เพียงแค่ 1 ปี ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ก่อตั้งขึ้นมา หน่วยงานใหม่ที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการกำกับดูแล
และพัฒนาตลาดทุนแห่งนี้ ก็ได้มีบทบาทที่โดดเด่นขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เมื่อได้มีการตัดสินใจกล่าวโทษบุคคลอย่างสอง วัสรศรีโรจน์ วิชัย กฤษดาธานนท์
หรือคุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์ เป็นผู้ต้องหาในคดีสร้างราคาหุ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องตามออกมาอย่างมากมาย
อย่างน้อยที่สุดก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับวงการเมืองของไทย ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ได้มีการหยิบยกเรื่องของตลาดหุ้นขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
มาถึงวันนี้ หลายคนเริ่มสงสัยกันแล้วว่าบทบาทของหน่วยงานนี้ในช่วงที่ผ่านมา
แท้จริงได้ทำหน้าที่ไปอย่างเป็นกลางหรือมีอิทธิพลที่การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่กันแน่
????
การถือกำเนินขึ้นมาของหน่วยงานที่มีชื่อว่า "สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์
และตลาดหลักทรัพย์" ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่า "ก.ล.ต." เมื่อวันที่
16 พฤษภาคม 2535 นั้น ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างใหญ่หลวงต่อระบบและพัฒนาการของตลาดทุน
ตลอดจนการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บางคนเปรียบเปรยว่า หากจะยกเอาวิกฤติการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ซึ่งอุบัติขึ้นหลังวันเปิดสำนักงาน
ก.ล.ต. อย่างเป็นทางการเพียง 1 วัน มาถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะชักนำระบบการเมืองของประเทศไทยให้สามารถพัฒนาขึ้นไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบแล้ว
การก่อกำเนิดของสำนักงาน ก.ล.ต. ขึ้นมา ก็สามารถถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะทำให้ตลาดทุนของไทยได้มีโอกาสพัฒนาขึ้นไปได้อย่างมีระบบทัดเทียมกับต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกหลายคนที่มองในด้านตรงข้างออกมาว่า ตั้งแต่ได้มีการจัดตั้งหน่วยงาน
ก.ล.ต. ขึ้นมา นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องประสบกับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส
เนื่องจากต้องพบกับการตกต่ำอย่างรุนแรงของราคาหุ้น ซึ่งปรากฏออกมาอยู่หลายระลอก
และเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงมาดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็มาจากท่าทีและบทบาทของ
ก.ล.ต. ในช่วงตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเป็นต้นมา โดยเฉพาะบทบาทในการเป็นผู้คุมกฏ
ให้การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม
ซึ่งผลที่ตามมาจากการดำเนินตามบทบาทดังกล่าว มาถึง ณ วันนี้ทำให้หลายคนต้องเริ่มหันกลับมาคิดทบทวนกันแล้วว่า
ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้เล่นตามบทบาทที่แท้จริงของตนเองหรือไม่???
รพี สุจริตกุล ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ ก.ล.ต. ได้กล่าวถึงบทบาทการดำเนินงานในรอบ
1 ปีที่ผ่านมาของ ก.ล.ต.ไว้ว่า มีด้านที่เด่น ๆ อยู่ 2 ด้าน คือ ด้านปราบปรามและด้านการพัฒนา
แต่งานด้านพัฒนานั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ได้สร้างความโดดเด่นให้กับ ก.ล.ต.
มากนัก เพราะเป็นงานที่กระทำกันโดยเงียบ ๆ
ในทางตรงข้าม งานด้านปราบปราม ได้กลายเป็นงานที่ทำให้ ก.ล.ต. กลางเป็นหน่วยงานซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากกว่า
โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดูเหมือนจะรู้จักภาพของ ก.ล.ต. ได้จากงานด้านนี้มากที่สุด
แม้กระทั่งการที่หลายคนพยายามดึง ก.ล.ต. ให้เข้ามาเกี่ยวพันกับเรื่องของการเมือง
ก็มีสาเหตุมาจากงานด้านปราบปรามนี้ทั้งนั้น ซึ่งแม้จะมีหลายคนปฏิเสธแต่จากภาพที่ปรากฏออกมา
ล้วนแต่มีน้ำหนักที่จะทำให้ใครต่อใครสามารถคิดไปได้ว่า สำหรับหน่วยงานที่ใหม่
แต่มีบทบาทสูงสำหรับตลาดทุน ของประเทศไทย มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะกรณีการกล่าวโทษบุคคล ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการสร้างราคาหุ้นดังกล่าว
ดูเหมือนจะเป็นภาพที่เด่นชัดที่สุด
ภาพดังกล่าว เกิดขึ้นในความรู้สึกของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์มาตั้งแต่การตัดสินใจที่จะกล่าวโทษสอง
