วิบากกรรมของเชอราตันในไทย


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านเชนเชอราตันในเมืองไทย ต้องพลอยฟ้าพลอยฝนได้รับผลกระทบกระเทือนโดยตรงกับภาวะผันผวนทางการเมือง และเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่สงคราวอ่าวเปอร์เซียในปี 2533 การปฏิวัติของ รสช.ในปี 2534 และพฤษภาทมิฬในปี 2535

ทั้งนี้เพราะว่าโครงการโรงแรมระดับห้าดาวของเจ้าของคนไทยที่ทำสัญญาให้เชนเชอราตันบริหารนั้นต้องเลื่อนกำหนดเปิดช้าออกไปนานนับ 2-3 ปี หรือบางรายก็หลุดขาดจากกันไปก็มี

ล่าสุด สุเมธ ศรีศุภผล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการประจำภาคพื้นอินโดจีนเชนเชอราตัน ต้องโบกมืออำลาเมื่อต้นเมษายนปีนี้เอง เพราะทนแรงกดดันทั้งจากข้างบนและข้างล่างไม่ไหว ทางฝ่ายเจ้านายโดยตรง ซึ่งสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกงก็ต้องการให้คู่สัญญาปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ ขณะที่ฝ่ายเจ้าของโครงการก็ชะลอโครงการเนื่องจากไม่อยากเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจซบเซา

"ทางผมก็อะลุ้มอล่วยให้กับทางเจ้าของโครงการต่าง ๆ ตลอดมา และยังมีค่าใช้จ่ายในด้านการประสานงานอื่นๆ ตั้งแต่ค่ารับรอง ทั้งๆ ที่โครงการไม่มีความคืบหน้า ทำให้ผมต้องถูกติติงจากผู้บริหารระดับสูง เพราะงานไม่ได้ออกมาตามคาดหมาย นอกจากนี้ชื่อของเชอราตันยังถูกนำไปกล่าวอ้างในแผนงานของโครงการต่าง ๆ ด้วย ขณะเดียวกันผมก็ได้ปกป้องเจ้าของโครงการด้วย มันเป็นความผิดพลาดของผมเองที่ไม่เข้มงวดตามระบบการคัดเลือก เพราะเชื่อว่าแต่ละกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาเป็นคู่สัญญาต่างก็มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และไม่ตรวจสอบว่าแต่ละกลุ่มเขาต้องการทำโครงการโรงแรมจริงๆ หรือเพียงต้องการเอาชื่อเชอราตันไปเพื่อผลประโยชน์อะไรบางอย่างเท่านั้น" สุเมธระบายความอึดอัดใจให้ฟัง

โครงการโรงแรมที่เชนเชอราตันเซ็นสัญญาเข้าบริหารแล้วประสบปัญญาอุปสรรคถึงขั้นต้อง ยกเลิกสัญญากันก็มี กรณีโรงแรมระดับห้าดาวชื่อ "เชียงใหม่ เชอราตัน" ของจรัส จรัสโสภณวงศ์ บริษัทโกลเด้นแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนห้วยแก้ว ใกล้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามกำหนดการส่งมอบโรงแรมให้เชอราตันบริหารเมื่อปลายปี 2535 แต่โครงการดังกล่าวได้หยุดชะงักการก่อสร้างตั้งแต่ ปี 2533 ช่วงเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียและเรื่องก็ยังคาราคาซังแบบไม่มีอะไรคืบหน้า และไม่มีลายลักษณ์อักษรชัดเจนว่าจะยกเลิกหรือยืนยันให้เชอราตันบริหารต่อไป

ขณะที่เมื่อปี 2535 การยกเลิกสัญญาระหว่างเชอราตันกับโครงการ ริเวอร์แคว รีสอร์ท ที่กาญจนบุรี ซึ่งเจ้าของโครงการคือบริษัทการ์เด้น รีสอร์ตของทรงศักดิ์ จันทรประเสริฐ และล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ได้มีการยกเลิกสัญญาการบริหารกับ โครงการสีมาธานีเชอราตัน ซึ่งเป็นพันเอกสมชาย หิรัญกิจ อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีสาเหตุที่มาจากความขัดแย้งในแนวความคิดการบริหาร และ ความพร้อมด้านบริการ

