ยอดใช้บัตรเครดิตส่งสัญญาณหดตัว


ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(31 พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วงเริ่มต้นปี 2553 ดูเหมือนว่าธุรกิจบัตรเครดิตเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ การฟื้นตัวของภาคส่งออก และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นต้น จากการที่ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นต่อนโยบายภาครัฐและทิศทางเศรษฐกิจ ต่างเริ่มดำเนินแผนการลงทุนโครงการธุรกิจใหม่มากขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่น ผู้บริโภคเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการบัตรเครดิตต่างเดินหน้าทำแคมเปญการตลาดร่วมกับพันธมิตร เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกันอย่างเข้มข้น จะเห็นได้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 นี้ ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ดีเกินคาดอย่างไรก็ดีผู้ประกอบการบัตรเครดิตต้องเผชิญกับความท้าทายอีกครั้งจากปัจจัยด้านการเมืองที่ไม่สงบ จนส่งผลกระทบต่อแหล่งจับจ่ายใช้สอยสำคัญของกรุงเทพฯ ทำให้ธุรกิจบัตรเครดิตจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

ยอดใช้บัตร Q1โตตามเศรษฐกิจ

ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จึงเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการบัตรเครดิตก็เริ่มเห็นสัญญาณนี้เช่นเดียวกัน จึงเริ่มกลับมาทำการตลาดบัตรเครดิตกันอย่างเข้มข้น จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ปริมาณบัตรเครดิตในช่วงไตรมาส 1 มีจำนวนประมาณ 13,452,731 บัตร เพิ่มขึ้น 2.4% จากปีก่อน แม้จะเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณบัตรเครดิตที่ชะลอตัวลง แต่การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) มูลค่าประมาณ 163,110.90 ล้านบาท ขยายตัว 15.8% จากปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 5.9% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น นอกจากเพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแล้ว ยังเป็นผลมาจากในปัจจุบันมีร้านค้ารับบัตรเครดิตแพร่หลายมากขึ้น ทำให้สามารถใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการในชีวิตประจำวันได้สะดวก นอกจากนี้ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าการชำระด้วยเงินสด และสามารถนำคะแนนสะสมที่ได้จากการใช้บัตรเครดิตมาแลกเป็นของรางวัลได้

เมื่อพิจารณามูลค่าการใช้จ่ายตามกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ มีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตประมาณ 73,805.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.2% จากปีก่อนที่ขยายตัว 13.9% เหตุผลที่มีอัตราการเติบโตที่สูงน่าจะเป็นผลมาจากการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอย่างเข้มข้นในช่วงที่ผ่านมา

กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ มีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตประมาณ 28,587.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น11.2% จากปีก่อนที่หดตัว 1.3% ถือว่าเริ่มกลับมาขยายตัวในระดับที่ดีขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา กลุ่ม Non-Bank มีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมูลค่าประมาณ 60,717.71 ล้านบาท ขยายตัว 8% จากปีก่อนที่ขยายตัว 1.3% โดยเป็นการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป น่าจะมาจากกลุ่มลูกค้าของ Non-Bankส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้ในระดับปานกลางลงมา จึงยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย

หวั่นการเมืองกระทบ Q2

แม้ว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไตรมาส 1จะเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ แต่เมื่อเริ่มต้นไตรมาส 2 เหตุการณ์ชุมนุมได้รุนแรงขึ้น เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล หรือ นปช.ได้เคลื่อนขบวนปิดสี่แยกราชประสงค์ ทำให้ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ กิจการค้าขายของผู้ค้ารายย่อยจำนวนมาก และสถานบันเทิงต่างๆ ต้องปิดดำเนินกิจการชั่วคราว อีกทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองได้เพิ่มระดับความรุนแรง และยืดเยื้อเป็นเวลานานถึง 2 เดือน คาดว่าปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเดือนเม.ย. 2553น่าจะหดตัวรุนแรงกว่าเดือน เม.ย. 2552 ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเช่นเดียวกัน ทำให้ภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหดตัว 0.9% เมื่อเทียบกับปี 2551

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์การเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 2 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) ภายใต้สถานการณ์ 2 กรณี คือ กรณีพื้นฐาน หากปัญหาการเมืองสามารถคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และกลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์โดยสันติ คาดว่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 2 จะเติบโตขึ้น4-8% จากปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 151,827 -157,700 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของการใช้จ่ายบัตรเครดิต ได้แก่ มหกรรมฟุตบอลโลก 2010 ระหว่าง 11 มิ.ย.-11 ก.ค.53 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการจะกลับมาทำแคมเปญการตลาดร่วมกับพันธมิตรห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และสถานบันเทิง ในการจัดแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

ส่วนในกรณีเลวร้าย หากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจน คาดว่า การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 2 อาจจะขยายตัวเพียง 0.5% ถึงหดตัว 2.5% หรือมีมูลค่าประมาณ 146,750-142,400 ล้านบาท โดยมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการลดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ นอกบ้านลง นอกจากนี้การชุมนุมที่ยืดเยื้อไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อแรงงาน และผู้ประกอบการร้านค้าแถบศูนย์การค้าในสี่แยกราชประสงค์เท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว ที่ประสบกับปัญหานักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเข้ามาท่องเที่ยวในไทยอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อถึงแรงงานและรายได้ของผู้บริโภคบางกลุ่มตามมา

แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงไตรมาส 2 นี้ และช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตทั้งธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank จะเผชิญกับแรงกดดันจากปัญหาทางการเมืองในประเทศ ที่อาจส่งผลต่อกิจกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคบางกลุ่ม ทำให้ต้องปรับนโยบายการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับภาวะตลาดมากขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตต่อไป ทำให้การแข่งขันในธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับ มีการเดินหน้าทำแคมเปญการตลาดในรูปแบบของการร่วมมือกับพันธมิตร โดยแคมเปญส่วนใหญ่จะยังคงเน้นไปยังสิทธิประโยชน์จากการชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิต เพื่อเร่งการตัดสินใจซื้อสินค้า หรือร่วมกับพันธมิตรผู้ประกอบการโรงแรม นำเสนอส่วนลดที่พัก กระตุ้นให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น หลังจากความไม่สงบทางการเมืองส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.