วัชรศรีโรจน์และพวกในคดีมีพฤติกรรมการสร้างราคาหุ้นธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 ซึ่ง ก.ล.ต. เพิ่มจะมีอายุการทำงานได้เพียง
6 เดือน กับอีก 2 วัน
หลายคนมองว่าการตัดสินใจกล่าวโทษในครั้งนั้น ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแผ่อำนาจทางการเมือง
เข้ามาสู่หน่วยงานที่ควรจะเป็นสถาบันกลางแห่งนี้ เนื่องจากมีการตัดสินใจกระทำกันโดยเร็วเกินไปและขัดกับหลักการที่
ก.ล.ต. เคยตั้งใจเอาไว้
และเมื่อ ก.ล.ต. ได้ตัดสินใจที่จะมีการกล่าวโทษกรณีแรกขึ้นในจังหวะดังกล่าว
ก็เหมือนเป็นการขึ้นไปขี่บนหนังเสือ ที่จำเป็นต้องเร่งรัดการกล่าวโทษอีก
4 กรณีที่มีอยู่ในมือตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ในบางกรณี ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบของ ก.ล.ต.จะมีเอกสารหลักฐานน้อยจนไม่มั่นใจว่า
จะเพียงพอต่อการกล่าวโทษได้หรือไม่ก็ตาม
ต้องยอมรับว่า ในช่วงแรกของการก่อตั้งสำนักงาน ก.ลงต. ขึ้นเสมือนเป็นความหวังของคนทำธุรกิจหลักทรัพย์
ที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยได้มีความเชิดหน้าชูตาขึ้นทัดเทียมกับตลาดต่างประเทศ
เพราะการตั้งหน่วยงานดังกล่าวขึ้นมาเท่าเดิมที่ค่อนข้างจะมีการลักลั่นกันมาก
ระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ให้เข้ารูปเข้ารอยตามแบบอย่างสากล
หากย้อนกลับไปดูบทวิเคราะห์ ที่ได้คาดการณ์ถึงแนวโน้มของตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีการตีพิมพ์ออกมาในช่วงต้นปี
2535 ทุกสำนักล้วนมองไปในทางเดียวกันว่า การมี ก.ล.ต. ขึ้นมาจะเป็นปัจจัยบวกที่ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ
ให้ไหลเข้ามายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากขึ้น
สาเหตุที่ทุกคนมีความเชื่อดังกล่าว เนื่องจากบทบาทในการกำกับและพัฒนาตลาดทุนของประเทศไทย
ในช่วงที่ก่อนที่จะมีการจัดตั้งสำนักงาน ก.ล.ต. ขึ้นมานั้น ต่างกระจัดกระจายไปยังหน่วยงานต่าง
ๆ มากเกินไป จนบางครั้งก่อให้เกิดความสับสนแก่นักลงทุน โดยเฉพาะจากต่างชาติ
การก่อกำเนิด ก.ล.ต. ขึ้นมา จึงเท่ากับเป็นการจัดระบบระเบียบให้เกิดขึ้นในตลาดการเงินของประเทศไทย
โดยมีการแยกบทบาทของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ในการกำกับดูแลแต่ละตลาดให้เกิดความชัดเจนขึ้น
โดยเฉพาะบทบาทระหว่าง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งที่ผ่านมาบทบาทหนักจะตกอยู่ที่หน่วยงานหลัง
เพราะต้องสวมหมวกถึง 2 ใบ ทั้งในแง่ กำกับดูแลการซื้อขาย และการให้บริการ
ตามหลักการแล้ว เมื่อมีการจัดตั้ง ก.ล.ต. ขึ้นมา ก.ล.ต. จะเข้ามารับหน้าที่ดูแลในแง่ของตลาดแรก
โดยจะเป็นผู้อนุมัติให้บริษัทสามารถออกหุ้นใหม่มากระจายขายให้กับประชาชนทั่วไป
ขณะเดียวกันก็จะเป็นผู้กำกับดูแลการซื้อขายในตลาดรอง ให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม
ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะเหลือบทบาทในการพัฒนาการซื้อขาย ตลอดจนการเตรียมการรองรับตลาดตราสารใหม่
ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เนื่องจากเป็นช่วงที่ปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียงกัน
ปัจจัยสำคัญคือตัวองค์การตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งก็ได้มีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารจากเดิมที่มีมารวย
ผดุงสิทธิ์ เป็นกรรมการและผู้จัดการติดต่อกันมาถึง 71 ปี ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นเสรี
จินตนเสรี ด้วยเหตุผลที่มารวมได้เกษียณอายุลง
ในช่วงแรกของการดำเนินงานของหน่วยงานที่เพิ่งมีการจัดตั้งขึ้นใหม่ กับหน่วยงานเก่า
แต่เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนผู้น้ำนั้น แม้ในหลักการจะมีการแบ่งแยกหน้าที่กันอย่างเด่นชัด
แต่ในการปฏิบัติงานตามความเป็นจริง จึงได้มีความสับสนในบทบาทของตนเอง ระหว่างทั้ง
2 องค์กร เกิดขึ้นมา
และจากปัญหาดังกล่าวนั้นเอง ก็มีส่วนขยายผลตามมา จนชูให้บทบาทของ ก.ล.ต.
ต้องโดดเด่นขึ้น
ปมปัญหาความสับสนในบทบาทของทั้ง 2 องค์กรดังกล่าวที่ว่า เริ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงแรกที่เสรีตัดสินใจเข้ามารักตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ
ซึ่งมีการมองว่าเป็นการส่งเข้ามาของ ก.ล.ต. เนื่องจากก่อนหน้าการรับตำแหน่งนั้น
เสรีได้เข้ามาเป็นกรรมการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในโควตาของทางการโดยการเลือกสรรของ
ก.ล.ต.