"ทำไมเจ้าของโรงแรมต้องมากล่าวหาหลังจากที่เราเข้าไปวางระบบต่าง ๆ ในโรงแรมเสร็จแล้ว ทำไมไม่ท้วงติงตั้งแต่ต้น ธุรกิจโรงแรมไม่ใช่ชอปปิ้งเซนเตอร์ที่มีคนมารอก่อนเปิดบริการ แต่โรงแรมต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเก็บเกี่ยวกำไรได้" อดีตผู้ประสานงานอย่างสุเมธเล่าแบบเจ็บปวดใจ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คาดว่าจะไม่มีปัญหาแต่ช้าหน่อยก็คือ โครงการ "เชอราตัน บ้านฉาง" ซึ่งอยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภา หลังจากจัดงานแถลงข่าวใหญ่โตมีพิธีเซ็นสัญญาระหว่างเชนเชอราตันกับกลุ่มบ้านฉาง ซึ่งมีประยูร จินดาประดิษฐ์ ประธานบริษัทและไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์ ตั้งแต่ปี 2532

จากปี 2532 ล่วงเลยมาจนกระทั่งปี 2536 โครงการนี้ก็ยังไม่ได้เริ่มลงมือเพราะติดขัดปัญหาทางเทคนิคบางประการของกลุ่มบ้านฉางเอง

"เราติดตามโครงการนี้มาโดยตลอด ล่าสุดทางกลุ่มบ้านฉางก็ชี้แจงว่า อาจจะเริ่มลงมือก่อสร้างในเดือนกรกฎาคมปีนี้" สุเมธอดีต ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการฯ ของเชอราตันเคยให้สัมภาษณ์อย่างเหนื่อยล้า

ส่วนโครงการที่ราบรื่นก็มีที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า บีชของไทยวาที่เพิ่งทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่องต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดย พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ตัดริบบิ้นเปิดงานยิ่งใหญ่สนั่นเมืองภูเก็ตด้วยพลุอันตระการตายามค่ำคืนวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันเกิดของ "เหลียนฟ่ง" มารดาของมหาเศรษฐีหนุ่มหัวก้าวหน้าอย่าง "โฮ กวง ปิง"

โครงการในอนาคตที่เชนเชอราตันได้เซ็นสัญญาเข้าบริหารอย่าง โครงการปาล์มฮิลล์กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์ คันทรีคลับ ขนาด 220 ห้องสร้างที่ชะอำเจ้าของโครงการคือ พงษ์พันธุ์สัมภวคุปต์ ซึ่งเซ็นสัญญาเมื่อปี 2534 แต่เพิ่งจะลงมือก่อสร้างในเดือนเมษายนปีนี้คาดว่าอาจจะต้องเลื่อนไปเป็นปี 2539 แทนที่จะเปิดปี 2537

ส่วนโครงการสุขุมวิท เชอราตัน ทาวเวอร์ ซึ่งจะสร้างบนทำเลทองสุขุมวิท 12-14 ทางเจ้าของโครงการคือ สุรเดช นฤหล้า เจ้าของถุงยางอนามัยคิงเท็ค ได้ทำสัญญาให้เชอราตันบริหารในปี 2538 แน่นอน

ดังนั้นโดยสรุป โครงการที่แน่นอนแล้วว่าจะส่งมอบให้เชอราตันบริหารในอนาคตจะเหลือเพียง 3 แห่งดังนี้ หนึ่ง-โรงแรมเชอราตัน บ้างฉาง ที่จังหวัดระยอง ซึ่งจะเปิดในปีหน้า 2537 สอง-โรงแรมเชอราตัน ปาล์ม ฮิลล์ กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์ คันทรีคลับ ซึ่งคาดว่าจะเปิดปี 2539 และสาม-โครงการสุขุมวิท เชอราตัน ทาวเวอร์ กรุงเทพ ซึ่งตั้งอยู่สุขุมวิท 12-14 ซึ่งคาดว่าจะเข้าบริหารได้ในปี 2538

ถึงแม้จะประสบปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากภายนอกมากเพียงใด แต่ภาพพจน์ และชื่อเสียงของมืออาชีพระดับโลกอย่างเชอราตันที่สร้างไว้ในประเทศไทยก็ยังคงเป็นที่น่าเชื่อถือ นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ตะวันนา รามาดา และต่อมาคือโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตันที่กรุงเทพกลับประสบความสำเร็จอย่างดี ตั้งแต่เริ่มเปิดกิจการโรงแรมในปี 2528 จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ถึงขั้นเป็นพันธมิตรธุรกิจร่วมกันตั้งบริษัทเชอราตัน รอยัล ออคิดถือหุ้น 51:49 ระหว่างโรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) กับ บริษัทไอทีที เชอราตัน คอร์ปอเรชั่น

