน เขาจบเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แล้วไปต่อ M.B.A>CALPOLY,POMONA CALIFORNIA สหรัฐฯ จากนั้นก็ทำงานอยู่กับกลุ่มคาร์กิลล์ประเทศไทยถึง
14 ปี แล้วมาเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดปูนของทีพีไอ โพลีน
แต่การตัดสินใจสำคัญหรือที่ดูแหนวกแนวแต่ละครั้ง ยังคงมาจากหัวเรือใหญ่ที่ชื่อประชัย
ประชัยยอมรับว่า "ไม่เคยเหนื่อยอย่างนี้มาก่อน" กับการที่ต้องมาทำโรงปูนด้วยภาพที่สะท้อนถึงแรงบีบต่อทีพีไอที่ฝ่าเข้าสู่ตลาดปูน
(โปรดอ่านล้อมกรอบ "ชนปูนใหญ่ ประกาศศักดิ์ศรีทีพีไอ")
ไม่ว่าจะต้องถางขวากหนามกันอย่างหนักหน่วงขนาดไหน ประชัยยังคงยืนยันถึงจุดยืนของกลุ่มว่าจะไม่ลงสู่อุตสาหกรรมขั้นปลาย
สำหรับอุตสาหกรรมปูนก็เช่นกัน ก็จะทำแค่โรงปูนและคอนกรีต ไม่ถึงขั้นทำเสาเข็ม
"เราไม่กินเรียบเหมือนปูนใหญ่"
ที่ทำให้ทีพีไอโตมาได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการค้าข้าว อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกหรืออุตสาหกรรมปูน
ก็ด้วย 3 หลักใหญ่เหมือนเดิม คือ กล้า-ใหญ่-ลึก ส่วนเทคโนโลยี ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด
เพราะจะขึ้นอยู่กับสภาพแต่ละอุตสาหกรรม
ประชัยมั่นใจว่าหลักอันนี้จะทำให้ทีพีไอเติบโตอย่างสมบูรณ์แบบในอีก 6 ปีข้างหน้าเมื่อถึงวันที่
9 เดือน 9 ปี 1999 อันเป็นฤกษ์งามยามดีที่ประชัยเคยประกาศไว้กับพนักงานครั้งหนึ่งว่า
วันนั้น ทุกโครงการจะเสร็จเรียบร้อย ซึ่งหมายถึงการที่ทีพีไอจะเป็นเจ้าของและหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทต่าง
ๆ มากขึ้นด้วย
ประชัยยังควงอาวุธ 3+1 ไปสู่ความยิ่งใหญ่ตามฤกษ์ที่วางไว้
คงต้องติดตามฉากต่อไปว่า เลี่ยวไพรัตน์ แห่งทีพีไอจะก้าวย่างไปได้อย่างงดงามหรือไม่..?