แต่ด้วยความที่พื้นเพดั้งเดิมของเสรี เป็นคนที่อยู่ห่างไกลจากวงการตลาดหุ้น
และเมื่อเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ ก็มิได้นำทีมบริหารที่รู้ใจและเคยทำงานร่วมกันก่อนมาอยู่ด้วย
ดังนั้นในการบริหารงานของเสรีในแต่ละวัน จึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยเจ้าหน้าที่ประจำของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ซึ่งส่วนใหญ่ ยังติดยึดอยู่กับระบบการทำงานแบบเดิม ตั้งแต่สมัยที่มีมารวย
ผดุงสิทธิ์ เป็นผู้จัดการ
แม้ว่าเสรี จะได้เคยประกาศเอาไว้ ตั้งแต่เมื่อครั้งเข้ามารับตำแหน่งใหม่
ๆ ในช่วงเดือนกรกฎาคมแล้วว่า จะพยายามปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานต่าง ๆ
ของตลาดหลักทรัพย์ให้ดีขึ้น
แต่ก็เป็นการยากที่เสรีจะปรับเปลี่ยนแนวความคิด ตลอดจนระบบการทำงานใหม่
ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างทันทีทันใดในองค์กรแห่งนี้
อุปสรรคเช่นนี้ ได้สร้างความหนักใจกับเอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการ ก.ล.ต.
เป็นอย่างมาก เนื่องจากเอกกมลนั้นต้องการลบล้างระบบวัฒนธรรมเดิม ตลอดจนการบริหารงานในรูปแบบเดิม
ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้หมดไปโดยเร็วที่สุด
ในช่วงแรกที่เสรีตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้รับแรงสนับสนุนจากเอกกมลนั้นเชื่อว่า
เสรี ซึ่งอดีตเคยเป็นพนักงานแบงก์ชาติมาในรุ่นราวคราวเดียวกัน จะมีความเข้าใจแนวความคิดของตนเอง
เกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนารูปแบบการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยมิได้นึกถึงบุคลิกส่วนตัวของเสรี ซึ่งเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของตัวเองเป็นอย่างมาก
จะกลายเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้การทำงานร่วมกันตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้น กลับมีอุปสรรค
ตามความคิดของเอกกมล คีรีวัฒน์ ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการ
ก.ล.ต. นั้น มองว่า การบริหารงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในสมัยที่มารวย ผดุงสิทธิ์
เป็นผู้จัดการนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องปรับปรุงให้เข้ากับยุคปัจจุบัน
โดยเฉพาะบทบาทในการออกมาให้ข่าว เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นในแต่ละวัน "จนก่อให้เกิดความเคยชินกับนักลงทุนว่าถ้าวันไหนหุ้นตก
ต้องให้ดร.มารวยออกมาให้กำลังใจ แต่วันไหนหุ้นขึ้นมากเกินไปก็ต้องรอให้ดร.มารวยออกมาเตือน"
ในความคิดของเอกกมลนั้น ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการกำกับดูแลการซื้อขาย โดยการใช้เครื่องหมาย
"ดีเอส" (DESIGED SECURITY) เนื่องจากป้ายดังกล่าว ได้ถูกยกเลิกไปแล้วในตลาดหุ้นหลายแห่งทั่วโลก
แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในยุคมารวยกลับใช้ป้ายดังกล่าวบ่อยครั้งมาก
โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อเป็นการปกป้องนักลงทุนรายย่อย
แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ตรงกับแนวความคิดของเอกกมล ที่มองว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ
สามารถแก้ไขได้เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีระบบตรวจสอบการซื้อขาย (STOCK WATCH)
ซึ่งสามารถรู้ได้ทันทีหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น
"เมื่อมีการพบสิ่งผิดปกติ แค่ให้เจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ โทร.ไปยังโบรกเกอร์ที่ทำรายการดังกล่าว
ก็สามารถยุติปัญหาได้ การขึ้นเครื่องหมายดีเอส ยิ่งจะเป็นการสร้างสับสนให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก"
ผู้บริหาร ก.ล.ต. ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเอกกมล คีรีวัฒน์ ผู้หนึ่งกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "การสร้างราคาหุ้น"
ซึ่งเจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีความสับสนกันอยู่ระหว่างพฤติกรรมการเก็งกำไร
กับการสร้างราคาว่าแตกต่างกันอย่างไร
ตลอดจนบทบาทในการปกป้องนักลงทุนรายย่อย ที่เอกกมลมองว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในยุคดังกล่าว ดำเนินมาตรการในการปกป้องมากเกินไปจนขัดกับหลักการที่จะให้ในตลาดมีการซื้อขายหุ้นกันอย่างเสรี
จะด้วยเพราะว่าความเป็นตัวของตัวเองของเสรี จินตนเสรี ตลอดจนการก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในองค์กรแห่งนี้
ในลักษณะที่เรียกได้ว่า "ข้ามาคนเดียว" นั้นจึงทำให้ภายหลังจากที่เสรีเข้ามาบริหารงานในตลาดหลักทรัพย์ฯ
นอกจากจะไม่แก้ไขรูปแบบการบริหารงานดังกล่าวให้เป็นไปตามแนวความคิดของ ก.ล.ต.