สูตรแห่งความสำเร็จในการเลือกพันธมิตรธุรกิจนั้นจึงขึ้นอยู่กับ PERFERMANCE เจ้าของโครงการและมืออาชีพที่บริหารโครงการ ผนวกกับเป้าหมายที่ร่วมกันสร้างอย่างจริงใจและจริงจัง บนรากฐานแห่งเกียรติยศชื่อเสียงที่ไว้ใจซึ่งกันและกัน

ในกรณีของโรงแรมหรูหรา "เชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า บีช" ขนาด 370 ห้อง ซึ่งเจ้าของบริษัทไทยวา รีสาร์ท ดีเวลลอปเม้นท์ในเครือกลุ่มยักษ์ใหญ่ไทยวา ได้พัฒนาขุมเหมืองร้างเมืองมหัศจรรย์บนเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 2,000 ไร่ เนรมิตโรงแรมดุสิตลากูน่า โรงแรมแปซิฟิค ไอส์แลนด์ รีสอร์ท และโรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า บีซ

ตามแผนการ โครงการโรงแรมเชอราตันนี้จะต้องเปิดไล่เลี่ยกับโรงแรมแปซิฟิค ไอส์แลนด์ในปี 2534 แต่ก็ต้องมาชะลอตัวโครงการนี้ออกไป 2 ปีกว่า เนื่องจากภาวะผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้ต้องมาเปิดโรงแรมเต็มตัวในปี 2536 นี้เอง

คนของเชอราตันที่ส่งมาบริหารโรงแรมยักษ์ใหญ่แห่งภูเก็ตนี้คือ จอห์น เค คอสเตอร์ ผู้จัดการทั่วไปซึ่งทำงานกับเครือเชราตันมา 11 ปี เคยบริหารงานในตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกห้องพักและสำรองห้องพักของโรงแรมเครือเชอราตัน 5 แห่ง คือ ฮ่องกง กรุงเทพ สิงคโปร์ อัคแลนด์และซิดนีย์ โดยก่อนรับตำแหน่งที่ภูเก็ตเคยเป็นผู้จัดการของ SHERATON HONG KONG HOTEL & TOWER

เครือข่ายของเชอราตันในแถบภูมิภาคพื้นเอเชียมีโรงแรมระดับห้าดาวกระจายปทั่ว 12 ประเทศที่มีจำนวนโรงแรมถึง 31 แห่ง ภายใต้ศูนย์บัญชาการใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง ช่วยให้การบริหารการตลาด และการขายห้องพักสามารถที่จะใช้เครือข่ายเหล่านี้บริการแก่ลูกค้าได้ทั่วโลก

ส่วนเครือข่ายภูมิภาคพื้นแปซิฟิค สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียดูแลกิจการโรงแรม 13 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ 9 แห่งอยู่ที่ออสเตรเลีย และที่เหลือสองแห่งอยู่ที่นิวซีแลนด์และอีกแห่งอยู่ที่เกาะฟิจิ

ทั้งสองส่วนนี้ขึ้นอยู่กับ PRESIDENT ของ ITT SHERATON ASIA PACIFIC CORP. คือ ROBORT F.COTTER และได้ส่งผู้บริหารแอนโทนี ซอมอรา ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการประจำภาคพื้นแปซิฟิคไปเข้าร่วมงานพิธีเปิดโรงแรมเชอราตันแกรนด์ ลากูน่า บีชที่ภูเก็ตด้วยและบนเวทีภาคค่ำเขาได้วาดลวดลายการเต้นชนิดที่หนุ่ม ๆ ต้องอายทีเดียว 11 แห่ง

ภารกิจของ ROBORT F. COTTER ในฐานะแม่ทัพบริหารเครือโรงแรมเชอราตันคือการบุกขยายเชนบริหารโรงแรมไปอย่างรุกไปข้างหน้า ตามแผนการระยะปี 2536-2539 โรงแรมยักษ์ใหญ่ที่จะเปิดใหม่ในแถบภูมิภาคเอเชียนี้

แต่ในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลก การบริหารการตลาดที่จะสร้างกิจกรรมและรายได้ให้เกิดขึ้นย่อมเป็นภารกิจที่หนักและเหนื่อยอีกนานกว่า เศรษฐกิจและฟื้นตัว โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่หลายโครงการที่ติดต่อไว้หรือเซ็นสัญญาแล้วต้องหลุดไป เพราะคู่สัญญาหรือเจ้าของโครงการทำท่าจะไม่อยากเสี่ยงลงทุนนับร้อยๆ ล้านกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา แล้วพยายามเตะถ่วงเรื่อง ไว้ให้เนิ่นนานโดยไม่มีทีท่าชัดเจน !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.