BTSCคว้างานเดินรถ-บริหารBRTนำร่องเส้นทางนนทรี-ราชพฤกษ์


ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(31 พฤษภาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่พลิกความคาดหมาย สำหรับการเข้าเดินรถ และบริหารสถานีรถเมล์ด่วนพิเศษ BRT ของ คีรี กาญจนพาสน์ เจ้าของฉายา “มังกรพลัดถิ่น”ที่สามารถคว้างานเดินรถและบริหารสถานี BRT มาครองยาว 7 ปี โดยไร้เงาคู่แข่ง

แม้ว่ากรุงเทพมหานคร(กทม.)จะสั่งเลื่อนการทดสอบเดินรถเมล์ด่วนพิเศษBRT ออกไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง แต่กทม.ยังคงเดินหน้าหาเอกชนมารับหน้าที่ในการบริหารสถานีและเดินรถ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนจะเปิดใช้จริงในเดือนพ.ค.นี้ สำหรับเอกชนที่ได้งานบริหารสถานีและเดินรถนั้น คือ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BTSC ของมังกรพลัดถิ่นอย่างคีรี กาญจนพาสน์ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าBTS ที่มีประสบการณ์ในการเดินรถมายาวนานกว่า10 ปี

อมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามสัญญาจ้างผู้เดินรถพร้อมจัดหารถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ BRT สายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ และจ้างบริหารสถานีกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BTSC มูลค่าโครงการประมาณ 1,300 ล้านบาท แบ่งเป็นสัญญาเดินรถ 737 ล้านบาท และสัญญาบริหารสถานีประมาณ 700 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญา 7 ปี

ส่วนกรณีที่มีผู้ยืนเสนอประกวดราคาเพียงรายเดียวและอาจขัดกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยการพัสดุ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ระบุว่าต้องยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าวหากมีผู้ยืนประกวดราคาเพียงรายเดียว นั้น กทม.ให้เหตุผลว่า หากยกเลิกการประกวดราคาและจัดให้มีการเปิดประกวดราคาใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้โครงการเกิดความล่าช้า อีกทั้งคณะกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคาผู้เดินรถไม่คันค้าน ดังนั้น กทม.สามารถดำเนินการประกวดราคาไปจนสิ้นสุดกระบวนการได้ เพราะระเบียบดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีผู้เสนอราคากี่ราย

ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่ากทม. กล่าวว่า BTSC จะเป็นผู้บริหารสถานีตามโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ BRT สายสาทร-ราชพฤกษ์ มูลค่า 1,999 ล้านบาท พร้อมทั้งติดตั้งระบบตั๋วโดยสารอัตโนมัติ การจัดหาผู้เดินรถ และการบริหารสถานี สาเหตุที่ BTSC ได้งานดังกล่าวเนื่องจากว่า BTSC มีประสบการณ์และชำนาญในการบริหารจัดการสถานีรถไฟฟ้าBTSวมาแล้ว จึงไม่น่ามีปัญหา

สำหรับความคืบหน้าของงานก่อสร้าง ขณะนี้เหลือเพียงจุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีBTSที่ช่องนนทรีและBRT สถานีสาทรเท่านั้น ซึ่งคาดว่างานก่อสร้างจุดดังกล่าวจะแล้วเสร็จ 100% ภายในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนการทดสอบระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ไอทีเอส) แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ 100% แต่มั่นใจว่าจะไม่กระทบกับความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้บริการในวันที่ 15 พ.ค.นี้อย่างแน่นอน สำหรับคุณสมบัติรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ เป็นรถตอนเดียวยาว 12 เมตร เครื่องยนต์ เอ็นจีวี มาตรฐานไอเสียไม่ต่ำกว่ามาตรฐานยูโร ทรี พื้นเป็นแบบไฮฟลอร์ บรรทุกผู้โดยสารสูงสุด 80 คน/คัน ประตูด้านขวาและซ้ายด้านละ 1 ประตู ความกว้าง 1.5 เมตร ถังบรรจุก๊าซขนาด 900 ลิตร นอกจากนี้ภายในตัวรถติดตั้งระบบจีพีเอส และกล้องCCTV และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางร่างกาย

ขณะที่สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการสายปฏิบัติการ BTSC กล่าวว่า BTSC มีความพร้อมในการเดินรถเต็มที่ แบ่งเป็น 2 สัญญา คือสัญญาเดินรถและสัญญาบริหารสถานี วงเงินค้าจ้าง1,300 ล้านบาท ระยะสัญญา 7 ปี สำหรับตัวรถนั้นจะเช่ารถจากประเทศจีน เพราะพิจารณาแล้วว่าบริษัทในประเทศจีน มีความสามารถที่จะจัดหารถให้ตรงตามคุณสมบัติของ กทม.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.