แล้ว กลับยังดำเนินตามแนวทางเดิมไปเสียอีก
"ก.ล.ต. มองว่าในช่วง 4 แรกของการเข้ามาบริหารงานของเสรี แทบจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้น"
คนใน ก.ล.ต. ผู้หนึ่งกล่าว
สถานการณ์เช่นนี้ ได้สร้างความอึดอัดขึ้นในใจเอกกมลเป็นอย่างมาก เพราะตนเองนั้นเคยประกาศออกไปแล้วว่า
มีนโยบายที่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้ว่า ก.ล.ต. จะสามารถดำเนินตามบทบาท
ในการเป็นพี่เลี้ยงตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ก็ตาม
ย้อนกลับไปในช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 ซึ่งประเทศไทย
ได้รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของชวน หลีกภัย ภาพความใสสะอาดของรัฐบาลชุดนี้
โดยเฉพาะการนำมืออาชีพทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประสบความสำเร็จจากภาคเอกชนหลายคนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ
ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนกลับฟื้นขึ้นมาได้โดยเร็ว
ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้วิ่งขึ้นจากที่เคยอยู่ระดับประมาร 680
จุด ขึ้นไปถึง 900 ได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหุ้นของหลายบริษัทได้มีราคาวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในจำนวนนี้ หุ้นที่มีความหวือหวามากที่สุดได้แก่ บง.เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเมนต์
กับรัตนการเคหะของคุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์ กฤษดามหานคร ของตระกูลกฤษดาธานนท์
ตลอดจนหุ้นธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ซึ่งบริหารงานโดยเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์
อดีตเจ้าหน้าที่ในระดับหัวหน้าส่วนจากแบงก์ชาติ
และทุกครั้งที่หุ้นของแต่ละบริษัทมีการไล่ราคาขึ้นมา มักจะมีชื่อของคุณหญิงพัชรี
ว่องไพฑูรย์ ตลอดจนวิชัย กฤษดาธานนท์ หรือสอง วัชรศรีโรจน์ ไม่คนใดก็คนหนึ่ง
เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทุกครั้ง
ผู้บริหารของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งชาติมองภาวการณ์ลงทุนในช่วงนี้ว่า
เป็นช่วงที่มีการสร้างราคากันอย่างสุดขีด เนื่องจากทุกคนมีความมั่นใจว่าในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจ
และภาจพจน์ของประเทศกำลังต้องการฟื้นฟูขึ้นอย่างโดยเร็วเช่นนี้ คงจะไม่มีใครที่จะกล้าเข้ามาทำลายบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ที่มีการเก็งกำไรกันอย่างมากดังกล่าได้
แม้กระทั่ง ก.ล.ต. เอง ก็ยังไม่มีความมั่นใจที่จะเข้ามามีบทบาท ในท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวเพราะเกรงว่าหากดำเนินการอย่างใดไปโดยที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอแล้ว
ผลเสียหายที่จะตามมาย่อมจะสูงกว่ามาก
ความหวังสิ่งเพียวที่ ก.ล.ต. สามารถพึ่งได้ในขณะนั้นก็คือ กลไกควบคุมการซื้อขายหุ้น
ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่จากอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 หน่วยงานดังกล่าว
ตลอดจนกลไกการควบคุมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเน้นหนักไปในด้านของการขึ้นเครื่องหมายต่าง
ๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสามารถหยุดยั้งกระแสการเก็งกำไรอย่างสุดขีดที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวันได้
จนในที่สุด กระแสดังกล่าว ก็ถูกดึงให้ไปโยงเข้ากับสถานการณ์ทางการเมือง
เนวิน ชิดชอบ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคชาติไทย เป็นบุคคลแรกที่ได้หยิบยกประเด็นการเก็งกำไรดังกล่าวขึ้นมาพูดกลางสภาเป็นครั้งแรก
ตั้งแต่ในวันเปิดแถลงนโยบายของรัฐบาลชวน หลีกภัย
มีการยกตัวอย่างกรณีของสอง กับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ตลอดจนความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นบริษัทกฤษดามหานคร
ขึ้นมาอ้างในการขออนุมัติจากรัฐสภาพ ให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง
เพื่อศึกษาและสอบสวนการปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ซึ่งกรนำประเด็นดังกล่าวขึ้นมานั้น นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ที่พยายามนำเรื่องสถานการณ์การปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นมากดดันรัฐบาล
กระแสความกดดัน เริ่มต้นจากในมุมกว้าง ๆ ที่ว่า รัฐบาลจะต้องเข้ามาควบคุมการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ที่นับวันจะขยายความรุนแรงขึ้นทุกที
และก็เริ่มลงลึกไปถึงแต่ละพรรคที่เข้ามาร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคความหวังใหม่
กับประชาธิปัตย์
หากเป็นไปในภาวะปกติการหยิบยกเอาเรื่องการเก็งกำไรในตลาดหุ้นขึ้นมากดดันรัฐบาลนั้น
อาจถือได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองธรรมดา ของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ที่ต้องการสร้างบทบาทของตัวเองขึ้นมา
แต่ในภาวะเช่นในเดือนตุลาคม 2535 แล้ว ความเคลื่อนไหวดังกล่าว นับว่าสุ่มเสี่ยงอย่างมาก
เพราะอาจจะเกิดเผลในด้านร้ายติดตามมาได้
ในช่วงระยะเวลานั้นรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย กำลังประสบการมรสุมลูกใหญ่
ๆ 2 ลูกด้วยกัน
มรสุมลูกแรกนั้น ได้แก่ปัญหาภายใน ที่แม้จะเพิ่งผ่านมาฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ไม่กี่วัน
แต่ก็เริ่มมีสัญญาณของความร้าวฉานระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเกิดขึ้นแล้ว
โดยเฉพาะพรรคความหวังใหม่กับประชาธิปัตย์
เนื่องจากแนวความคิด และนโยบายของทั้ง 2 พรรคที่ประกาศออกมา มักจะสวนทางกัน
มรสุมลูกที่ 2 ได้แก่การพยายามขุดคุ้ยของสื่อมวลชน ถึงปมปัญหาที่ว่าทำไมสอง
ต้องเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จนหนังสือพิมพ์หลายฉบับสามารถสาวเข้าไปได้ว่ากรณีนี้ได้มีชื่อของเกริกเกียรติ
ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการของธนาคารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
และที่สำคัญคือ เกริกเกียรตินั้น นอกจากจะเป็นอดีตพนักงานแบงก์ชาติ ที่มีความสนิทสนมกับเอกกมล
คีรีวัฒน์ และเสรี จินตนเสรีแล้ว ยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ
และเป็นกรมการในโควตาของทางการ ซึ่งต้องผ่านการคัดเลือกมาจาก ก.ล.ต. อีกตำแหน่งหนึ่ง
นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านจึงได้มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ดังกล่าว และมีการรุกหนักถึงขึ้นจะมีการยื่นญัตติให้มีการเปิดอภิปรายเพื่อซักฟอกรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องของสถานการณ์การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งมีพฤติกรรมการสร้างราคาขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะ
ในขณะเดียวกัน ภาวะเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เกิดขึ้นอย่างขาดการควบคุมไปช่วงหนึ่งนั้น
ได้ขยายผลรุนแรงเข้ามาสู่ระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่งปล่อยสินเชื่อให้นักลงทุนเข้าไปซื้อหายหุ้นมากเกินไป
ซึ่งหากเกิดปัญหาที่อาจจะกระทบกับตลาดหุ้นขึ้นมาย่อมส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
และอาจจะลามไปจนกลายเป็นวิกฤติการณ์ทางการเงินทั้งระบบ
ดังนั้นในสายตาของรัฐบาลแล้ว กระแสกดดันทางการเมืองดังกล่าว ย่อมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนจนไม่สามารถมองข้ามได้
"การแก้ไขปัญหาในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราไม่สามารถทำอะไรอย่างปุปปับได้
เพราะหากเกิดผิดพลาดไป ผลเสียหายที่ตามมามันมีมหาศาล ทั้งกับตัวของนักลงทุนเองที่ต้องประสบกับการขาดทุน
ต่อเนื่องไปถึงระบบของสถาบันการเงิน และที่สำคัญคือจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม"
ผู้บริหาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งหนึ่งกล่าวถึงสถานการณ์ในช่วงนั้น
ดังนั้นในการเข้ามาแก้ไขปัญหา ทางการจึงต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด
ในช่วงนั้นมีกลไกในการแก้ไขปัญหาหลายด้านให้รัฐบาลได้เลือก
กลไกแรก ได้แก่ระบบควบคุมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร
เพราะแม้จะมีการขึ้นป้ายดีเอสไว้บนกระดานหุ้นของหลายบริษัท แต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นเการเก็งกำไรได้
"ในช่วงนั้นคนมันไม่กลัวป้ายดีเอสกันแล้ว กลับมองว่าหากหุ้นตัวไหนถูกขึ้นป้าย
ก็ยิ่งดีเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เข้าไปซื้อ รอเมื่อปลดป้ายเมื่อไร ราคาก็จะวิ่งต่อไปได้อีก"
โบรกเกอร์รายหนึ่งกล่าว
กลไกต่อมาที่รัฐบาลเริ่มน้ำมาใช้ คือ อำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยให้แบงก์ชาติเรียกบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่ง มาบีบให้ลดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อขายหุ้นลงมาเพื่อเป็นการลดสภาพคล่องที่จะเข้าไปหมุนเวียนในตลาด
ปรากฏว่ากลไกดังกล่าว แม้จะชะลอการเก็งกำไรในตลาดลงมาได้อย่างมาก แต่ไม่สามารถจะลดกระแสกดดันรัฐบาลจากการเมืองลงไปได้ในทางตรงกันข้าม
การตกต่ำลงมาของราคาหุ้นกลับเป็นประเด็นสำคัญให้พรรคฝ่ายค้าน สามารถหยิบยกขึ้นมาโจมตีได้อีก
ดังนั้นจึงเหลือเพียงกลไกสุดท้าย คือ การใช้อำนาจของ ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้ที่มีพฤติกรรมสร้างราคาหุ้น
ซึ่งเป้าหมายแรกที่รัฐบาลได้เล็งไว้แล้ว ก็คือสอง วัชรศรีโรจน์ ซึ่งมักเป็นชื่อที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ผิดปกติหลาย
ๆ กรณี
แต่ที่คนยังกังขากันอยู่ก็คือ ในการกล่าวโทษ กรณีแรก จึงไก้กลายเป็นกรณีที่เข้าไปถือหุ้นในธนาคารกรุงเทพรฯ
พาณิชย์การ ทั้ง ๆ ที่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นหลังสุด
และจุดนี้ ได้กลายเป็นปมสำคัญที่เริ่มสร้างภาพให้การดำเนินงานของ ก.ล.ต.
ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวพันธ์กับอิทธิพลทางการเมืองอย่างช่วยไม่ได้
ผู้บริหารระดับสูงใน ก.ล.ต. ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเอกกมลมาก ได้กล่าวว่าก่อนหน้าวันที่
18 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการกล่าวโทษสองเพียงไม่กี่วัน
ในความรู้สึกของเอกกมลนั้นยังไม่เคยมีความคิดที่จะกล่าวโทษกลุ่มของสอง วัชรศรีโรจน์
ในกรณีของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเลยแม้แต่น้อย แม้จะเป็นกรณีที่โด่งดังมากในช่วงนั้นก็ตาม
ทั้งนี้เนื่องจากเอกกมลมองเห็นว่ากรณีดังกล่าวนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน
จึงเป็นช่วงที่ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกรณีของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การกับอีก
4 กรณีคือกรณีของ บง.เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเมนท์ บริษัทรัตนการเคหะ บริษัทกฤษดามหานคร
และธนาคารนครหลวงไทย ที่ ก.ล.ต. ได้ใช้เวลารวบรวมมาก่อนหน้านั้นแล้ว ทั้ง
4 กรณีแรก ดูเหมือนจะมีข้อมูลพร้อมกว่า
"ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนั้น เฉพาะสำนวนสวบสวนการสร้างราคาหุ้น 4
กรณีที่ ก.ล.ต. มีอยู่ ก็มีมากถึง 1,000 กว่าหน้าแล้ว"
ภาพที่ปรากฏออกมาจึงดูเหมือนว่า เอกกมลเองก็ไม่ได้มีความเต็มใจที่จะกล่าวโทษสอง
และพวกในช่วงจังหวะดังกล่าวสักเท่าไร
แหล่งข่าวกล่าวว่า โดยความรู้สึกส่วนตัวของเอกกมลนั้น ค่อนข้างจะเอาจริงเอาจังกับบทบาทในด้านการปราบปรามของ
ก.ล.ต. มาก ถึงขั้นที่ตั้งใจไว้ว่าหากเป็นกรณีที่ ก.ล.ต. จะเป็นผู้กล่าวโทษแล้ว
คดีนั้นจะต้องชนะ ไม่สามารถแพ้ได้
และเมื่อมีการกล่าวโทษขึ้นในวันใด กระบวนการทุกอย่างจะต้องทำให้จบสิ้นในเวลารวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพื่อให้มีผลกระทบกับบรรยากาศการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ น้อยที่สุด
ตามความตั้งใจดังกล่าวนั้น เอกกมลได้วางแผนเอาไว้ว่า ขั้นตอนการกล่าวโทษจะต้องกระทำไปโดยพร้อมเพรียงกันทั้ง
3 ฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายของ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นผู้กล่าวโทษ ฝ่ายกรมตำรวจซึ่งจะเป็นพนักงานสอบสวน
และฝ่ายกรมอัยการซึ่งจะเป็นตัวแทนของรัฐในการฟ้องศาล ดังนั้นจึงมีการตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ตามขั้นตอนนั้น ในขณะที่ ก.ล.ต. เก็บรวบรวมหลักฐานเพื่อเตรียมการกล่าวโทษ
ก็จะมีการประสานงานกับฝ่ายตำรวจและอัยการอยู่ตลอดเวลา โดยตำรวจจะเป็นคนพิจารณาว่าหลักฐานที่เก็บได้มีเพียงพอหรือไม่
พร้อมกับเตรียมร่างสำนวนการสอบสวนไปด้วย ส่วนฝ่ายอัยการก็จะดูว่าสำนวนที่ตำรวจร่างมานั้น
ยังขาดตกบกพร่องในด้านไหน เพื่อให้พร้อมสำหรับการฟ้อง
ในขณะที่ทั้ง 3 ฝ่าย กำลังทำงานไปอย่างลับ ๆ นั้น จะไม่มีการออกข่าว หรือปล่อยให้ข้อมูลเล็ดรอดออกมาได้เลยว่า
ก.ล.ต. กำลังจับตาความเคลื่อนไหวของหุ้นตัวใด เพื่อที่จะไม่ให้มีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์
และเมื่อข้อมูลของทุกฝ่ายพร้อมแล้ว ก็จะถึงขึ้นตอนการกล่าวโทษ ซึ่งก็จะกระทำไปโดยพร้อมเพรีงกันทั้ง
3 ฝ่าย คือในวันเดียวกับที่ ก.ล.ต. ประกาศกล่าวโทษ ฝ่ายตำรวจก็จะสามารถออกหมายจับผู้ที่ถูกกล่าวหาได้
ในขณะที่อัยการก็ยื่นสำนวนฟ้องต่อศาลทันที
แนวความคิดดังกล่าว ซึ่งกระบวนการทุกอย่างจะต้องกระทำให้เสร็จสิ้นไปภายในวันเดียวนั้น
ถือว่าเป็นสิ่งใหม่มากสำหรับประเทศไทย โดยที่เอกกมลไปได้ความคิดมาจากการศึกษาถึงการทำงานของหน่วยงานกำกับการซื้อขายหุ้นในต่างประเทศ
ทั้งนี้เหตุผลสำคัญที่สุดก็คือเพื่อให้ผลกระทบต่อการซื้อขายหุ้นน้อยที่สุด
"ที่ต้องให้กระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้นลงภายในวันเดียวก็เพื่อ หากการกล่าวโทษจะสร้างความตื่นตระหนักให้กับตลาดหุ้น
ก็ให้เกิดความตื่นตระหนกเกิดขึ้นเพียงวันเดียว หุ้นอาจจะตกลงแรง ๆ เพียงวันที่กล่าวโทษ
หลังจากนั้นเมื่องกระบวนการไปถึงขึ้นศาล กระแสทุกอย่างก็จะอ่อนลง คนก็จะเริ่มกลับมาคิดได้
ซึ่งในช่วงนี้ ก.ล.ต. ก็จะประสานงานกับทุกฝ่ายเพื่อหามาตรการมาพยุงราคาหุ้น
โดยอาจจะให้กองทุนใดกองทุนหนึ่งเข้ามารับซื้อ"
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการกล่าวโทษดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ และขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อกล่าวโทษ
ก็ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางที่เอกกมลต้องการ
ปมปัญหาจึงอยู่ที่ว่า อิทธิพลในการโน้มน้าวให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. ตัดสินใจลงมติที่ให้มีการกล่าวโทษสอง
วัชรศรีโรจน์ ในครั้งนั้น จะอยู่ที่ใคร ? โดยมีปัจจัยอะไรเป็นแรงผลักดัน
?
"การตัดสินใจที่จะกล่าวโทษกลุ่มของสองในครั้งนั้น เป็นการตัดสินใจโดยหวังผลทางการเมืองเป็นหลัก"
กรรมการ ก.ล.ต. ผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ในที่ประชุมตลอดก่อนที่จะมีการตัดสินใจกล่าวโทษในครั้งนั้นเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
กรรมการท่านเดียวกัน ยังได้เล่าต่อไปอีกว่าความจริงในการประชุมคณะกรรมการ
ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน นั้น วาระหลักของการประชุมจะมีการพิจารณากันในเรื่องอื่น
โดยที่ไม่มีการบรรจุเอาเรื่องของการกล่าวโทษสอง วัชรศรีโรจน์เข้าในที่ประชุมด้วย
แต่ปรากฏว่าเมื่อเริ่มมีการประชุมขึ้นมาได้ไม่กี่นาที ก็มีเจ้าหน้าที่กระดาษโน้ตส่งเข้ามาให้ธารินทร์
ซึ่งนั่งเป็นประธานในที่ประชุม ธารินทร์จึงได้นำเรื่องของสองขึ้นมาสอดแทรกเป็นเรื่องด่วนให้พิจารณาทันที
โดยให้เหตุผลว่า "มีข่าวออกมาว่าสองกำลังจะเดินทางออกนอกประเทศในวันรุ่งขึ้น"
ต่อมาไม่นาน ธวัช วิชัยดิษฐ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็ได้เดินทางจากทำเนียบรัฐบาลมายังที่ประชุมคณะกรรมการ
ก.ล.ต. พร้อมกับหอบแฟ้มใบใหญ่เข้ามา ในแฟ้มดังกล่าวปรากฏว่าเป็นเอกสารลับของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
ที่ระบุสำเนาหนังสือเดินทาง ตลอดจนเลขที่ตั๋วเครื่องบินของสองไว้อย่างชัดเจน
"การพิจารณาว่าจะกล่าวโทษสองหรือไม่นั้น ดูเหมือนจะจัดขึ้นมาอย่างฉุกละหุกมาก
เพราะต้องมีการเรียกคณะอนุกรรมการกฎหมายเข้ามาร่วมประชุมด้วยเป็นการด่วน
ซึ่งกว่าจะมีการตัดสินใจได้ก็ล่วงเลยเข้าไปถึงตอนเช้ามืดวันรุ่งขึ้น
ทำไมคณะกรรมการ ก.ล.ต. จำเป็นต้องรีบตัดสินใจที่จะกล่าวโทษในวันนั้น ??
กรณีนี้ในวงการธุรกิจหลักทรัพย์ ได้มีการวิเคราะห์กันออกมาแล้ว สามารถแยกแยะสาเหตุออกมาได้เป็น
3 ประเด็นหลัก
ประเด็นแรก เป็นการกระทำตามหน้าที่ โดยสุจริตจริง ๆ เนื่องจากกลัวว่าผู้ที่จะต้องถูกกล่าวโทษกำลังจะหนีไปกบดานในต่างประเทศ
แต่ขั้นตอนการตัดสินใจดังกล่าว ก็จะขัดกับแนวความคิดและขั้นตอนที่เอกกมลเคยวางไว้
"และถ้าเป็นประเด็นนี้ ทำไมเลือกเอา 1 ใน 4 กรณีที่เกิดขึ้นมาก่อน
มากล่าวโทษเป็นตัวอย่าง ก่อนทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานพร้อมกว่า" ผู้บริหาร
บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งยังกังขา
ประเด็นที่ 2 ผู้บริหาร ก.ลงต. บางคน พยายามบิดเบือนประเด็น ซึ่งขณะนั้นเริ่มมีการมองเป้าไปความขัดแย้งกรณีธนาคารกรุงเทพฯ
พาณิชย์การว่ามีจุดเริ่มต้นที่เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ จึงต้องรีบตัดสินใจ
เพื่อไม่ให้เสียศักดิ์ศรีของอดีตพนักงานแบงก์ชาติ
ซึ่งหากเป็นประเด็นนี้จริง ก็นับว่า ก.ล.ต. สามารถกลบเกลื่อน บิดเบือนประเด็นได้สำเร็จเพราะภายหลังมีการกล่าวโทษสองออกมาแล้ว
กระแสภายหลังมีการกล่าวโทษสองออกมาแล้ว กระแสหรือความสนใจที่จะขุดคุ้ยเรื่องเกี่ยวกับเกริกเกียรติก็เงียบหายไป
กลายเป็นกระแสความสนใจเรื่องเกี่ยวกับสองเข้ามาแทนที่
ส่วนประเด็นที่ 3 เป็นความจงใจที่จะลดความกดดันทางการเมือง เนื่องจากขณะนั้นธารินทร์และพรรคประชาธิปัตย์กำลังถูกโจมตีอย่างหนัก
ซึ่งประเด็นนี้ ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักที่สุด
และก็เป็นประเด็นที่ฉายภาพชัดว่า แท้จริงแล้ว หน่วยงานที่ทุกคนตั้งความหวังไว้ว่าจะให้เป็นหน่วยงานที่ทุกคนตั้งความหวังไว้ว่าจะให้เป็นหน่วยงานกลางอย่าง
ก.ล.ต. ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลตลาดทุน ก็ยังไม่สามารถจะปลอดออกจากอิทธิพลทางการเมืองไปได้
"จะมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เราไม่ทราบ เรารู้แต่ว่าต้องทำตามหน้าที่
เพื่อให้การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม เมื่อเกิดกรณีขึ้น
เราก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ และถ้าผิดจริงเราก็ต้องหาหลักฐานเพื่อกล่าวโทษ"
เจ้าหน้าที่ระดับสูงในฝ่ายตรวจสอบธุรกิจถึงหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายมาตลอดในช่วง
1 ปี ตั้งแต่เริ่มเข้ามารับงานในหน่วยงานแห่งนี้
แม้ว่าภาระหน้าที่ดังกล่าวจะหนักหน่วงเพียงไร หรือมีอิทธิพลอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่งานของฝ่ายตรวจสอบก็ยังต้องเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง
สำหรับอิทธิพลทางการเมือง ที่ได้เข้ามามีส่วนสัมพันธ์กับงานตรวจสอบ 5 กรณี
ที่ได้ถูกกล่าวโทษไปแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา เขาเล่าว่าเท่าที่เห็นก็คือการเร่งรัดงานตรวจสอบให้สามารถสรุปผลได้เร็วที่สุด
"ในช่วงที่เตรียมจะมีการกล่าวโทษอีก 4 กรณีที่เหลือ เราก็รู้อยู่แล้วว่าหลักฐานที่มีอยู่นั้น
มีน้ำหนักเพียงไร พอเพียงสำหรับการที่จะกล่าวโทษได้หรือไม่ และต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมอีกเท่าไร
แต่พอนายมาบอกว่าไม่ได้ ต้องทำให้เสร็จภายในวันนั้น วันนี้เราก็ต้องทำให้เสร็จ
ว่ากันว่าในการเร่งรัดรวบรวมหลักฐาน ก่อนการกล่าวโทษอีก 4 กรณีการสร้างราคาหุ้นที่เหลือนั้น
ฝ่ายตรวจสอบ ก.ล.ต. ต้องทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ ติดต่อกันหลายวัน จนทำให้เจ้าหน้าที่ถือกุญแจซึ่งมีอยู่คนเดียวของแบงก์ชาติสาขาสุรวงศ์
และมีอายุมากแล้ว ถึงกับต้องล้มป่วยลง
"การเมืองก็คือการเมือง นักการเมืองก็ต้องพูดต้องกทำไปเพื่อหวังผลทางด้านการเมือง
คะแนนเสียงของตัวเอง แต่ถ้าเราถือว่าเราบริสุทธิ์ใจ ทำตามหน้าที่และอีกอย่างถ้าใครทำผิดจริง
เราก็ต้องกล่าวโทษไปห้ามมายุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจของเรา เท่านั้นก็ไม่น่ามีปัญหา"
เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบคนเดียวกันกล่าว
เพียงแค่ 1 ปีแรกของการก่อตั้ง ก.ล.ต. หน่วยงานซึ่งจัดได้ว่ามีความสำคัญระดับหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ
ไม่แพ้ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ได้แสดงภาพชัดออกมาแล้วว่า มีช่องว่างที่ทำให้อิทธิพลทางการเมืองสามารถเข้ามาสอดแทรกได้
แต่ก็ยังโชคดีที่ใน 1 ปีแรกนั้น อิทธิพลทางการเมืองที่เข้ามายังจัดได้ว่าเป็นการอย่างถูกจังหวะ
เพราะถือว่าเป็นช่วงที่ตลาดทุนของไทย กำลังต้องการจัดระเบียบใหม่ ประกอบกับภาวะการเก็งกำไรที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นกำลังต้องการแก้ไข
ที่สำคัญคือ นักการเมืองที่เข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจดำเนินงานการของ
ก.ล.ต. ยังพอมีความรู้ ความสามารถอยู่บ้าง
จึงยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรงจนเลวร้ายเกินไป
หากแต่ในอนาคต ซึ่งโครงสร้างการบริหารงานของ ก.ล.ต. ยังคงเป็นในเช่นปัจจุบัน
ถ้าได้นักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาเป็นคนกุมนโยบาย คนในวงการธุรกิจหลักทรัพย์หลายคนที่ติดตามการทำงานของหน่วยงานแห่งนี้
ยังมองไม่ออกว่าจะมีภาพเป็นอย่างไร
หลายคนมองว่าปัญหาของ ก.ล.ต. คือ โครงสร้างตามกฎหมาย ที่ระบุชัดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
จะเป็นประธาน ก.ล.ต. โดยตำแหน่ง ตลอดจนอำนาจ และบทบาทในการตัดสินใจดำเนินการตามนโยบายใหญ่
ๆ ยังขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเป็นหลัก
ซึ่งแตกต่างจากธนาคารแห่งประเทฯไทย ที่คณะกรรมการแทบจะไม่มีบทบาทอะไร การตัดสินใจทุกสิ่งทุกอย่างสามารถสิ้นสุดได้ลงที่ผู้ว่าการเท่านั้น
ถ้าโครงสร้างของ ก.ล.ต.ยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ต่อไป ก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าถึงจุดหนึ่ง
ก.ล.ต. ก็จะกลายเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองชิ้นหนึ่งเท่านั้น